xs
xsm
sm
md
lg

จับตานโยบายแจกเงิน “บิ๊กตู่” ชนชั้นกลางรับเคราะห์-กลุ่มทุนได้ประโยชน์ !

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“รศ.ดร.ณรงค์” ฟันธง หว่านเงินไร้ผล เศรษฐกิจไม่กระเตื้อง เหตุไหลเข้ากระเป๋าทุน ติงรีดภาษีชนชั้นกลางมาแจกคนจน ชี้ประเทศจะฟื้นได้ต้องสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ สร้างอำนาจต่อรอง ห่วงคนไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำอันดับ 1 ของโลก ด้าน “ผศ.ดร.ธนวรรธน์” ระบุ นโยบายเหมาะกับยุควิกฤตการค้าโลก เชื่อดันเศรษฐกิจโต 3.0-3.2%

เป็นที่วิจารณ์อย่างหนักสำหรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะการแจกเงินผ่านโครงการประชานิยมต่างๆ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการหว่านเงินผลาญงบโดยไม่เกิดประโยชน์ และอาจส่งผลเสียต่อการเงินการคลังของประเทศในอนาคต
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสร็ฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสร็ฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลคงไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นได้เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด อันดับแรกต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการบริโภคเป็นหลัก การบริโภคคิดเป็น 50% ของ GDP ถ้าต้องการให้เศรษฐกิจกระเตื้องก็ต้องทำให้เกิดการบริโภคหลายๆ รอบ เพื่อให้เงินหมุนเวียนในระบบ การที่รัฐบาลเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็น 500 บาทต่อเดือน เมื่อชาวบ้านได้รับเงินแล้วส่วนใหญ่ก็จะนำไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านค้าปลีกหรือร้านสะดวกซื้อ เงินก็ไหลเข้าบริษัททุน ไม่กระจายไปยังร้านค้าของชาวบ้าน จึงไม่เกิดการหมุนเวียนเงินในระบบ ซึ่งเห็นได้จากการแจกเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐครั้งที่ผ่านๆ มาก็ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ขณะที่การแจกเงินคนละ 1,000 บาท ให้แก่ประชาชน 10 ล้านคน เพื่อนำไปใช้ในการท่องเที่ยวโดยหวังว่าเม็ดเงินจะกระจายสู่ชุมชน ก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าเม็ดเงินจะถึงมือชาวบ้านมากกว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยว

“การแจกเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้นประชาชนใช้จ่ายได้รอบเดียว ถ้าอยากให้เกิดการใช้จ่ายหลายๆ ครั้งก็ต้องทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ตรงนี้รัฐบาลไม่ได้ทำ หากรัฐบาลเอาแต่แจกเงิน ถามว่าจะแจกได้กี่ครั้ง แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาแจก” คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุ

รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่า สิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้คือเงินที่รัฐบาลนำมาแจกผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้นตกเป็นภาระของชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสียภาษีมากที่สุด โดยเสียภาษีทางตรงคือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถึง 35% และเสียภาษีทางอ้อม คือภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% ขณะที่ผู้ประกอบการซึ่งมีฐานะร่ำรวยกลับเสียภาษีนิติบุคคลแค่ 20% แม้จะมีรายได้ปีละเป็นหมื่นล้านก็เสียภาษีแค่ 20% และถึงจะเป็นคนรวยแต่มาทำอาชีพเกษตรกรรมก็ไม่เสียภาษี ซึ่งตรงนี้ถือว่าไม่เป็นธรรม

“ประเทศในแถบยุโรปก็มีการแจกเงินเป็นสวัสดิการให้คนจน แต่เขาเก็บภาษีจากคนรวยไปช่วยคนจน โดยเก็บภาษีแบบก้าวหน้า มีรายได้มากอัตราภาษีก็มากตามไปด้วย ไม่ใช่เอาภาษีคนชั้นกลางมาให้คนจนเหมือนประเทศไทย หนำซ้ำบางคนที่ได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็ไม่ได้จนจริง” รศ.ดร.ณรงค์ กล่าว
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ขณะที่ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กลับเห็นว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลบิ๊กตู่ 2 นั้นเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันซึ่งไทยได้รับผลกระทบจากตลาดโลกที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอย เกิดสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาซึ่งกำลังจะลุกลามเป็นสงครามค่าเงิน ขณะที่สหภาพยุโรปก็มีปัญหากำลังซื้อและการส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลไทยจึงจำเป็นต้องอัดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

โดยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐนั้นแบ่งเป็นมาตรการทางการเงินและมาตรการทางการคลัง ซึ่งมาตรการการเงิน ได้แก่ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งเม็ดเงินน่าจะเข้าสู่ระบบในช่วงปลายเดือน ส.ค.-ก.ย. 2562 ประมาณ 20,000 ล้านบาท และนโยบายการแจกเงิน 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งงบประมาณจะเข้ามาในช่วง พ.ย.นี้ แต่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีการใช้เงินจริงมากน้อยเพียงใด โดยทั้งสองมาตรการรวมกันคาดว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.2%

ส่วนมาตรการการเงิน ได้แก่ การให้สินเชื่อแก่เกษตรกรเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่างบประมาณจะเข้ามาช่วง ก.ย.-ต.ค. นี้ และนโยบายส่งเสริม SMEs วงเงินรวม 2 00,000 ล้านบาท โดยคาดว่าทั้ง 2 นโยบายรวมกันเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ 3.5-4.0% โดยรวมแล้วคาดว่ามาตรการทางการเงินและมาตรการทางการคลังจะทำให้เศรษฐกิจในปี 2562 เติบโตถึง 3.0-3.2%
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายมองว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน รศ.ดร.ณรงค์ ระบุว่า การจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไทยให้ตรงจุดไม่ใช่มุ่งส่งเสริมการผลิตและการส่งออกอย่างที่รัฐบาลเข้าใจ เพราะรายได้จากการผลิตและการส่งออกส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ภายในประเทศ แต่ถูกส่งกลับไปยังประเทศของเจ้าของกิจการซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ อีกทั้งในกระบวนการผลิตก็มีการนำเข้าสินค้าเพื่อนำมาใช้ในการผลิต อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางชนิดมีการนำเข้าถึง 90%

ในเมื่อเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่แท้จริงจึงมีอยู่ 2 ประการ คือ 1) การทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งก็คือ เกษตรกร ลูกจ้าง และพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย มีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อให้มีกำลังซื้อมากขึ้น มีอำนาจต่อรองมากขึ้น อาทิ ถ้าเป็นลูกจ้างก็ต้องมีอำนาจต่อรองขอเงินเดือนหรือโบนัสเพิ่ม หากบริษัทได้กำไรมากขึ้นก็ต้องให้เงินเดือนหรือค่าตอบแทนมากขึ้นตามไปด้วย หากเป็นลูกค้ารายย่อยหรือเกษตรกรก็ต้องส่งเสริมให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และมีช่องทางการจำหน่ายเพิ่มขึ้น เช่น ขายผ่านระบบออนไลน์

2) กระจายทรัพยากรของประเทศ ผลประโยชน์ต่างๆ รวมถึงโอกาสไปยังคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่แค่ในกลุ่มทุน เช่น วางข้อกำหนดเพื่อให้ร้านโชวห่วยสามารถค้าขายแข่งกับกลุ่มทุนได้ โดยกำจัดการสร้างร้านค้าปลีกไม่ให้มีมากเกินไปและกำหนดเวลาให้บริการไม่ให้เกิน 20.00 น. ส่วนร้านสะดวกซื้อต้องให้เลือกว่าถ้าต้องการขายสินค้าทุกชนิดให้เปิดได้แค่ 07.00 am -11.00 pm หรือ 07.00-23.00 น. แต่ถ้าต้องการเปิด 24 ชั่วโมงก็ขายสินค้าได้แค่บางอย่าง

คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุด้วยว่า ปี 2561 มีข้อมูลที่น่าตกใจว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยอยู่ในอันดับ 1 โลก และคนรวยเพียง 1% กลับมีทรัพย์สินรวมถึง 66.9% ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ ทั้งนี้เพราะกลไกประเทศไทยเป็นกลไกที่ทุนใหญ่มีอำนาจมากเกินไป ฝ่ายบริหารเกรงใจกลุ่มทุน จริงๆแล้วคนที่เรียกร้องให้แจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ใช่คนจน แต่เป็นกลุ่มทุนเพราะทันทีที่เงินถึงมือประชาชน เงินก็ไหลไปเข้าธุรกิจค้าปลีก ต่างจากนโยบายของต่างชาติ อย่างเช่น ประเทศบราซิล ที่ออกนโยบายเศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม เป็นกลไกที่ให้ทุนรับใช้สังคม ทำให้เม็ดเงินกระจายไปสู่คนยากจน

“การแก้ปัญหาแบบเอาภาษีของชนชั้นกลางมาหว่านให้คนจนนอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้แล้วยังทำให้ชนชั้นกลางลำบากมากขึ้น ในอนาคตคนชั้นกลางระดับสูงจะกลายเป็นคนชั้นกลางระดับล่างและคนชั้นกลางระดับล่างจะกลายเป็นคนจน” รศ.ดร ณรงค์ แสดงความวิตก


กำลังโหลดความคิดเห็น