xs
xsm
sm
md
lg

แฉขบวนการสกัดยากัญชาไทย! พบต่างชาติยื่นขอสิทธิบัตรนับร้อย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ปานเทพ” ห่วง ต่างชาติฮุบสิทธิบัตรกัญชา พบยื่นกรมทรัพย์สินฯ แล้วกว่า 100 คำขอ ชี้หน่วยงานรัฐสกัดคนไทยผลิตยากัญชา เผยนำเข้าพันธุ์ต่างประเทศเมล็ดละ 800 บาท หวั่นทำราคายาพุ่ง ขณะที่หมอพื้นบ้าน 3 พันคนเฮ ! “อนุทิน”ลงนามรับรอง ไม่ต้องขึ้นทะเบียนใหม่ ด้าน อ.เดชา เตรียมโอนคนไข้ของมูลนิธิฯ ให้กระทรวงฯ ดูแล พร้อมดันน้ำมันกัญชาเข้าระบบจ่ายยาของ สธ.

แม้ว่าขณะนี้ยาจากสารสกัดกัญชาได้รับความสนใจจากผู้ป่วยอย่างกว้างขวาง แต่ดูเหมือนการผลิตและพัฒนายาจากสารสกัดกัญชากลับจำกัดสิทธิอยู่เฉพาะในบางหน่วยงาน ขณะที่บรรดาหมอพื้นบ้านซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการผลิตและใช้ยากัญชาในการรักษาโรคกลับไม่สามารถผลิตและเข้าถึงยาดังกล่าวได้ ซึ่งข้อมูลจากหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าปัญหาดังกล่าวมีที่มาจากขบวนการขัดขวางการผลิตยาจากสารสกัดกัญชาของคนไทย รวมถึงมีความพยายามผูกขาดยาจากสารสกัดกัญชาให้อยู่ในมือบางกลุ่มเพื่อเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุน โดยเฉพาะบริษัทยาข้ามชาติ
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ตั้งข้อสังเกตว่าขณะนี้มีขบวนการผูกขาดยาจากสารสกัดกัญชาในหลายรูปแบบ โดยหลังจากที่รัฐบาลคลายล็อกกัญชาพบว่ามีบริษัทต่างชาติยื่นขอสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชาจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ มากกว่า 100 คำขอ ซึ่งยังไม่รู้ว่าคำขอต่างๆ มีรายละเอียดอย่างไร กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะอนุมัติหรือไม่ และหากอนุมัติจะส่งผลกระทบต่อสิทธิในการผลิตและใช้ยาจากสารสกัดกัญชาของคนไทยอย่างไรบ้าง ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากเพราะหากต่างชาติได้สิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชาไม่ว่าในรูปแบบใด คนไทยก็จะไม่สามารถผลิตหรือใช้กัญชาในรูปแบบนั้นได้ หากจะใช้ก็ต้องเสียค่าสิทธิบัตรในราคาแพง

นายปานเทพ กล่าวต่อว่า นอกจากความพยายามผูกขาดกัญชาโดยต่างชาติแล้วยังพบว่าหน่วยงานรัฐก็มีการดำเนินการเพื่อผูกขาดและสกัดกั้นไม่ให้คนไทยสามารถผลิตและเข้าถึงยาจากสารสกัดกัญชาที่เป็นของคนไทยเองด้วย โดยดำเนินการผ่านองค์การเภสัชกรรมและโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ในส่วนขององค์การเภสัชฯ นั้นมีการผลิตยาจากสารสกัดกัญชาในลักษณะที่คล้ายกับยาจากสารสกัดกัญชาที่จดสิทธิบัตรในต่างประเทศ และจำกัดการรักษาเฉพาะโรคที่เคยมีการใช้ยาจากสารสกัดกัญชามาแล้ว ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาถูกฟ้องร้องเรื่องละเมิดสิทธิบัตร อีกทั้งพันธุ์กัญชาที่องค์การเภสัชฯ ใช้ในการผลิตยาจากสารสกัดกัญชาก็เป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศและปลูกในระบบปิดโดยใช้เทคโนโลยี Medical Grade ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมถึงว่าจ้างเอกชนในการปลูกกัญชาด้วย ซึ่งทั้งการซื้อเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศและการว่าจ้างเอกชนในการปลูกจะส่งผลให้ยาจากสารสกัดกัญชามีราคาสูงตามไปด้วย

ขณะที่ยาจากสารสกัดซึ่งผลิตโดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรนั้นดำเนินการโดยมูลนิธิเจ้าพระยาอภัยภูเบศรซึ่งไม่ได้มีฐานะเป็นหน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อและกระบวนการผลิตได้ ซึ่งขณะนี้มีข่าวว่ามูลนิธิดังกล่าวนำเข้าเมล็ดพัธุ์กัญชาจากต่างประเทศจำนวน 2,500 เมล็ดในราคาที่สูงมาก นอกจากนั้นโรงพยาบาลอภัยภูเบศรยังจำกัดการจ่ายยาจากสารสกัดกัญชาในการรักษาโรคเพียง 2 โรคเท่านั้น และที่ผ่านมาก็ทำการรักษาผู้ป่วยได้เพียง 10 ราย ทั้งที่ได้รับบริจาคกัญชาจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ถึงกว่า 10,000 กิโลกรัม จึงถือว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่คุ้มค่าอย่างยิ่ง

“ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงไม่ใช้กัญชาสายพันธุ์ไทยที่คุณภาพดีและราคาถูก เพราะแม้ยาจากสารสกัดกัญชาที่องค์การเภสัชฯ และโรงพยาบาลอภัยภูเบศรวิจัยและผลิตจะได้การรับรอง แต่เมื่อพันธุ์กัญชาที่ใช้เป็นพันธุ์จากต่างประเทศก็ต้องนำเข้าในราคาสูง ข่าวว่าเมล็ดพันธุ์กัญชาที่องค์การเภสัชฯ นำเข้า มีราคาถึงเมล็ดละ 800 บาท ขณะที่เมล็ดพันธุ์ที่โรงพยาบาลอภัยภูเบศรนำเข้ามีราคาเมล็ดละ 500 บาท จึงเป็นไปไม่ได้ที่ยาจากสารสกัดกัญชาที่หน่วยงานรัฐผลิตจะมีราคาถูก” นายปานเทพ ระบุ
นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ
นอกจากนั้น การกำหนดตำรับยาจากสารสกัดกัญชาโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกก็เป็นหนึ่งในอุปสรรคของการพัฒนายาจากสารสกัดกัญชา นายปานเทพ ชี้ว่า การที่กรมการแพทย์แผนไทยกำหนดให้ตำรับยาจากสารสกัดกัญชามีเพียง 16 ตำรับ ทั้งที่จริงแล้วมีถึง 93 ตำรับ เท่ากับเป็นการสกัดไม่ให้มีการผลิตสูตรยาเดิมและไม่ให้มีการพัฒนาสูตรยาใหม่

อีกทั้งการที่ไม่อนุญาตให้หมอพื้นบ้านปลูกกัญชาเพื่อใช้ในการผลิตยาจากสารสกัดกัญชาเอง แต่ให้สั่งซื้อเครื่องยาผสมกัญชากลางจากการแพทย์แผนไทยฯ มาปรุงเท่านั้นยังเป็นอุปสรรคในการผลิตยาจากสารสกัดกัญชาของพื้นบ้าน เนื่องจากส่วนผสมของเครื่องยากลางอาจไม่ตรงกับส่วนผสมของยาจากสารสกัดกัญชาที่หมอพื้นบ้านผลิต อย่างไรก็ดี ล่าสุดในการประชุมร่วมระหว่าง รมว.สาธารณสุข กับหมอพื้นบ้านจากทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. นายอนุทินได้ประกาศยกเลิกการใช้เครื่องยากลางในการผลิตยาจากสารสกัดกัญชา ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการผลิตและพัฒนายาจากสารสกัดกัญชา ส่วนว่าช่องทางในการนำกัญชามาใช้ในการผลิตยาของหมอพื้นบ้านจะเป็นอย่างไรนั้นก็ต้องติดตามกันต่อไป
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข
ทั้งนี้ นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว การผลิตและแจกจ่ายน้ำมันกัญชาของมูลนิธิข้าวขวัญซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในการแจกน้ำมันกัญชาให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งมานานหลายปี แต่ต้องหยุดชะงักด้วยกระบวนการของภาครัฐตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมานั้น จนถึงขณะนี้มูลนิธิฯ ก็ยังไม่สามารถผลิตและแจกจ่ายน้ำมันกัญชาได้ แม้ว่าประธานมูลนิธิจะพยายามดำเนินการตามขั้นตอนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดทุกอย่างก็ตาม

โดย นายเดชา ศิริภัทร หรืออาจารย์เดชา ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากน้ำมันกัญชาของตนยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยา เพราะแม้ตนจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นหมอพื้นบ้านตามระเบียบของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับเดิม แต่เมื่อมีการประกาศระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้าน ฉบับใหม่ ลงวันที่ 10 มิ.ย. 2562 ทำให้หมอพื้นบ้านทุกคนต้องไปขึ้นทะเบียนตามระเบียบใหม่ทั้งหมด และส่งผลให้ขณะนี้ตนไม่มีสถานะเป็นหมอพื้นบ้านซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติในการขอขึ้นทะเบียนตำรับยา

ดังนั้นเมื่อวานนี้ (6 ส.ค. 2562) ตนและหมอพื้นบ้านจากทั่วประเทศจึงได้เข้าหารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เพื่อขอให้ใช้อำนาจ รมว.สาธารณสุขรับรองสถานะหมอพื้นบ้านกว่า 3,000 คนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งจากการหารือได้ข้อสรุปว่า รมว.สาธารณสุขได้ลงนามรับรองสถานะหมอพื้นบ้านกว่า 3,000 คนที่เคยผ่านการรับรองตามระเบียบกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ว่าด้วยการออกหนังสือรับรองหมอพื้นบ้าน พ.ศ. 2554 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ 2555 ให้เป็นหมอพื้นบ้านตามเดิม โดยให้ใช้ใบรับรองเดิมในการแสดงสถานะ ไม่ต้องไปขอใบรับรองใหม่แต่อย่างใด

นายเดชากล่าวต่อว่า ในส่วนของตัวเองนั้นเมื่อได้รับการรับรองสถานะหมอพื้นบ้านดังเดิมแล้วก็จะเดินหน้าขอขึ้นทะเบียนตำรับยาน้ำมันกัญชาต่อไป โดยขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ซึ่งเป็นคณะสุดท้าย และคาดว่าในการประชุมคณะกรรมการดังกล่าวในวันที่ 13 ส.ค.นี้ น่าจะมีการหยิบยกเรื่องการรับรองตำรับยาน้ำมันกัญชาของตนขึ้นมาพิจารณา ดังนั้นเชื่อว่าน้ำมันกัญชาจะได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาไม่เกินกลางเดือน ส.ค.นี้

ส่วนการผลิตและแจกจ่ายน้ำมันกัญชาให้แก่ผู้ป่วยนั้นคงต้องใช้เวลาอีก 4-5 เดือน ดังนั้นตนจึงหารือกับ รมว.สาธารณสุขเพื่อขอให้กระทรวงสาธารณสุขรับผู้ป่วยที่เคยขึ้นทะเบียนขอน้ำมันกัญชาจากมูลนิธิข้าวขวัญทั้ง 4 หมื่นคนไปดูแล และให้นำสูตรน้ำมันกัญชาของตนไปผลิตและแจกจ่ายให้แก่ผู้ป่วยดังกล่าวผ่านโรงพยาบาลในพื้นที่ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้สามารถผลิตและแจกจ่ายน้ำมันกัญชาได้รวดเร็วกว่าที่มูลนิธิข้าวขวัญจะดำเนินการเอง และหลังจากที่แจกจ่ายให้แก่ผู้ป่วยทั้ง 4 หมื่นคนแล้ว ก็จะให้กระทรวงสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลต่างๆ นำสูตรน้ำมันกัญชาของตนไปผลิตและสั่งจ่ายให้แก่ผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้น้ำมันกัญชา ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ถึง 8 แสนคน โดยเป็นการสั่งจ่ายยาตามระบบของกระทรวงสาธารณสุข

“การดำเนินการลักษณะนี้จะทำให้น้ำมันกัญชาเข้าไปอยู่ในระบบการจ่ายของโรงพยาบาลซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น ดีกว่าที่มูลนิธิข้าวขวัญดำเนินการเอง ซึ่งหากท่านอนุทินเห็นชอบก็สามารถสั่งการได้ทันที ทุกอย่างจะเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว” นายเดชา กล่าว

อย่างไรก็ดี จากท่าที่ของ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รมว.สาธารณสุข ในขณะนี้เชื่อได้ว่าการผลิตและพัฒนายาจากสารสกัดกัญชาตามแนวทางของแพทย์แผนไทยน่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดี แม้จะมีความพยายามสกัดกั้นจากคนบางกลุ่ม แต่หากรัฐมนตรีเดินหน้าท้าชนก็คงไม่มีใครกล้าขวาง !!


กำลังโหลดความคิดเห็น