เบื้องหลังการเจรจาเหมืองทองอัครา ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ชี้เหตุอัครา ยื่น 2 เงื่อนไขที่เป็นไปไม่ได้ ทั้งล้มสินบนข้ามชาติที่คาดมีผู้ได้ผลประโยชน์กว่า 13 คน รวมทั้งคดีในมือดีเอสไอ ซึ่งรัฐบาลไทยใช้เป็นหมัดเด็ดในการต่อสู้ชั้นอนุญาโตฯ ระบุมีสินแร่ทองคำที่อัครายังไม่ได้ประทานบัตรในการผลิตมีมูลค่าเกิน 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ฝ่ายไทยดีดลูกคิดหากเสียค่าโง่แค่เป็นพันล้าน ปฏิเสธข่าวลือยึดเหมืองให้นายทุนไทยเข้าดำเนินการ ยันยังเปิดโอกาสให้อัครา ถ้าอยากทำกิจการต่อให้ไปยื่นเรื่องที่ กพร.และต้องทำทุกอย่างตาม พ.ร.บ.แร่ปี 2560
ปัญหาเรื่องเหมืองทองคำชาตรี ที่ถูกรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตรา 44 สั่งระงับตั้งแต่กระบวนการผลิต การต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ การสำรวจ การต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน) ซึ่งมีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ ถือประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา
กระทั่งบริษัท คิงส์เกตฯ ได้ใช้สิทธิ์ทาฟตา ((TAFTA: ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย) นำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการโลกตัดสิน พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดเชยค่าเสียหายให้บริษัทเป็นจำนวนเงินประมาณ 750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท เนื่องจากคำสั่งปิดเหมืองทองอัคราละเมิดข้อตกลงทาฟตา
โดยอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจะมีการประชุมนัดแรกในเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการทางกฎหมายที่จะดำเนินการไป แต่ในระหว่างนี้ประเทศไทยและบริษัท คิงส์เกตฯ ก็ยังมีสิทธิ์ที่จะเจรจาเพื่อหาทางออกหรือข้อสรุปได้เช่นกัน
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่า ถ้าไปดูคำสั่ง ม.44 จะเห็นว่ารัฐบาลบิ๊กตู่ 1 ไม่ได้ปิดตายหรือไม่ให้เหมืองทองอัคราดำเนินกิจการอีกต่อไป เพียงแต่ว่าหากเหมืองอัคราสามารถแก้ไข ปรับปรุง และฟื้นฟูสิ่งต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชุมชนจริงๆ ได้แล้ว ก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าวได้
“กระทรวงได้มีการตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาการปิดเหมืองอัครา มีการเชิญเหมืองอัคราเข้ามาร่วมแก้ไข แต่ปรากฏว่าข้อเสนอที่เหมืองอัครายื่นมานั้นฝ่ายรัฐก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ จึงทำให้การเจรจาที่ผ่านมาไม่เป็นผล แต่รัฐก็ไม่ได้ปิดโอกาสจนถึงวันนี้”
สำหรับเงื่อนไขที่เหมืองอัคราเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะทำงานฯ นั้นมี 2 ประเด็นใหญ่!
ประเด็นที่ 1 ขอให้รัฐบาลถอนเรื่องที่มีการสอบสวนกรณีสินบนข้ามชาติที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีการสอบสวนอยู่ในเวลานี้ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประมาณปี 2558 โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ข้อมูลและหลักฐานบางอย่างจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศออสเตรเลีย (ASIC) ส่งมาให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย (ก.ล.ต.) ซึ่งพบว่า มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย ถูกร้องเรียนว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำการทุจริตในการขุดเหมืองแร่ทองคำในไทย
โดยมีการโอนเงินจากประเทศออสเตรเลียมายังประเทศไทย ที่อาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอใบอนุญาตขุดเหมืองแร่ทองคำ หรือเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ พร้อมทั้งให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐในประเทศไทยด้วย
“เรื่องนี้มีนักการเมือง มีข้าราชการไม่ต่ำกว่า 13 คน เข้าไปเกี่ยวข้องในการรับสินบนจากบริษัทข้ามชาติเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ในการขุดเหมืองแร่ทองคำ”
ประเด็นที่ 2ให้ถอนคดีความที่อยู่ในการพิจารณาของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีที่เหมืองอัคราถูกกล่าวหามีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และ พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 ในการดำเนินกิจการเหมืองแร่โดยเข้ายึดถือ ครอบครองพื้นที่ป่าและรุกล้ำเขตพื้นที่ทางหลวง โดยเหตุเกิดบริเวณตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ และ ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์
ทั้ง 2 คดีล้วนแต่เป็นคดีสำคัญที่กระทรวงอุตฯ หรือคณะทำงานไม่สามารถที่จะทำตามข้อเสนอของทางเหมืองทองอัคราได้ เป็นผลให้การเจรจาแต่ละครั้งไม่คืบหน้า!
“อัคราก็ต้องรู้ว่า ทั้ง 2 เรื่องเป็นหมัดเด็ดที่รัฐบาลไทยจะใช้เป็นข้อต่อสู้ในชั้นอนุญาโตฯได้เช่นนั้น โดยเฉพาะคดีสินบนข้ามชาติ ถือว่าเป็นการกระทำที่มิชอบในการดำเนินธุรกิจ”
แหล่งข่าว บอกอีกว่า ถ้าตัดเงื่อนไข 2 ข้อนี้ออกไป และทางเหมืองทองอัครายังต้องการดำเนินกิจการต่อไปก็สามารถดำเนินการได้ โดยเข้ามายื่นเรื่องที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม และจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ ปี 2560 ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน ตลอดจนผลตอบแทนรัฐที่สูงขึ้นกว่า พ.ร.บ.แร่ 2510 (ฉบับเดิม) โดยเฉพาะได้กำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งมีการเพิ่มอัตราโทษ 30 เท่าของโทษเดิม และปรับค่าธรรมเนียมเพิ่ม 100 เท่าจากกฎหมายเก่า
นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ก็มีการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปเก็บข้อมูล และเข้าไปสอบถามประชาชน ผู้ใหญ่บ้านที่อยู่บริเวณเหมืองทองอัครา ถึงผลกระทบของการปิดเหมืองซึ่งชาวบ้านต่างก็พูดเหมือนกันว่า เศรษฐกิจแย่มาก ไม่มีรายได้ และคนที่เป็นแรงงานก็ทิ้งบ้านไปหางานทำในกรุงเทพฯ ให้ปู่ย่า ตายายนั่งเลี้ยงหลานแบบอดๆ อยากๆ
ส่วนกิจการบ้านเช่า รีสอร์ต ร้านค้าต่างๆ ก็ทยอยปิดกิจการไปจนกลายเป็นพื้นที่ร้าง
ข้อมูลดังกล่าว กพร.ก็ได้มีการนำมาสรุปและเป็นข้อมูลในการนำเสนอผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทราบถึงผลกระทบต่างๆ จากการปิดเหมืองทองอัคราเช่นกัน
แหล่งข่าว ระบุว่า ในการต่อสู้ในชั้นอนุญาโตฯ นั้น ก็อยากให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าคดีนี้รัฐบาลได้มีการพิจารณารอบคอบแล้วเพื่อประโยชน์กับชุมชน และสุขภาพของคนที่ต้องอาศัยอยู่บริเวณรอบเหมือง และหากประเทศไทยต้องพ่ายแพ้คดีนี้ ก็ใช่ว่าจะต้องเสียเงินเป็น3 หมื่นล้านอย่างที่ปรากฏเป็นข่าว เพราะความจริงเชื่อว่ารัฐบาลจะต้องจ่ายค่าเสียหายแค่ในระดับพันล้านเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ได้นำเรื่องเครื่องจักรมาประเมินค่ารวมไปด้วย
ทั้งนี้เพราะการคิดค่าเสียหายจะต้องมีการพิจารณาแต่ละส่วนตามอายุของประทานบัตร ซึ่งตรงที่เป็นปัญหานั้นอายุประทานบัตร จะสิ้นสุดในปี 2563 และในโรงประกอบโลหการก็มีแร่ทองคำที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ค้างอยู่เท่านั้น
“อัคราจะคิดทั้งโครงการไม่ได้ และต้องดูด้วยว่าบริเวณที่ได้ประทานบัตรและกำลังหมดอายุเป็นที่ดินบุกรุกหรือไม่ และตรงนี้คือจุดที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนใช่หรือไม่ เพราะกพร.ได้พยายามขอให้อัคราไปดำเนินการแก้ไข แต่ก็ยังเพิกเฉยตลอดมา”
อย่างไรก็ดี มีข้อมูลภายในเชื่อว่าในบริเวณโครงการเหมืองทองอัคราในส่วนที่ยังไม่ได้ประทานบัตรและจะต้องดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่นั้น เป็นแหล่งแร่และทรัพยากรแร่ซึ่งมีแร่ทองคำจำนวนมาก หากสามารถประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำได้ จะมีมูลค่ามหาศาล ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เหมืองทองอัครายังต้องการจะทำธุรกิจเหมืองทองคำในโครงการนี้ต่อไป
“มีการประเมินมูลค่าไว้ว่าที่นี่ยังมีสินแร่ทองคำ แร่เงิน และสายแร่อื่นๆ ที่ตีมูลค่ากันไว้ไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อยังไม่ได้ประทานบัตร ก็ไม่สามารถดำเนินการได้”
ขณะเดียวกันก็มีข่าวลือในวงการธุรกิจว่า การที่รัฐบาลบิ๊กตู่ใช้ ม.44 ห้ามไม่ให้เหมืองทองอัคราดำเนินการต่อไปนั้น เพราะมีวาระซ่อนเร้นที่ต้องการยึดพื้นที่บริเวณดังกล่าวเพื่อให้นายทุนใหญ่ของไทยเข้าทำธุรกิจเหมืองทองคำแทนเหมืองทองอัครา และยังได้มีการติดต่อไปที่ออสเตรเลียเพื่อขอซื้อหุ้นอัคราด้วยเช่นกัน
“ภาครัฐก็มีการคุยกันและก็เชื่อว่านักธุรกิจไทย ไม่น่าจะทำกิจการนี้ได้ เพราะอัคราเอง เมื่อถลุงแร่ได้แล้วก็ต้องส่งออกไปที่ฮ่องกง เข้าสู่กระบวนการผลิตและแยก ก่อนที่จะส่งกลับมาประเทศไทยและส่งออกทองคำไปยังประเทศต่างๆ ต่อไป ที่ผ่านมาอัคราเป็นรายใหญ่ที่ส่งออกทองคำสร้างรายได้มหาศาล”
อีกทั้งการทำธุรกิจเหมืองทองคำ ต้องมีการลงทุนเรื่องเครืองมือ เครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตต่างๆ ซึ่งมีต้นทุนสูง ต้องอาศัยทักษะและความชำนาญ จึงเชื่อว่านักธุรกิจไทยไม่น่าจะสนใจ
ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของเหมืองทองอัคราซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งด้านบุคลากร เทคโนโลยี เครื่องจักร และตลาดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเหมืองทองอัครา จะต้องทำตามกติกาของ พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 หากทำได้จริงย่อมเป็นเหตุและผลที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอต่อรัฐบาลบิ๊กตู่ 2 ให้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เหมืองทองอัคราเข้าดำเนินการต่อไป!