xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มก๊วนจ้องป่วน“รัฐบาลบิ๊กตู่ 2” หลังตั้ง ครม.-ยกเลิก ม.44 วุ่นอีก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักวิชาการฟันธง “รัฐบาลบิ๊กตู่ 2” อยู่ไม่ถึงปี หลังยกเลิก ม.44 เจอสารพัดม็อบ “ รศ.ดร.พิชาย” เชื่อตั้ง รมต.ได้ แต่หลายกลุ่มก๊วนจะกดดันให้ปรับ ครม. ด้าน “ศ.ดร.ธีรภัทร์” ชี้ 5 ปัจจัย ทำรัฐบาลระส่ำ 40 ส.ส.ถือหุ้นสื่อเสี่ยงถูกตัดสิทธิ์ ส่งผลรัฐบาลล่ม ขณะที่ โฆษก ปชป.เผย ยังไม่ได้รับเรื่องตีกลับชื่อ รมต.

นับเป็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ใช้ยาวนานอย่างยิ่ง แม้การเลือกตั้งจะเสร็จสิ้นไปถึง 3 เดือนแล้วแต่การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีใน “รัฐบาล บิ๊กตู่ 2” ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้ข้อยุติ มีการเรียกร้องต่อรองตำแหน่งเกิดขึ้นมากมาย ทั้งจากพรรคร่วมรัฐบาล และภายในพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเอง กรณีดังกล่าวสะท้อนถึงปัญหาด้านเสถียรภาพที่ดูเหมือนจะร้าวตั้งแต่เริ่มตั้งรัฐบาล

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายมองว่าการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีจะสามารถผ่านพ้นไปได้เพราะไม่มีพรรคไหนหรือ ส.ส.คนใดอยากเป็นฝ่ายค้าน แต่สิ่งที่น่าวิตกคือสถานการณ์หลังจากนี้ ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดความปั่นป่วนทั้งภายในและภายนอกสภา
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า)
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองว่า สาเหตุที่การจัดสรรโควต้ารัฐมนตรีเป็นไปด้วยความล่าช้ากว่ารัฐบาลที่ผ่านๆมา เนื่องจากรัฐบาลบิ๊กตู่ 2 เกิดจากการรวมกันของพรรคการเมืองต่างๆถึง 20 พรรค ขณะที่ภายในพรรคพลังประชารัฐเองก็มีหลายกลุ่มหลายก๊วน แต่ละพรรคแต่ละกลุ่มจึงมีการแสดงพลังเพื่อต่อรองเรียกร้องตำแหน่งรัฐมนตรี อีกทั้งล่าสุดยังมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี โดยมีรายชื่อที่ไม่ผ่านการอนุมัติของ พล.อ.ประยุทธ์ถึง 8 คน การตีคืนรายชื่อดังกล่าวอาจสร้างความไม่พอใจให้แก่พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์คงจะต้องไปเจรจาทำความเข้าใจ

“สำหรับพรรคเล็กและกลุ่มต่างๆในพรรคพลังประชารัฐที่ไม่ได้ตำแหน่งผู้ใหญ่คงจะให้ตำแหน่งอื่นๆแทน เช่น ที่ปรึกษารัฐมนตรี หรือกรรมาธิการต่างๆ ส่วนการตีคืนรายชื่อรัฐมนตรีนั้นถ้า พล.อ.ประยุทธ์อธิบายด้วยเหตุผลก็ไม่น่าจะเกิดความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลเพราะเชื่อว่าทุกพรรคก็มุ่งที่จะตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ จากนั้นเรื่องอื่นๆค่อยว่ากัน เชื่อว่าการจัดตั้ง ครม.น่าจะแล้วเสร็จหลังการประชุมอาเซี่ยน ” รศ.ดร.พิชาย กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ รัฐมนตรีที่มีปัญหากรณีคุณสมบัติซึ่งไม่ผ่านการพิจารณาของ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้ง 8 คน ประกอบด้วย ว่าที่รัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ 2 คน คือ นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตนายก อบจ.สงขลา ว่าที่รมช.มหาดไทย ซึ่งล่าสุดถูก นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมไทย ยื่นร้องคัดค้านการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เนื่องจากนายนิพนธ์มีคดีอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และนายสาธิต ปิตุเตชะ ว่าที่ รมช.สาธารณสุข ที่ถูกร้องกรณีถือครองหุ้นสื่อ

ตามด้วยว่าที่รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย 3 คน ได้แก่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ว่าที่ รมว.คมนาคม ซึ่งถูกเปลี่ยนตัวเพราะเกรงข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเนื่องจาก นายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นเจ้าของธุรกิจก่อสร้างยักษ์ใหญ่ซึ่งได้สัมปทานจากรัฐ , นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ว่าที่ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ที่เข้าข่ายผู้มีอิทธิพล และคนที่ 3 นายวีระศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล ว่าที่ รมช.พาณิชย์ มีปัญหาภาพลักษณ์ ถูกดำเนินคดีรุกที่ ส.ป.ก.รวมทั้งกรณีลูกน้องพัวพันกับคดีลอบยิง “แรมโบ้อีสาน” นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์

นอกจากนั้นยังมีว่าที่รัฐมนตรีอีก 3 คน จาก 3 พรรค ที่มีปัญหากรณีถือหุ้นสื่อ ได้แก่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ว่าที่ รมว.ศึกษาธิการ พรรคพลังประชารัฐ ,ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ว่าที่ รมว.ต่างประเทศ หัวหน้าพรรครวมพลังประชาขาริไทย และ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา
นายราเมศ รัตนเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์
ในส่วนของประชาธิปัตย์หนึ่งในพรรคที่ถูกตีกลับรายชื่อรัฐมนตรีนั้น นายราเมศ รัตนเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า หากมีการตีกลับจริงก็ถือเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ดีขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งเรื่องดังกล่าวมายังพรรคประชาธิปัตย์ หากมีการแจ้งมาพรรคประชาธิปัตย์จะต้องนำเรื่องเข้าหารือกันในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค และหารือกับที่ประชุม ส.ส.พรรคต่อไป

อย่างไรก็ดีประเด็นที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันก็คือสถานการณ์หลังการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีซึ่งเชื่อว่าน่าจะเกิดความปั่นป่วนทั้งจากภายในรัฐบาลเองและแรงกดดันจากภายนอก

ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีตประธานสภาพัฒนาการเมือง วิเคราะห์ว่า รัฐบาลชุดนี้จะเผชิญกับวิบากกรรมจาก 5 ปัจจัยด้วยกัน คือ 1.ตัวผู้นำและบุคคลใกล้ชิดไม่มีความชอบธรรม ไม่มีความซื่อสัตย์ และไม่มีวิสัยทัศน์ 2.พรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ประกอบด้วยหลายกลุ่มหลายก๊วน เนื่องจากเป็นพรรคที่เกิดจากการรวมตัวกันเพื่อผลประโยชน์ จีงมีปัญหาการเคลื่อนไหวต่อรองตลอดเวลา 3.พรรคร่วมรัฐบาลมีจำนวนถึง 20 พรรค จึงมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพ 4.รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ทุกครั้งที่มีการลงมติในสภาจึงสุ่มเสี่ยงที่เกิดปัญหา เพราะการลงมติในหลายๆเรื่องหากรัฐบาลแพ้เสียงในสภาก็จะนำไปสู่การยุบสภาหรือนายกฯต้องลาออก และ 5.รัฐบาลต้องเผชิญแรงต้านจากมวลชนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ เอ็นจีโอและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่างๆ

“ เชื่อว่าการเคลื่อนไหวต่อรองในรัฐบาลจะเกิดขึ้นตลอดเวลา ในการลงมติในสภาแต่ละครั้งต้องมีงูเห่าเกิดขึ้นแน่ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือการเคลื่อนไหวนอกสภาหลังจากที่มีการจัด ครม.แล้วเสร็จเนื่องอำนาจตาม ม.44 จะถูกยกเลิกไป ประชาชนที่สะสมความไม่พอใจต่อการใช้อำนาจและปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มาหลายปีจะออกมาเคลื่อนไหว ” ศ.ดร.ธีรภัทร์ กล่าว
ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีตประธานสภาพัฒนาการเมือง
ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ รศ.ดร.พิชาย ซึ่งมองว่า รัฐบาลบิ๊กตู่ 2 เป็นรัฐบาลตัดแปะ เป็นที่รวมของหลายกลุ่มก๊วน ในระยะยาวอาจจะมีปัญหาเรียกร้องให้มีการปรับ ครม.เพื่อให้กลุ่มของตนเองขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน และที่สำคัญคือหลังจากที่ ม.44 ถูกยกเลิก เชื่อว่าการเคลื่อนไหวนอกสภาดุเดือดแน่ เพราะขณะนี้ประชาชนไม่พอใจกับการบริหารงานของรัฐบาลโดยเฉพาะปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาแรงงาน รวมถึงปัญหาจากโครงการพัฒนาต่างๆ นอกจากนั้นยังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาลนี้

“จากปัญหาเรื่องเสถียรภาพรัฐบาลและความไม่พอใจของประชาชนเชื่อว่ารัฐบาลบิ๊กตู่ 2 น่าจะมีอายุไม่เกิน 1 ปี และเป็น 1 ปีที่ต้องไม่มีเหตุการณ์อื่นๆเข้ามาแทรกด้วย” รศ.ดร.พิชาย กล่าว

ขณะที่ ศ.ดร.ธีรภัทร์ มองว่ารัฐบาลชุดนี้จะบริหารงานได้นานแค่ไหนคงต้องประเมินเป็นรายไตรมาส ทุก 3 เดือน 6 เดือน เพราะนอกจากปัญหาเรื่องการบริหารงานของรัฐบาลแล้ว อาจมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เช่น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องคุณสมบัติของ 40 ส.ส.ที่ถูกร้องเรียนเรื่องการถือหุ้นสื่อ ซึ่งหากถูกตัดสิทธิ์แค่ครึ่งเดียวรัฐบาลก็ล่มแล้ว เพราะถ้าถูกยื่นอภิปรายก็โหวตแพ้ฝ่ายค้าน ขณะที่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนหลัง ม.44 ถูกยกเลิกก็เป็นเรื่องที่น่าห่วงเพราะมีหลายกลุ่มที่ไม่พอใจรัฐบาล

“ ม.44 ก็เหมือนมอร์ฟินที่กดความรู้สึกของประชาชนไว้ หมดมอร์ฟีน อาการปวดก็แผลงฤทธิ์”


กำลังโหลดความคิดเห็น