xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.เดินหน้า 3 กลยุทธ์ สู่เป้ารายได้ 2 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รองผู้ว่าฯ การรถไฟฯ เปิดแผนสร้างรายได้ปีละ 2 หมื่นล้านบาท วาง 3 กลยุทธ์สู่เป้าหมาย จับตลาดนักท่องเที่ยว-ผู้สูงอายุ เน้นผู้โดยสารที่เดินทางระยะกลาง แทนระยะไกล เร่งสร้างรถไฟทางคู่ ยันปีนี้เปิดบริการได้ 2 เส้นทาง พร้อมเตรียมยื่น ครม.อนุมัติตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์

กล่าวได้ว่าปัจจุบันการเดินทางด้วยระบบรางของประเทศได้มีการปรับปรุงพัฒนาไปไกลมาก การเดินทางด้วยระบบรางกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเมือง ดังนั้น “การรถไฟแห่งประเทศไทย” หรือ ร.ฟ.ท. หน่วยงานที่กำกับดูแลและให้บริการด้านระบบรางโดยตรง จึงปรับปรุงและพัฒนาการทั้งการบริหารและการเดินรถเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีแผนพัฒนาในหลายๆ ด้านไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางการเดินรถ การให้บริการ การบริหารจัดการทรัพยากร ตลอดจนพัฒนาด้านการตลาด ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวจะส่งผลให้การรถไฟฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น จากปีละ 9,800 ล้านบาท เป็น 20,000 ล้านบาท โดยรายได้ดังกล่าวมาจาก 2 ช่องทาง 3 กลยุทธ์

โดย 2 ช่องทาง ได้แก่ 1) รายได้จากค่าโดยสารและค่าบริการของรถไฟฟ้ารางคู่ ซึ่งหลังจากรถไฟทางคู่ทุกเส้นทางก่อสร้างแล้วเสร็จ ในปี 2566 คาดว่าภายใน 5-7 ปีหลังจากนั้น รายได้จากค่าโดยสารของการรถไฟฯจะเพิ่มจากปีละ 4 ,000 ล้านบาท เป็นปีละ 8,000 ล้านบาท และรายได้จากการขนส่งสินค้า จะเพิ่มจากปีละ 2,000 ล้านบาท เป็นปีละ 4,000 ล้านบาท 2) รายได้จากค่าเช่าที่ดินของการรถไฟฯ โดยคาดว่าภายใน 5-6 ปี หลังจากจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งจะทำหน้าที่บริหารการพัฒนาที่ดินและหารายได้จากการให้เช่าที่ดินแล้วเสร็จในปี 2563 รายได้จากการให้เช่าที่ดินของการรถไฟฯ จะเพิ่มจากปีละ 3,800 ล้านบาท เป็นปีละ 7,000-8,000 ล้านบาท

สำหรับการขับเคลื่อน 3 กลยุทธ์ เพื่อให้รายได้ที่ตั้งไว้บรรลุเป้าหมายนั้น รองผู้ว่าการการรถไฟฯ ระบุว่า กลยุทธ์ดังกล่าว ประกอบด้วย กลยุทธ์แรก คือ การเปิดตลาดผู้โดยสารกลุ่มใหม่ๆ โดยการรถไฟฯ มีแผนที่จะขยายฐานลูกค้า 3 กลุ่ม คือ 1. ผู้โดยสารที่เดินทางระยะกลาง ซึ่งหมายถึงผู้ที่โดยสารรถไฟเพื่อเดินทางระหว่างจังหวัดในระยะทางที่ไม่ไกลมาก เพื่อทดแทนผู้โดยสารที่เดินทางระยะไกล ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้เสียลูกค้ากลุ่มนี้ให้แก่สายการบินโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 2. ผู้โดยสารกลุ่มนักท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติหันมาสนใจการเดินทางท่องเที่ยวโดยรถไฟกันมากขึ้น และ 3. ผู้โดยสารกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งไม่ได้เร่งรีบในการเดินทาง
รถไฟทางคู่
นายวรวุฒิชี้แจงรายละเอียดในการขยายฐานลูกค้าว่า การรถไฟฯ จะขยายตลาดไปยังลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยว โดยต้องโฟกัสไปในตลาดที่แคบลง อาจจะทำเป็นแพกเกจทัวร์ ซึ่งเราต้องคุยกับบริษัททัวร์ จากข้อมูลพบว่าแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาตินับแสนคนที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทย และต้องการเดินทางในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่เครื่องบิน บางคนต้องการไปเชียงใหม่ด้วยรถไฟและกลับมากรุงเทพฯ ด้วยเครื่องบิน ซึ่งนักท่องที่ยวนิยมเดินทางไปภาคเหนือด้วยรถไฟเพราะจะได้เห็นภูมิประเทศที่สวยงามมาก ส่วนรถไฟสายใต้พบว่ามีนักท่องเที่ยวแบบแบ็กแพกให้ความนิยมมาก ขณะที่สายอีสานผู้โดยสารส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะข้ามจากหนองคายไปลาว ซึ่งปัจจุบันรถไฟไทยกับลาวเชื่อมกันอยู่และกำลังจะขยายเส้นทางเข้าไปยังเวียงจันทน์

ส่วนการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มผู้สูงอายุนั้น การรถไฟฯ มีมาตรการที่จะลดราคาค่าโดยสารให้ผู้สูงอายุ 50% ในช่วงหน้าฝนเป็นเวลา 4 เดือน นอกจากนั้นยังปรับปรุงเรื่องของความปลอดภัยทั้งในส่วนของตัวรางและภายในตู้โดยสาร โดยรถไฟรุ่นใหม่ๆ จะมีห้องน้ำสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ มีราวจับ และในส่วนของชานชาลาซึ่งเชื่อมกับประตูจะเป็นแบบชานสูงเพื่อรองรับวีลแชร์ซึ่งเป็นอุปกรณ์จำเป็นของผู้สูงอายุ

“ถ้ามีการขยายเส้นทางรถไฟจากหนองคายไปยังเวียงจันทน์ได้เชื่อว่าผู้ใช้บริการน่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเดินทางไปลาวโดยเครื่องบินค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะนิยมนั่งเครื่องบินจากกรุงเทพฯไปลงอุดรธานีแล้วต่อรถยนต์เข้าลาว เพราะค่าเครื่องจากกรุงเทพฯไปอุดรฯไม่ถึงพันบาท ต่อรถเข้าเวียงจันทน์อีกพันบาท แต่ถ้านั่งเครื่องบินในประเทศลาวต้องจ่าย 5-6 พันบาท ถ้ามีรถไฟไปถึงเวียงจันทน์ก็ยังแข่งได้ เป็นทางเลือกหนึ่งของนักเดินทาง” รองผู้ว่าการการรถไฟฯ กล่าว

นายวรวุฒิกล่าวต่อว่า ส่วนกลยุทธ์ที่ 2 ได้แก่ การพัฒนารถไฟทางคู่ ซึ่งแบ่งเป็น 2 เฟส คือ เฟสแรกมี 7 เส้นทาง และเฟส 2 มี 9 เส้นทาง โดยมีไทม์ไลน์ในการก่อสร้าง ดังนี้

เฟสแรก ประกอบด้วย (1 เส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย จะเสร็จภายในเดือน ก.ย. 2562 (2 เส้นทางชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น จะเสร็จภายในปี 2562 (3 เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ จะเสร็จในปี 2565 (4 เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ จะเสร็จในปี 2565 (5 เส้นทางนครปฐม-หัวหิน จะเสร็จในปี 2564 (6 เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ จะเสร็จในปี 2563 และ (7 เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร จะเสร็จในปี 2564

ส่วนเฟสที่ 2 มี 9 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทางที่ต่อเติมจากเส้นทางเก่า 7 เส้นทาง และเส้นทางที่สร้างขึ้นมาใหม่ 2 เส้นทาง โดยเส้นทางเก่า ได้แก่ 1) เส้นทางปากน้ำโพ-เด่นชัย 2) เส้นทางเด่นชัย-เชียงใหม่ 3) เส้นทางขอนแก่น-หนองคาย และ4) เส้นทางชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี 5) เส้นทางช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี 6) เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา 7) เส้นทางชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ซึ่งทั้ง 7 เส้นทางอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจาก ครม. ขณะที่เส้นทางใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ 8) เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 9) เส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม นั้น ครม.เพิ่งจะพิจารณาอนุมัติไปเมื่อเร็วๆ นี้
รถไฟสายท่องเที่ยว
“สำหรับรถไฟทางคู่เฟสแรกนั้น ปีนี้จะแล้วเสร็จ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางฉะเชิงเทรา คลอง 19-แก่งคอย และจิระ-ขอนแก่น ส่วนที่เหลือก็ช้ากว่าแผนนิดหน่อย มีปัญหาเรื่องอุปกรณ์เล็กน้อย รวมทั้งเรื่องการเปลี่ยนแบบเนื่องจากแบบที่ออกไปมันไม่เหมาะสม แต่คิดว่าไม่ล่าช้ามาก โดยสายใต้จะเสร็จในปี 2564 ขณะที่สายเหนือมีแผนจะเสร็จปี 2565 ในอนาคตก็เชื่อว่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาการจราจรได้เยอะ” นายวรวุฒิระบุ

รองผู้ว่าการการรถไฟฯ กล่าวต่อว่า สำหรับกลยุทธ์ที่สาม คือการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ เพื่อสร้างรายได้จากการพัฒนาที่ดินของการรถไฟฯ โดยการรถไฟฯ เป็นผู้ถือหุ้น 100% นั้นถือว่าการดำเนินการเป็นไปด้วยความราบรื่น โดยขณะนี้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้พิจารณาอนุมัติแล้ว และคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ประมาณเดือน ก.ค. 2562 และสามารถจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ ได้ประมาณต้นปี 2563


กำลังโหลดความคิดเห็น