xs
xsm
sm
md
lg

อนุญาโตฯ “เหมืองทองอัครา” ถกนัดแรก พ.ย.นี้ ชุมชนเรียกร้องให้เปิด อ้าง ศก.ย่ำแย่!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“เหมืองทองอัครา” ที่ถูก ม.44 สั่งปิดกำลังเข้าสู่อนุญาโตตุลาการ ชี้ประชุมนัดแรกเดือน พ.ย. 62 ระหว่างนี้รัฐบาลและคิงส์เกต สามารถเจรจาหาทางออกได้ ขณะที่ กพร.ลงพื้นที่ตรวจชุมชนรอบเหมือง พบผู้นำชุมชนและชาวบ้าน รวมทั้งคนเคยเกลียดเหมือง ต่างเรียกร้องให้รัฐเปิดเหมืองเพราะขาดรายได้ ศก.ย่ำแย่ คนตกงานอื้อ ด้าน กพร.แจ้งให้เหมืองเร่งฟื้นฟูแต่เหมืองยื่นอุทธรณ์ แจงทำทุกอย่างแต่รัฐไม่พิจารณา หากการันตีเปิดเหมืองอัคราได้ พร้อมทำทุกอย่างที่รัฐบาลต้องการ!

“เหมืองทองอัครา” เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่สังคมกำลังจับตาดูว่ารัฐบาลไทยจะต้องเสียค่าโง่ 30,000 ล้านบาทอีกหรือไม่? จากกรณีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตรา 44 สั่งระงับการประกอบกิจการเหมืองทองคำชาตรีที่เกี่ยวข้องตั้งแต่กระบวนการผลิต การต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ การสำรวจ การต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ ถือประทานบัตรเหมือนแร่ทองคำ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา

แต่การที่รัฐบาลไทยตัดสินใจทำเช่นนั้น เป็นผลมาจากข้อพิพาทระหว่างชุมชนกับการดำเนินธุรกิจของเหมือนทองอัครา ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น

โดยในเดือนพฤศจิกายน 2561 บริษัท คิงส์เกตฯ ได้ใช้สิทธิ์ทาฟตา (TAFTA : ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย) นำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการโลกตัดสิน พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดเชยค่าเสียหายให้บริษัทฯ เป็นจำนวนเงินประมาณ 750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท เนื่องจากคำสั่งปิดเหมืองทองคำอัคราละเมิดข้อตกลงทาฟตา

ในระหว่างเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตฯ ก็มีข่าวลือออกมาว่ากรณีเหมืองทองอัคราส่อแววจะมีการล้มมวยเรื่องค่าโง่และมีการไล่ยึดที่ดินทำกินชาวบ้านให้นายทุนทำเหมืองแร่ ซึ่งเรื่องนี้นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมือนแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมาชี้แจงว่าเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคล ขณะที่ความจริงคือประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทตามกระบวนการอนุญาโตฯ ระหว่างประเทศ กับบริษัท คิงส์เกตฯ โดยอยู่ระหว่างการต่อสู้ในขั้นอนุญาโตตุลาการ คาดว่าจะรู้ผลการพิจารณาภายใน 2 ปี

ว่ากันว่าอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจะมีการประชุมนัดแรกในเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการทางกฎหมายที่จะดำเนินการไป แต่ในระหว่างนี้ประเทศไทยและบริษัท คิงส์เกตฯ ก็ยังมีสิทธิ์ที่จะเจรจาเพื่อหาทางออกหรือข้อสรุปได้เช่นกัน

เพราะในคำสั่งตามมาตรา 44 ได้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบร่วม 4 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม สาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง 2 ประเด็น คือ เรื่องของสิ่งแวดล้อม และด้านสุขภาพ

แหล่งข่าวจากกระทรวงทรัพย์บอกว่า คณะทำงานทั้ง 4 กระทรวง ได้เข้าไปสำรวจพื้นที่กันหลายครั้งและนำข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ตามหลักวิชาการ จนได้ข้อสรุปชัดเจนว่าการดำเนินการของเหมืองทองอัครา มีจุดที่เกิดการรั่วไหลของสารเคมีที่ใช้ในการผลิต และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งก็ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทอัครา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ปรากฏว่าบริษัท อัคราฯ ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ตามที่คณะทำงานแจ้งไป และยังได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเรื่องนี้คณะทำงานก็คงต้องมาหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

“ม.44 ถ้าไปดูท้ายคำสั่ง ข้อ 8 ระบุไว้ว่า ในกรณีเห็นสมควร นายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอาจเสนอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้ ซึ่งเรื่องที่คณะทำงานแจ้งไปก็เป็นเรื่องของการปรับปรุง แก้ไข และฟื้นฟู เพราะหลักฐานชัดเจนว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจริงๆ แต่อัครากลับไม่รีบดำเนินการ”

ด้านแหล่งข่าวจากบริษัท อัคราฯ บอกว่า สิ่งที่บริษัทได้รับมานั้น ไม่ใช่เป็นข้อสรุปของคณะทำงาน 4 กระทรวง แต่เป็นข้อสั่งการที่มาพร้อมเงื่อนไขแนบท้าย และจะต้องใช้งบในการดำเนินการฟื้นฟูและปรับปรุงหลายสิบล้านบาท ซึ่งทางผู้บริหารเหมืองอัคราก็ได้มีการหารือกันเห็นว่าข้อสั่งการดังกล่าวไม่มีการการันตีว่า หากมีการฟื้นฟูหรือแก้ไขแล้วเหมืองอัคราจะได้กลับมาเปิดหรือไม่?

“เหมืองอัคราทำทุกอย่างถูกต้องตามขั้นตอนและคำสั่งของราชการ การปรับปรุงฟื้นฟูทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ ก็มีหลักฐานจากสถาบันการศึกษา ทั้งจุฬาฯ มหิดล ม.นเรศวร และบริษัทระหว่างประเทศที่กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นคนเลือกให้มาดำเนินการ แต่ทางภาครัฐไม่เคยเอามาใช้”

ที่สำคัญชาวบ้านที่ร้องเรียนมีเพียง 17 ราย ก็ได้เลือกโรงพยาบาลที่จะไปตรวจร่างกายเองและผลที่ได้ออกมาก็บ่งชี้ชัดว่าทั้ง 17 รายมีปัญหาสุขภาพมาจากสาเหตุของการดำเนินงานของเหมืองหรือไม่? ตามข้อบ่งชี้ด้านพิษวิทยา หรือเป็นการเจ็บป่วยทั่วๆ ไป

“ทั้ง 17 คนเลือกโรงพยาบาลรามาฯ ผลตรวจออกมาแล้ว ก็น่าจะให้ความเป็นธรรมกับอัคราบ้าง อัคราจะไปขอผลตรวจจากโรงพยาบาลรามาฯ เพื่อมาเปิดแถลงข่าวก็ไม่ได้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิ์ของคนไข้หากไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเวลานี้คนงานที่เคยทำงานกับเหมืองอัคราพันกว่าคนก็ต้องถูกออกจากงาน เพราะอัคราแบกรับไม่ไหวเมื่อมีการปิดเหมือง ตอนนี้เรามีคนงานเพียง 36 คน สิ้นปีนี้ก็คงให้ออกอีกจำนวนหนึ่ง”

แหล่งข่าวจากบริษัท อัคราฯ บอกอีกว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้ลงมาเก็บข้อมูลและเข้าไปสอบถามประชาชน ผู้ใหญ่บ้าน ที่อยู่บริเวณเหมืองอัครา ถึงผลกระทบของการปิดเหมืองซึ่งชาวบ้านต่างก็พูดเหมือนกันว่า เศรษฐกิจแย่มาก ไม่มีรายได้ และคนที่เป็นแรงงานก็ทิ้งบ้านไปหางานทำในกรุงเทพฯ ให้ปู่ย่า ตายาย นั่งเลี้ยงหลานแบบอดๆ อยากๆ
ส่วนกิจการบ้านเช่า รีสอร์ต ร้านค้าต่างๆ ก็ทยอยปิดกิจการไปจนกลายเป็นพื้นที่ร้าง

“อบต.ท้ายดง อำเภอวังโป่ง เคยเก็บรายได้ค่าภาคหลางปีละ 200 ล้านบาทจากเหมืองอัครา ก็บอกไม่ไหวแล้วรายได้ไม่มีเลย ตำรวจก็บอกอาชญากรรมเกิดขึ้นตลอดเพราะคนไม่มีรายได้ คนที่เคยต่อต้านเหมืองอัคราหรือพวกที่เกลียดเหมืองอัครา คนใน 17 หมู่บ้านรอบเหมือง ตอนนี้มีแต่คนอยากให้เปิดเหมือง จะได้มีงานทำ มีรายได้เลี้ยงชีวิตและครอบครัว”

อย่างไรก็ดี เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดี กพร. พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยม อบต.เขาเจ็ดลูก ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และ อบต.ท้ายดง ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ เพื่อสอบถามถึงผลกระทบหลังการปิดเหมืองทองอัครา โดยให้กำนัน นายก อบต. รองนายก อบต. ปลัด อบต. ผู้นำ 3 หมู่บ้านที่ติดเหมือง เช่นหมู่ 3 หมู่ 8 หมู่ 9 เข้าประชุมหารือร่วมกัน ที่ อบต.เขาเจ็ดลูก

“ผู้นำบอกเป็นเสียงเดียวกัน อยากให้เหมืองอัครากลับมาเปิด ชาวบ้านส่วนใหญ่ตกงาน ทิ้งบ้านไปทำงานในเมืองใหญ่ มีปัญหาเศรษฐกิจรุนแรง ยาเสพติดเพิ่มขั้น ในชุมชนก็ดูเงียบเหงา มีแต่คนแก่กับเด็กเล็ก

จากนั้นคณะของอธิบดีวิษณุได้เดินทางไปที่ อบต.ท้ายดง ก็ได้รับคำตอบจากผู้นำชุมชนเช่นเดียวกัน คือ อยากให้เหมืองอัครากลับมาเปิด เพราะมีปัญหาเศรษฐกิจ และยังได้บอกกับคณะอีกว่ากลุ่มที่เป็นแกนนำในการต่อต้านและร้องเรียนปรากฏว่าตอนนี้หายตัวไปแล้ว ไม่สามารถติดต่อได้ และคิดว่าการร้องเรียนที่ผ่านมาเป็นเรื่องของกลุ่มคนที่เสียผลประโยชน์ เป็นเรื่องของคนขายที่ดิน แต่กลายเป็นการสร้างปัญหาให้ชุมชน มีแต่คนตกงาน คนทิ้งบ้าน เงียบเหงากันไปหมด

แหล่งข่าวกล่าวว่า การที่อธิบดี กพร.และคณะ ลงพื้นที่ดังกล่าวจะทำให้การแก้ปัญหามีความชัดเจนขึ้น อีกทั้งเหมืองอัครา เชื่อว่าหากรัฐบาลมีคำสั่งที่ชัดเจนจะให้เหมืองทำอะไรบ้าง 1, 2, 3 เป็นต้น ที่จะสร้างความมั่นใจให้รัฐบาลได้ว่าสิ่งนั้นจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อประชาชน จากนั้นจึงจะให้เปิดกิจการได้นั้น

หากเป็นเช่นนี้บริษัท อัคราฯ ก็ยินดีที่จะทำตาม เพราะนั่นหมายถึงทุกอย่างมีทางออก!

ดังนั้น การที่เหมืองทำเรื่องอุทธรณ์ข้อสั่งการ ก็เพราะรู้สึกว่าบริษัทถูกหลอก อย่างกรณีบริษัทแบร์ โดแบร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด (Bhere Dolbear International Limited) ที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่กระทรวงอุตฯ เลือกเพื่อเข้ามาตรวจสอบว่าเหมืองอัครามีการดำเนินงานที่ได้มาตรฐานสากลในทุกๆ ด้าน มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในทุกขั้นตอน ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม เทียบเท่าเหมืองแร่ชั้นนำทั่วโลก ซึ่งบริษัทอัคราเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย กลับไม่มีการนำผลการตรวจสอบมาใช้ และไม่มีการพูดถึงแต่อย่างใด

ถึงวันนี้บริษัท อัคราฯ ก็ยังเชื่อว่า กว่าจะถึงเดือนพฤศจิกายนนี้ บริษัทก็ยังพอมีความหวังในการเจรจา เพราะไม่เช่นนั้น รัฐบาลไทยและบริษัท คิงส์เกตฯ ก็ต้องไปต่อสู้กันในขั้นอนุญาโตฯ ที่ต่างฝ่ายต่างงัดหลักฐานมาสู้กัน

ซึ่งการต่อสู้กันนั้นจะแน่ใจได้อย่างไรว่าบริษัท คิงส์เกตฯ หรือรัฐบาลไทยใครจะเป็นผู้ชนะ! อีกทั้งหากรัฐบาลไทยจะเป็นฝ่ายแพ้จนต้องเสียค่าโง่ ก็เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศต้องเข้าใจ เนื่องเพราะรัฐบาลต้องเลือกดูแลสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ และต้องไม่ใช่ตัวเลข 30,000 ล้านบาทตามที่บริษัท คิงส์เกตฯ เสนอไปแน่นอน!



กำลังโหลดความคิดเห็น