“TDRI” ชี้ ก.อุดมศึกษาฯ ต้องดึงภาคธุรกิจร่วมทำวิจัย เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่ตลาดต้องการ ด้าน “พระจอมเกล้าลาดกระบัง” หวั่นโครงสร้างกระทรวงใหม่ติดระบบราชการ ขณะที่ “พรรคอนาคตใหม่” ห่วงมัธยมกับอุดมศึกษาอยู่คนละกระทรวง อาจมีปัญหาความต่อเนื่องในการจัดทำหลักสูตร ติง รมว.ต้องถนัดทั้งด้านวิทยาศาสตร์และบริหารการศึกษา ส่วน “ประชาธิปัตย์” เกรงพันธกิจพัฒนางานวิจัยล้มเหลว เหตุตั้งหน่วยงานใหม่โดยปราศจากการศึกษา และทุกคณะไม่ได้ถนัดงานวิจัย
เป็นที่จับตาไม่น้อยทีเดียวสำหรับกระทรวงที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่สดๆร้อนๆอย่าง “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)” ซึ่งเป็นการยุบรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.), สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เข้าด้วยกัน โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมและกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษา เพื่อพัฒนากำลังคนให้มีทักษะสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคมศาสตร์ กระทรวงแห่งนี้จะมีอำนาจกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติต่างๆ เกี่ยวกับการอุดมศึกษาที่แยกจากกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งทำหน้าที่ส่งเสริมและกำกับดูแลการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ทั้งนี้เพื่อเตรียมคนไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 ผ่านมหาวิทยาลัย และปฏิรูประบบเศรษฐกิจสังคมไปสู่ฐานนวัตกรรม
ทั้งนี้ในมุมมองของหลายฝ่ายเห็นว่าการตั้งกระทรวงดังกล่าวควรมีเป้าหมายเพื่อจะนำไปสู่การแก้ปัญหาในหลากหลายประเด็น
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) หน่วยงานที่ศึกษาวิจัยถึงจุดแข็งและจุดอ่อนในการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ มองว่า ประเด็นสำคัญในการก่อตั้งกระทรวงดังกล่าวก็เพื่อแก้ปัญหา 2 ประการ คือ 1) ผลงานการวัจัยของสถาบันวิจัยที่อยู่ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจและภาคสังคม ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของงานวิจัย และ 2) การวิจัยของมหาวิทยาลัยต่างๆกับการวิจัยของสถาบันวิจัยเป็นการทำงานแบบแยกส่วน ซึ่งเป็นปัญหาที่รองลงมา
แต่การตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาฯซึ่งควบรวมสถาบันอุดมศึกษาเข้ากับหน่วยงานด้านการวิจัยที่อยู่ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นั้นในเบื้องต้นสามารถแก้ปัญหาได้เพียงข้อเดียวคือทำให้มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยได้ร่วมมือกันในการทำวิจัย ดังนั้นสิ่งต่อไปที่กระทรวงแห่งนี้ต้องทำก็คือทำให้งานวิจัยที่ออกมาสามารถตอบโจทย์ภาคธุรกิจ นำไปสู่การผลิตสินค้าที่สามารถจำหน่ายและส่งออกได้ ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ต้องดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมในการทำวิจัย ทั้งในส่วนการคิดโจทย์การวิจัยและร่วมออกทุนวิจัยด้วย ขณะที่งานวิจัยภาคสังคมนั้นจะต้องมีการประเมินผลอย่างเข้มงวดว่างานวิจัยที่ออกมาสามารถแก้ปัญหาต่างๆของสังคมได้จริงๆ เช่น แก้ปัญหาพืชผลเกษตรเน่าเสียเร็ว ช่วยให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“ก่อนจะทำงานวิจัยต้องถามว่ามีเอกชนรายใดสนใจร่วมทำการวิจัยและร่วมสนับสนุนงบประมาณไหม ถ้าไม่มีก็ไม่ควรเสียเวลาทำวิจัยชิ้นนั้น เพราะแสดงว่างานวิจัยนี้ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ทำไปก็ไม่เกิดประโยชน์” ดร.สมเกียรติ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หนึ่งในสถาบันที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรม กล่าวว่า ปัญหาในการทำวิจัยที่ผ่านมาคือกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเป็นผู้ให้ทุนในการทำวิจัยไม่ได้ติดตามผลว่าผู้วิจัยได้นำผลงานการวิจัยไปใช้ทำอะไรบ้าง งานวิจัยถูกส่งกลับมาที่กระทรวงแล้วเก็บไว้บนหิ้ง ไม่เกิดประโยชน์ ขณะที่ระบบการขอทุนเพื่อเรียนในสาขาการวิจัยหรือพัฒนาด้านนวัตกรรมในระดับอุดมศึกษา เมื่อเรียนจบผู้เรียนต้องกลับไปทำงานใช้ทุนให้หน่วยราชการที่ให้ทุนซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานด้านวิชาการ แทนที่จะได้ไปทำงานด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ความรู้จากการเรียนจึงไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษาฯต้องหาทางแก้ปัญหาในจุดนี้
“ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่างๆเริ่มมีการหารือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อร่วมกันทำวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมและโปรดักต์ใหม่ๆที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมแล้ว ซึ่งตรงนี้จะทำงานวิจัยไม่สูญเปล่า” รศ.ดร.คมสัน ระบุ
ด้าน กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งดูแลด้านการศึกษา เป็นห่วงว่าการแยกมหาวิทยาลัยออกมาอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ขณะที่โรงเรียนต่างๆซึ่งจัดการศึกษาในระดับมัธยมอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ อาจเกิดปัญหาเรื่องการประสานงานในการจัดทำหลักสูตรการศึกษา นอกจากนั้นการโอนถ่ายงบประมาณจากกระทรวงเก่าไปยังกระทรวงใหม่จะมีปัญหาหรือไม่อย่างไร
ส่วน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองหัวหน้าตามภารกิจ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า การตั้งกระทรวงใหม่โดยไม่มีการศึกษาวิจัยรองรับมันขัดต่อหลักการ จะมั่นใจได้อย่างไรว่าพันธกิจจะบรรลุผล นอกจากนั้นงานวิจัยของหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย มีลักษณะเป็นงานวิจัยทางธุรกิจ ต่างจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยซึ่งมีลักษณะเป็นวิชาการ การนำสองหน่วยงานที่รูปแบบทำงานต่างกันมารวมกันจะเกิดปัญหาหรือไม่
“ ที่จริงปัญหางานวิจัยที่ไม่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจนั้นสามารถแก้ไขได้โดยการนำเอกชนเข้ามาร่วมเสนอความเห็น หรือตั้งสถาบันความเป็นเลิศในนวัตกรรมด้านต่างๆขึ้นมาโดยเฉพาะ เช่น ด้านไบโอเทคโนโลยี ด้านเทคโนโลยีทางอวกาศ ไม่จำเป็นต้องตั้งกระทรวงใหม่ให้ยุ่งยากซับซ้อน”
นอกจากนั้น นายชินวรณ์ ยังวิตกว่า มหาวิทยาลัยประกอบด้วยคณะและสาขาต่างๆมากมาย ไม่ได้มีแค่คณะวิทยาศาสตร์ การจะให้ทุกคณะทำวิจัยอาจไม่สอดคล้องกับสาขาวิชาของคณะนั้นๆ
ขณะที่ ดร.สมเกียรติ กลับเห็นต่างออกไป โดยมองว่า ทุกคณะและสาขาวิชาสามารถทำงานวิจัยได้หมด เพราะแต่ละสาขาล้วนมีความจำเป็นในการพัฒนาศักยภาพ เช่น คณะสถาปัตยกรรมอาจทำงานวิจัยเรื่องบ้านประหยัดพลังงาน คณะเศรษฐศาสตร์ทำงานวิจัยเรื่องเครื่องมือในการประมวลผลทางเศรษฐกิจ คณะแพทยศาสตร์ทำวิจัยเรื่องนวัตกรรมในการรักษา
ประเด็นเรื่องบุคลากรก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้าม ซึ่ง ดร.สมเกียรติ เห็นว่า เรื่องหนึ่งที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องเร่งทำก็คือการบริหารบุคลากรเพื่อไม่ให้งานสะดุด โดยสภานโยบายอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะต้องกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละภาคส่วนในกระทรวงการอุดมศึกษาฯให้ชัดเจนเพื่อป้องกันการสะดุดหยุดชะงักในการทำงานอันเนื่องมาจากปัญหาการแบ่งงาน การแย่งงาน และการเกี่ยงงาน ซึ่งมักเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการควบรวมหน่วยงาน
“ถ้ากระทรวงที่ตั้งขึ้นใหม่สามารถสร้างสรรค์งานวิจัยที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจได้ประเทศไทยก็จะมีนวัตกรรมใหม่ๆที่นำไปสู่การผลิตสินค้าซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ก่อให้เกิดรายได้และการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น แต่ถ้าบุคลากรไม่สามารถผลักดันให้บรรลุผลดังกล่าวได้ การตั้งกระทรวงนี้ก็สูญเปล่า” ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุ
ส่วนผู้ที่จะมานั่งในตำแหน่งเจ้ากระทรวงการอุดมศึกษาฯเพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าน่าจะเป็น ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ปลุกปั้นกระทรวงการอุดมศึกษาฯมากับมือนั้น กุลธิดา รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่าไม่ขอแสดงความเห็นว่าเหมาะสมหรือไม่ แต่ส่วนตัวมองว่าผู้ที่จะมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ต้องมีความรู้ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และการบริหารการศึกษา ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าว
จากนี้คงต้องรอดูว่า “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ที่ตั้งขึ้นมาใหม่จะสามารถแก้ปัญหาและตอบโจทย์ที่ต้องการได้จริงหรือไม่ คุ้มค่ากับงบประมาณปีละแสนกว่าล้านบาทที่ทุ่มลงไปหรือเปล่า