xs
xsm
sm
md
lg

แฉ! 3 กลุ่มทุนใหญ่ อยู่เบื้องหลังจับน้ำมันกัญชา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ต่อกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นภายในที่ทำการมูลนิธินิธิข้าวขวัญ ที่ จ.สุพรรณบุรี และจับกุมเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ พร้อมของกลางกัญชา 200 ต้น น้ำมันสกัดจากกัญชา กัญชาบดแห้งและเมล็ดกัญชาตากแห้ง พร้อมทั้งเตรียมออกหมายเรียก นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ เพื่อแจ้งข้อหาร่วมกันผลิตกัญชาและครอบครองกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่สังคมต่างมองว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมายแบบไร้เหตุผล ไม่ได้พิจารณาถึงพฤติกรรมและเจตนา เนื่องจากการผลิตน้ำมันกัญชาของมูลนิธิไม่ได้ทำเพื่อการค้า แต่เป็นการผลิตเพื่อแจกจ่ายให้ผู้ป่วยที่กำลังทุกข์ทรมานจากโรคมะเร็งนำไปใช้ในการรักษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ
การจับกุมดำเนินคดีดังกล่าวนำไปสู่การเคลื่อนไหวของผู้คนหลากหลายกลุ่ม เกิดเป็นปรากฏการณ์ “#Save Decha” บนหน้าเฟซบุ๊กองค์กรด้านสุขภาพและภาคประชาชนได้ร่วมกันระดมทุนกว่า 1 ล้านบาท เพื่อช่วยต่อสู้คดี ขณะที่กลุ่มการเมืองที่มีนโยบายสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากกัญชาอย่างพรรคภูมิใจไทยก็ออกมาประกาศว่าจะร่วมต่อสู้คดีให้ อาจารย์เดชา ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ เจ้าของโครงการซึ่งผลิตน้ำมันกัญชาเพื่อใช้ในการรักษาโรค

นอกจากนั้น หลายฝ่ายยังตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลในการเร่งรัดดำเนินคดีต่อกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญ และเคลือบแคลงสงสัยว่าเรื่องนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่
นายวิฑูรย์ เลี่ยมจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai)
นายวิฑูรย์ เลี่ยมจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) ระบุว่า แปลกใจที่มีการจับกุมมูลนิธิข้าวขวัญซึ่งเป็นองค์กรสาธารณะที่ผลิตน้ำมันกัญชาเพื่อแจกให้แก่ผู้ป่วยมะเร็ง และจับในช่วงเวลา 90 วันที่ขอนิรโทษกรรม แทนที่จะไปไล่จับผู้ลักลอบขายน้ำมันกัญชาซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติมาก จากข้อมูลพบว่าน่าจะมี 3 กลุ่มที่อยู่ในข่ายได้รับผลประโยชน์หากมูลนิธิข้าวขวัญไม่สามารถผลิตน้ำมันกัญชาแจกผู้ป่วยได้ นั่นคือ

1. ข้าราชการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการอนุมัติและจับกุมผู้ที่ปลูกและผลิตผลิตภัณฑ์ยาที่สกัดจากกัญชา เพราะหากมูลนิธิซึ่งเป็นองค์ไม่แสวงกำไรไม่สามารถผลิตยาจากกัญชาเพื่อแจกจ่าย โอกาสที่จะได้ประโยชน์จากเอกชนที่มาขออนุมัติก็มีมาก หรือตราบใดที่กฎหมายยังคลุมเครือ การเรียกรับผลประโยชน์จากการจับกุมก็สามารถทำได้

2. กลุ่มที่จะเสียรายได้หากมีการผลิตยารักษามะเร็งแจกจ่ายให้ผู้ป่วยฟรี

3. กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ 3 บริษัทที่มีศักยภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชา และมีความร่วมมือกับภาครัฐในการวิจัยพัฒนาเพื่อใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชา โดยทั้ง 3 บริษัทมีศักยภาพทั้งในด้านของการปลูกกัญชา พัฒนาผลิตภัณฑ์ และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากกัญชา ซึ่งกลุ่มนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะอยู่เบื้องหลังในการสกัดไม่ให้มูลนิธิข้าวขวัญสามารถผลิตและแจกจ่ายน้ำมันกัญชาแก่ผู้ป่วยมะเร็ง

“เท่าที่รู้ทั้ง 3 บริษัทมีความสัมพันธ์กับภาครัฐในทุกระดับ และมี 2 บริษัทที่ลงทุนปลูกกัญชาในต่างประเทศเพื่อรองรับธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ จึงมีโอกาสสูงมากที่ 3 บริษัทนี้จะเข้ามาครองตลาดผลิตภัณฑ์จากกัญชาในประเทศไทยซึ่งจากการประเมินคาดว่ามีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งนอกจาก 3 บริษัทนี้ยังมีบริษัทต่างชาติที่ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาบางแห่งในการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชา โดยมีบริษัทหนึ่งที่ถูกเพิกถอนการขอสิทธิบัตรไป แต่เขาก็สามารถยื่นขอเข้ามาใหม่ได้ และบริษัทต่างชาติดังกล่าวก็สามารถร่วมทุนกับ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยได้ จะเห็นได้ว่าผลประโยชน์มหาศาล คนกลุ่มนี้จึงทำได้ทุกอย่างเพื่อธุรกิจ” นายวิฑูรย์กล่าว
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับข้อมูลของหลายฝ่ายที่เห็นตรงกันว่าน่าจะมีกลุ่มทุนผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ธุรกิจผลิตภัณฑ์กัญชาในไทยมีมูลค่าสูงถึงเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชามีราคาสูงมาก กัญชา 1 กิโลกรัม สามารถผลิตสารสกัดกัญชาได้ 60-90 cc ซึ่งสารสกัดจากกัญชา 1 CC มีราคาถึง 1,000 บาท ดังนั้นจึงมีหลายกลุ่มที่ได้รับประโยชน์หากมูลนิธิข้าวขวัญไม่สามารถผลิตน้ำมันกัญชามาแจกจ่ายให้แก่ผู้ป่วยได้ ซึ่งได้แก่

1. กลุ่มธุรกิจใต้ดินซึ่งผลิตผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชา โดยจากข้อมูลพบว่าปัจจุบันมีการใช้กัญชา ถึงเดือนละ 10 ตันในการผลิตยาจากกัญชาในรูปแบบของธุรกิจใต้ดิน ซึ่งมีทั้งบริษัทขนาดใหญ่และขนาดย่อม 2. องค์การเภสัชกรรม หน่วยงานรัฐมีโอกาสปลูกและผลิตผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาอย่างถูกกฎหมาย โดยจะใช้กัญชาสายพันธุ์ต่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้คนไทยใช้ผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาในราคาสูง และอาจทำให้กัญชาสายพันธุ์ไทยหายไป 3. กลุ่มทุนต่างชาติ ซึ่งมีโอกาสที่จะผูกขาดสิทธิบัตรกัญชาทั้งที่เป็นพืชและที่เป็นผลิตภัณฑ์จากกัญชา เนื่องจากยื่นขอสิทธิบัตรก่อนคนไทย

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ล่าสุดมีต่างชาติมายื่นขอสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชา 13 คำขอ โดยมี 2 คำขอละทิ้ง เหลือ 11 คำขอ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ถอนสิทธิบัตรกัญชาที่ขัด ม.9 (1) เรื่องสารธรรมชาติในกัญชาจดไม่ได้ ซึ่งมีแค่ 1 คำขอ เหลืออีก 10 คำขอที่ยังเดินหน้าต่อ และพบว่ามี 2 คำขอที่กำลังจะได้รับสิทธิบัตรซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องลดอาการปวด และเป็นการยื่นขอสิทธิบัตรเรื่องสารในกัญชาที่เรียกว่า THC
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ และรองประธานชทรมแพทย์ชนบท
ขณะที่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ และรองประธานชทรมแพทย์ชนบท เห็นว่า อาจมีกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่เข้ามาแทรกแซงในเรื่องนี้ เพราะแปลกมากที่มีตำรวจเข้าไปจับกุมเจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญซึ่งผลิตน้ำมันกัญชาในช่วงที่อยู่ระหว่างการนิรโทษกรรม 90 วัน (ตั้งแต่ 25 ก.พ. - 25 พ.ค. 2562) ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แก้ไขปี 2562 ที่ได้ปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติดประเภทที่ 5 ให้สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ โดยให้เวลาในการขอขึ้นทะเบียนได้ภายใน 90 วัน จึงไม่ต้องขออนุญาตครอบครองเพราะเป็นการใช้เพื่อผลิตยา

“ปัญหาคือใครสั่ง? เรื่องนี้น่าจะมีเบื้องหลังบางอย่าง” นพ.สุภัทรตั้งข้อสังเกต

ด้านนายปานเทพระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีสิทธิจับกุมในช่วงนิรโทษกรรม 90 วัน เพราะรัฐบาลกำหนดข้อผ่อนผันดังกล่าวออกมาเอง ระหว่างนี้มูลนิธิข้าวขวัญสามารถผลิตและแจกจ่ายน้ำมันกัญชาได้ โดยมีเวลาที่จะขอขึ้นทะเบียนได้จนถึง วันที่ 25 พ.ค. 2562 และถึงแม้จะขอขึ้นทะเบียนไปแล้วแต่ไม่ได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีสิทธิแค่ริบของกลาง แต่ไม่มีสิทธิสั่งจำคุก การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ป้องปันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จึงไม่ชอบมาพากล

ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า ครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกตรวจมูลนิธิข้าวขวัญ ตำรวจจะดำเนินการแค่ยึดอุปกรณ์ต่างๆ เท่านั้น ไม่ได้มีการจับกุมและดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่มูลนิธิขวัญข้าวแต่อย่างใด แต่ระหว่างนั้นมีโทรศัพท์จากผู้ใหญ่เข้ามาสั่งการจึงมีการจับกุมเจ้าหน้าที่มูลนิธิด้วย

ส่วนว่าหลังจากนี้การผลิตยารักษาโรคจากสารสกัดกัญชาในประเทศไทยจะดำเนินไปในทิศทางไหน จะถูกบริษัทเอกชนเข้ามากินรวบผูกขาดอย่างที่หวั่นเกรงกันหรือไม่ ก็คงต้องติดตามกันต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น