xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลัง “เสี่ยหนู” ไม่ร่วมเพื่อไทย “บิ๊กตู่-เนวิน-อนุทิน” มองตารู้ใจ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เบื้องหลัง อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ ทั้งขั้วประชาธิปไตยและพรรคสืบทอดอำนาจ ยันไม่มีการ “แทงกั๊ก” แจงพลังประชารัฐและภูมิใจไทย ต่างมองตาก็รู้ใจ แถมจับมือทำงานการเมืองมานาน คนของพลังประชารัฐก็เป็นคนเก่าที่นายเนวิน ชิดชอบ ปั้นมากับมือ ขณะที่ “เสี่ยหนู” แม้จะมีสายสัมพันธ์นายทักษิณ ชินวัตร และเป็นคนที่ เจ๊หน่อย ผลักดัน แต่ไม่มีทางกล้าแข็งข้อพาภูมิใจไทยร่วมเพื่อไทย ลือมีโครงการรัฐเป็นเดิมพัน ชี้ เนวิน ชิดชอบ มีอำนาจเบ็ดเสร็จ “เสี่ยหนู-ศักดิ์สยาม” แพกคู่ยึดกระทรวงสำคัญ

การเมือง 2 ขั้วที่กำลังเกิดขึ้นหลังเลือกตั้งนับวันจะยิ่งทวีความร้อนแรงและเป็นชนวนให้เกิดความแตกแยกในสังคมมากขึ้น เนื่องเพราะต่างฝ่ายต่างช่วงชิงความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งในอดีตพรรคที่ได้จำนวน ส.ส.มากที่สุดจะได้สิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาลเป็นรายแรก แต่ในวันนี้สิ่งที่เคยปฏิบัติกันมากลับไม่ใช่สิ่งที่ชอบธรรม เพราะได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ว่าใครจะได้สิทธิ์ในการตั้งรัฐบาลก่อน ระหว่างพรรคเพื่อไทย ที่ได้จำนวน ส.ส.มากที่สุด กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่อ้างชนะคะแนนป็อปปูลาร์โหวต แสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องการให้พรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

โดยตัวเลขที่คาดว่าจะทำให้รัฐบาลปลอดภัยจะอยู่ที่ 250 ขึ้นไป เพราะหากมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะต้องใช้เสียงของ ส.ส. 251 เสียงจาก 500 เสียงจึงจะสามารถปลดนายกรัฐมนตรีได้!

ดังนั้น การเดินหน้าเพื่อลงสัตยาบันร่วมจัดตั้งรัฐบาลของขั้วไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำร่วมกับอีก 5 พรรค ประกอบด้วย พรรคอนาคตใหม่ เสรีรวมไทย ประชาชาติ เพื่อชาติ พลังปวงชนชาวไทย และพรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่แม้ไม่ได้มาร่วมลงสัตยาบันแต่ได้ประกาศว่าจะอยู่ขั้วนี้ รวมแล้วประมาณ 255 เสียง

แต่ใช่ว่าพรรคเพื่อไทยจะหยุดเพียงแค่นี้ ยังมีความพยายามจะชวนพรรคภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ เข้ามาอยู่ในขั้วนี้ด้วยเช่นกัน
นายเนวิน ชิดชอบ
อย่างไรก็ดี ความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคสืบทอดอำนาจ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง เพราะก่อนการเลือกตั้งก็มีการออกมาบอกให้สังคมได้รับรู้แล้วว่าพรรคจะเดินหน้ารวบรวมเสียงในการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งเช่นกัน พร้อมกับออกมายอมรับว่าได้มีการต่อสายไปยังพรรคต่างๆ ไว้แล้วแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้

แหล่งข่าวจากพรรคพลังประชารัฐบอกว่า พรรคพลังประชารัฐมีการจับมือกับพรรคภูมิใจไทยและรวมพลังประชาชาติไทย ไว้ตั้งแต่ที่ตัดสินใจในการเดินหน้าทางการเมือง เพื่อจะทำให้พลังประชารัฐเจาะฐานของพรรคฝ่ายตรงข้ามและสามารถชนะเลือกตั้งได้สำเร็จ ตั้งแต่เรื่องของการวางตัวผู้สมัคร พปชร.กับภูมิใจไทยก็จะมีการหลีกให้กัน และผู้สมัครหลายคนก็เป็นฝีมือของภูมิใจไทยไปดีลมาให้

“คนที่มีบทบาทในภูมิใจไทย ยังเป็นนายเนวิน ชิดชอบ วางกลยุทธ์ให้ ดีลให้ และดูแลผู้สมัครให้ในบางพื้นที่ การจะทำอย่างนี้ได้มันต้องมีการผูกกันไว้แบบสัญญาใจสุดๆ เหมือนกัน”

ดังนั้น การที่พรรคเพื่อไทยจะหวังดึงภูมิใจไทยเข้ามาร่วมด้วย จึงไม่น่าจะเป็นไปได้แม้จะมีความมั่นใจว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มีความสนิทสนมใกล้ชิดกับนายทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคเพื่อไทยก็ตาม โดยเฉพาะที่มีการพูดกันว่าคุณหญิงสุดารัตน์เป็นผู้ผลักดันให้นายอนุทินได้เป็นรัฐมนตรีครั้งแรก คือได้เป็น รมช.สาธารณสุข เมื่อปี 2544-2548 ในยุคที่คุณหญิงสุดารัตน์เป็น รมว.สาธารณสุข และได้เป็นรมช.พาณิชย์ ในช่วงระยะเวลาใกล้กัน

“อนุทินจะอยู่ในก๊วนของคุณหญิงหน่อย จะมีนัดสังสรรค์กับคนในพรรค รวมไปถึงการพบปะสื่อที่ร้านย่านสุขุมวิทกันเป็นประจำ แต่อนุทินก็จะบอกกับคนใกล้ชิดว่าการขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีได้ก็เพราะมีการดูแล สนับสนุนภายในพรรค จึงไม่ใช่เรื่องของบุญคุณแต่อย่างใด

ไม่ใช่เพียงแค่นั้น นายอนุทินยังได้ไปร่วมงานเลี้ยงฉลองรับปริญญาพุทธศาสนาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา ของคุณหญิงสุดารัตน์ เมื่อปี 2561 ที่บ้านลาดปลาเค้า และมีการพบปะกับแกนนำพรรคเพื่อไทยในงานนี้เช่นกัน และตรงนี้อาจทำให้พรรคเพื่อไทยมีความหวังว่าภูมิใจไทยจะเข้ามาร่วมก็เป็นได้

“อนุทินเป็นคนพึ่งได้ อัธยาศัยดี ไม่ชอบเป็นศัตรูกับใคร และรู้ว่าควรทำอย่างไร การจะตัดสินใจอะไรที่เกี่ยวกับในพรรคก็ยังเป็นเนวินที่มีบทบาทสำคัญ เรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นเรื่องที่มีมาตั้งแต่สมัยคุณชวรัตน์ ชาญวีรกูล พ่อของอนุทิน ซึ่งเราจะเห็นว่าคุณชวรัตน์เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย เมื่อปี 2551-2554 ก็จะมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ น้องชายนายเนวินนั่งเป็นประธานคณะทำงานให้ คือทำงานเป็นแพกคู่กัน”

ด้วยเหตุนี้การที่พรรคเพื่อไทยจะคิดดึงพรรคภูมิใจไทยจึงเป็นเรื่องยาก ยิ่งหากมองย้อนไปดูเมื่อครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไปประชุม ครม.สัญจร ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 7-8 พฤษภาคมที่ผ่านมาที่จังหวัดบุรีรัมย์ และสุรินทร์ นายเนวินก็ได้จัดงานต้อนรับยิ่งใหญ่ มีชาวบุรีรัมย์กว่า 3 หมื่นคน สวมเสื้อฟุตบอลเข้ามานั่งบนสแตนด์เพื่อมาต้อนรับบิ๊กตู่ ที่สนามช้าง อารีนา หรือธันเดอร์ คาสเซิล สเตเดียม สนามกีฬาของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มาต้อนรับบิ๊กตู่ ซึ่งมีเสียงปรบมือต้อนรับอย่างล้นหลาม และงานนี้มีนายอนุทินร่วมต้อนรับด้วย

“ครั้งนั้นถ้าดูกันชัดๆ จะสื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของนายเนวิน กับบิ๊กตู่ บิ๊กป้อม นายสมคิด และแกนนำพรรคพลังประชารัฐกันแล้ว และการประชุม ครม.มีการเสนอ 121 โครงการ ใช้งบประมาณ 20,706 ล้านบาท”
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
แหล่งข่าวบอกอีกว่า นายเนวินมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทางกองทัพ โดยเฉพาะกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย รวมถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่เคยร่วมงานการเมืองตั้งแต่ยุคนายทักษิณ ชินวัตร และปัจจุบัน นายวิเชียร ชวลิต นายทะเบียนสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย, ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมานั่งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีพาณิชย์ (นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ปัจจุบันเป็นเลขาฯ พรรค พปชร.) ก็ถือเป็นคนที่นายเนวินให้การสนับสนุนมาตั้งแต่สมัยเป็นรองผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ รวมทั้งนายนที ขลิบทอง คีย์แมนคนสำคัญในการผลักดันยุทธศาสตร์ประชารัฐของ “ดรีมทีมสมคิด” ก็เป็นเพื่อนรักนายเนวิน

ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่านายอนุทินเป็นเจ้าของบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) : stec ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่อันดับ 3 ที่เน้นงานก่อสร้างภาครัฐ ซึ่งจากข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า นายอนุทินถือหุ้นใหญ่เป็นอันดับที่ 4 จำนวน 71,550,128 คิดเป็น 4.69% และงานที่บริษัท ซิโน-ไทย เข้าไปรับจะมีทั้งงานอาคาร, ถนน, ทางด่วน, ระบบรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ และยังมีรถไฟฟ้าสีต่างๆ ที่กำลังก่อสร้างและเปิดประมูลในยุครัฐบาล คสช.

“ยังมีไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ซิโน-ไทย เป็นพันธมิตรร่วมทุนกับบีทีเอส ซึ่งเป็นคู่แข่งกับซีพี และยังมีโครงการก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 3 อู่ตะเภา แต่ละโครงการเป็นแสนล้าน ยังมีโครงการอื่นๆ ที่จะทยอยออกมาประมูล ทุกโครงการมีความหมายกับซิโน-ไทย

ว่ากันว่าในการประมูลโครงการของบริษัท ซิโน-ไทย มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่ชอบมาพากลในการก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ซึ่งมีข้อครหากรณีการปรับเพิ่มงบประมาณในโครงการติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเป็น 8,000 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้เพียง 3,000 ล้านบาทเท่านั้น เท่ากับว่างบประมาณในส่วนนี้เพิ่มขึ้นถึง 5,000 ล้านบาท อีกทั้งมีการขยายระยะเวลาก่อสร้างให้บริษัท ซิโน-ไทย ถึง 4 ครั้ง รวม 1,482 วัน จากเดิมที่กำหนดให้ก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 900 วัน

การต่อสัญญารอบที่ 4 ได้ส่งผลให้ซิโน-ไทย สามารถขยายเวลาก่อสร้างได้ถึงวันที่ 15 ธ.ค. 2562 จากเดิมที่ต้องเสร็จใช้การได้ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2558 ทั้งนี้ หากไม่ขยายเวลาให้ผู้รับเหมา ต้องเสียค่าปรับวันละ 12 ล้านบาท จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่ากรณีนี้ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนโดยไม่ชอบหรือไม่? ที่สำคัญปฏิเสธไม่ได้ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นั้นมีที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.

“ในแวดวงก่อสร้างรู้กันว่า ซิโน-ไทย มีงานอยู่ในมือเป็นแสนล้านบาท ที่ผ่านมาได้โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เหลือง และสีส้ม ซึ่งซิโน-ไทย จะเน้นเข้าประมูลโครงการรัฐให้มากที่สุด หากได้ไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบินด้วย ก็ยิ่งทำให้บริษัทเติบโตได้อีก
บิ๊กตู่พบประชาชน  ณ สนามช้างอารีน่า  จังหวัดบุรีรัมย์ ในระหว่าง ไปประชุม ครม.สัญจร ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 7-8 พฤษภาคมที่ผ่านมา


ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าพรรคภูมิใจไทยจะรอเทียบเชิญเก้าอี้นายกรัฐมนตรี จึงไม่ตอบรับกับขั้วการเมืองใดๆ นั้น แหล่งข่าวบอกว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะความจริงพรรคได้มีการจับมือกันไว้แล้ว และไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องเพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้ สังคมอาจยังมีความไม่ไว้วางใจที่จะให้นักธุรกิจที่เข้ามาสู่เส้นทางการเมืองซึ่งทำธุรกิจหรือค้าขายกับภาครัฐไม่ว่าจะเป็นรูปแบบสัมปทาน หรือโครงการประมูลกับรัฐ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอน

“ประเทศบอบช้ำมามาก คุณลักษณะของคนที่จะเข้ามาเป็นนายกฯ จะต้องได้คนที่ตั้งใจจริง มีสัจจะที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ และสังคมไว้วางใจ ด้วยเหตุนี้สังคมย่อมคาดหวังว่านายกฯ จะต้องไม่ใช่พ่อค้าที่จะเข้ามาหาประโยชน์ เพราะทุกคนเข็ดกับทักษิณที่มีธุรกิจสัมปทานกับรัฐแล้ว”

ทั้งพรรคภูมิใจไทยก็มั่นใจว่าการร่วมรัฐบาลกับ พปชร.ก็น่าจะได้กระทรวงสำคัญๆ เช่นกระทรวงมหาดไทย คมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น

“ได้เป็นรองนายกฯ ควบรัฐมนตรีมหาดไทย เป็นเรื่องที่ภูมิใจไทยพอใจ หรือได้ช่วยคมนาคม แต่เลือกกรมได้ เกษตรฯ ก็เลือกกรมได้ ทุกอย่างคุยกันได้ระหว่าง พปชร. กับภูมิใจไทย”

ถึงวันนี้พรรคพลังประชารัฐ และภูมิใจไทย จึงถือว่าเป็นพรรคที่มองหน้าก็รู้ใจ...เพียงแต่รอจังหวะเวลาที่เหมาะสมก็จะประกาศร่วมเป็นรัฐบาล ส่วนจะมีพรรคใดเข้ามาร่วมอีกหรือไม่ ก็อยู่ที่การเจรจาของพรรคพลังประชารัฐทั้งบนดินและใต้ดินในช่วงเวลาจากนี้ไป!




กำลังโหลดความคิดเห็น