xs
xsm
sm
md
lg

“เพื่อไทย” หากลยุทธ์สู้หลังยุบ ทษช. ชี้ พปชร.มาแรง แม้ “บิ๊กตู่” ไม่ร่วมหาเสียง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จับตา “พรรคเพื่อไทย” เร่งหายุทธวิธีรับมือหลังยุบพรรคไทยรักษาชาติ จะรักษาจำนวน ส.ส.ในขั้วนี้ได้อย่างไร เพราะการจะถ่ายโอนให้พรรคพันธมิตรไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ส่งผู้สมัครในพื้นที่ ทษช. ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ “ดีวันดีคืน” แม้ไม่มี “บิ๊กตู่'” ร่วมขบวนหาเสียง แต่ด้วยกลยุทธ์เข้าถึงคนถือบัตรคนจน 14.5 ล้านราย และการแจกที่เจ้าหน้าที่รัฐมองไม่เห็น ทำให้ พปชร.เหนือกว่าพรรคอื่นแถมไม่ต้องรอคืนหมาหอน รวมไปถึงหากพรรคคู่แข่งถูก กกต.แจกใบส้ม ยิ่งเป็นแต้มต่อให้พรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งนี้

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักชาติ จะมีผลให้การเมืองต้องเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่ต้องสูญเสียเก้าอี้ ส.ส. ที่คาดว่าจะได้จากพรรคไทยรักษาชาติไม่ต่ำกว่า 25-30 ที่นั่ง ประเด็นนี้ดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทยได้มีการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์การยุบพรรค ทษช.ไว้แล้ว อีกทั้งยังคาดการณ์ด้วยว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้สมัครเพื่อไทยและพรรคพันธมิตรมีโอกาสจะถูก กกต.สอยด้วยการแจก “ใบส้ม” หลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม ได้มากกว่าพรรคการเมืองอีกขั้วหนึ่ง

“หลังวันที่ 24 มี.ค. กกต.จะมีระยะเวลาประกาศรับรองการเป็น ส.ส.ภายใน 60 วัน ในระหว่างนั้นเชื่อว่าจะมีการสอยด้วยการแจกใบส้ม เราอาจจะเห็นว่าตัวเลขผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยชนะแน่นอน แต่ความจริงไม่ใช่ตัวเลขที่เห็นคืนนั้น หรือวันรุ่งขึ้นว่าชนะแล้วจบ แต่จะต้องรอ กกต.ประกาศรับรองก่อน ซึ่งจะมีผลให้ตัวเลขหรือจำนวน ส.ส.ที่ได้เปลี่ยนแปลงไป

แหล่งข่าวกล่าวว่า การยุบพรรคไทยรักษาชาติ มีผลให้ผู้สมัครทั้งหมดเป็นโฆฆะ คือไม่มีผู้สมัคร และพรรคไทยรักษาชาติในสนามเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมนี้ แต่ผู้สมัครและสมาชิกของพรรคไทยรักษาชาติ สามารถเข้าสังกัดพรรคการเมืองอื่นได้ และหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นใหม่ หลังผ่าน 90 วันไปแล้ว บุคคลดังกล่าวสามารถลงสมัคร ส.ส.ได้เช่นกัน

ส่วนกรรมการบริหารพรรคทั้ง 14 คนที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 8 ก.พ. 2562 เป็นไปตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี และมีมติเอกฉันท์ห้ามมิให้กรรมการบริหารพรรคไปจดทะเบียนพรรคขึ้นใหม่หรือมีส่วนร่วมในการตั้งพรรคการเมืองใหม่เป็นเวลา 10 ปี ประกอบด้วย 1. ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค 2. นายฤภพ ชินวัตร รองหัวหน้าพรรค3. นางสุณีย์ เหลืองวิจิตร รองหัวหน้าพรรค 4. นายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์ รองหัวหน้าพรรค 5. นพ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล รองหัวหน้าพรรค 6. นายมิตติ ติยะไพรัช เลขาธิการพรรค7. นายต้น ณ ระนอง รองเลขาธิการพรรค 8. นายวิม รุ่งวัฒนจินดา รองเลขาธิการพรรค 9. นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ รองเลขาธิการพรรค 10. นายพงศ์เกษม สัตยาประเสิรฐ โฆษกพรรค 11. นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ นายทะเบียนสมาชิกพรรค 12. นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ เหรัญญิกพรรค 13. นายจุลพงศ์ โนนศรีชัย กรรมการบริหารพรรค และ 14. รศ.ดร.รุ่งเรือง พิทยศิริ กรรมการบริหารพรรค

ดังนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนี้ไปจึงเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทย จะต้องเดินกลยุทธ์ทางการเมืองที่จะต้องทำให้พรรคเพื่อไทยสามารถกวาดที่นั่งในพื้นที่ที่ส่งผู้สมัครให้ได้มากที่สุด โดยพรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครเพียง 250 เขตจาก 350 และส่งระบบบัญชีรายชื่อ 97 คน

“เพื่อไทยจะต้องทำให้ได้ ส.ส.เขตมากที่สุด เพราะไม่มีหวังกับบัญชีรายชื่ออยู่แล้ว ซึ่งเดิมก็หวังจาก ทษช.ที่ส่งระบบเขต 175 และบัญชีรายชื่อ 108 คน แต่เมื่อ ทษช.ถูกยุบไปแล้ว ก็จะต้องหาวิธีการที่จะถ่ายคะแนนไปให้กับพรรคพันธมิตรทั้งเพื่อชาติ เสรีรวมไทย อนาคตใหม่ หรือประชาชาติ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำกันได้ง่าย”

โดยจะต้องเริ่มจากการส่งผู้สมัครของ ทษช.ไปอยู่ที่พรรคใดก่อน แม้คนกลุ่มนี้จะไม่ได้ลงเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม ก็ตาม แต่จะต้องไม่ให้เกิดปัญหาที่ทำให้คนกลุ่มนี้เปลี่ยนใจย้ายไปอยู่พรรคขั้วตรงข้ามแม้แต่รายเดียว


อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะต้องนำมาวิเคราะห์ คือจะต้องดูกันให้ละเอียดว่า พื้นที่ตรงนั้นเมื่อไม่มีพรรคไทยรักษาชาติแล้วจะเป็นโอกาสของพรรคการเมืองใดเป็นอันดับต่อไป ซึ่งในเบื้องต้นก็เกรงว่า พรรคพลังประชารัฐ จะต้องหาวิธีการช่วงชิงพื้นที่ตรงที่คาดว่าพรรค ทษช.จะชนะไปได้ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ไม่น่าจะได้ประโยชน์จากพื้นที่ตรงนี้

แหล่งข่าวบอกอีกว่า สถานการณ์การแข่งขันทางการเมืองในเวลานี้รุนแรงมาก ซึ่งแต่ละพรรคต่างก็หากลยุทธ์ที่จะมาช่วงชิงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง และหนึ่งในกลยุทธ์ที่หลายพรรคการเมืองเลือกใช้ก็คือการเดินตามพรรคพลังประชารัฐ ด้วยการเข้าไปติดต่อหน่วยราชการขอรายชื่อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แจกให้กับประชาชน เป็นจำนวนกว่า 14.5 ล้านราย แต่ปรากฏว่าทุกพรรคได้เพียงชื่อ และนามสกุล แต่ไม่สามารถได้ที่อยู่หรือเบอร์ในการติดต่อผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้

“ในพื้นที่รู้และเห็นว่าพรรคพลังประชารัฐ สามารถโทร.ติดต่อกับผู้ถือบัตร และบอกกับผู้ถือบัตรให้เลือกพรรคนี้ เพื่อจะได้มีบัตรสวัสดิการหรือบัตรคนจนนี้ใช้อีก แต่ถ้าเลือกพรรคอื่นก็จะไม่มีโอกาสได้เงินสนับสนุนแบบนี้เพราะพรรคอื่นจะยกเลิกบัตรคนจน

ขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่า หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และแกนนำจะให้ความสำคัญและเลือกลงพื้นที่ที่มีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนมาก แต่ที่น่าแปลกที่สุดคือที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน แกนนำก็ยังให้ความสำคัญและลงไปที่นี่ ซึ่งมี ส.ส.ได้เพียง 1 คน แต่มีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเกือบ 9 หมื่นราย “แม่ฮ่องสอน จากการประเมิน ได้คะแนนเพียง 4 หมื่นก็ได้เป็น ส.ส.แล้ว ซึ่งคนถือบัตรมีถึง 9 หมื่นราย ขอแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ลงให้ พลังประชารัฐก็ชนะแล้ว”

แหล่งข่าวระบุว่า โอกาสที่พรรคพลังประชารัฐจะได้ ส.ส.เป็นอันดับที่ 2 มาจากการที่พรรคพลังประชารัฐ ได้มีการประเมินจากบัตรคนจน ซึ่งมีทั้งหมด 14.5 ล้านราย ขอเพียงแค่แกนนำและผู้สมัครทุกคนช่วยกันเข้าถึงผู้ถือบัตรให้ได้ และสามารถมั่นใจได้ว่าเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ หรือเพียง 7 ล้านรายเลือกพรรคพลังประชารัฐก็จะทำให้พรรคได้ ส.ส.ทั้ง 2 ระบบถึง 100 ที่นั่ง

“เราคิดแค่ 50% แต่เราก็ยังหวังว่าจะได้จากผู้ถือบัตร เป็น 60% จำนวน ส.ส.ของพรรคก็จะเพิ่มขึ้นมาได้” ทันที

นอกจากนี้ยังมีกระแสโจมตีในพื้นที่อีสานว่า ผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐ ได้เปรียบผู้สมัครพรรคการเมืองอื่น เพราะถือว่าเป็นพรรคที่มีกระสุนที่สุดและยังได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็นมหาดไทย ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ ปล่อยให้ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ แจกจ่ายทั้งเงินและสิ่งของผ่านทางหัวคะแนนได้โดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่สนใจใดๆ

“ผู้สมัครหลายพรรคก็คุยกัน และช่วยกันเก็บข้อมูลพรรคพลังประชารัฐไว้ และมีบางส่วนก็ส่งให้ กกต. แต่บางพรรคให้รอหลังเลือกตั้งจึงจะดำเนินการ เพราะที่มีการพูดกันในพื้นที่ว่าจะไม่มีคืนหมาหอนแบบในอดีต เพราะวันนี้บางพรรคสามารถหอนได้ทุกวันโดยไม่มีความผิด”

แหล่งข่าวระบุว่า จากนี้ไปต้องดูขั้นตอนที่ 2 คือ หลังเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมไปแล้ว เพราะเชื่อว่าถึงตอนนั้นจะเกิดการแจกใบส้มเกิดขึ้น และหากมีการแจกใบส้มจริงๆ คะแนนทั้งพรรคที่จะได้ที่ 1 และพรรคซึ่งได้ที่ 2 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส.เกิดขึ้นทันที ตรงนี้หลายพรรคเกรงว่าจะมีการแจกใบส้ม ในช่วงที่ยังไม่ประกาศรายชื่อ ส.ส.อย่างเป็นทางการ จะมีผลให้พรรคที่ได้คะแนนเป็นที่ 1 ในพื้นที่นั้นถูกตัดคะแนนทิ้ง ทั้ง ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อ และมีการเลื่อนลำดับพรรคที่ได้ที่ 2 ขึ้นมาแทน

“ตรงนี้เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองกำลังเช็กกันอยู่ว่าใบส้มจะมีผลเปลี่ยนแปลงต่อพรรคอย่างไร โดยเฉพาะในขั้วพรรคตระกูลเพื่อฯ และถ้าพวกเราโดนไปถึง 20 เขต คะแนนก็น่าจะไปตกที่พรรคพลังประชารัฐมากกว่าพรรคอื่นที่จะถูกเลื่อนลำดับมาหรือไม่”

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ กล่าวถึงกรณีผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แล้วได้ใบส้มว่า หากมีการแจกใบส้มภายใน 1 ปีหลังจากมีการเลือกตั้ง พรรคที่ ส.ส.ดังกล่าวสังกัดจะถูกตัดคะแนนทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่หากแจกใบส้มหลังจากเลือกตั้งเกิน 1 ปี จะตัดเฉพาะคะแนน ส.ส.เขตเท่านั้น ทั้งนี้ ส.ส.ที่ได้ใบส้มจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 1 ปี แต่ก็เชื่อว่า ส.ส.ที่โดนใบส้มคงมีไม่มาก และไม่ส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล

“ถ้าพรรคนั้นๆ ได้ใบส้ม 20-30 คน ก็อาจจะมีผลต่อคะแนนในการจัดตั้งรัฐบาล แต่คิดว่าคงไม่ขนาดนั้น เพราะการจะเปิดสภาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้จะต้องมีผู้ได้รับการรับรองการเป็น ส.ส.ไม่น้อยกว่า 95% ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ดังนั้นแปลว่าจำนวน ส.ส.ที่มีปัญหาไม่น่าเกิน 5% ซึ่งไม่ส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล”

ในพรรคเพื่อไทยและพรรคพันธมิตร จึงต้องหาวิธีการที่จะไม่ให้มีการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เพราะตรงนี้จะเป็นจุดอ่อนให้ กกต.และเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการแจกใบส้มให้กับพรรคเครือข่ายนี้ และก็ร่วมมือกันหาหลักฐานเล่นงานพรรคพลังประชารัฐที่เป็นฝ่ายทำผิดกฎหมายเลือกตั้งให้ได้มากที่สุด

เพราะวันนี้ตัวเลขที่ชัดๆ ทั้งข้อมูลของพรรคเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ ต่างก็เชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐมีโอกาสได้ที่ 2 ในการเลือกตั้งครั้งนี้ และถ้าได้ที่ 2 ก็มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล ส่วนพรรคเพื่อไทยแม้จะได้ที่ 1 ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็เป็นโอกาสที่พรรคพลังประชารัฐจะเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลต่อไป!



กำลังโหลดความคิดเห็น