xs
xsm
sm
md
lg

จับตา ยุบ-ไม่ยุบ “ทษช.” จุดชนวนรัฐประหารได้จริงหรือ ?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“อ.คมสัน” ชี้ หากยุบ “ไทยรักษาชาติ” คะแนนจะเทมากลุ่มพรรคตระกูลเพื่อ ด้าน “รศ.ดร.พิชาย” คาด คะแนนรวมพรรคหนุนทักษิณลด แต่ยังคงเป็นพรรคอันดับ 1 มั่นใจไม่ถึงขั้นยุบ “เพื่อไทย” เพราะจะนำไปสู่วิกฤตการเมืองรอบใหม่ เชื่อถ้ายุบ “ทษช.” ประเทศเสียหายน้อยสุด มิเช่นนั้นอาจขัดแย้งลุกลาม กลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร-ยกเลิกการเลือกตั้ง ขณะที่อดีต กกต.แจง ทษช.ยังมีสิทธิหาสียง จนกว่าศาล รธน.วินิจฉัยยุบพรรค และหากตัดสินหลังประกาศคะแนนเลือกตั้งแล้ว ส.ส. มีสิทธิย้ายพรรค
นับเป็นปรากฏการณ์สะท้านแผ่นดินทีเดียว คนไทยทั้งประเทศต่างจับตากันว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ(ทษช.) หลังพิจารณาคำร้องที่ขอให้ตรวจสอบว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของไทยรักษาชาติเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 (2) กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นเป็นเช่นไร
ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ การที่ กกต.เห็นควร “ยุบ” หรือ “ไม่ยุบ” พรรคไทยรักษาชาติจะส่งผลอย่างไร และหากสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติจะเกิดอะไรขึ้นกับการเมืองไทย พรรคการเมืองขั้วตรงข้ามจะได้อานิสงส์จากกรณีนี้หรือไม่ อีกทั้งเหตุการณ์บ้านเมืองจะกลับมาวุ่นวายอีกหรือเปล่า ?
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) มองว่า กรณีที่พรรคไทยรักษาชาติไม่ถูกยุบ ทางพรรคก็เดินหน้าเลือกตั้งต่อไป และกลุ่มที่สนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ไม่มีการเคลื่อนไหว แต่ปัญหาที่จะตามมาคือเมื่อผู้สมัครฯ พรรคไทยรักษาชาติลงพื้นที่หาเสียงจะเกิดกระแสต่อต้านรุนแรงจากกลุ่มที่ไม่พอใจพรรคที่นำสถาบันลงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง และจะกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มที่ต่อต้านกับกลุ่มที่สนับสนุนไทยรักษาชาติ ซึ่งก็คือกลุ่มเดียวกับคนที่ชื่นชอบนายทักษิณ ซึ่งอาจลุกลามบานปลายจนกลายเป็นวิกฤตการเมืองระหว่าง 2 ขั้ว เหมือนเช่นที่ผ่านมา
ส่วนกรณีที่ถ้าพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบนั้น บรรดากูรูทางการเมืองต่างฟันธงตรงกันว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือ คะแนนเสียงของไทยรักษาชาติซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อปลดล็อกปัญหาคะแนนบัญชีรายชื่อส่วนหนึ่งของพรรคเพื่อไทยที่จะหายไปเนื่องจากกติกาการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบใหม่ จะถูกเทกลับไปที่พรรคตระกูลเพื่อ และพรรคพันธมิตร
อาจารย์คมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
อาจารย์คมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ว่า แม้ไทยรักษาชาติจะถูกยุบก็คงไม่เกิดปัญหาอะไรต่อคะแนนรวมของพรรคที่สนับสนุนนายทักษิณ เพราะกระแสตอนนี้ชัดเจนว่าคนที่คิดจะเลือกไทยรักษาชาติจะกลับมาลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทย อาจจะมีปัญหาบ้างบางเขตที่เพื่อไทยไม่ส่งสมัครเพื่อหลีกทางให้ไทยรักษาชาติ แต่ผู้สนับสนุนทักษิณก็ยังสามารถลงคะแนนให้พรรคตระกูลเพื่อ เช่น พรรคเพื่อชาติ หรือพรรคพันธมิตร
“เชื่อว่าคะแนนรวมในการจัดตั้งรัฐบาลยังเป็นของเพื่อไทยอยู่ ต้องยอมรับว่าคนที่รักคุณทักษิณยังเหนียวแน่น เขาไม่สนใจว่าผู้สมัครเป็นใคร แต่สนใจว่าลงพรรคไหน อดีต ส.ส.เพื่อไทยที่ย้ายพรรคกระแสชัดเจนว่าคนในพื้นที่ไม่เอา ยกเว้นว่าจะมีการยุบพรรคเพื่อไทยด้วย นั่นล่ะเรื่องใหญ่” อ.คมสัน ระบุ

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ รศ.ดร.พิชาย ที่มองว่า คนที่จะเลือกไทยรักษาชาติมี 2 กลุ่ม คือคนที่สนับสนุนนายทักษิณ กับคนที่ต่อต้านเผด็จการแต่เข็ดกับทักษิณ และเชื่อว่าไทยรักษาชาติจะเป็นตัวแทนต่อต้านเผด็จการได้ ถ้าไทยรักษาชาติโดนยุบ คนที่รักทักษิณก็กลับไปเลือกเพื่อไทยหรือพรรคตระกูลเพื่อ ส่วนคนที่ต่อต้านเผด็จการแต่เข็ดทักษิณก็จะหันไปเลือกพรรคอนาคตใหม่แทน ดังนั้นเชื่อว่าโดยรวมแล้วคะแนนของพรรคที่สนับสนุนทักษิณจะลดลงเล็กน้อย แต่ก็ยังครองคะแนนพรรคอันดับ 1 และสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้
ส่วนผลพวงที่จะเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองอื่นๆ อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์ครั้งนี้นั้น รศ.ดร.พิชาย เห็นว่า อาจจะทำให้คะแนนของพรรคพลังประชารัฐเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนที่มองว่าฝั่งทักษิณกำลังสร้างปัญหาให้สถาบันก็จะมองหาพรรคที่มีกำลังพอที่จะปกป้องสถาบัน จึงหันมาเลือกพลังประชารัฐเพื่อสู้กับอดีตนายกฯ ทักษิณ
รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ฐานะอดีต กกต.
ซึ่งประเด็นหนึ่งที่หลายคนอยากรู้คือ หาก กกต.มีมติเสนอศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติ ผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามไทยรักษาชาติจะสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและยังหาเสียงต่อไปได้หรือไม่
เรื่องนี้ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีต กกต. ให้ความเห็นว่า ตามบริบทของกฎหมายนั้นตราบใดที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีมติออกมา พรรคไทยรักษาชาติก็ยังสามารถหาเสียงต่อไปได้ แต่ในทางปฏิบัติจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นกับดุลพินิจของพรรคไทยรักษาชาติเอง ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าไม่ยุบพรรค ไทยรักษาชาติก็ดำเนินการเลือกตั้งไปตามปกติ เพียงแต่ไม่มีชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรค แต่หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคก็ต้องดูว่าตัดสินก่อนวันเลือกตั้ง คือวันที่ 24 มี.ค. 2562 หรือหลังวันเลือกตั้ง ถ้าตัดสินก่อนวันเลือกตั้งก็เท่ากับไม่มีพรรคไทยรักษาชาติในการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าในบัตรเลือกตั้งยังมีพรรคไทยรักษาชาติและมีผู้ลงคะแนนให้พรรคนี้ก็คือเป็นบัตรเสีย
แต่หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคหลังวันเลือกตั้ง จะแยกเป็น 2 กรณีคือ ถ้ามติก่อน กกต.ประกาศผลคะแนน ทุกคะแนนที่เลือกพรรคไทยรักษาชาติก็เท่ากับศูนย์ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีมติหลังประกาศผลคะแนนไปแล้ว ส.ส.พรรคไทยรักษาชาติก็สามารถทำเรื่องย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นได้ ภายใน 30 วัน หลังจากที่ กกต.มีมติ
“ในส่วนการนับคะแนนนั้น หาก ส.ส.พรรคไทยรักษาชาติย้ายไปสังกัดพรรคใด พรรคนั้นก็จะมีคะแนน ส.ส.เขตเพิ่มขึ้น ส่วนจะมีผลต่อการคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยหรือไม่นั้น เรื่องนี้คงต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้น” อดีต กกต. ระบุ
ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่มิอาจมองข้ามคือความสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความรุนแรงอันเนื่องมาจากเงื่อนไขทางการเมือง โดย รศ.ดร.พิชาย วิเคราะห์ว่า โดยส่วนตัวมองว่าถ้า กกต. เสนอยุบพรรคไทยรักษาชาติ จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดต่อสถานการณ์การเมืองไทยขณะนี้ เนื่องจากจะเห็นได้ว่าหลังจากที่พรรคไทยรักษาชาติประกาศรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในโลกโซเชียลฯ ได้เกิดกระแสความไม่พอใจขึ้นอย่างกว้างขวางและรุนแรง เนื่องจากคนไทยจำนวนไม่น้อยมองว่าพรรคไทยรักษาชาติกำลังดึงสถาบันลงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งถือเป็นเรื่องมิบังควร และเริ่มมีกระแสความขัดแย้งระหว่างผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กระทั่งมีพระบรมราชโองการในเรื่องนี้ออกมา
“ก่อนหน้านี้ความรู้สึกขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้วเริ่มลดลงแล้ว กระทั่งมีเหตุการณ์วันที่ 8 ก.พ. คนก็เริ่มกลับมาขัดแย้งกันอีก ซึ่งหากไทยรักษาชาติลงพื้นที่หาเสียงและเกิดการปะทะกันของคน 2 กลุ่มบ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น ตรงนี้อาจจะกลายเป็นเงื่อนไขให้รัฐบาล คสช.ประกาศยุติการเลือกตั้ง หรือการรัฐประหารซ้ำ เพื่อครองอำนาจต่อ ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการลุกฮือของประชาชน เพราะไม่ว่าคนที่หนุนหรือไม่หนุนคุณทักษิณต่างก็ต้องการเลือกตั้ง” รศ.ดร.พิชาย กล่าว
อย่างไรก็ดี พรรคไทยรักษาชาตินั้นยังยืนยันว่าจะสู้ โดย นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “สู้ต่อนั้นสู้แน่ แต่กำลังคิดว่าจะสู้อย่างไรครับ ผมสู้มาตลอดชีวิต เลิกไม่ได้ครับ”
ส่วนว่า ต่อแต่นี้การเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไป !


กำลังโหลดความคิดเห็น