พลังประชารัฐเดินหน้า กวาด 15 ที่นั่งในพื้นที่ กทม. “ณัฏฐพล” เผย แบ่ง 2 โซน กำหนดยุทธศาสตร์ตามศักยภาพ เตรียมส่งอดีต ส.ก.-ส.ส. ชิงคะแนนรอบนอกและฝั่งตะวันออก เชื่อมีผลงาน ฐานเสียงแน่น ขณะที่พื้นที่รอบในจะส่งคนรุ่นใหม่ลงหวังสู้ศึก ชู 3 นโยบาย ซื้อใจคนเมือง “แก้ปัญหาจราจร ความมั่นคง ชีวิตความเป็นอยู่” ด้าน “สกลธี” เปิดรายชื่อผู้สมัครรายเขต ล้วนตัวเต็งที่ย้ายจาก 2 พรรคใหญ่
การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนั้นนับเป็นการวัดศักดิ์ศรีระหว่าง 3 พรรคการเมืองใหญ่ อย่าง ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย และพรรคน้องใหม่แต่มากด้วยบารมีอย่าง “พลังประชารัฐ” ที่ประกาศตัวสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งแม้หลายๆ พื้นที่พรรคนี้จะสามารถใช้กำลังภายในเจาะฐานที่มั่นของพรรคการเมืองเดิมได้ แต่ที่ยังน่าหวั่นใจคือพื้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากอุปนิสัยของคนเมืองนั้นมักเลือกลงคะแนนตามกระแสความรู้สึก และให้ความสำคัญกับข้อมูลจากสื่อโซเชียลฯ จึงคาดเดาได้ยากว่า ณ วันลงคะแนนจะตัดสินใจอย่างไร อีกทั้งล่าสุดมีข่าวแว่วว่าผลการสำรวจความนิยมพบว่าพรรคพลังประชารัฐอาจไม่ได้ ส.ส.กรุงเทพฯ เลยแม้แต่คนเดียว
อย่างไรก็ดี กระแสดังกล่าวก็หาได้สร้างความหวั่นใจให้กับพลังประชารัฐแต่อย่างใด เนื่องจากมี 3 อดีต ส.ส. กทม. ที่ดึงตัวมาจากพรรคประชาธิปัตย์ มารับหน้าที่เป็นหัวหอกในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ อันประกอบด้วย “นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คร่ำหวอดบนเส้นทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2544 โดยลงสมัคร ส.ส. เขตพญาไท ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ได้รับเลือก ต่อมาผู้สมัครที่รับเลือกถูกตัดสินให้ได้ใบเหลือง นายพุทธิพงษ์จึงลงเลือกตั้งซ่อม และได้รับความไว้วางใจ จากนั้นในปี 2547 เมื่อนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพุทธิพงษ์ก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง โฆษกกรุงเทพมหานคร และต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขณะที่การเลือกตั้งล่าสุดเมื่อปี 2554 เขาได้เป็น ส.ส.ประชาธิปัตย์ เขต 7 ห้วยขวาง วังทองหลวง จึงนับว่ามีความเชี่ยวชาญพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก
“นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มีประสบการณ์ในการทำงานการเมืองในเขตกรุงเทพฯ กว่า 10 ปี เคยลงเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2550 และ 2552 แม้ครั้งแรกจะพลาดไป แต่ในการเลือกตั้งปี 52 ก็สามารถเข้าไปเป็น ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 26 พื้นที่ราษฎร์บูรณะ และทุ่งครุ จึงเข้าใจคนกรุงเทพฯ เป็นอย่างดี และ “นายสกลธี ภัททิยกุล” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จัดเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ โดยในปี 2550 เขาได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 4 จตุจักร บางซื่อ หลักสี่ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แม้ต่อมาการเลือกตั้งในปี 2554 จะพลาดหวัง แต่ตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่นายสกลธีได้รับอยู่ในปัจจุบันก็ดูจะมีประโยชน์ต่อการทำงานการเมืองอยู่ไม่น้อย
ทั้งนี้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งได้รับความไว้วางใจให้เป็นหนึ่งในแกนหลักที่รับผิดชอบการวางกลยุทธ์เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า การวางแผนในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ทีมงานได้แบ่งพื้นที่ทั้ง 30 เขตของกรุงเทพมหานคร ออกเป็น 2 โซน คือ โซนที่มีฐานเสียง และโซนที่ไม่มีฐานสียง
สำหรับโซนที่มีฐานเสียง นั้นมีจำนวน 15 เขต ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่มีอดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) เข้ามาร่วมงานกับพรรค ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอก โดยเฉพาะฝั่งตะวันออก อันประกอบด้วย เขตหนอกจอก ลาดกระบัง มีนบุรี ทุ่งครุ คลองสามวา ราษฎร์บูรณะ สะพานสูง ฝั่งธน บางพลัด คลองเตย ดอนเมือง และกรุงเทพฯ ชั้นในบางพื้นที่ได้แก่ จตุจักร ลาดพร้าว ดินแดง และเขตพระนคร โดยในโซนดังกล่าวจะส่งอดีต ส.ก.-ส.ข. และอดีต ส.ส. ซึ่งเป็นนักการเมืองที่ทำงานในพื้นที่ เป็นที่รู้จักคุ้นเคยของชาวบ้าน และมีความเข้าใจความต้องการของประชาชนดีอยู่แล้ว ลงสมัคร โซนที่ไม่มีฐานเสียงอีก 15 เขต นั้นส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน และกรุงเทพฯ ชั้นนอกฝั่งตะวันตก ทางพรรรคจะส่งคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถลงสมัคร
“เชื่อว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ พลังประชารัฐน่าจะได้ ส.ส.อย่างน้อย 10 ที่นั่ง หรือเท่ากับ 33% หรืออาจจะได้ถึง 15 ที่นั่ง จากเขตที่เราส่งผู้สมัครที่เป็นอดีต ส.ก.-ส.ข. เพราะคนเหล่านี้เป็นที่รู้จักของชาวบ้านและผลงานให้เห็นเป็นรูปธรรมอยู่แล้ว มีความใกล้ชิดกับชาวบ้านมากกว่าอดีต ส.ส.ด้วยซ้ำ บุคลากรเหล่านี้เขาย้ายมาจากพรรคใหญ่เพราะต้องการทำงานการเมืองระดับประเทศ แต่ถ้าอยู่พรรคใหญ่ก็คงไม่มีโอกาสเพราะส่วนใหญ่พรรคเลือกที่จะส่งอดีต ส.ส.กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เดิมลงสมัครมากกว่า” นายณัฏฐพล ระบุ
ด้าน นายสกลธี ภัททิยกุล อีกหนึ่งกำลังหลักที่รับผิดชอบการวางแผนเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องการส่งผู้สมัครว่า ขณะนี้พรรคพลังประชารัฐมีอดีตผู้สมัคร ส.ก.-ส.ข.ที่สนใจมาร่วมงานด้วยไม่ต่ำกว่า 10 คน ซึ่งบุคคลเหล่านี้นอกจากจะมีฐานเสียงหนาแน่นแล้ว ยังมีไอเดียใหม่ๆ ในการทำงาน อาทิ น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ อดีต ส.ก.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจะลงสมัครเขตพระนคร, นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา อดีต ส.ก. พรรคประชาธิปัตย์ จะลงสมัครเขตคลองเตย นางกนกนุช กลิ่นสังข์ อดีต ส.ก.ประชาธิปัตน์ ถูกวางตัวลงแข่งในดอนเมือง, นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ อดีต ส.ก.พรรคประชาธปัตย์ ลงชิงในเขตลาดพร้าว, นายชาญวิทย์ วิภูศิริ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ จะลงสมัครในเขตมีนบุรี, นายวิสูตร สำเร็จวาณิชย์ อดีต ส.ก.เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย ลงสมัครเขตลาดกระบัง และนางอนงค์ เพชรทัต อดีต ส.ก. พรรคเพื่อไทย เตรียมลงสมัครเขตดินแดง
“คิดว่า 15 ที่นั่งในพื้นที่กรุงเทพฯ มีโอกาสเป็นไปได้ แม้คนจะมองว่าเป็นพื้นที่ของพรรคการมืองเดิมอย่างประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย แต่ลักษณะหนึ่งของคนกรุงเทพฯ คือมีความอ่อนไหว อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย คนกรุงเทพฯ มักมองว่าถ้าเลือกผู้สมัครจากพรรคนี้แล้วจะได้ใครมาบริหารประเทศ และประเด็นหนึ่งที่คนกรุงเทพฯ พึงพอใจในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาก็คือความสงบเรียบร้อย ไม่มีการเดินขบวน ไม่มีการปิดถนนที่ทำให้เขาทำมาหากินไม่ได้ ถ้าหากเลือกพรรคการเมืองเดิมปัญหาความขัดแย้งแบบเดิมๆ ก็จะกลับมาอีก” นายสกลธี แสดงความเชื่อมั่น
นอกจากตัวบุคคลที่พรรคจะส่งลงสมัครรับเลือกตั้งแล้ว นโยบายก็เป็นสิ่งที่พรรคพลังประชารัฐให้ความสำคัญ โดยในส่วนของพื้นที่ กทม.ซึ่งเป็นเมืองหลวงนั้นพรรคจะมีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาของคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะโดย นายณัฏฐพล เปิดเผยว่า 3 ภารกิจหลักที่พลังประชารัฐมุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหาให้กับคนกรุงเทพฯ ก็คือ 1. การแก้ไขปัญหาการจราจร ซึ่งจะเห็นได้ว่าการบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาสามารถผลักดันโครงการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ให้เกิดเป็นรูปธรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน โครงการรถไฟลอยฟ้า-รถไฟฟ้าใต้ดินหลายเส้นทางที่เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถเชื่อมต่อเส้นทางต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นเครือข่าย ทำให้การจราจรสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น หากเลือกพลังประชารัฐเข้าไปบริหารประเทศก็จะทำให้โครงการเหล่านี้เดินหน้าต่อไปอย่างรวดเร็ว
2. การดูแลความสงบเรียบร้อย ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของคนเมือง เพราะตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่การเมืองไทยถูกแบ่งเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน ไม่ว่าพรรคใดขึ้นมาบริหารประเทศก็จะเกิดการชุมนุมต่อต้านในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจและมักนำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินของคนกรุงเทพฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะเห็นได้ว่าภายใต้การบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ต่างชาติมีความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนมากยิ่งขึ้น
3. การแก้ไขปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะชนชั้นกลางและผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ ซึ่งหากพลังประชารัฐได้เข้ามาบริหารประเทศก็จะสานต่อนโยบายสวัสดิการแห่งรัฐ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ รวมทั้งดูแลผู้ประกอบอาชีพหาบเร่แผงลอย โดยจะมีการหารือร่วมกันระหว่างพ่อค้าแม่ค้ากับภาครัฐว่าจะจัดสรรพื้นที่อย่างไรให้เหมาะสมต่อการค้าขายโดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่สัญจรไปมา
“จากนโยบายและความตั้งใจของเรา เชื่อว่าคนกรุงเทพฯ จะให้โอกาสพรรคพลังประชารัฐ และหากมองถึงผู้นำที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ที่ผ่านมาท่านพลเอกประยุทธ์ก็แสดงให้เห็นถึงภาวะผู้นำที่มีความเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสงบ หรือการรับมือกับพายุปาบึกซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นกะทันหัน ท่านก็สามารถนำประเทศฝ่าวิกฤตไปได้” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระบุ
ส่วนว่าในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้พรรคใดจะสามารถยึดฐานที่มั่นในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ ประชาชนเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสินใจ