xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมกายระดมบุญ’แผ่นทอง-ไฟยอดโดม’แทรกธรรมยาตรา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ธรรมกายบอกบุญรวดเดียวหลายงาน บอกบุญแผ่นทองสุวรรณสิริรัศมี แผ่นทองปิดบนยอดโดม พระมหาธรรมกายเจดีย์ แทรกเข้ามาชิงทำพิธีตัดหน้า 1 วันก่อนเริ่มงานธรรมยาตรา ล่าสุดเพิ่มไฟยอดโดมอีกหนึ่งรายการ ศิษย์บางกลุ่มกังขาใช่ความต้องการของพระธัมมชโยหรือไม่ เกรงเงินจะเข้าไปสู่พระปกครองที่ถูกยื่นอธิกรณ์ ข้องใจวิหารคดมีสิทธิ์ถูกยึดเข้าพระมหาเจดีย์ไม่ได้ แล้วจะบูรณะไปทำไม

ท่ามกลางโครงการธรรมยาตรา เส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 7 "รักษ์บวร รักษ์ศีล 5" ระหว่าง 2-31 มกราคม 2562 ที่วัดพระธรรมกายจัดขึ้น พร้อมด้วยพระภิกษุธรรมยาตรา 1,135 รูป บนเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี และ กรุงเทพมหานคร เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา และบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์

ภายใต้กิจกรรมบุญใหญ่ของวัดพระธรรมกาย ยังมีการบอกบุญใหญ่อีกงานที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ 1 มกราคม 2562 ก่อนโครงการธรรมยาตรา 1 วัน

”สุวรรณสิริรัศมี” แผ่นทองปิดบนยอดโดม พระมหาธรรมกายเจดีย์ บุญใหญ่ต้อนรับศักราชใหม่ พุทธศักราช 2562

“พระมหาธรรมกายเจดีย์ พระมหาเจดีย์พระพุทธเจ้าล้านพระองค์” สำคัญมากนะ...แต่เมื่อมองพระมหาธรรมกายเจดีย์แล้ว ยังสว่างไสว ไม่ทั่วทั้งหมด บริเวณยอดโดมยังสว่างไม่ทั่วทั้งเจดีย์ มีพิธีอัญเชิญแผ่นทองเป็นปฐมเริ่มในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562

บอกบุญกระทันหัน

ที่จริงงานนี้มีการแจ้งในช่วงก่อนปลายปี 2561 ไม่กี่วัน นับเป็นเรื่องที่เร่งด่วนที่เป็นการบอกกล่าวแบบกระทันหันพอสมควร อีกทั้งทางวัดมีงานใหญ่อย่างธรรมยาตรา ปีที่ 7 ซึ่งกำหนดวันเวลาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เพราะต้องมีการเตรียมปลูกต้นบานชื่นไว้สำหรับโปรยช่วงที่พระเดิน 3 เดือนก่อน ดังนั้นงานบุญใหญ่จึงซ้อนกัน 2 งาน

ตอนนี้ศิษย์วัดพระธรรมกายบางกลุ่มก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมจู่ ๆ ทางวัดต้องมาบอกบุญกันในช่วงนี้ ทุกคนก็ทราบดีว่าบุญใหญ่ที่ทำกันทุกปีคือธรรมยาตรา ศิษย์ต้องร่วมแรงร่วมใจกันตั้งแต่การปลูกต้นทรัพย์บานชื่น แม้รอบนี้จะไม่มีการบอกบุญเหมือนกับต้นเบญจทรัพย์เมื่อธรรมยาตราครั้งที่ 6 แต่ลูกศิษย์ก็ยังบริจาคช่วยเหลือด้านอื่น ๆ

ในช่วงปลายปีทางวัดมีกิจกรรมส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เริ่มตั้งแต่ 28 ธันวาคม 2561 เริ่มปฏิบัติธรรมธุดงค์ปีใหม่ (5 วัน 4 คืน) 31 ธันวาคม 2561 ถวายอุปกรณ์ทำความสะอาด สวดมนต์ข้ามปี พิธีฉลองชัย สวดธรรมจักรครบ 1,000,000,011 จบ 1 มกราคม 2562 ตักบาตรปีใหม่ พิธีบูชาข้าวพระเดือนมกราคม พิธีอัญเชิญ "สุวรรณสิริรัศมี" ที่แทรกขึ้นมา 2-31 มกราม 2562 ต้อนรับพระธรรมยาตรา ปีที่ 7 จำนวน 1,135 รูป

ถามว่าเมื่อวัดบอกบุญมา ผู้ที่ศรัทธาก็ต้องร่วมบริจาค มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ของแต่ละท่าน ลูกศิษย์บางกลุ่มไม่ได้ติดใจในเรื่องงานบุญที่มีอยู่เป็นประจำ ซึ่งทุกคนทราบดีว่าแต่ละงานจะมีขึ้นในช่วงไหน แต่รอบนี้บางกลุ่มตั้งข้อสงสัยถึงการบอกบุญเรื่องแผ่นทองสุวรรณสิริรัศมี
งานบอกบุญแผ่นทองสุวรรณสิริรัศมี
ข้องใจใครบอกบุญ

ถ้าเป็นความประสงค์ของพระธัมมชโย เชื่อว่าหลายคนคงไม่ติดใจและพร้อมที่จะร่วมบุญในครั้งนี้ แต่นี่เป็นการบอกบุญที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นโครงการของใคร อย่าลืมว่าภายในวัดพระธรรมกายเองพระที่กุมอำนาจบริหารในเวลานี้ อย่างน้อย 6 รูปถูกกลุ่มของอัยย์ เพชรทองและศศินภา นิติธรรมประพน ยื่นสอบอธิกรณ์ เพราะไม่ไว้วางใจในพฤติกรรมที่ชวนสงสัยว่ามีส่วนทำให้พระธัมมชโยถูกดำเนินคดี

เงินที่ได้จากการเปิดรับบริจาคในครั้งนี้ ย่อมต้องเข้าไปสู่การบริหารจัดการของพระปกครอง ที่ถูกยื่นสอบอธิกรณ์ ลูกศิษย์กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวจึงเคลือบแคลงถึงวัตถุประสงค์ของการบอกบุญในครั้งนี้

การสถาปนามหาธรรมกายเจดีย์ดำเนินมาเป็นลำดับ นับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2537 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2538 โดยเริ่มอยู่ธุดงค์กลั่นแผ่นดิน ร่วมกันอธิษฐานจิตให้แผ่นดินที่จะสร้างมหาธรรมกายเจดีย์มีความสะอาดบริสุทธิ์ วันที่ 8 กันยายน 2538 ตอกเสาเข็มต้นแรกมหาธรรมกายเจดีย์ 1 กันยายน 2539 เทคอนกรีตฐานรากมหาธรรมกายเจดีย์ 26 กันยายน 2539 ตอกเสาเข็มต้นสุดท้าย 11 กุมภาพันธ์ 2541 ประดิษฐานพระบรมพุทธเจ้า ณ โดมมหาธรรมกายเจดีย์ และเมื่อองค์มหาธรรมกายเจดีย์เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว จึงมีการหล่อและประดิษฐานองค์พระธรรมกายประจำตัวภายนอกและภายในเรื่อยมาจนครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553

หากนับช่วงเวลาที่หล่อและประดิษฐานองค์พระธรรมกายประจำตัวเสร็จสิ้นลงราวปี 2553 ระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี ตอนนี้กำลังบูรณะด้วยการเปลี่ยนแผ่นทองเพราะความสว่างไสวขององค์พระเจดีย์ ซึ่งเงินที่ได้นั้นจะเข้าไปสู่มือใคร และส่วนต่างจะนำไปใช้จ่ายอะไร

ที่หลายคนไม่เห็นด้วยเพราะไม่มีการยืนยันออกมาว่าเป็นความประสงค์ของพระธัมมชโย เกรงกันว่าเงินที่ได้ไปจะไม่ได้ใช้จ่ายไปเพื่อกิจการของทางวัดพระธรรมกาย แม้จะมีศิษย์บางส่วนออกมาอ้างว่ามาจากพระธัมมชโย แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดที่ยืนยันได้

บุญใหม่ไฟยอดโดม

ล่าสุดเพจข่าวบุญใจสว่าง ที่เผยแพร่ข่าวสารของวัดพระธรรมกายได้โพสต์ข้อความเชิญชวนให้ร่วมทำบุญที่พระมหาธรรมกายเจดีย์อีกครั้งเมื่อ 3 มกราคม 2562

บุญพิเศษ บุญยอดรัศมี ทำบุญไฟส่องสว่างยอดโดม พระมหาธรรมกายเจดีย์ ไม่ธรรมดาหรอก

ตอนนี้ที่พระมหาธรรมกายเจดีย์ ถ้ามองจาก Top view จะเห็นยอดโดมมืด เจดีย์จะสว่างเฉพาะส่วนล่าง ที่ไฟส่องจากข้างล่างขึ้นไป แต่ไม่ถึงยอดโดม จึงต้องแก้ด้วยการมีไฟที่ยอดโดม จะทำให้เจดีย์มีรัศมีสว่างไสว ครบทั้งองค์ อันนี้เป็นบุญสุดยอด เพราะอยู่ยอดสุด

เหมือนทำบุญแสงสว่างกับพระพุทธเจ้าล้านพระองค์ เป็นบุญพิเศษ เป็นบุญแสงสว่าง ซึ่งจะทำให้ชีวิตมีรัศมีรุ่งโรจน์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ชีวิตจะได้สว่างไสวตั้งแต่ปีใหม่นี้

แสงสว่างนี้ สว่างตั้งแต่ยอด เรียกว่า ยอดรัศมี บูชาพระพุทธเจ้าล้านพระองค์ ทำให้เจดีย์ไม่มีจุดมืดเลย จะมีความสว่างตลอดทั้งองค์เจดีย์ทุก ๆ ส่วน อย่างนี้จึงจะเรียกว่า ชีวิตมีรัศมีที่สมบูรณ์ ชีวิตจะสว่างไปเรื่อย ๆ บูชาพระพุทธเจ้าล้านพระองค์ ด้วยแสงสว่าง ชีวิตจะสว่างตลอดไม่มีมืดมิดเลย สว่างบนโลกนี้และเทวโลกด้วย

ด้วยอานุภาพแห่งบุญนี้ ลงมาเกิดก็สว่างอีก ชีวิตการสร้างบารมี ก็จะสว่างไม่มีวันมืดมน จะทำเท่าไหร่ก็ได้ ทั้งทำให้ตนเองและปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษ กี่คนก็ควรทำให้ท่านหมด ระยะเวลาสำหรับบุญนี้ 3-31 มกราคม 2562
นับเป็นอีกหนึ่งรายการที่บอกบุญเพิ่มขึ้นมา นอกเหนือจากเรื่องแผ่นทองสุวรรณสิริรัศมี
งานบอกบุญไฟยอดโดม พระมหาธรรมกายเจดีย์
วิหารคดเสี่ยงถูกยึด

อีกเหตุผลหนึ่งที่ศิษย์หลายคนกังขากับงานบุญในครั้งนี้ นั่นคือ คำสั่งอายัดอาคารมหารัตนวิหารคด ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ที่เพิ่งครบกำหนดอายัดไปเมื่อ 23 ธันวาคม 2561

คำสั่งของปปง. เป็นผลมาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดําเนินการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษที่ 27/2559 โดยผลการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่าวัดพระธรรมกายได้รับเงินตามเช็ค สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จํากัด นําเข้าบัญชีเงินธนาคารของวัดพระธรรมกาย เป็นเงินรวม 778,400,000 บาท และจากการขยายผลการตรวจสอบวิเคราะห์เส้นทางการเงินยังพบว่าวัดพระธรรมกายได้นําเงินดังกล่าวไปใช้ในการก่อสร้างโครงการมหารัตนวิหารคด

อีกทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษยังได้เสนอเรื่องให้ทางอัยการ ยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งเลิกมูลนิธิธรรมกายและมูลนิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ในอุปถัมภ์พระธัมมชโย

ปัญหาคือ ท้ายที่สุดแล้วหากศาลมีคำสั่งให้อาคารดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ดำเนินการจำหน่ายทรัพย์ออกไปเพื่อนำเงินมาชดใช้ผู้เสียหายจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และหากที่ดินเปลี่ยนมือไปจากมูลนิธิธรรมกายจะเกิดอะไรขึ้น

เพราะด้วยอาคารมหารัตนวิหารคตนั้น ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อล้อมรอบองค์พระมหาธรรมกายเจดีย์ ใช้เพื่อการประกอบกิจกรรมของทางวัด รองรับลูกศิษย์ที่มาร่วมบุญ ถ้าอาคารนี้เปลี่ยนมือไป เท่ากับว่าการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของวัดที่พระมหาเจดีย์จะไม่สามารถทำได้ หากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของกรรมสิทธิ์

ดังนั้นการปรับปรุงพระมหาเจดีย์ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแผ่นทองทั้งองค์ ที่ต้องใช้เงินบริจาคจากผู้ที่มีจิตศรัทธา หรือการเพิ่มไฟส่องสว่างบริเวณยอดโดมนั้น จะทำไปเพื่ออะไรหากในอนาคตที่อาจมีการเปลี่ยนมือผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในอาคารมหารัตนวิหารคต

ในอีกมุมหนึ่งการรอให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาจเป็นอีกหนึ่งความหวังของทางวัด แต่หากไม่เป็นไปดังคาดหวังทุกอย่างก็จบ แต่ถ้าจะตั้งใจว่าการบูรณะพระมหาเจดีย์ในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความสวยงามแล้วถ้าภาครัฐจะยึดอาคารมหารัตนวิหารคตจนไม่สามารถเข้าไปประกอบพิธีกรรมได้ แล้วจะนำมาใช้เป็นเครื่องต่อรองอาจเป็นเรื่องที่มองไกลเกินไปและยากต่อการหวังผล

จากหลาย ๆ องค์ประกอบภายใต้สภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ทำให้ลูกศิษย์กลุ่มที่ไม่ไว้วางใจพระปกครองของวัดพระธรรมกายชุดปัจจุบัน ไม่เห็นด้วยกับการบอกบุญดังกล่าว

(ภาพจาก ภาพดีๆ072 และข่าวบุญใจสว่าง)



กำลังโหลดความคิดเห็น