xs
xsm
sm
md
lg

ปี 2561 'บิ๊กตู่' แจกสะบัดช่อ ตั้งแต่เกิดจนตาย!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รัฐบาล “บิ๊กตู่” แจกหนัก สารพัดโครงการประชารัฐ ทั้งที่อยู่อาศัย 'บ้านคนจน' ตามด้วย 'โครงการบ้านล้านหลัง' ที่คนแห่จองทะลุวงเงิน 127,000 ล้านบาท จนต้องสั่ง ธอส.เพิ่มเฟส 2 แถมมี “เน็ตประชารัฐ” ใช้ฟรี 4 หมื่นหมู่บ้าน และอัด 3.8 หมื่นล้านผ่าน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” เป็นของขวัญปีใหม่ จัดโครงการ “ช็อปช่วยชาติ” ส่วน ก.เกษตรฯ จ่ายเงินช่วยสวนยางไร่ละ 1,500 บาท ขณะที่ ก.ทรัพย์ ตัดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 5.9 ล้านไร่ แจกราษฎร ด้าน “ดร.กอบศักดิ์” เร่งขับเคลื่อนระบบ TPMAP เชื่อมข้อมูลสวัสดิการรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด ชี้รัฐมีงบจัดสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตายให้ปีละเกือบ 5 แสนล้าน!

หลังจากที่พรรคไทยรักไทยได้นำนโยบายประชานิยมมาใช้ทำให้สามารถเรียกคะแนนเสียงและครองใจประชาชนได้อย่างล้นหลาม แม้จะถูกยุบพรรคและเปลี่ยนชื่อใหม่ถึงสองครั้งสองครา ตั้งแต่ไทยรักไทย ตามด้วยพลังประชาชน กระทั่งมาเป็นพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันฐานเสียงก็ยังคงเหนียวแน่น ส่งผลให้ไม่ว่าพรรคใดขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ต้องคงนโยบายประชานิยมดังกล่าวไว้ มาถึงยุคของรัฐบาล คสช.ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นโยบายประชานิยมยิ่งเข้มข้นกว่าโดยดำเนินการผ่านสารพัดโครงการประชารัฐ

มาดูกันว่ารัฐบาลบิ๊กตู่ แจกอะไรกันบ้าง โดยเฉพาะปลายปี 2561 ถือว่าเป็นการคืนความสุขให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริงโดยมีโครงการเด่นๆ อาทิ

“โครงการบ้านคนไทยประชารัฐ” ซึ่งให้บริการแก่ผู้มีรายได้น้อยจำนวน 3,000 ยูนิต โดยก่อสร้างบนพื้นที่ราชพัสดุใน 8 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, อุดรธานี, เชียงใหม่ ขอนแก่น เชียงราย ซึ่งดำเนินการก่อสร้างไปบางส่วนแล้ว โดยคาดว่าจะเข้าอยู่ได้ในปี 2562 ส่วนอีก 2 จังหวัดคือ นครพนมและลำปาง คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปี 2562

รูปแบบที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านคนไทยประชารัฐ จะมี 3 ประเภทด้วยกัน คือ บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียม ราคาเริ่มต้นที่ 350,000 บาท ไปจนถึง 700,000 บาท ซึ่งผู้มีสิทธิจองโครงการบ้านคนไทยประชารัฐแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1.ผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) จำนวน 11.4 ล้านราย จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้สิทธิจองก่อน หากเหลือจึงจะเปิดให้กลุ่มอื่นๆ จองต่อไปตามลำดับ 2.ประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 35,000 บาทต่อเดือน และ 3.ประชาชนทั่วไป

ที่สำคัญคือผู้จองไม่จำเป็นว่าต้องเป็นบ้านหลังแรก และยังได้รับการสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษจากธนาคารออมสินและธนาคารอาคารสงเคราะห์ วงเงินรวม 4,000 ล้านบาท โดยอัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1-4 ดอกเบี้ยคงที่ปีละ 2.75% จากนั้นในปีที่ 5 เป็นต้นไป หากผู้กู้เป็นลูกค้ารายย่อย จะคิดดอกเบี้ย MRR-0.75% ต่อปี แต่หากเป็นกรณีสวัสดิการหักเงินเดือน จะคิดดอกเบี้ย MRR-1% ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 30 ปี ผ่อนชำระอยู่ที่ 1,700-4,500 บาท/เดือน โดยโครงการดังกล่าวเปิดตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา

ขณะที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ก็ได้จัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยมีมติอนุมัติจัดทำ “โครงการบ้านล้านหลัง”ภายใต้กรอบวงเงินรวม 60,000 ล้านบาท และมีการเปิดให้จองสิทธิทั่วประเทศเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ที่ผ่านมาเพียงวันเดียวปรากฏว่ามีประชาชนให้ความสนใจจำนวนมากโดยมียอดจองทะลุรวมเป็นวงเงินจองสิทธิถึง 127,000 ล้านบาท ทำให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ ธอส.ไปศึกษาขยายวงเงินเพิ่มในเฟส 2

โครงการนี้เป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยและต้องการสร้างบ้านในที่ดินตนเอง โดยมีวงเงิน 50,000 ล้านบาท เป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนทั่วไปราคาไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือปลูกสร้าง และซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 40 ปี

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนั้น ในกรณีผู้กู้มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาท/คน/เดือน (กรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท) อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 - ปีที่ 5 คงที่ 3.00% ต่อปี ปีที่ 6 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้เงิน กรณีสวัสดิการ ดอกเบี้ย MRR - 1% ต่อปี กรณีรายย่อย ดอกเบี้ย MRR - 0.75% กรณีซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกฯ อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส.เท่ากับ 6.75% ต่อปี) กรณีกู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระ 5 ปีแรก เริ่มต้นเพียง 3,800 เดือนละบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราที่ถูกกว่าการเช่าบ้าน แถมยังมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ ไว้ด้วย


อีกโครงการที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากก็คือ “โครงการเน็ตประชารัฐ” เป็นการติดตั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการฟรี อันเป็นการส่งเสริมศักยภาพให้ชุมชน ดำเนินการโดย 2 หน่วยงาน ช่วงแรกดำเนินการโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รับผิดชอบติดตั้งสัญญานไวไฟ จำนวน 24,700 หมู่บ้าน งบประมาณ 13,000 ล้านบาท ตกจุดละ 5 แสนกว่าบาท ซึ่งในส่วนนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องคุณภาพ เนื่องจากใช้งานได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น ต่อมาได้โอนโครงการให้ กสทช. รับไปดำเนินการ รับผิดชอบติดตั้ง จำนวน 15,723 หมู่บ้าน งบประมาณ 6,840 ล้านบาท ตกจุดละ 4 แสนกว่าบาท แต่บำรุงรักษาให้ใช้งานได้ตลอด 5 ปี

โครงการที่สร้างความฮือฮาอย่างมากหนีไม่พ้น “โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ซึ่งรัฐบาลบิ๊กตู่ได้มีการแจกต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 โดยในปีแรก ผู้ลงทะเบียนต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ได้รับเงินโอน 3,000 บาท หากผู้ลงทะเบียนมีรายได้ 30,001-100,000 บาท จะได้รับเงินโอน 1,500 บาท โดยมีการโอนเงินให้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2559 และสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ม.ค. 2560

ในปีที่ 2 คือปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลได้เปิดให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยมาลงทะเบียนเพิ่มเติมระหว่างวันที่ 3 เม.ย.-15 พ.ค. 2561 ซึ่งมีการออกบัตรสวัสดิการประจำตัวผู้มีสิทธิ รวม 11.4 ล้านคน ต่อจากนั้นรัฐบาลเปิดการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืนในกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนก่อนหน้านี้ โดยระหว่างวันที่ 15 พ.ค.-30 มิ.ย. 2561 มีผู้ได้รับสิทธิ 3.1 ล้านคน เมื่อรวมกับผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเดิม 11.4 ล้านคน ทำให้ยอดผู้ถือบัตรเพิ่มขึ้นเป็น 14.5 ล้านคน โดยในปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลได้มีการออกมาตรการมาเรื่อยๆ รวม 7 ชุดมาตรการ เช่น โอนเงินให้ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค จ่ายเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุ รวมมาตรการช่วยเหลือ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560-30 ก.ย. 2561 รัฐบาลใช้เงินงบประมาณไปทั้งสิ้น 42,509 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีโครงการซึ่งถือเป็นของขวัญปีใหม่ ด้วยการออกมาตรการ “ช็อปช่วยชาติ” โดยประชาชนสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า 3 ประเภท ได้แก่ 1.ยางล้อรถยนต์ ยางล้อรถจักรยานยนต์ และยางล้อรถจักรยาน (ซึ่งผู้ผลิตซื้อวัตถุดิบยางจากการยางแห่งประเทศไทย) 2.สินค้าจากโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่ลงทะเบียนต่อกรมพัฒนาชุมชน และ 3.หนังสือ รวมถึงหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) (ไม่รวมนิตยสารและหนังสือพิมพ์) มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยต้องซื้อสินค้าในระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2561 ถึงวันที่ 16 มกราคม 2562 สำหรับกรณีผู้มีเงินได้จ่ายเงินซื้อสินค้าในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้ง 2 ปีภาษี (ปีภาษี 2561 และปีภาษี 2562) จะได้รับลดหย่อนตามที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษี แต่รวมกัน 2 ปีภาษีแล้ว ต้องไม่เกิน 15,000 บาท
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่านอกจากมาตรการในการช่วยผู้มีรายได้น้อยแล้วสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากก็คือการจัดทำฐานข้อมูลของผู้มีรายได้น้อย รวมถึงผู้ที่มีสิทธิใช้สวัสดิการรัฐในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็น ประกันสังคม, บัตรประกันสุขภาพ(บัตรทอง 30 บาท) , เรียนฟรี 15 ปี , กองทุนผู้ใช้แรงงาน , สวัสดิการของคนพิการ, สวัสดิการผู้สูงอายุ ฯลฯ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานต่างๆ ดังนั้นหากมีการเชื่อมโยงข้อมูลของแต่ละหน่วยงานเข้าด้วยกันก็จะทำให้การดูแลสวัสดิการของประชาชนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้เชิญ 11 หน่วยงานที่ดูแลสวัสดิการประชาชนทุกประเภท อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง สำนักงานประกันสังคม มาร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือในการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลสวัสดิการภาครัฐ

อีกทั้งก่อนหน้านี้ยังได้มอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกันพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า ที่เรียกว่า ระบบ TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform) โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ความยากจนและสวัสดิการสังคมเข้ากับการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน เช่น ข้อมูลจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (เรื่องปริมาณการใช้ไฟฟ้าของแต่ละครัวเรือน) โดยประสานขอการเชื่อมโยงข้อมูลสวัสดิการภาครัฐทั้งหมด 44 ประเภท อาทิ ข้อมูลผู้ที่ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ข้อมูลบัตร 30 บาท จากสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ ข้อมูลการขอรับการช่วยเหลือของเกษตรกร จากกรมส่งเสริมการเกษตร และข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมที่ดิน บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ กรมสรรพากร และนำข้อมูลเหล่านี้มาเชื่อมโยงข้อมูลเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐมีข้อมูลคุณลักษณะรายบุคคล เพื่อนำไปสู่การปรับกลุ่มเป้าหมายและนโยบายสวัสดิการสังคมของประเทศบนพื้นฐานข้อมูลที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น

“ที่จริงรัฐบาลมีโครงการสวัสดิการให้แก่ประชาชนตั้งแต่แรกเกิด เรียนหนังสือ การสร้างอาชีพ ดูแลผู้สูงอายุ จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต รวมแล้วกว่า 40 โครงการ ภายใต้งบประมาณเกือบ 5 แสนล้านบาทต่อปี แล้วยังมีโครงการใหม่ๆ เช่น โครงการสวัสดิการแห่งรัฐต่างๆ แต่การให้ความช่วยเหลืออาจยังไม่ทั่วถึงเนื่องจากขาดฐานข้อมูลของภาคประชาชน”

ดังนั้นระบบ TPMAP จะเข้ามาแก้ปัญหา เพื่อช่วยให้การจัดสวัสดิการต่างๆ สอดคล้องกับความต้องการประชาชนแต่ละคน และช่วยเหลือประชาชนที่มีความต้องการจริงๆ ไม่ใช่การให้แบบหว่านแหเหมือนที่ผ่านมา ขณะที่ประชาชนเองจะสามารถตรวจสอบสิทธิในการรับสวัสดิการต่างๆ ของตนเองได้ จากปัจจุบันผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถตรวจสอบสิทธิผ่านเว็บไซต์ แค่พิมพ์เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ในอนาคตหากระบบสมบูรณ์ชาวบ้านจะสามารถใช้บัตรประชาชนตรวจสอบได้ว่าขณะนี้ตนเองมีสิทธิได้รับสวัสดิการใดบ้าง” ดร.กอบศักดิ์ ระบุ

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ นั้นเป็น “รัฐบาลซานต้า” ที่ขยันแจกของขวัญให้แก่ประชาชน ส่วนว่าของขวัญที่มาในรูปแบบสวัสดิการและเงินให้เปล่าที่ประชาชนได้รับนั้นจะสามารถแก้ปัญหาปากท้องและความเป็นอยู่ของประชาชนได้จริงหรือไม่ ก็คงต้องรอดูผลลัพธ์กันต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น