xs
xsm
sm
md
lg

สุดทน ‘UPOIC’ เศรษฐีที่ดินอันดับ 3 ของไทย ใช้เล่ห์ฮุบที่ดินชาวบ้านอ่าวลึก!?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมาชิกนิคมสหกรณ์อ่าวลึก กระบี่ แฉหมดเปลือก บริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มจำกัด(มหาชน) : UPOIC จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ใช้เล่ห์อำพรางที่ดินชาวบ้าน จนสามารถโอนมาเป็นของบริษัทได้จริงหรือไม่? ขณะที่เจ้าของที่ดินตัวจริง ทั้งถูกข่มขู่ กีดขวาง จนเจ้าหน้าที่ที่ดิน ‘ยอมถอย’ ไม่เข้าไปรังวัดเพื่อออกโฉนด ด้านกรมที่ดิน ระบุ ‘UPOIC’ เป็นผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ จี้รัฐบาลบิ๊กตู่แก้ปัญหาที่ดินนิคมฯ เพราะคนจนเดือดร้อน และอาจส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนได้ด้วย!

'จะเป็นคนรวยก็ไม่ใช่ จะเป็นคนจนก็ไม่ได้'! เสียงชาวบ้านในนิคมสหกรณ์อ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมกับหน่วยงานรัฐทั้งสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจการแผ่นดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และศูนย์ดำรงธรรม ที่จังหวัดกระบี่ รวมไปถึงสถานีโทรทัศน์ NEWS 1 รายการ 'สภากาแฟ' ที่ผ่านมา

โดยตัวแทนชาวบ้านได้บอกถึงกระบวนการได้มาซึ่งที่ดินในนิคมสหกรณ์อ่าวลึกที่พวกเขาได้กรรมสิทธิ์คนละไม่เกิน 50 ไร่ แต่ในที่สุดกลับไม่สามารถเข้าไปทำอะไรได้เลย และหลายแปลงที่ดินดังกล่าวสามารถออกโฉนดเป็นชื่อของ บริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ซึ่งพวกเขาไม่รู้เลยว่าทำได้อย่างไร

เพราะเจตนารมณ์ของรัฐบาลต้องการให้นิคมสหกรณ์ทุกแห่งนำที่ดินที่รัฐไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วไปจัดสรรให้ประชาชนคนยากจนได้มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยทุกคนที่จะได้รับนั้นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเป็นสมาชิกของนิคมสหกรณ์นั้นๆ
เช่นเดียวกับสมาชิกในนิคมสหกรณ์อ่าวลึกที่ทุกคนได้รับการตรวจสอบคัดกรองจนกระทั่งได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินและวันนี้ชาวบ้านในนิคมฯ กว่า 50 รายกำลังประสบปัญหาไม่สามารถเข้าดำเนินการอะไรในที่ดินซึ่งเป็นชื่อของตัวเองได้เลย

นายวิรัตน์ สันติธรรมกุล, นายวิชิต คงแป้น, นายสุรินทร์ ดวงแก้ว และนายพนมชัย ไชยกุล สมาชิกนิคมสหกรณ์อ่าวลึก ได้ร่วมกันบอกเล่าถึงเอกสารทางราชการในการถือครองที่ดินในนิคมสหกรณ์ฯ นั้นทุกอย่างมีที่ไปที่มาและถูกต้องทั้งหมด ตั้งแต่การถือครองในลักษณะหนังสืออนุญาตที่ดินแปลงจาก กสน.3 เป็น กสน.5 และพร้อมที่จะออกเป็นโฉนดได้แล้ว ตามเงื่อนไขที่นิคมสหกรณ์ฯ กำหนดไว้

แต่เมื่อไปดำเนินการยื่นเรื่องที่จะขอรังวัดเพื่อออกเป็นโฉนดพวกเรากลับเจอปัญหาเพราะเจ้าหน้าที่รังวัดของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ เพราะมีการตั้งเครื่องกีดขวาง มีการขัดขวางและข่มขู่ไม่ให้พวกเราซึ่งมีที่ดินอยู่บริเวณนั้น พร้อมเจ้าหน้าที่ที่ดินเข้าไปดำเนินการรังวัดได้ เป็นผลให้เจ้าหน้าที่รังวัดก็ไม่กล้าที่จะเข้าไปดำเนินการให้

ขณะเดียวกันหน่วยงานต่างๆ ที่มีการไปร้องเรียนก็ยืนยันว่าที่ดินเหล่านี้เป็นกรรมสิทธิ์ของพวกเราตามรายชื่อ และจำนวนการครอบครองตามนั้น ซึ่งพวกเรากว่า 50 ราย อยากจะเดินทางไปพบเจ้าหน้าที่รัฐพร้อมกันทั้งหมดแต่ก็เป็นปัญหาในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการเดินทางจึงได้แต่รอความหวังว่ารัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาได้อย่างไร

“วันนี้เราจะเป็นคนรวยก็ไม่ใช่ จะเป็นคนจนก็ไม่ได้ มันแปลกไหมล่ะ เพราะเราไปยื่นลงทะเบียนคนจน และรับบัตรคนจนเพื่อได้สิทธิ์ที่รัฐบาลแจกปรากฏว่าพวกเรายื่นไม่ได้ ก็เพราะรัฐตรวจสอบพบว่าพวกเรามีที่ดินกันมาก ผมชื่อ สุรินทร์ มี 23 ไร่ วิชิต มี 47 ไร่ วิรัตน์ มี 13 ไร่ พนมชัย มี 38 ไร่”

แต่รัฐไม่ได้รู้ว่าจำนวนที่ดินดังกล่าวที่มีการตรวจพบนั้น พวกเราไม่สามารถเข้าไปดำเนินการอะไรได้เลย และพวกเรายังหมดสิทธิ์รับบัตรคนจน ซึ่งจะทำให้เราไม่ได้รับประโยชน์จากที่รัฐบาลมอบให้

ด้าน นายพนมชัย บอกว่า กรณีของตัวเองยิ่งตลกไปกว่านั้น เพราะที่ดินซึ่งมีเอกสารยืนยันได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์อ่าวลึกจำนวน 38 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ปรากฏว่าไม่รู้อันตรธานหายไปไหนและกลายไปเป็นที่ดินของบริษัทหรือของใครไปแล้วก็ไม่รู้

 “ผมมีคุณสมบัติสอบสิทธิ์ได้ ทำให้ได้ที่ดิน แต่หลังจากนั้นถูกถอนชื่อออกไป โดยที่ผมไม่รู้เรื่องเลย และเขาทำโดยตัวแทนบริษัท เพราะผมเคยเป็นยามของ บริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม”

     ส่วนการดำเนินการต่างๆ เป็นเรื่องระหว่างบริษัทฯ และนิคมสหกรณ์อ่าวลึก โดยที่นายพนมชัย บอกว่าไม่รู้เรื่องเลยว่าเกิดอะไรขึ้น และจากนั้นไม่นานบริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ก็บอกเลิกจ้างนายพนมชัย และทีมงาน  ขณะที่นายวิชิตก็ยังถือครอง กสน.3 และ กสน.5 จำนวนกว่า 47 ไร่ จนถึงวันนี้ก็ไม่สามารถดำเนินการทั้งเรื่องการออกโฉนดและการเข้าไปทำกินในพื้นที่นั้นๆ

  แต่จากการบอกเล่าของชาวบ้าน รวมไปถึงจากเอกสารที่ส่งไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี พบว่า ที่ดินแปลงที่มีนิคมสหกรณ์อ่าวลึก นำมาจัดสรรให้กับชาวบ้านนั้น เป็นที่ดินที่บริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม หมดสัญญาเช่าและต้องส่งคืนให้กับทางราชการจำนวนมาก แต่จะด้วยเหตุผลใดหรือมีกระบวนการไม่ชอบมาพากลอย่างไรที่ซับซ้อนเกิดขึ้น กลับมีผลให้ที่ดินดังกล่าวไปอยู่ในชื่อของชาวบ้านและคนงานของบริษัทฯ ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

“มีการรวบรวมรายชื่อพนักงาน และคนงานของบริษัทและบุคคลในพื้นที่ยื่นเสนอเข้ารับการคัดเลือกเป็นสมาชิกนิคมฯ โดยมีเจ้าหน้าที่รังวัดซึ่งเป็นตัวแทนบริษัทที่มีความสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่นิคมสหกรณ์และเจ้าหน้าที่ที่ดินอำเภออ่าวลึกเป็นผู้ดำเนินการให้ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ กสน.3 ตามบัญชีรายชื่อที่แนบไว้”

ว่ากันว่าบัญชีรายชื่อคนที่ได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์จะต้องทำสัญญาจะซื้อ-จะขายที่ดินไว้กับบริษัทนายหน้าซื้อขายที่ดินแห่งหนึ่ง ที่จดทะเบียนไว้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เพิ่มเป็น 7.5 ล้านบาท เป็นผู้ดำเนินการ และบริษัทนายหน้ารายนี้ที่ถูกร้องเรียนว่าเป็นคนของบริษัทฯ โดยตรง
หลังโฉนดที่ดินนิคมสหกรณ์ จะมีการสลักหลัง
“ในสัญญาซื้อขายผู้ที่มีชื่อเข้าทำประโยชน์ กสน.3 จะถูกผูกมัดทุกขั้นทุกตอน จนกระทั่งสามารถเปลี่ยนจากหนังสืออนุญาตที่ดินแปลงนี้ จาก กสน.3 เป็น กสน.5 และออกเป็นโฉนดที่ดินพร้อมเปลี่ยนชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้ในที่สุดด้วย

โดยข้อความระบุไว้ที่น่าสนใจ คือ ข้าพเจ้า (ผู้ขาย) เป็นผู้ถือสิทธิ์ครอบครองและทำประโยชน์และข้าพเจ้ามีความประสงค์ขายที่ดินดังกล่าวให้กับ.....บริษัทนายหน้ารายนี้.....เมื่อครบกำหนดเวลาห้ามโอนตามเอกสารสิทธิครอบครอง...ข้าพเจ้าตกลงที่จะโอนสิทธิ์ครอบครองหรือโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวให้กับ... บริษัทนายหน้ารายนี้...หรือบุคคลอื่นหรือนิติบุคคลอื่นที่..บริษัทนายหน้ารายนี้...กำหนด

และข้าพเจ้ายอมให้..บริษัทนายหน้ารายนี้...หรือที่บริษัทนายหน้ารายนี้กำหนดไว้ เป็นผู้ลงทุนปลูกปาล์มหรือพืชผลอื่นๆ และเก็บผลผลิต พร้อมทั้งเป็นผู้ควบคุมดูแลพืชผลในที่ดินนั้นๆ ส่วนข้าพเจ้าจะได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าจ้างแรงงานจากบริษัทนายหน้ารายนี้ หรือที่บริษัทกำหนดไว้

อีกทั้งยังระบุไว้ว่าเมื่อที่ดินแปลงนี้อยู่ในหลักเกณฑ์จะขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดิน ข้าพเจ้าจะมอบอำนาจให้บริษัทนายหน้ารายนี้ หรือบุคคลอื่นและที่บริษัทกำหนดเป็นผู้มีอำนาจจัดการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินแล้วแต่กรณีที่สำนักงานที่ดินซึ่งที่ดินตั้งอยู่ภายใน 30 วัน

และเมื่อข้าพเจ้าได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินแล้ว จะไปหรือมอบอำนาจให้ไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันต่อบริษัทนายหน้ารายนี้ หรือที่บริษัทมอบหมาย ในวงเงิน......บาทภายใน 30 วัน และในวันที่จดทะเบียนจำนองต้องมอบอำนาจให้ผู้รับจำนองหรือบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น เป็นผู้มีอำนาจจัดการขอจดทะเบียนไถ่ถอน

ที่สำคัญหนังสือสัญญานี้ให้มีผลผูกพันถึงทายาทด้วย หากผู้ทำสัญญาถึงแก่กรรมให้ทายาทปฏิบัติและดำเนินการตามสัญญานี้

เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงกระบวนการได้มาซึ่งที่ดินนั้นมีการทำเป็นขบวนการและอาจจะมีความไม่ชอบมาพากลหรือมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่? โดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายจนทำให้ที่ดินเหล่านี้ที่ควรจะเป็นของชาวบ้านหรือสมาชิกนิคมสหกรณ์ฯ ตัวจริงตามเจตนารมณ์ของรัฐต้องหลุดมือไปอยู่ในมือของกลุ่มทุนหรือไม่?

ที่ชัดเจนก็คือ บริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ใช้ชื่อย่อ “UPOIC” และจากข้อมูลสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมที่ดิน ระบุว่า 'UPOIC' ถือครองที่ดินจำนวน 44,400 ไร่ ซึ่งถือเป็นผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ ส่วนอันดับ 1 เป็นของตระกูลสิริวัฒนภักดี 630,000 ไร่ และอันดับ 2 ตระกูลเจียรวนนท์ ของนายธนินท์ เจียรวนนท์ 200,000 ไร่

อย่างไรก็ดีปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับสมาชิกนิคมสหกรณ์อ่าวลึก จึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา เพราะไม่เช่นนั้น นอกจากชาวบ้านคนยากคนจนจะได้รับผลกระทบแล้วยังอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนของภาคเอกชนได้เช่นกัน !



กำลังโหลดความคิดเห็น