xs
xsm
sm
md
lg

ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน “ซีพี” เฉือน “บีทีเอส” ตรงไหน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จุดอ่อน-จุดแข็ง “ซีพี - บีทีเอส” ใครจะเป็นผู้ชนะคว้างานโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ระบุ “ซีพี” มีโอกาสสูงสุดจากพันธมิตรจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และ “FS” จากอิตาลีที่บริหารการเดินรถแล้วมีกำไร ขณะที่ญี่ปุ่นได้งาน TOD ที่จะสร้างรายได้มหาศาลในการพัฒนาพื้นที่ แถมได้เทคโนโลยีลูกผสมจากจีน ทำให้ต้นทุนโครงการต่ำได้ ส่วน “บีทีเอส” แข็งแกร่งด้านการเดินรถ เชื่อโปรเจกต์หน้าชิงงานพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา 3 แสนล้านบาท ประธานวิศวกรรมระบบรางมั่นใจแพ้-ชนะ คะแนนไม่ทิ้งห่าง เพราะทั้งคู่มีจุดแข็งที่ต่างกัน!

หากเป็นไปตามที่นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ให้สัมภาษณ์ไว้หลังจากมีการยื่นซองข้อเสนอโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีผู้ยื่นเพียง 2 ราย ว่าจะมีขั้นตอนการประเมินซองทั้งในด้านคุณสมบัติ เทคนิคและการเงิน เสร็จสิ้นภายในวันที่ 17 ธันวาคม ที่จะถึงนี้ และจะเสนอชื่อเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกให้กับคณะรัฐมนตรี ภายในวันที่ 31 มกราคม 2562 เพื่อลงนามในสัญญาในวันที่ 31 มกราคม 2562 เช่นกัน

โดยทั้ง 2 รายถือเป็นคู่แข่งขันที่น่าสนใจมาก ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการธุรกิจและวงการขนส่งทางรางเชื่อว่าไม่ว่าใครจะชนะก็จะมีคะแนนไม่ทิ้งห่างกันมาก เพราะจุดชี้ขาดที่จะคว้าชัยชนะอยู่ที่ว่าใครจะใช้เงินในกระเป๋ารัฐน้อยที่สุด และเมื่อครบสัญญา 50 ปี รัฐจะได้ผลประโยชน์กลับมามีมูลค่ามากที่สุด!

รายแรก กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) : BTS, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) : STEC, บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) : RATCH

รายที่ 2 กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย), บริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) : ITD, China Railway Construction Corporation Limited :CRCC (สาธารณรัฐประชาชนจีน), บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) : CK, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) : BEM และยังมีพันธมิตรรายอื่นอีก เช่น Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport & Urban Development (ประเทศญี่ปุ่น) CITIC Group Corporation (สาธารณรัฐประชาชนจีน) China Resources (Holdings) Company Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) Siemen (ประเทศเยอรมนี) Hyundai (ประเทศเกาหลี) Ferrovie dello Stato Italiane (ประเทศอิตาลี) CRRC-Sifang (สาธารณรัฐประชาชนจีน) และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ JBIC (ประเทศญี่ปุ่น) เป็นต้น

ในการเปิดตัวยื่นซองของ 2 ค่ายนั้นมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ในมุมมองของ ผศ.ดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา ประธานวิศวกรรมระบบราง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) บอกว่า การที่บีทีเอสเปิดตัวกลุ่มทุนเพียง 3 รายก็ชี้ให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจได้แล้ว และอาจเป็นเพราะบีทีเอสมีประสบการณ์ด้านการเดินรถไฟระบบรางมานาน ทำให้สามารถคำนวณทุกอย่างได้แม่นยำว่ารายได้ต่างๆ จะมีจากไหนอย่างไร จึงจะทำให้บีทีเอสมีโอกาสได้งานนี้
 ผศ.ดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา
“บีทีเอสต้องคุยกับบรรดาsupplier หรือผู้ผลิตรถไฟความเร็วสูงค่ายต่างๆ ไว้แล้วเพราะเขามีประสบการณ์ทั้งค่ายยุโรปและจีนมาก่อน แต่การจะชนะได้อยู่ที่ Business Plan ซึ่งมีปัจจัยต่างๆ ที่จะนำมาคำนวณต้องเป๊ะ

ส่วนซีพี ถือเป็นรายใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการเดินรถ แต่ด้วยความแข็งแกร่งทางธุรกิจที่มีอยู่จึงสามารถคุยกับพันธมิตร และสามารถใช้ศักยภาพของพันธมิตรมาเป็นแต้มต่อได้ดีที่สุด!

“ซีพีเปิดทุกพันธมิตรเป็นการล็อกให้แน่ใจ หามิตรแท้ไว้ก่อน ใครจะเป็นsupplier ถ้าซีพีได้งาน ขณะที่ บีทีเอส ไม่เคยพูดซักครั้งเดียว ว่าใช้เทคโนโลยีอะไร ซึ่งก็ต้องลุ้นคะแนน ว่าใครจะชนะ แต่เชื่อว่าไม่น็อกแน่ แต่ต้องดูว่าชนะขาดกันกี่คะแนน ชนะด้วยอะไร กรรมการแต่ละคนให้คะแนนอย่างไร ต้องชัด”

ผศ.ดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา ย้ำว่าเรื่องเทคโนโลยีความเร็วสูงจะถูกล็อกด้วยระบบและเงื่อนไขในการประมูลอยู่แล้ว และต้องเป็นไปตามมาตรฐานยุโรป จึงไม่ใช่ประเด็นหลักที่จะทำให้ผู้ยื่นเสนอได้งานเพราะต้องไม่ลืมว่ารายได้จากค่าโดยสารไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายหรือค่าดำเนินการทั้งหมดได้ ซึ่งรายได้หลักจะต้องอยู่ที่การพัฒนาธุรกิจที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ในสัญญาไม่ว่าจะเป็นที่ดินมักกะสัน ที่ดินที่ศรีราชา และเส้นทางผ่าน ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการนี้ ทั้งที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ การค้าต่างๆ รวมไปถึงธุรกิจบริการที่จะเชื่อมต่อโครงการ EEC และมองไปถึงเส้นทางการค้าที่จะทะลุไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

“นักธุรกิจที่มีความช่ำชองจะได้เปรียบ เพราะรายได้จากค่าโดยสารมันไม่ cover ค่าใช้จ่าย ก็ต้องไปวัดกันที่ business plan ว่าของใครจะเข้มข้นกว่ากัน"

ตรงนี้แหละคือแต้มต่อที่ซีพีมีสูงมาก ที่จะทำให้ซีพีมีโอกาสคว้าชัยชนะได้!
บริเวณที่ดินมักกะสัน
ด้านแหล่งข่าวในวงการธุรกิจการค้าและการลงทุน ประเมินว่าบริษัทที่เข้ามาเป็นพันธมิตรกับซีพี ทั้งในรูปคอนซอร์เตียม เช่น บริษัท CRCC จากประเทศจีน ก็เป็นรัฐวิสาหกิจด้านวิศวกรรมการก่อสร้างขนาดใหญ่เชี่ยวชาญการก่อสร้างด้านระบบสาธารณูปโภคทุกประเภทถนน ทางด่วน อาคารขนาดใหญ่ และผลิตสายรถไฟกว่า 100,000 กิโลเมตร ทั้งรถไฟใต้ดิน Maglev และโมโนเรลซึ่ง CRCC ถูกจัดอันดับเป็นบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่และมีอิทธิพลมากที่สุดระดับโลก อันดับที่ 58 ของ Fortune Global 500 ประจำปี 2561

สำหรับบริษัท ITD และ CK ก็เป็นบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยซึ่งสามารถก่อสร้างสาธารณูปโภคได้ทุกระบบ

บริษัท BEM ก็เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านขนส่งและคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบริหารจัดการโครงการระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า เช่น MRT สายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางซื่อ สายสีม่วง สถานีคลองบางไผ่-เตาปูน เป็นต้น และการพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทางด่านและรถไฟฟ้าเช่นกัน ถือว่าบริษัท BEM เป็นธุรกิจคู่แข่งของ BTS โดยตรง

ขณะที่กลุ่มทุนการเงินที่จะเสริมทัพให้โครงการนี้แข็งแกร่งทั้งจากประเทศญี่ปุ่นและจีน ประกอบด้วย Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport & Urban Development : JOIN (ประเทศญี่ปุ่น) เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนทางการเงินในแต่ละโครงการที่ JOINจะร่วมทุนกับเอกชน ธนาคารและสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนการเงิน และยังมีธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ JBIC (ประเทศญี่ปุ่น) ธนาคารปล่อยกู้ด้านการลงทุนของรัฐ

รวมถึง CITIC Group Corporation (สาธารณรัฐประชาชนจีน) เป็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่เทียบเท่าธนาคารกรุงไทย และมีการลงทุนในธุรกิจหลายประเภท ซึ่งหากเดินทางไปประเทศจีนจะเห็นป้ายโฆษณาของ CITIC ขึ้นอยู่ทุกเมือง

ส่วนกลุ่มSUPPLIER ที่เข้าร่วมกับซีพีครั้งนี้ ล้วนเป็นผู้ผลิตตู้รถไฟที่เป็นค่ายใหญ่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย Siemen (ประเทศเยอรมนี) ที่บริษัท บีทีเอส MRT และแอร์พอร์ตลิงก์ใช้บริการอยู่ในขณะนี้ รวมไปถึง Hyundai (ประเทศเกาหลี) CRRC-Sifang (สาธารณรัฐประชาชนจีน) ที่ผลิตตู้รถไฟส่งขายทั่วโลก และยังผลิตให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยเฉพาะรถไฟรุ่นใหม่ 4 สายที่มีการให้บริการตู้นอนด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีบริษัท Ferrovie dello Stato Italiane : FS (ประเทศอิตาลี) เป็นบริษัทที่รัฐบาลถือหุ้น100% เชี่ยวชาญการบริหาร และบำรุงรักษาระบบรางและรถไฟความเร็วสูง ที่สามารถทำกำไรได้ดีเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ โดยมีผลประกอบการในปี 2560 ซึ่งมีรายได้รวม 1.12 หมื่นล้านยูโร และเป็นรายได้จากการเดินรถประมาณ 80-85% แต่เป็นส่วนรายได้เฉพาะบริการรถไฟความเร็วสูงจะอยู่ที่ 1,700 ล้านยูโร

“FS วางนโยบายจะขยายการลงทุนมาประเทศไทยในปีนี้ และที่ซีพีเลือกก็เพราะ FS เก่งในการหารายได้จากการเดินรถก็จะทำให้กลุ่มซีพีมีความเสี่ยงน้อยลงได้

นอกจากนี้ยังมี China Resources (Holdings) Company Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่เน้นด้านการส่งออกของจีน ดำเนินธุรกิจหลากหลายทั้งพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก ซึ่งบริษัทนี้จะช่วยให้แผนการพัฒนาพื้นที่ทั้งในและนอกโครงการเชื่อม 3 สนามบินเติบโตได้ด้วย

ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา (ระยอง-พัทยา)
ดังนั้น ความแข็งแกร่งของซีพีที่จะทำให้มีโอกาสในการเสนอเงื่อนไขได้ตรงตามTOR กำหนดไว้ คือ ให้รัฐจ่ายน้อยที่สุดและได้ประโยชน์สูงสุดจึงอยู่ที่การได้พันธมิตรที่แข็งแกร่ง ตั้งแต่แผนการก่อสร้างที่มีทั้ง CRCC, ITD และ CK lส่วนแผนการเดินรถ ก็มี FS และมี BEM ด้านเทคโนโลยีต่างๆ ระบบราง และขบวนรถที่ได้จากจีนก็จะทำให้ต้นทุนต่ำลง และจีนเป็นประเทศเดียวที่มีเทคโนโลยีจาก 4 ประเทศซึ่งเป็นผลจากบริษัทต่างประเทศเข้ามาลงทุนในจีนและมีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีประกอบด้วย บริษัท Kawasaki Heavy Industries ที่เรารู้จักกันว่ารถไฟชิงกันเซ็งของญี่ปุ่น บริษัท Bombardier แคนาดา บริษัท Siemens เยอรมนี และบริษัท Alsyom แห่งฝรั่งเศส ล้วนอยู่ที่ประเทศจีน

นอกจากนี้ ซีพีเลือกที่จะให้บริษัทญี่ปุ่นที่นอกจากจะให้การสนับสนุนด้านการเงินแล้ว เข้ามาบริหารและพัฒนาพื้นที่รอบสถานี (Transit-Oriented Development :TOD) เพื่อให้เกิดความต้องการเดินทางมาทำกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่รอบๆ สถานี ก่อให้เกิดรายได้ที่จะมาหล่อเลี้ยงธุรกิจของรถไฟที่ไม่อาจจะอยู่รอดได้จากการขายตั๋วรถไฟเพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟครอบคลุมไปเกือบทั่วประเทศ ประชาชนมีความสะดวกในการเดินทาง สามารถควบคุมเวลาในการเดินทางได้อย่างแม่นยำ และสถานีรถไฟฟ้าสำคัญๆ ในญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่ สะดวกสบาย มีร้านค้ามากมาย และสถานีรถไฟของญี่ปุ่นก็จะอยู่ใกล้สถานที่สำคัญ เช่น อาคารสำนักงาน สนามกีฬา ศูนย์การค้า เป็นต้น

ที่สำคัญการพัฒนาเชิงพาณิชย์ตามเส้นทางรถไฟฟ้านั้นจะมองแค่ผลตอบแทนทางการเงินไม่ได้ แต่จะต้องมองถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม สังคมและชุมชนที่พึงจะได้รับด้วย ซึ่งประเด็นนี้ญี่ปุ่นเข้าใจในสิ่งที่ซีพีต้องการนำเสนอเช่นกัน

แหล่งข่าวระบุว่า โครงการนี้ซีพีตั้งความหวังไว้มาก เพราะหากสามารถได้ชัยชนะครั้งนี้เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโต มีการจ้างงานในภาคการก่อสร้าง และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ตามมา และจะร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ เพื่อประมูลโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติ อู่ตะเภา (ระยอง-พัทยา) ที่มีมูลค่า 3 แสนล้านบาท ต่อไป!



กำลังโหลดความคิดเห็น