xs
xsm
sm
md
lg

เลือกตั้งปี 62 ส่อเค้าวุ่น ถึง “บิ๊กตู่” นั่งนายกฯ ก็ไร้อำนาจบริหาร

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักรัฐศาสตร์ ฟันธง อลหม่านหลังเลือกตั้ง เชื่อแม้พลังโหวตของ ส.ว. ดัน “พล.อ.ประยุทธ์” ขึ้นนั่งเก้าอี้นายกฯ สำเร็จ แต่ไม่อาจบริหารงานได้ เหตุจำนวน ส.ส.น้อยกว่าฝั่งเพื่อไทย “รศ.ดร.พิชาย” ระบุ หากเสนอ พ.ร.บ.งบฯ ไม่ผ่าน ถึงขั้นยุบสภา ด้าน “ผศ.ดร.พิชญ์” ติง “บิ๊กตู่” ดึงดันตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย อาจซ้ำรอยพฤษภาทมิฬ

ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดของบรรดาพรรคการเมืองที่เตรียมพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. 2562 แต่ละพรรคต่างก็งัดกลยุทธ์ขึ้นมาสู้กันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะฝั่งเพื่อไทยและฝั่งที่สนับสนุน คสช. สองขั้วการเมืองใหญ่ที่ขับเคี่ยวเพื่อช่วงชิงเก้าอี้รัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ในฟากของ คสช.นั้นได้วางหมากกลผ่านกฎหมายไว้หลายซับหลายซ้อน ทั้งกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมือง จึงน่าจะช่วงชิงความได้เปรียบได้ไม่น้อย ขณะที่เพื่อไทยก็ได้คิดค้นกลยุทธ์มาแก้เกมแบบช็อตต่อช็อต
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้หากประเมินจากสรรพกำลังและคะแนนนิยมของทั้งสองขั้วแล้วหลายฝ่ายยังคงประสานเป็นเสียงเดียวกันว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคพันธมิตร ยังคงมีคะแนนนำฝ่ายที่สนับสนุน คสช.และพรรคพันธมิตร ซึ่งทำให้เพื่อไทยน่าจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้า อย่างไรก็ดีผู้สันทัดกรณีชี้ว่าทางฝ่าย คสช. ก็เตรียมไม้เด็ดไว้พลิกเกมเช่นกัน

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ชี้ว่า แม้ผลการสำรวจจะพบว่าเพื่อไทยยังคงมีคะแนนนิยมเป็นอันดับหนึ่งและเมื่อรวมกับพรรคพันธมิตรแล้วก็มีเสียงมากพอที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ คสช.ก็ได้เตรียมหมัดน็อกไว้สกัดในขั้นสุดท้ายเช่นกัน โดยให้ ส.ว. 250 เสียง ที่ คสช.แต่งตั้ง ร่วมกับ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 120 เสียง โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่เพื่อไทยแม้จะได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่สามารถมีเสียงข้างมากในรัฐสภา เมื่อนายกฯ ที่เพื่อไทยเสนอชื่อไม่ได้รับเลือก ทำให้เพื่อไทยตั้งรัฐบาลไม่ได้
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
การจัดตั้งรัฐบาลภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่างจากที่ผ่านมา ในอดีตเราให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกนายกฯ แต่ครั้งนี้เราให้รัฐสภาเป็นผู้เลือกนายกฯ ส.ว.ที่ คสช.เลือกมามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ดังนั้นฟันธงได้เลยว่าพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน แต่ได้เป็นรัฐบาลแล้วคงไม่สามารถบริหารงานได้ เพราะเพื่อไทยที่มี ส.ส. ในสภามากกว่าย่อมไม่ให้ความร่วมมือ ดังนั้นแค่เริ่มการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ ก็ไม่ผ่านสภาแล้ว และตามธรรมเนียมปฏิบัติหาก พ.ร.บ.งบประมาณซึ่งเป็นกฎหมายการเงินไม่ผ่านสภา รัฐบาลต้องประกาศยุบสภา” รศ.ดร.พิชาย กล่าว

สอดคล้องกับความเห็นของ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นนายกฯ แต่หากเป็นพรรคเสียงข้างน้อยก็ไม่สามารถบริหารประเทศได้ เพราะหากเสียงส่วนใหญ่ในสภาไม่ยกมือสนับสนุนร่างกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.งบประมาณ รัฐบาลก็ทำงานไม่ได้ ที่สำคัญการใช้อำนาจ ส.ว.ที่ คสช.ตั้งขึ้นเองกับมือมาผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นสู่อำนาจอีกครั้ง โดยไม่สนใจความต้องการของประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งก็อาจนำไปสู่การชุมนุมประท้วงเหมือนเมื่อครั้งพฤษภาทมิฬได้

กล่าวได้ว่าศึกเลือกตั้งครั้งนี้แต่ละฝ่ายต้องงัดกลยุทธ์ทางการเมืองมาสู้กันอย่างถึงพริกถึงขิง และด้วยความเก๋าเกมของพรรคเพื่อไทยแม้ว่ารัฐบาล คสช.จะวางหมากกลแง่กฎหมายไว้ลึกล้ำพิสดารเพียงใด แต่เพื่อไทยก็ยังสามารถแก้เกมได้ ล่าสุดได้มีการก่อตั้ง “พรรคไทยรักษาชาติ” ซึ่งแตกออกมาจากพรรคเพื่อไทยเพื่อเก็บคะแนนเสียง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นการแก้เกมกติกา “บัตรเลือกตั้งใบเดียว” ที่อาจทำให้ “พรรคเพื่อไทย” ไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว หากได้ ส.ส.เขตครบจำนวนพึงมี ส.ส.ในสภา
ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
ประเด็นนี้ ผศ.ดร.พิชญ์ มองว่า การที่พรรคเพื่อไทยแตกพรรคออกไปตั้งพรรคไทยรักษาชาติเพื่อเก็บคะแนนเสียงในส่วนของบัญชีรายชื่อนั้นนับเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้อง เพราะการเลือกตั้งภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งกาบัตรเลือกตั้งใบเดียว เพื่อเลือก ส.ส.เขต แล้วนำคะแนนที่ได้ทั้งประเทศมาคำนวณจำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ นั้น พรรคเพื่อไทยไม่น่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะจากการสำรวจความนิยมพบว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะได้ ส.ส.เขตครบจำนวนพึงมี ส.ส.ในสภา (ตามสูตรการคำนวณ) ซึ่งทำให้คะแนนที่เกินไม่ถูกนำมาคำนวณเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดังนั้นการแตกพรรคเพื่อเก็บคะแนนบัญชีรายชื่อจึงช่วยแก้ปัญหาการเสียโอกาสจากการเลือกตั้งระบบใหม่ อีกทั้งทำให้แรงกดดันในพรรคลดลงเพราะมีที่นั่งให้ว่าที่ ส.ส.มากขึ้น คนที่สนใจร่วมงานกับพรรคมีโอกาสเข้ามาทำงานมากขึ้น หรือในกรณีที่เพื่อไทยถูกยุบพรรค สมาชิกที่ย้ายไปพรรคอื่นแล้วก็ไม่ได้รับผลกระทบ

ขณะที่ รศ.ดร.พิชาย เห็นว่า การที่พรรคเพื่อไทยจะแตกพรรคไปตั้งพรรคใหม่ หรือมีพรรคสำรองนั้น ในเชิงกลยุทธ์แล้ว ไม่ควรมีพรรคที่เป็นลูกของเพื่อไทยเกิน 1 พรรค เพราะจะเกิดความสับสนในการวางยุทธศาสตร์ ทำให้ผู้มาใช้สิทธิ์ที่เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยไขว้เขวว่าจะเลือกพรรคไหนดี

ในส่วนของการประเมินคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้าทั้งของฝ่ายที่สนับสนุน คสช.กับพันธมิตร และฝ่ายของพรรคเพื่อไทยกับพันธมิตรนั้น คะแนนชี้ชัดว่าฝั่งเพื่อไทยยังถือไพ่เหนือกว่า

โดย รศ.ดร.พิชาย ระบุว่า จากการประเมินศักยภาพและคะแนนนิยมของว่าที่ผู้สมัครแต่ละพรรคนั้นเชื่อว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ฝ่ายของพรรคเพื่อไทยและพันธมิตรจะได้ ส.ส.รวม 260 ที่นั่ง โดยพรรคเพื่อไทยได้จาก ส.ส.ระบบเขต 190 ที่นั่ง พรรคไทยรักษาชาติ ได้จาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ 30 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่ 20 ที่นั่ง พรรคเสรีรวมไทยและพรรคประชาชาติ ได้ ส.ส.รวม 20 ที่นั่ง

ขณะที่ฝ่ายของพรรคที่สนับสนุน คสช.และพรรคพันธมิตร น่าจะได้ ส.ส.รวมไม่เกิน 150 ที่นั่ง โดยพรรคพลังประชารัฐได้ 75 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย ได้ 50 ที่นั่ง พรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่เกิน 5 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนา 20 ที่นั่ง แต่หากนับรวมพรรคประชาธิปัตย์ที่มีแนวโน้มจะจับมือกับฝั่งที่สนับสนุน คสช.มากกว่าจะจับมือกับเพื่อไทย ซึ่งน่าจะได้ ส.ส.ประมาณ 90 ที่นั่ง ทางฝั่ง คสช. ก็น่าจะมี ส.ส.รวมประมาณ 240 ที่นั่ง

ด้าน ผศ.ดร.พิชญ์ เชื่อว่า ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือน ก.พ. 2562 พรรคเพื่อไทยมีโอกาสได้จัดตั้งรัฐบาลสูงมาก เพราะนอกจากพรรคไทยรักษาชาติที่แตกออกมาจากเพื่อไทย และพรรคอะไหล่อย่างพรรคเพื่อธรรมแล้ว เพื่อไทยยังมีพรรคพันธมิตรที่เหนียวแน่นชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น พรรคอนาคตใหม่, พรรคเสรีรวมไทย ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส, พรรคประชาชาติ ของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ซึ่งรวมแล้วน่าจะเกิน 250 เสียง ขณะที่พรรคขนาดกลางอย่างภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา นั้นหากเพื่อไทยได้เสียงข้างมากจะแน่ใจได้อย่างไรว่าทั้งสองพรรคจะไม่เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย

ส่วนที่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร และการเมืองแต่ละพรรคแต่ละขั้วจะงัดกลยุทธ์อะไรออกมาอีก ก็คงต้องติดตามกันต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น