เครือข่ายสุขภาพ เชื่อธุรกิจสารเคมี-บริษัทยา ชักใย แก้ พ.ร.บ. สสส. เผยผู้ประกอบการแอลกอฮอล์วิ่งเต้นล้มมาตรการที่กระทบธุรกิจมาตลอด ด้าน “คำรณ” ชี้พิรุธเลื่อนทำประชาพิจารณ์ หวั่นให้ สสส. อยู่ใต้ ก.คลัง เปิดช่องนักการเมืองแทรกแซง-ล้วงงบ ระบุงบประมาณปี 60/61 จำนวน 4.4 พันล้าน ต้องจัดสรรให้โครงการราชการถึง 44%
กล่าวได้ว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับเป็นรัฐบาลที่มีการแก้ไขกฎหมายมากที่สุดรัฐบาลหนึ่ง และการแก้ไขกฎหมายที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้ก็คือการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 2544 หรือที่เรียกกันติดปากว่า พ.ร.บ. สสส. ซึ่งมีเสียงคัดค้านอย่างหนักจากเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน ซึ่งออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านและตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ด้วยเห็นว่านอกจากหลักเกณฑ์ใหม่ที่ออกมาจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของ สสส. และขัดต่อเจตนารมณ์ในการก่อตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแล้ว การเปิดช่องให้ สสส.สามารถถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองก็เท่ากับเปิดช่องให้กลุ่มทุนในธุรกิจบาปและธุรกิจสุขภาพเข้ามาวิ่งเต้นผ่านนโยบายภาครัฐ
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากเครือข่ายสุขภาพได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ความพยายามในการแก้ไข พ.ร.บ. สสส.2544 ครั้งนี้นั้น เชื่อว่ามีกลุ่มทุนจากธุรกิจน้ำเมา ผู้นำเข้าสารเคมี รวมถึงทุนจากธุรกิจยา อยู่เบื้องหลังอย่างแน่นอน ซึ่งจะเห็นว่าที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัยมีผู้ประกอบการน้ำเมาทั้งในและต่างชาติได้พยายามวิ่งเต้นกับฝ่ายการเมืองและข้าราชการระดับสูงมาตลอด โดยเฉพาะผู้ประกอบการสุราต่างประเทศ มีข้อมูลว่าเข้าไปวิ่งเต้นล็อบบี้รัฐมนตรีเพื่อไม่ให้ออกมาตรการที่มีผลกระทบต่อการจำหน่ายและการโฆษณาเหล้านอก ส่งผลให้มาตรการบางอย่างจะถูกระงับ
“เห็นได้จากเวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. สสส. ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมีกลุ่มแพทย์และนักวิชาการที่มีความสนิทสนมกับกลุ่มทุนที่นำเข้าและจำหน่ายสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และกลุ่มธุรกิจยา เข้ามาร่วมประชาพิจารณ์ โดยมีท่าทีสนับสนุนการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างชัดเจน นอกจากยังมีสัญญาณจากผู้หลักผู้ใหญ่ไปยังฝ่ายปฏิบัติทั้งผู้ที่ดูแลเรื่องการโฆษณา การตรวจจับต่างๆ รวมถึงการให้สัมภาษณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์เรื่องอันตรายจากการดื่มสุรา เช่น ตำรวจ สสส. ว่า..ให้เบาๆ หน่อย เรื่องแบบนี้มีมาตลอด สมัยหมอสมาน (นพ.สมาน ฟูตระกูล อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค) ก็เคยโดนคำสั่งแบบนี้” แหล่งข่าววงในเครือข่ายสุขภาพ ระบุ
ด้าน นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) หนึ่งในแกนนำเครือข่ายสุขภาพ 4 ภาค ซึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ. สสส. มาอย่างต่อเนื่อง ได้ชี้ถึงปัญหาที่จะตามมาจากการแก้ไข พ.ร.บ. สสส. ครั้งนี้ว่า ประเด็นสำคัญในข้อกฎหมายที่แก้ไขตามแนวทางของรัฐบาลแล้วจะก่อให้เกิดปัญหานั้นมีอยู่ 2 เรื่องหลักๆ คือ
1. การให้กระทรวงการคลังเข้ามาดูแล สสส. โดยรัฐอ้างว่าเนื่องจากมี พ.ร.บ.กองทุนหมุนเวียน ของกระทรวงการคลัง จึงต้องการให้กองทุนต่างๆ เข้าไปอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามระเบียบราชการของกระทรวงการคลัง ซึ่งถือว่าแนวคิดดังกล่าวขัดต่อเจตนารมณ์ในการก่อตั้ง สสส. ซึ่งต้องการให้เป็นหน่วยงานอิสระ ไม่อยู่ภายใต้ระบบราชการ แต่ให้ดำเนินการภายใต้ข้อกำหนดของ พ.ร.บ. สสส. เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพเป็นไปอย่างคล่องตัว
นอกจากนั้น พ.ร.บ.กองทุนหมุนเวียน ยังระบุชัดเจนว่า สำหรับกองทุนใดที่มีพระราชบัญญัติกำกับดูแลอยู่แล้ว ก็ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพระราชบัญญัตินั้น ไม่ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.กองทุนหมุนเวียน นอกเสียจากว่าคณะกรรมการของกองทุนจะเห็นสมควรที่จะให้กองทุนอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.กองทุนหมุนเวียน ซึ่งคณะกรรมการ สสส.ก็ไม่ได้มีความต้องการเช่นนั้น เพราะมองว่าใช้วิธีเบิกจ่ายตามระบบราชการซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ล่าช้า จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของ สสส.
เรื่องที่ 2 คือข้อกำหนดที่ให้มีการจำกัดเพดานงบประมาณให้อยู่เพียงแค่ 4,000 ล้านบาท ซึ่งการกำหนดเช่นนี้นอกจากจะเป็นการจำกัดงบประมาณ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของ สสส.แล้ว ยังอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการบุหรี่และสุรา เนื่องจากงบประมาณของ สสส.นั้นไม่มาจากเงินภาษีประชาชน แต่มาจากรายได้ของผู้ประกอบการบุหรี่และสุรา จากแนวคิดที่ว่าธุรกิจใดสร้างปัญหา ธุรกิจนั้นก็ต้องรับผิดชอบ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการบุหรี่และสุราจ่าย 2% ของรายได้ให้แก่ สสส. ดังนั้นถ้ากำหนดเพดานที่ 4,000 ล้านบาท แม้ผู้ประกอบการมีรายได้สูงขึ้นก็จ่ายเท่าเดิม
“บางคนอาจคิดว่างบปีละ 4,000 ล้านบาทนั้นเยอะ จริงๆ แล้วไม่เยอะเลยถ้าเทียบกับภารกิจของ สสส. และถ้าเทียบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีก็เท่ากับ 0.1% เท่านั้น ทราบว่าปัจจุบันมีภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพและได้รับการจัดสรรเงินจาก สสส. เช่น รณรงค์การลดและเลิกสูบบุหรี่-การดื่มสุรา ลดอุบัติเหตุ คุ้มครองผู้บริโภค สร้างชุมชนเข้มแข็ง ฯลฯ อยู่กว่า 300 องค์กร ซึ่งไม่นับรวมองค์กรของรัฐที่ของบไปยัง สสส. โดยในปีงบประมาณ 2560/2561 สสส.ได้รับงบประมาณ 4,400 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ถูกนำไปจัดสรรให้หน่วยราชการที่ทำโครงการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพถึง 44% หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2559/2560 ซึ่งอยู่ที่ 33% ถึง 10% นอกจากนั้นที่ผ่านมาก็มีความพยายามจากนักการเมืองที่จะเข้ามาแทรกแซงงบของ สสส. เช่น ของบไปสร้างสระว่ายน้ำ ทำลานกีฬา ซึ่งเป็นโครงการหาเสียงของเขา ดังนั้นเชื่อว่าถ้า สสส.ไปอยู่ภายใต้กระทรวงการคลังก็คงไม่พ้นถูกการเมืองแทรกแซง” นายคำรณกล่าว
ผู้ประสานงานขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน ยังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีความจริงใจในการรับฟังความเห็นจากภาคประชาชน โดยได้เลื่อนการทำประชาพิจารณ์เรื่องการแก้ไข พ.ร.บ. สสส.ครั้งที่ 2 ออกไปโดยไม่มีกำหนด จากเดิมที่กำหนดว่าจะมีการทำประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2 ในวันที่ 9 พ.ย. 2561 นี้ ส่วนการเปิดให้แสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์นั้นทางเครือข่ายฯ สร้างสริมสุขภาพมองว่าไม่สามารถเข้าถึงภาคประชาชนได้อย่างทั่วถึง และข้อมูลไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ จึงไม่น่าใช่วิธีการที่เหมาะสม ส่วนว่าเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ 4 ภาคจะมีการเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไปนั้น ทางเครือข่ายจะรอดูการดำเนินการของรัฐบาลในช่วงสัปดาห์นี้ก่อนจึงจะมีการหารือกันเพื่อกำหนดท่าทีต่อไป