เปิดรายได้วิศวกรทั้งไทยและต่างประเทศ ปิโตรเคมี-วิศวะเครื่องกล เงินเดือนเหยียบแสน “รศ.ดร.คมสัน” เผย วิศวกรสาขาใหม่ๆ กำลังขึ้นมามีบทบาทและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น วิศวกรการเงิน ไอที เอไอ หรือชีวการแพทย์ ขณะที่สาขาดั้งเดิมอย่าง “วิศวะโยธา” ก้าวหน้าถึงขั้นสร้างบ้านด้วยเทคโนโลยี 3DPrinter
กล่าวได้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมซึ่งปัจจุบันแตกแขนงออกไปมากมายและถูกนำไปใช้ในภาคธุรกิจต่างๆ อย่างที่หลายคนคิดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นด้านไอที การแพทย์ หรือแม้แต่ภาคการเงินก็นำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมไปใช้เพื่อสรรค์สร้างรูปแบบการบริการที่ล้ำสมัย ผู้ที่เรียนวิศวะในสาขาใหม่ๆ จึงเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการและตลาดแรงงานทั้งไทยและต่างประเทศเป็นอย่างมาก ส่งผลให้อัตราเงินเดือนที่ได้สูงกว่าอีกหลายสาขาอาชีพ
โดยข้อมูลจาก adecco.co.th/salary-guide/2018/ ซึ่งได้สำรวจอัตราเงินเดือนสายงานวิศวกรรมศาสตร์ที่น่าสนใจ ในปี 2018 ในกลุ่มที่มีประสบการณ์การทำงานระหว่าง 0-5 ปี พบว่า วิศวกรเครื่องกล หากเป็นบริษัทสัญชาติไทย อัตราเงินเดิอนอยู่ที่ 20,000-50,000 บาท บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น 70,000-100,000 บาท, วิศวกรเคมี บริษัทสัญชาติไทย 18,000-50,000 บาท บริษัทที่ต้องใช้ภาษาญี่ปุ่น 25,000-45,000 บาท ส่วนบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น 50,000-80,000 บาท, วิศวกรไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ บริษัทสัญชาติไทย 20,000-40,000 บาท บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น 50,000-70,000 บาท, วิศวกรก่อสร้าง บริษัทสัญชาติไทย 20,000-50,000 บาท บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น 50,000-70,000 บาท และวิศวกรระบบ บริษัทสัญชาติไทย 25,000-40,000 บาท ส่วนบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น เงินเดือนอยู่ที่ 50,000-70,000 บาท
ขณะที่ข้อมูลจากเว็บไซต์ National Association of Colleges and Employers (NACE) ซึ่งได้ทำการสำรวจและวิจัยรายได้ของวิศวกรสาขาต่างๆ ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในปี 2018 พบว่า สาขาที่มีรายได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.วิศวกรปิโตรเลียม เงินเดือนเริ่มต้นเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 72,063 เหรียญสหรัฐ/ปี หรือ 2,615,700 บาท/ปี (217,975 บาท/เดือน) อันดับ 2 วิศวกรเคมี เริ่มต้นที่ 69,778 เหรียญสหรัฐ/ปี หรือ 2,532,700 บาท/ปี (211,058 บาท/เดือน) อันดับ 3 วิศวกรไฟฟ้า เริ่มต้น 67,603 เหรียญสหรัฐ หรือ 2,453,800 บาท/ปี (204,483 บาท/เดือน) อันดับ 4 วิศวกรเหมืองแร่ 65,398 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,373,700 บาท/ปี (197,808 บาท/เดือน) และอันดับ 5 วิศวกรคอมพิวเตอร์ อยู่ที่ 64,155 เหรียญสหรัฐ หรือ 2,328,600 บาท/ปี (194,050 บาท/เดือน)
ทั้งนี้ รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ท่ามกลางโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงจากแรงกระแทกของเทคโนโลยีนั้นส่งผลให้วิศวกร 9 สาขา เติบโตและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างยิ่ง ได้แก่ วิศวกรการเงิน วิศวกรนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรพลังงานและไฟฟ้า วิศวกรเอไอ-หุ่นยนต์ วิศวกรชีวการแพทย์ วิศวกรเครื่องกลและลอจิสติกส์ วิศวกรโยธา วิศวกรเคมี และวิศวกรอุตสาหการ
1. วิศวกรการเงิน (Financial Engineer) ถือเป็นวิชาชีพที่เกิดขึ้นใหม่จากความต้องการของตลาดการเงินที่นับวันจะทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้น จึงต้องการวิศวกรผู้มีความเชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ขั้นสูง เพื่อทำหน้าที่สร้างและใช้เครื่องมือทางการเงินในการวิเคราะห์และจำลองการตั้งราคาของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น หุ้น อนุพันธ์ ตราสารหนี้ ตราสารทุน ขณะเดียวกันธนาคารและสถาบันการเงินก็จำเป็นต้องปรับตัว เมื่อ FinTech (เทคโนโลยีด้านการเงิน) และ Blockchain (เครือข่ายการเก็บข้อมูลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลเดียวกัน) เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการให้บริการของธนาคาร ซึ่งปัจจุบันสามารถให้บริการโอนเงินและชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ จึงไม่จำเป็นต้องมีสาขาหรือพนักงานจำนวนมาก
2. วิศวกรนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Innovation Engineering) ถือเป็นบุคลากรซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างมาก เมื่อจบการศึกษาแล้วนอกจากจะสามารถเป็นนักพัฒนาด้านนวัตกรรมไอที เป็นเจ้าหน้าที่ Cloud Engineer, Data Engineer, Product Designer หรือ Security Analyst ซึ่งล้วนเป็นตำแหน่งที่มีอัตราเงินเดือนสูงแล้ว ปัจจุบันฝ่ายบุคคลและฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ก็ต้องการบุคลกรที่มีความรู้ด้านวิศวะคอมพิวเตอร์เนื่องจากเป็นผู้ที่มีพื้นฐานด้าน IoT (การวิเคราะห์ด้วยระบบอินเทอร์เน็ต) คลาวด์ คอมพิวติ้ง(รูปแบบหนึ่งของการประมวลผลและการจัดเก็บข้อมูล) การวิเคราะห์ Big Data และความเชี่ยวชาญด้าน Cyber Security อีกทั้งพวกเขายังสามารถเป็นสตาร์ทอัปที่ประดิษฐ์และจำหน่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์เองอีกด้วย
3. วิศวกรพลังงาน และไฟฟ้า (Energy & Electrical Engineer) ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ยิ่งเมื่อโลกปฏิวัติพลังงานจากการใช้ปิโตรเลียมเป็นหลัก กระจายไปสู่พลังงานทางเลือกใหม่ๆ ที่ยั่งยืน ทำให้เกิดแพลตฟอร์มและการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ลดผลกระทบจากโลกร้อน เกิดเครือข่ายผลิตไฟฟ้าในครัวเรือนซึ่งจะต้องมีระบบกักเก็บและบริหารจัดการไฟฟ้าที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น วิศวกรจึงมีบทบาทสำคัญในการคิดค้นและพัฒนาระบบเพื่อรองรับพลังงานทางเลือก อาทิ ค่ายเทสล่ากำลังจะวางตลาดนวัตกรรมกระเบื้องหลังคาที่เป็นโซลาร์เซลล์ในตัวอันเป็นผลงานการคิดค้นของวิศวกร
4.วิศวกรเอไอ-หุ่นยนต์ (AI & Robotics Engineer ) โดยเอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ ทำหน้าที่เป็น “สมองกล” ที่สั่งการ ส่วนหุ่นยนต์เป็นฮาร์ดแวร์ ที่เข้ามาทำงานร่วมกับมนุษย์ ทดแทนการขาดแคลนแรงงานและภาระงานหนัก งานเสี่ยงอันตราย งานที่ต้องการความละเอียดสูง ถือเป็นสาขาที่น่าสนใจเนื่องจากในอาเซียนและประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้ ทั้งวิศวกรผู้ออกแบบ - ผลิตหุ่นยนต์, วิศวกรควบคุมบริหารโรงงานอัจฉริยะ และวิศวกรทีมดูแลงานบำรุงรักษาระบบเอไอ หุ่นยนต์ ความต้องการ “วิศวกรเอไอ-หุ่นยนต์” มีสูง เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้ายกระดับโรงงานในไทยไปสู่ Industry 4.0 ภายใน 10 ปี โดยการพัฒนาเครื่องจักรเป็น Smart Machine และโรงงานอัจฉริยะ Smart Factory
5. วิศวกรชีวการแพทย์ (Biomedical Engineer) ซึ่งเป็นบุคลากรที่ทำงานร่วมกับแพทย์ เพื่อคิดค้นวิจัยและออกแบบพัฒนาอุปกรณ์การบำบัดรักษา เพิ่มศักยภาพแก่แพทย์ในการรักษาคนไข้ได้รวดเร็วแม่นยำ โดยในอนาคตอันใกล้นี้วงการแพทย์ไทยอาจจะเปลี่ยนจากเครื่องสแกน MRI และ CT SCAN ไปสู่เครื่อง Live Scan ดิจิทัล ซึ่งสามารถไลฟ์สดให้แพทย์ตรวจอวัยวะภายในร่างกายคนไข้ที่นอนอยู่แบบเรียลไทม์ และสามารถเลือกดูเฉพาะกล้ามเนื้อ อวัยวะ หรือโครงกระดูก
6. วิศวกรเครื่องกลและลอจิสติกส์ (Mechanical & Logistics Engineer) เป็นอีกสาขาวิศวกรรมยอดฮิต และเป็นที่ต้องการของโลกยุคใหม่ เนื่องจากการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งลอจิสติกส์ขนาดใหญ่ รวมทั้งนโยบายรัฐบาลที่จะพัฒนาเมืองเป็น Smart City มีระบบรางที่ขนส่งคนได้มากขึ้น และรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เชื่อมต่อกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อีกทั้งความต้องการยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และสถานีชาร์จไฟฟ้าก็เป็นอีกแรงขับดันที่ทำให้วิศวกรเครื่องกลเป็นสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการมากขึ้น
8. วิศวกรเคมี (Chemical Engineer) ซึ่งแยกเป็นเคมี และปิโตรเคมี เกี่ยวกับการออกแบบและควบคุมการทำงานของกระบวนการทางเคมี รวมถึงหลักการของกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนส่วนผสม สถานะและลักษณะสมบัติของวัตถุดิบให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามที่ต้องการอย่างปลอดภัย ส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษาในสาขาวิศวกรรมเคมีแล้ว สามารถไปประกอบอาชีพเป็นวิศวกรเคมีตามโรงงานในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น โรงงานน้ำมัน ปิโตรเคมี พลังงาน สิ่งแวดล้อม ยาและอาหาร วิศวกรควบคุมและวางแผนการผลิต วิศวกรออกแบบอุปกรณ์ และเครื่องมือด้านเคมีภัณฑ์
9. วิศวกรอุตสาหการ (Industrial Engineer) หรือที่เรียกว่า IE ซึ่งนำความรู้ด้านวิศวกรรมมาใช้ในการออกแบบอุตสาหกรรม เป็นผู้ที่ต้องวิเคราะห์รายละเอียดในการผลิต และค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องกับคน วัตถุดิบ และเครื่องจักรอุปกรณ์ ช่วยเพิ่มผลผลิต เพิ่มกำไร และประสิทธิภาพในการทำงาน ปัจจุบันวิศวกรสาขานี้ต้องมีทักษะในการวางกลยุทธ์บริหารโรงงานอัจฉริยะซึ่งทำงานด้วยระบบสมองกล ลดการสูญเสีย ประหยัดต้นทุน และประหยัดพลังงาน
รศ.ดร.คมสัน ระบุว่า “ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านวิศกรรมก้าวหน้าไปมาก หลายคนอาจไม่ทราบว่าศูนย์การค้าในลอนดอนมี “ชุดเจ็ตสูท” สวมแล้วเหาะได้ วางขายแล้ว นักธุรกิจในชั่วโมงเร่งด่วนสามารถเรียกใช้บริการแท็กซี่โดรนบินในเมืองกว่างโจว ประเทศจีนได้แล้ว ยูทูบแนะนำคลิปให้ยูสเซอร์กว่า 200 ล้านคลิป ใน 76 ภาษา ผ่านโปรแกรม AI สิ่งเหล่านี้มาจากความมุ่งมั่นของวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ในการค้นคว้าวิจัย การศึกษาด้านวิศวกรรมจึงเป็นสาขาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ”