xs
xsm
sm
md
lg

ศึกชิง “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” ระอุ แก๊งสีเขียวเล่นเกมชิงอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เปิดศึกชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคแม่พระธรณี นาทีนี้ “อภิสิทธิ์” ยังมีคำแนะนำแบบไม่เห็นฝุ่น ระบุประกาศนโยบายหลังกติกาชัดเจน ด้าน “หมอวรงค์” ตามมาห่างๆ ด้วยแรงหนุนของ 2 อดีต กปปส. ร่อนใบปลิวแนะนำตัวกับสาขาพรรคแล้ว ขณะที่ “อลงกรณ์” ออกตัวซาวเสียงสาขาและสมาชิกพรรคก่อนว่าหนุน 5 กฎเหล็ก และ 4 แนวทางปฏิรูปพรรคหรือไม่ ก่อนตัดสินใจลงชิงตำแหน่งหรือเปล่า ด้าน “วัชระ” เผย พลังสีเขียวส่งคนสอดไส้สมัครสมาชิกพรรคนับพันคน เป็นกองหนุนแย่งอำนาจในพรรค

คึกคักไม่น้อยทีเดียวสำหรับความเคลื่อนไหวของพรรรคการเมืองเก่าแก่ที่อยู่คู่ประเทศไทยมาถึง 72 ปี อย่างประชาธิปัตย์ ซึ่งกำลังเตรียมจะโหวตเลือกหัวหน้าพรรคตามวิถีประชาธิปไตยในเดือน พ.ย. 2561 นี้ ยิ่งเมื่อมีการเปลี่ยนกติกาในการโหวตเลือกหัวหน้าพรรค จากเดิมที่ให้กรรมการบริหารพรรค จำนวน 40 คน ประธานสาขาพรรค 40 คน และตัวแทนอดีต ส.ส. อีก 20 คน เป็นผู้ลงมติเลือก มาเป็นการนำความเห็นจากการหยั่งเสียงของสมาชิกพรรคทั้งประเทศมาใช้ในการพิจารณาด้วยก็ดูจะยิ่งเพิ่มความเข้มข้นคึกคักในศึกเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้ โดยประชาธิปัตย์จะมีการประชุมใหญ่เพื่อหารือและสรุปกติกาในการเลือกหัวหน้าพรรคที่ชัดเจน ในวันที่ 26 ก.ย. 2561 นี้ ก่อนที่ผู้อาสาเข้ามาทำหน้าที่หัวหน้าพรรคแต่ละคนจะยื่นใบสมัคร เปิดตัวและแถลงนโยบายว่าจะนำพาพรรคไปในทิศทางใด

อย่างไรก็ดี ถึงตอนนี้เราได้เริ่มเห็นหน้าตาผู้ที่จะมาท้าชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคกันบ้างแล้ว อย่างน้อยๆ 3 รายชื่อ แน่นอนว่าคนแรกจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน คนต่อมาคือ นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งปัจจุบันได้ลาออกจากพรรคไปแล้ว และคนที่สามคือ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตแกนนำ กปปส. ส่งเข้าประกวด ซึ่งแม้ว่าดูแล้วบารมีสองคนหลังยังไม่อาจเทียบชั้นนายอภิสิทธิ์ แต่ที่มาที่ไปและโปรไฟล์ของแต่ละคนก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
สำหรับหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นั้นดูมีภาษีกว่าคนอื่น ด้วยการรั้งตำแหน่งนี้มาถึง 13 ปีแล้ว นอกจากจะโปรไฟล์ดี ดีกรีนักเรียนออกซฟอร์ด คร่ำหวอดในวงการการเมือง ได้รับเลือกให้เข้าสภาในฐานะ ส.ส. ตั้งแต่ปี 2535 และได้ขึ้นนั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 27 ด้วยวัยเพียง 44 ปี ที่สำคัญยังได้รับการสนับสนุนจาก “นายชวน หลีกภัย” อดีตหัวหน้าพรรคผู้มากบารมีและเป็นที่เกรงอกเกรงใจของบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่และสมาชิกภายในพรรค จึงเชื่อขนมกินได้ว่านายอภิสิทธิ์น่าจะยังคงรักษาตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เอาไว้ได้ เพราะแม้ผลงานที่ผ่านมาจะไม่เข้าตากรรมการสักเท่าไหร่ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องความกล้าตัดสินใจ และการเลือกตั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมาไม่สามารถนำพาให้ประชาธิปัตย์เป็นพรรคอันดับ 1 ได้ แต่ ณ วันนี้ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกส่วนใหญ่ในพรรค และอยู่ในอันดับที่มีแฟนคลับหนาแน่น มีศักยภาพพอที่จะเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้

ส่วนนโยบายที่จะนำพาประชาธิปัตย์ไปสู้ในสนามการเมืองในฐานะผู้ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคนั้น นายอภิสิทธิ์ยังไม่ขอเปิดเผยในขณะนี้ โดยระบุว่าต้องรอให้ได้บทสรุปเกี่ยวกับวิธีการและข้อกำหนดในการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ออกมาเสียก่อน จึงจะพูดถึงการลงสมัครหรือแนวนโยบายต่างๆ ได้

“ต้องรอจัดทำข้อบังคับพรรคต่างๆ ให้เรียบร้อยเสียก่อนจึงจะพิจารณาเรื่องดังกล่าว ต้องเป็นไปทีละขั้นละตอน” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอลงกรณ์ พลบุตร
ขณะที่ นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ท้าชิงคนแรกนั้น หากเปรียบทียบกันใน 3 คนแล้ว นายอลงกรณ์ดูจะเสียเปรียบกว่าเพื่อน เพราะแม้จะเป็นนักการเมืองมากประสบการณ์ มีฐานเสียงหนาแน่นในจังหวัดเพชบุรี อีกทั้งเคยรั้งตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และไม่กี่วันก่อนหน้านี้ได้ออกมาเปิดตัวว่าจะลงสมัครหัวหน้าพรรคและประกาศเดินหน้าท้าชนด้วยเหตุผลที่ต้องการปฏิรูปพรรคเพื่อให้ประชาธิปัตย์สามารถสู้ศึกในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ก็มีจุดอ่อนที่ถูกโจมตีว่าเคยทิ้งพรรคไปทำงานให้ คสช. ในตำแหน่งรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 จึงถูกมองว่าเป็นคนที่ คสช.ส่งเข้ามาชิงอำนาจการบริหารพรรค อีกทั้งเขาเคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้าง การบริหารจัดการ และวัฒนธรรมองค์กรของพรรค พร้อมทั้งเสนอให้มีการปฏิรูปพรรคอย่างจริงจัง ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับผู้หลักผู้ใหญ่และหลายคนในพรรค

สำหรับนโยบายที่นำเสนอในการท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคนั้น นายอลงกรณ์เปิดเผยว่า มีอยู่ 2 ประการ คือ 1. เสนอกฎเหล็ก 5 ข้อ ได้แก่ ไม่ทุจริตเลือกตั้ง ไม่หาเสียงใส่ร้าย ไม่รับทุนสามานย์ ไม่คอร์รัปชัน และยึดมั่นระบบรัฐสภา ซึ่งเป็นหัวใจของพรรคการเมืองที่ดี และ 2. เสนอให้มีการปฏิรูปพรรค 4 ด้าน ได้แก่ ภาวะผู้นำ การบริหารจัดการ นโยบายวิสัยทัศน์ และวัฒนธรรมองค์กร อย่างไรก็ดีล่าสุดนายอลงกรณ์ออกตัวว่าตอนนี้ยังตัดสินใจว่าจะลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ โดยขอรอดูความชัดเจนต่างๆ ก่อน

ตอนนี้อยู่ระหว่างรอความชัดเจนเรื่องข้อบังคับและกฎเกณฑ์ในการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ซึ่งระหว่างนี้ผมก็ดำเนินการซาวเสียงสมาชิกพรรคและสาขาพรรคว่าเห็นด้วยกับแนวทางทั้ง 2 เรื่องที่ผมจะเสนอ คือเรื่องกฎเหล็ก 5 ข้อ และการปฏิรูปพรรคไหม ซึ่งเท่าที่สอบถามเบื้องต้นพบว่าคนที่เห็นด้วยมีมากกว่าคนที่ไม่เห็นด้วย แต่ก็ยังต้องสอบถามเพิ่มเติม ก็ยังมีเวลาอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ผมก็จะประสานไปยังสมาชิกและสาขาพรรคโดยใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย ผมมองว่าการจะนำพรรคไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งได้มันต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกคน” นายอลงกรณ์กล่าว
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม
ส่วนผู้สมัครคนที่สาม “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ แม้จะไม่โดดเดี่ยวเพราะมาด้วยแรงสนับสนุนจาก 2 อดีตแกนนำ กปปส. อย่าง นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และนายวิทยา แก้วภราดัย อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่จุดนี้ก็กลายเป็นจุดอ่อนให้ นพ.วรงค์ถูกโจมตีว่าส่งเข้าประกวดโดย คสช. เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่าที่ผ่านมา กปปส.มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ คสช.

ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดระบุว่าได้มีการจัดทำใบปลิวแจกแนะนำตัว "หมอวรงค์คือใคร?" แจกไปยังสาขาต่างๆของพรรค โดยเนื้อหาของใบปลิว เป็นการแนะนำประวัติของ นพ.วรงค์ ทั้งด้านการศึกษาและการรับราชการ รวมถึงผลงานขณะเป็น ส.ส.โดยเน้นในเรื่องของการอภิปรายไม่ไว้วางใจโครงการรับจำนำข้าว ไปจนถึงการเป็นหนึ่งในพยานคดีนี้ด้วย พร้อมทิ้งท้ายถึงเหตุผลการลงแข่งชิงหัวหน้าพรรคว่า มีเป้าหมายต้องการเปลี่ยนแปลงพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นสถาบันการเมืองที่มีศักยภาพ สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการบริหาร แก้ปัญหาคนจนในชนบทและในเมือง

อย่างไรก็ดี นพ.วรงค์ ยังคงปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ถึงแนวนโยบายในฐานะผู้ท้าชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคที่จะนำพาพรรคสู้ในสนามการเมือง โดยให้เหตุผลว่าต้องให้เกียรตินายอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคคนปัจจุบันประกาศเปิดตัวก่อน

“พูดอะไรออกไปตอนนี้ก็คงไม่เหมาะ คือผมเป็นเด็ก ก็ต้องให้เกียรติผู้ใหญ่ รอให้ท่านหัวหน้าประกาศเปิดตัวลงสมัครก่อน คิดว่าน่าจะเป็นหลังการประชุมใหญ่ของพรรคในวันที่ 26 ก.ย.นี้” นพ.วรงค์กล่าว
นายวัชระ เพชรทอง
ด้าน นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ซึ่งเปิดตัวชัดเจนว่าสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ มองว่า ขณะนี้หากวัดจากการยอมรับของสมาชิกพรรคและบรรดาอดีต ส.ส.แล้วมั่นใจว่านายอภิสิทธิ์จะเป็นผู้ที่ได้รับเสียงสนับสนุนมากที่สุด ขณะที่ นพ.วรงค์นั้นน่าจะได้เสียงสนับสนุนจากอดีต ส.ส. ที่เป็นกลุ่ม กกปส.

“ในการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้จะนำผลการหยั่งเสียงของสมาชิกพรรคทั่วประเทศมาพิจารณาร่วมกับความเห็นของบุคคลที่พรรคคัดเลือกขึ้นมา ส่วนกติกาที่ชัดเจนจะเป็นอย่างไรก็ต้องรอดูการประชุมใหญ่ในวันที่ 26 ก.ย. เรามีฐานสมาชิกเดิมอยู่ 2.9 ล้าน ตอนนี้มีผู้ที่สมัครเป็นสมาชิกพรรคโดยสมบูรณ์ประมาณ 90,000 คนเศษ กว่าจะถึงวันเลือกหัวหน้าพรรคในเดือน พ.ย. ก็ยังมีเวลาให้ทั้งอดีตสมาชิกและสมาชิกใหม่สมัครเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งถามว่าในส่วนของสมาชิกพรรคที่จะออกเสียงโหวตเลือกหัวหน้าพรรคมีคนที่ฝั่งสีเขียวสอดไส้เข้ามาไหม ก็ต้องยอมรับว่ามีเป็นพันคน แต่เมื่อเทียบกับฐานสมาชิกเป็นล้านคนซึ่งส่วนใหญ่ยังคงให้การยอมรับคุณอภิสิทธิ์ ก็คงเทียบกันไม่ติด” นายวัชระกล่าว
 

ประเด็นหนึ่งซึ่งหลายคนวิตกก็คือกติกาใหม่ในการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งจะเปิดโอกาสให้คนนอกสามารถเข้ามาลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคได้นั้นอาจจะเป็นการเปิดช่องให้คนนอกเข้ามา “ยึดพรรค” ได้ อย่างไรก็ดีเรื่องนี้อดีต ส.ส.และสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ก็ยังคงเชื่อว่าการที่คนนอกจะเข้ามายึดพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์คงไม่ใช่เรื่องง่าย

แหล่งข่าวภายในพรรคประชาธิปัตย์ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า เนื่องจากพรรคมีระบบและจารีตที่สืบทอดกันมา และที่สำคัญกติกาในการที่คนนอกจะเข้ามาสมัครเป็นหัวหน้าพรรคก็มีเงื่อนไขที่ยึดโยงกับบุคลากรที่เป็นรากฐานของพรรค โดยระบุว่า บุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคหากจะลงสมัครหัวหน้าพรรค จะต้องมีอดีต ส.ส.ชุดสุดท้ายก่อนการรัฐประหารยึดอำนาจของ คสช. รับรอง จำนวน 40 คน และต้องมีสมาชิกพรรคในภูมิภาค ภาคละ 1,000 คน รวม 4 ภาค จำนวน 4,000 คน ให้การรับรอง ถึงจะถือว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน สามารถลงสมัครได้ ดังนั้นเป็นไปได้ที่ คสช.จะส่งคนเข้ามายึดพรรค

ส่วนว่าที่สุดแล้ว หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะยังคงชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หรือไม่ และกติกาใหม่ในการเลือกหัวหน้าพรรคจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น