ไทยแพน เผยผลสุ่มตัวอย่างเลือดของผู้บริโภค พบ 99% มีสารพิษตกค้าง พืชผักส่วนใหญ่ดูดซึมยาเข้าเซลล์ ล้างออกไม่ได้ ชี้ผัก-ผลไม้ในห้างมีสารปนเปื้อนมากกว่าตลาดสด ด้าน “วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” ผอ.ไบโอไทย ระบุ คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีปัญหาทั้งเชิงนโยบายและโครงสร้าง ขรก.มีผลประโยชน์ทับซ้อน ตัวแทนผู้ผลิตยากำจัดศัตรูพืชร่วมตัดสินใจ ส่งผลไทยไม่เคยสั่งแบนสารอันตรายมากว่า 20 ปี
ปัญหาสารเคมีตกค้างซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคและเกษตรกรไทยดูจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่าผู้ป่วยได้รับสารพิษที่สะสมอยู่ในดิน น้ำ และอาหาร เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสารพิษจากยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลง กระทั่งเครือข่ายภาคประชาชนหลายร้อยองค์กรลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลไทยประกาศแบนสารเคมีบางตัวที่เป็นส่วนผสมหลักในยาฆ่าหญ้า ล่าสุด พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้องลงพื้นที่เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาสารเคมีตกค้างและช่วยเหลือชาวบ้านในจังหวัดหนองบัวลำภูที่ได้รับผลกระทบ
หลายคนอยากรู้ว่าแท้จริงแล้วสถานการณ์เกี่ยวกับสารตกค้างในประเทศไทยเข้าขั้นวิกฤตอย่างที่ได้ยินได้ฟังมาจริงหรือไม่ และอะไรที่ทำให้สารอันตรายซึ่งประเทศต่างๆ ประกาศห้ามใช้ยังคงสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมของยากำจัดศัตรูพืชที่วางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป
ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน (Thai-Pan) บอกถึงสถานการณ์สารตกค้างในไทยไว้ว่า ปัจจุบันคนไทยประสบภาวะสารพิษตกค้างในร่างกายในระดับที่น่าเป็นห่วง จากการสำรวจของไทยแพนซึ่งได้ศึกษาผลเลือดของประชาชนที่เข้าชมงานมหกรรมสมุนไพรและอาหาร ครั้งที่ 3 ที่เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่า จากการสุ่มตรวจประชาชน 500 คน มีเพียง 1% เท่านั้นที่ไม่พบสารพิษตกค้างในเลือด ส่วน 99% ที่พบสารพิษตกค้างในเลือดนั้น 80% อยู่ในระดับที่มีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัย ขณะที่อีก 19% ยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย
ขณะที่จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ ภาควิชาชีวอนามัยและความปลอดภัย พบว่าจากการตรวจขี้เทา (อุจจาระที่ค้างอยู่ในลำไส้ทารกแรกคลอด) ของทารกที่เกิดจากมารดาซึ่งอาศัยในพื้นที่เกษตร ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อำนาจเจริญ และจังหวัดกาญจนบุรี มีทารกถึง 57.4% ที่ขี้เทามีพาราควอตซึ่งเป็นสารพิษที่อยู่ในยาฆ่าหญ้าปนเปื้อนในปริมาณมากอย่างมีนัยสำคัญ และอาจจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กได้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าสารพิษที่เข้าสู่ร่างกายของมารดาได้ส่งต่อถึงทารกในครรภ์ด้วย
อย่างไรก็ดี จากการสำรวจของไทยแพนในช่วงที่ผ่านมากลับพบข้อมูลที่น่าแปลกใจว่าประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคมีสารพิษตกค้างในร่างกายมากกว่ากลุ่มเกษตรกร ซึ่งดูเหมือนจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงจากการใช้ยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลง ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากสารพิษเข้าสู่ร่างกายได้ 3 วิธี คือ จากการสัมผัส การดูดดม และการกิน ซึ่งขณะที่ฉีดยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลงเกษตรกรจะมีอุปกรณ์ป้องกันระดับหนึ่ง และเกษตรกรมักไม่บริโภคพืชผักที่ตนเองฉีดยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลง ขณะที่ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคไม่สามารถรู้ได้เลยว่าผักผลไม้ใดที่มีสารพิษตกค้างบ้าง จึงรับสารพิษที่ตกค้างอยู่ในพืชผักเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายอย่างต่อเนื่องโดยไม่รู้ตัว ทั้งนี้จากสำรวจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไทยแพนได้ส่งพืชผักจำนวน 100 ชนิดไปตรวจสอบที่สถาบันวิจัยในอังกฤษ พบว่า 60 ชนิดเป็นพืชผักที่ดูดซึมสารพิษเข้าไปเก็บในเซลล์ จึงไม่สามารถล้างออกได้ ขณะที่อีก 40 ชนิด สารพิษปนเปื้อนอยู่บนผิวด้านนอก สามารถล้างออกได้แต่ไม่หมด ดังนั้นโอกาสที่ผู้บริโภคจะได้รับสารพิษจากการรับประทานจึงมีสูงมาก
“จากการสุ่มตรวจสารพิษตกค้างในพืชผักผลไม้ที่จำหน่ายอยู่ในตลาดสดและในห้างสรรพสินค้า ไทยแพนพบข้อมูลที่น่าแปลกใจว่าผักผลไม้ที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้ามีปริมาณสารปนเปื้อนสูงกว่าที่จำหน่ายในตลาดสด ซึ่งอาจเป็นเพราะแหล่งที่มาของพืชผักในตลาดสดนั้นมีความหลากหลาย และบางชนิดไม่ได้มุ่งปลูกเพื่อการค้าเป็นหลักจึงไม่ได้ใช้ยาฆ่าแมลง ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าผู้บริโภคจะมีฐานะระดับใดก็มีโอกาสที่จะได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายไม่ต่างกัน”
โดยตัวที่พบว่ามีสารตกค้าง 100% คือ ส้มสายน้ำผึ้ง และผักยอดนิยม 5 ชนิด ได้แก่..ถั่วฝักยาว คะน้า พริกแดง กะเพรา และกะหล่ำปลี มีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานถึง 64% ผักพื้นบ้านยอดฮิต 5 ชนิด ได้แก่ ใบบัวบก ชะอม ตำลึง และสายบัว มีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 43% ส่วนผลไม้ที่มีสารตกค้างสูงมี 6 ชนิด ได้แก่ องุ่น แก้วมังกร มะละกอ กล้วย มะพร้าว สับปะรด มีสารตกค้าง 33%
อย่างไรก็ดี ปัญหาสารตกค้างในพืชผักซึ่งเกิดจากยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลงอาจจะลดน้อยลงหากมีการตรวจสอบและควบคุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด เช่น หากตรวจสอบพบว่าเป็นสารพิษที่อันตราย ก็กำหนดให้สารนั้นเป็นวัตถุอันตราย ซึ่งจะส่งผลให้สารดังกล่าวถูกห้ามนำเข้า หรือควบคุมการใช้โดยอัตโนมัติ ซึ่งถือเป็นการป้องกันตั้งแต่ต้นทางของห่วงโซ่ปัญหา
แต่ประเด็นที่หลายฝ่ายกำลังวิตกอยู่ในขณะนี้ก็คือการทำหน้าที่ของ “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย มาตรการและแผนการกำกับดูแลวัตถุอันตราย รวมถึงให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในการกำหนดรายชื่อของวัตถุอันตราย เนื่องจากที่ผ่านมามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าคณะกรรมการดังกล่าวไม่ได้ปกป้องผลประโยชน์และสุขภาพของประชาชน แต่กลับเป็นเครื่องมือของกลุ่มบริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย (BIOTHAI) องค์กรซึ่งมีจุดยืนในการรณรงค์เรื่องการทำเกษตรยั่งยืน และได้ร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศแบน พาราควอต และไกลโฟเซต สารพิษซึ่งอยู่ในยาฆ่าหญ้า และ “คลอร์ไพริฟอส” สารพิษร้ายแรงซึ่งเป็นส่วนผสมของยากำจัดแมลง ได้ตั้งข้อสังเกตถึงบทบาทของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการดังกล่าวไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น การตัดสินใจต่างๆ มีแนวโน้มที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนซึ่งเป็นผู้จำหน่ายยากำจัดศัตรูพืช ที่สำคัญโครงสร้างของคณะกรรมการฯ ก็มีความผิดเพี้ยนไปจากหลักธรรมาภิบาล เนื่องจากผู้ที่ร่วมเป็นคณะกรรมการมีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยข้าราชการบางคนที่เป็นกรรมการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัทผู้ผลิตยากำจัดศัตรูพืช
ขณะเดียวกันก็มีการแต่งตั้งเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทผู้ผลิตยากำจัดศัตรูพืชดังกล่าวมาร่วมเป็นกรรมการ ส่งผลให้การตัดสินใจต่างๆ ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน
“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การลงมติของคณะกรรมการเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้ปฏิเสธการแบน พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงานจาก 4 กระทรวงหลัก รวมทั้งประชาคมวิชาการจากหลายสถาบัน ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจทางนโยบายที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ค้าสารพิษ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมีการใช้เอกสารที่เป็นข้อมูลล้าสมัยขัดแย้งกับข้อมูลเชิงประจักษ์และงานวิจัยเกี่ยวกับความเป็นพิษและผลกระทบจากสารพิษดังกล่าว รวมทั้งมีกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียจากสมาคมอารักขาพืชไทย ซึ่งเป็นสมาคมการค้าของบริษัทสารพิษ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ร่วมอยู่ในกระบวนการตัดสินใจ” นายวิฑูรย์กล่าว
ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งประกอบด้วย กรรมการ 2 ส่วน คือ ตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง จำนวน 19 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 10 คนนั้น โดยในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้นมีที่มาจาก 2 ส่วน คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ และผู้แทนจากองค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งในส่วนของผู้แทนจากองค์กรสาธารณประโยชน์นี่เองที่เป็นช่องทางในการแต่งตั้งตัวแทนของผู้ผลิตยากำจัดศัตรูพืชให้เข้ามามีบทบาทในคณะกรรมการ
จากการตรวจสอบพบว่าคณะกรรมการวัตถุอันตราย ชุดปัจจุบัน มีกรรมการที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ค้าสารพิษถึง 2 คน โดยเข้ามาในนามของตัวแทนสมาคมอารักขาพืชไทย และสมาคมคนไทยธุรกิจการเกษตร ซึ่งสมาคมดังกล่าวมีผู้บริหารของบริษัทข้ามชาติซึ่งเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เป็นสมาชิกคนสำคัญและให้การสนับสนุนสมาคม
สำหรับ สมาคมอารักขาพืชไทย นั้นเดิมชื่อว่า สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งสมาชิกสมาคมเป็นบริษัทผู้ผลิตและนำเข้ายากำจัดศัตรูพืช ส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ อีกทั้งสมาคมแห่งนี้ยังเข้าเป็นสมาชิกสภาสมาคมผู้ผลิตสารเคมีเกษตรนานาชาติ (CropLife International) มีเครือข่ายใน 50 ประเทศทั่วโลกอีกด้วย ส่วนสมาคมคนไทยธุรกิจการเกษตร นั้นเป็นศูนย์รวมของคนไทยผู้ทำธุรกิจด้านสารเคมีเกษตร ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ตัวแทนจากทั้งสองสมาคมจะส่งเสียงเพื่อปกป้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมี
ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ย้ำว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรก เนื่องจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดก่อนหน้านี้ มีการแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการของบริษัทซินเจนทา ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้ามาดำรงตำแหน่ง โดยเข้ามาในช่องทางผู้ทรงคุณวุฒิองค์กรสาธารณประโยชน์ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ข้าราชการกระทรวงเกษตรที่เคยเป็นคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อเกษียณก็ไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาบริษัทค้ายากำจัดศัตรูพืช บ้างก็เข้าไปทำงานในสมาคมอารักขาพืชฯ ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าเหตุใดตลอดเวลา 20 กว่าปีตั้งแต่มีคณะกรรมการวัตถุอันตรายเกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน จึงไม่เคยมีการประกาศแบนสารอันตรายชนิดใดเลยแม้แต่ตัวเดียว
ถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาพิษภัยจากสารเคมีตั้งแต่โครงสร้างเชิงนโยบาย ไม่ใช่แก้ที่ปลายเหตุหลังจากที่มีการใช้สารพิษที่เป็นภัยต่อสุขภาพในกระบวนการเพาะปลูกไปแล้ว!