ธุรกิจหิ้วแบรนด์เนม-พรีออเดอร์ระบาดหนัก คนหิ้วประกาศรับงานผ่านเฟซ คนขายเปิดร้านออนไลน์โจ่งแจ้ง วงในเผย สารพัดเทคนิคการหิ้ว ล็อตใหญ่โหลดใต้คาร์โก้ คนมีสีพาออกหน้าเกตงวงช้าง สะดวกสบายไร้ด่าน ด้านกรมศุลฯ จับตาแม่ค้าหน้าเพจและเครือข่าย ประสานข้อมูล ตม. เช็กการเข้า-ออกประเทศ
ธุรกิจหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและจัดว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจสีเทา ก็คือ “ธุรกิจหิ้วและจำหน่ายแบรนด์เนม-พรีออเดอร์” ที่เรามักพบเห็นว่ามีการประกาศขายแบนรด์เนมหรูบนหน้าเพจ ไลน์ และ IG ในราคาที่ถูกกว่าชอปทั่วไป มีทั้งกระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า นาฬิกา ให้เลือกซื้อเลือกหา โดยโปรโมตชัดเจนว่าเป็นเบรนด์เนมที่ “แอบหิ้ว” เข้ามา ซึ่งหมายถึงว่าไม่ผ่านกระบวนการศุลกากร หรือ “หนีภาษี” นั่นเอง แต่ประเด็นที่หลายคนอยากรู้คือเหตุใดธุรกิจนี้จึงสามารถทำกันได้อย่างเอิกเกริก และการหิ้วแบรนด์เนมจากต่างประเทศเข้ามาขายนั้นมีเส้นทางอย่างไร
จากการตรวจสอบพบว่าการหิ้วสินค้าแบรนด์เนมเข้ามาขายในไทยนั้นมีมานานแล้ว และเป็นที่ต้องการของลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสินค้าที่แอบหิ้วเข้ามานั้นไม่ต้องเสียภาษีจึงมีราคาถูกกว่าที่ขายในชอปทั่วไป ซึ่งเมื่อก่อนคนที่แอบหิ้วแบรนด์ส่วนใหญ่จะเป็นลูกเรือของสายการบินต่างๆ ซึ่งต้องเดินทางไปต่างประเทศเป็นประจำอยู่แล้ว โดยมีทั้งหิ้วไปขายเองและหิ้วไปส่งให้ร้านที่ขายแบรนด์เนม แต่หลังจากตลาดออนไลน์เข้ามามีบทบาททำให้ธุรกิจหิ้วและจำหน่ายแบรนด์เนม-พรีออเดอร์ขยายตัวมากขึ้น ช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ลูกค้ามีโอกาสพบเห็นและสั่งซื้อ-สั่งจองสินค้าได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้ค้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และจากเดิมที่ส่วนใหญ่จะจ้างสจ๊วตและแอร์โฮสเตสหิ้วสินค้าเข้ามา ก็เริ่มขยายวงไปจ้างกลุ่มอื่นๆ เช่น ไกด์ซึ่งพาคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ อีกทั้งมีอาชีพใหม่เกิดขึ้นนั่นก็คือ “รับจ้างหิ้วแบรนด์เนม” ที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน และมีการประกาศรับงานผ่านหน้าเฟซบุ๊กกันอย่างคึกคัก
บี หนึ่งในผู้ที่คลุกคลีอยู่ในธุรกิจหิ้วและจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนม-พรีออเดอร์ พูดถึงพัฒนาการของธุรกิจนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า การมีหน้าร้านออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ไลน์ หรืออินสตาแกรม ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะหน้าร้านออนไลน์สามารถโชว์สินค้าให้ลูกค้าดูได้เลย ชอบแบบไหน สีไหน ก็พรีออเดอร์หรือสั่งสินค้าล่วงหน้าได้ จากนั้นทางร้านก็ออเดอร์ไปยังผู้ที่รับจ้างหิ้วพร้อมทั้งโอนค่าสินค้าไปให้
“เดี๋ยวนี้คนที่ขายแบรนด์เนม-พรีออเดอร์มีเยอะ บนเพจเฟซบุ๊ก IG นี่เต็มไปหมด มีทุกแบรนด์ มีทุกแบบ แม้กระทั่งแบบที่ยากๆ ก็หามาขายได้ โดยราคาตามร้านค้าเหล่านี้ก็จะถูกกว่าซื้อในร้านเมืองไทย แต่ก็จะแพงกว่าร้านในเมืองนอก แต่การรับพรีออเดอร์นั้นร้านส่วนใหญ่ต้องขอมัดจำก่อน ส่วนจะต้องมัดจำกี่เปอร์เซ็นต์ก็แล้วแต่ข้อตกลง หรือถ้าร้านไหนมีกระเป๋าหรือรองเท้าแบรนด์โชว์อยู่แล้ว ลูกค้าก็สั่งซื้อได้เลย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ต้องโอนเงินก่อนร้านจึงจะจัดส่งของให้ แบรนด์เนมที่ขายในชอปต่างประเทศนอกจากราคาจะถูกกว่าชอปในไทยแล้ว ชอปในหลายๆ ประเทศ อย่าง ฝรั่งเศส อังกฤษ ญี่ปุ่น ก็มีกระเป๋าหลายแบบ หลายรุ่น หลายสี ให้เลือกมากกว่า”
บี ยังเล่าถึงเส้นทางการ “หิ้ว” แบรนด์เนม-พรีออเดอร์ว่า คนที่หิ้วจะรู้แหล่งว่าแบรนด์เนมแต่ละยี่ห้อซื้อที่ไหน ประเทศหลักๆ ที่ไปหิ้วสินค้ามาก็มี ฮ่องกง สิงคโปร์ ซึ่งเป็นแหล่งเอาต์เล็ตของสินค้าแบรนด์เนม เกาหลี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งสินค้าแบรนด์เนม บางคนก็มีเจ้าประจำ คนหิ้วจะรู้ว่าช่วงไหนที่ไหนจัดโปรโมชัน อย่างฮ่องกงก็จะมีช่วงที่เอาต์เล็ตลดราคาทั้งเกาะ ดิวตี้พรีในสนามบินของแต่ละประเทศก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ไปหาของกัน ส่วนบินกลับเข้าประเทศแล้วจะเอาออกจากสนามบินยังไงโดยไม่ต้องเสียภาษีมันก็มีเทคนิค ถ้าเอามาน้อยก็ยัดลงกระเป๋า สะพายเข้ามา ซึ่งพวกไกด์ แอร์โฮสเตส จะใช้วิธีนี้ บางทีแอร์ฯ รู้จักศุลกากรก็ปล่อยผ่าน แต่ปัจจุบันก็อาจจะยากขึ้นเพราะมีการสุ่มตรวจ แอร์บางคนหิ้วมาเก็บในเครื่อง แล้วให้แม่บ้านมาขนทีหลังตอนทำความสะอาดเครื่อง ส่วนไกด์บางทีก็ฝากลูกทัวร์ถือเข้ามา บางคนก็หิ้วกระเป๋ามา 10 กว่าใบโดยใช้บารมีท่านทูต ส่วนคนที่หิ้วเข้ามาล็อตใหญ่ๆ 20-30 ใบก็ต้องรู้จักเจ้าหน้าที่ รู้ช่องทางว่าจะจ่ายใต้โต๊ะตรงไหน ส่วนใหญ่จะโหลดมาในคาร์โก้ แล้วให้คนมีสีไปรับถึงหน้าเกตงวงช้าง แล้วพาออก ไม่ต้องผ่านด่าน ไม่ต้องสแกนกระเป๋า อันนี้ก็จ่ายกันเป็นเรื่องเป็นราวไป ส่วนที่จ่ายหน้าด่านนั้นอัตราการจ่ายก็แล้วแต่มูลค่าของ อย่างหิ้วจากเกาหลี ประมาณ 5 กระเป๋า ราคาของประมาณ 2 แสน ก็อาจจะจ่ายให้เจ้าหน้าที่ 3 จุด จุดละ 2-3 พันบาท
ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจหิ้วและจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนม-พรีออเดอร์นั้นทำให้ไทยสูญเสียรายได้จากภาษีนำเข้าปีละไม่น้อย จากสถิติการนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมของกรมศุลกากร พบในช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 มีตัวแทนจำหน่ายสินค้าแบรนด์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากประเทศผู้ผลิตอย่างเป็นทางการ สั่งสินค้าแบรนด์เนมเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,538.55 ล้านบาท เสียภาษีนำเข้าที่อัตรา 30% ของมูลค่า และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อีก 7% ให้กรมศุลกากร รวมเป็นเงิน 707.28 ล้านบาท ขณะที่ผู้ค้าซึ่งหิ้วสินค้าจากต่างประเทศมาจำหน่วยนั้นไม่มีต้นทุนภาษี และไม่มีความเสี่ยงในเรื่องของการบริหารสต๊อกสินค้า เนื่องจากเป็นการขายแบบพรีออเดอร์ ขนเข้ามาตามใบสั่งจอง
ซึ่งปัญหาดังกล่าวนั้นกรมศุลกากรก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้พยายามหามาตรการตรวจสอบจับกุมอย่างต่อเนื่อง โดย นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร ได้เปิดเผยถึงการทำงานของศุลกากรในการตรวจจับการลักลอบหิ้วสินค้าแบรนด์เนมเข้ามาขายในประเทศ ว่า ที่ผ่านมากรมศุลกากรได้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเข้มงวด โดยใช้วิธีบริหารความเสี่ยงร่วมกับการดำเนินการด้านข้อมูลการข่าว ทั้งที่ได้จากการรวบรวม-วิเคราะห์ของกรมศุลกากรเองและจากหน่วยงานต่างๆ เช่น ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อนำมาประมวลดูว่าบุคคลใดบ้างที่มีความเป็นไปได้ที่อาจจะหิ้วแบรนด์เนมเข้ามา เช่น เดินทางไปยังประเทศที่เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมบ่อยๆ มีเพจขายสินค้าแบรนด์เนม รับหิ้วสินค้าแบรนด์เนม และเฝ้าดูการเคลื่อนไหว หากมีการเดินทางเข้า-ออกประเทศก็จะทำการสุ่มตรวจ ขณะที่แอร์โฮสเตสและสจ๊วตซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งที่ถูกมองว่ามีโอกาสอย่างมากในการรับหิ้วสินค้านั้นเมื่อเดินทางกลับก็ต้องผ่านขั้นตอนของศุลกากรเช่นกัน
“เราให้ความสำคัญกับบุคคลที่มีเพจขายสินค้าแบรนด์เนมและรับพรีออเดอร์ โดยจะตรวจสอบว่ามีใครที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการหิ้วสินค้าบ้าง ส่วนใหญ่เจ้าของเพจก็จะจ้างคนอื่นหิ้วอีกที ส่วนหน้างานเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่สนามบินก็จะสังเกตพฤติกรรมของผู้โดยสารที่เดินทางกลับจากต่างประเทศว่ามีความผิดปกติไหม เช่น มีกระเป๋าเดินทางจำนวนมากผิดสังเกต สะพายกระเป๋าถือหลายๆ ใบ เราก็อาจจะขอตรวจ นอกจากนั้นเราก็ดูข้อมูลแวดล้อม เช่นเดือนนี้ฮ่องกงมีเทศกาลลดราคาสินค้าแบรนด์เนม เราก็จะจับตาผู้โดยสารที่เดินทางกลับจากฮ่องกงเป็นพิเศษ อย่างไรก็ดีคนที่เดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาหิ้วแบรนด์เนม มันต้องมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย ถ้าถามว่ามีต่างชาติหิ้วแบรนด์เนมเข้ามาขายบ้างไหม ก็มี แต่ค่อนข้างน้อย หลักๆ ก็คนไทยนี่แหละ” รองอธิบดีกรมศุลกากร ระบุ
ทั้งนี้การตรวจสอบข้อมูลสถิติการเดินทางของผู้โดยสารระหว่างประเทศที่มีความถี่ผิดปกติ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2560 ถึงมกราคม 2561 มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับช่วงเวลาในการจ่าย “อากรปากระวาง” (การจัดเก็บอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ ท่าอากาศยานหรือด่านศุลกากรประจำช่องตรวจ “มีของต้องสำแดง”) เมื่อเดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สามารถจำแนกผู้โดยสารออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มผู้เดินทางชาวไทยที่มีความถี่ในการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยต่อเดือนสูง โดยมีจุดหมายปลายทาง ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น หรือ บางเดือนมีข้อมูลการเดินทางตลอดทั้งเดือน
2. กลุ่มผู้เดินทางที่มีความถี่ในการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย เฉลี่ยเดือนละ 1-2 ครั้ง แต่เดินทางเกือบทุกเดือน โดยมีจุดหมายปลายทางที่ประเทศแถบยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี สหราชอาณาจักร
3. กลุ่มผู้เดินทางชาวจีนที่เดินทางเข้า-ออกประเทศไทยอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง มีการเดินทางเกือบทุกเดือน
4. กลุ่มผู้เดินทางชาวอินเดียและชาวศรีลังกา ที่เดินทางเข้า-ออกประเทศไทยอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง มีการเดินทางเกือบทุกเดือนและมีการจ่าย “อากรปากระวาง” ทุกครั้งที่เดินทางเข้ามา
ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนั้นกรมศุลกากรจะนำไปเป็นพื้นฐานในการจับตาและเฝ้าระวัง หากพบความผิดปกติก็ดำเนินการเข้าตรวจสอบทันที
ด้าน พล.ต.อ.เชิงรณ ริมผดี รองผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าการหิ้วสินค้าแบรนด์เนม-พรีออเดอร์นั้น มีเพิ่มมากขึ้นอย่างได้ชัดในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเราก็มีหน้าที่ในการสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับการเข้า-ออกประเทศของบุคคลต่างๆ ถ้าพบความผิดปกติ เช่น เดินทางไปยังประเทศที่ผลิตสินค้าแบรนด์เนมบ่อยๆ เราก็จะแจ้งให้กรมศุลกากรรับทราบเพื่อติดตามตรวจสอบต่อไป ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองหากพบว่ามีส่วนเข้าไปสนับสนุนการลักลอบหิ้วสินค้าก็จะต้องถูกลงโทษทั้งทางวินัยและอาญา
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าปัญหาการลักลอบหิ้วแบรนด์เนมหนีภาษีคงไม่หมดไปจากสังคมไทยง่ายๆ ตราบใดที่ยังมีออเดอร์จากผู้ที่นิยมชมชอบแบรนด์เนมราคาถูก ขณะเดียวกันก็มีผู้ที่ได้ประโยชน์จากขบวนการหลีกเลี่ยงภาษีทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชน