xs
xsm
sm
md
lg

แฉเล่ห์ เพจขายของปลอม แก๊งจีนตุ๋นไทยระบาดหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดกลเม็ดพ่อค้าจีนหลอกขายสินค้าปลอมผ่านเพจเฟซบุ๊ก อ้างแบรนด์หรูลดราคากว่า 80% ระบุเงื่อนไขเก็บเงินปลายทาง การันตีการรับคืน สร้างความน่าเชื่อถือ แต่กลับเงียบหายหลังจ่ายเงิน ด้านกูรูรีวิว แนะ 8 วิธีสังเกตเพจขายของปลอม ชี้สำนวนประหลาด ใช้ Google translate ขณะที่รองโฆษก ปอท. แนะอย่ารับสินค้าหากไม่มั่นใจเป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงที่ผ่านมามีปัญหาการหลอกขายสินค้าปลอมผ่านระบบออนไลน์เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญยังพบว่าผู้ที่จัดจำหน่ายนั้นไม่ใช่คนไทย แต่เป็นพ่อค้าจีนหัวใสที่อาศัยช่องทางการค้าเสรีบนหน้าเพจเฟซบุ๊กมาใช้ในการโปรโมตสินค้า หลอกหล่อคนไทยให้หลงเชื่อ เมื่อตกเป็นเหยื่อแล้วก็ยากที่จะได้เงินคืน

สำหรับวิธีการในการหลอกลวงนั้นจากการตรวจสอบพบว่า จะมีการเปิดเพจในแฟซบุ๊กเพื่อจำหน่ายสินค้า โดยโปรโมตว่าเป็นสินค้าแบรนด์เนม เกรดพรีเมียม จากประเทศผู้ผลิต เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งนำมาขายในราคาโปรโมชัน ต่ำกว่าราคาในท้องตลาดหลายเท่าตัว และมักอ้างเหตุผลต่างๆ นานาในการขายสินค้าตามราคาดังกล่าวเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ อาทิ ลด 80% ฉลองยอดขาย ตอบแทนลูกค้า, ลดล้างสต๊อก เนื่องจากผู้ผลิตปิดโรงงาน หรือใช้ข้อมูลจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เช่น ขายลดราคา กล้อง Gory Hero เนื่องจากราคาหุ้นของบริษัทในอเมริกาดิ่งลง ขณะที่สถานการณ์จริงนั้นมีข่าวว่าบริษัทผู้ผลิตกล้อง GoPro อาจจะขายกิจการทิ้ง ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าข้อมูลสินค้าสอดคล้องกับความเป็นจริง

พร้อมกระตุ้นความต้องการด้วยจำนวนและระยะเวลาที่จำกัด เช่น จำนวนจำกัด, 100 ชิ้นเท่านั้น, เฉพาะช่วงโปรโมชัน โดยมีการระบุรายละเอียดคุณสมบัติและประสิทธิภาพของตัวสินค้า และนำภาพสินค้าแบรนด์เนมจากเว็บไซต์ของตัวแทนจำหน่าย, คลิปวิดีโอรีวิวสินค้าของจริง มาใช้ในการโฆษณาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ อีกทั้งบางรายยังนำภาพของร้านที่เป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยมาลงทำให้ลูกค้าเชื่อว่าเป็นสินค้าแบรนด์เนมของจริง

ที่สำคัญเงื่อนไขในการชำระเงินยังระบุว่า “เก็บเงินปลายทาง” อีกทั้งยังมี Shopping Guarantee เช่น สามารถคืนสินค้าได้ภายใน 7 วันทำการ รับประกันการโอนเงินค่าสินค้าคืน พร้อมระบุชื่อบริษัทที่จำหน่ายสินค้าและช่องทางการติดต่อ เช่น อีเมล เบอร์โทรศัพท์ของศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ และวัน-เวลาในการให้บริการ ลูกค้าจึงรู้สึกปลอดภัยที่จะสั่งซื้อ และมั่นใจว่าไม่ถูกหลอก

แต่ช่องโหว่ที่สำคัญคือเมื่อลูกค้าได้รับสินค้าจากบริษัทที่จัดส่งแล้วส่วนใหญ่ไม่ได้มีการตรวจเช็กสินค้าก่อนเซ็นรับและชำระเงิน หลังจากเปิดดูจึงพบว่าสินค้าไม่ได้คุณภาพ ไม่ตรงกับคุณสมบัติที่ระบุในคำโฆษณา และไม่ใช่สินค้าแบรนด์เนมที่สั่งซื้อไป แต่เมื่อพยายามติดต่อผู้จัดจำหน่ายเพื่อคืนสินค้าและขอรับเงินคืนกลับไม่สามารถติดต่อได้ บางรายเมื่อหลอกขายสินค้าได้จำนวนหนึ่งแล้วก็ปิดเพจหนี ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าผู้จำหน่ายสินค้าปลอมเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีน เนื่องจากจะสังเกตได้ว่ารูปภาพหรือลักษณะของเว็บต้นทางมักมีภาษาจีนปรากฏอยู่ หรือบางเพจก็ใช้ชื่อภาษาจีนแต่ใช้ตัวสะกดภาษาอังกฤษ

นักรีวิวสินค้าที่ใช้ชื่อว่า “Cyberspace” ซึ่งเฝ้าติดตามและตรวจสอบพฤติกรรมของเพจขายสินค้าปลอมมาระยะหนึ่งแล้วได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทคนิคในการสังเกตว่าสินค้าที่ประกาศขายในเพจเฟซบุ๊กต่างๆเป็นสินค้าปลอมที่นำมาหลอกขายหรือไม่ว่า มีข้อสังเกตหลักๆ ดังนี้คือ

1. ราคาถูกเกินจริง ไม่สอดคล้องกับคุณภาพและคุณสมบัติของสินค้าที่นำมาโฆษณา ซึ่งในทางการตลาดนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่น กล้อง GoPro Hero 6 Black Action Camera ราคาจริงหมื่นกว่าบาท แต่นำมาประกาศขายในราคาแค่พันกว่าบาท

2. ภาษาที่ใช้ในการโฆษณาขายสินค้าบนหน้าเพจเฟซบุ๊กมีลัษณะแปลกๆ ไม่ใช่ลักษณะคำที่คนไทยใช้ แต่เเปลจาก Google translate เช่น ชำระสต๊อกจึงมีราคาต่ำ, ส่วนลดราคาต่ำ, ปริมาณถูกจำกัด, การเคลื่อนไหวช้าเป็นมืออาชีพ (ซึ่งภาษาไทยน่าจะใช้คำว่า ถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้คมชัด)

3. หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่า ชื่อแบรนด์ และรุ่นของสินค้าที่ระบุในการโฆษณา แตกต่างจากแบรนด์เนมของจริง เช่น กล้อง Her 06 ขณะที่ของจริงคือ Hero 6

4. ที่อยู่หรือเบอร์ติดต่อของผู้จำหน่ายมีความผิดปกติ เช่น เบอร์โทร.ไม่ใช่หมายเลขที่ใช้ในประเทศไทย

5.หากกดเข้าไปดูในหน้าย่อยของเพจจะพบว่าสินค้าอื่นๆ ที่นำมาโพสต์ขายมีคำอธิบายเป็นภาษาจีน

6. ชื่อเว็บลิงก์ในการขายสินค้าที่ปรากฏบนหน้าจอมีลักษณะเหมือนการนำอักษรภาษาอังกฤษมาเรียงต่อกัน แต่ไม่สามารถสะกดเป็นคำได้ และเมื่อกดเข้าไปอาจจะพบข้อความว่า error

7.ลักษณะการตอบคำถามหรือข้อสงสัย มักใช้คำตอบเดียวกันซ้ำๆ เหมือนใช้โปรแกรมตอบ และหากมีผู้เข้าไปต่อว่าหรือวิพากษ์วิจารณ์ ความเห็นดังกล่าวก็จะถูกบล็อก

8. เมื่อสินค้ามาส่งจะเห็นว่าแพกเกจที่ใช้ในการบรรจุสินค้าดูไม่มีราคา และไม่ใช่แพกเกจของผลิตภัณฑ์นั้นๆ

ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีการสั่งซื้อสินค้าและเก็บเงินปลายทางดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่ามีหลายรูปแบบด้วยกัน อาทิ สินค้าที่ได้รับไม่มีคุณภาพ กล่องสินค้าที่ส่งมาไม่มีตัวสินค้า มีการจัดส่งสินค้าโดยที่ไม่มีใครในครอบครัวสั่ง ผู้ส่งสินค้าจะสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการแจ้งชื่อ ที่อยู่ และเบอร์ติดต่อของบุคคลใดบุคคลหนึ่งในบ้านซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ทำงานประจำ และไม่ค่อยอยู่บ้าน เมื่อสมาชิกในบ้านมารับสินค้า ผู้ส่งก็จะอ้างชื่อและเบอร์ติดต่อของคนที่ได้เบอร์มา ทำให้สมาชิกในบ้านหลงเชื่อ

อย่างไรก็ดี หากลูกค้ารู้เท่าไม่ถึงการณ์สั่งซื้อสินค้าไปแล้วมารู้ภายหลังว่าเป็นสินค้าปลอมก็ไม่ต้องตกใจ สามารถบอกยกเลิกได้ โดย พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผกก.2 บก.ปอท.) ในฐานะรองโฆษก บก.ปอท. ชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวว่า หากสินค้าที่ลูกค้าได้รับไม่ตรงกับข้อความที่ระบุในคำโฆษณา ก็สามารถปฏิเสธไม่รับสินค้าได้โดยไม่มีเงื่อนไข และไม่ต้องชำระค่าปรับใดๆ ให้แก่เจ้าของสินค้าหรือบริษัทจัดส่งทั้งสิ้น แต่ถ้าเซ็นรับสินค้ามาแล้วเพิ่งทราบภายหลังก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ขาย พร้อมทั้งดำเนินการส่งคืนสินค้าและขอรับเงินคืนได้เช่นกัน ส่วนในกรณีที่ติดต่อผู้นำเข้าและจำหน่ายสินค้าไม่ได้ก็ให้แจ้งความดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจทุกพื้นที่ หรือจะแจ้งมายัง ปอท.เพื่อให้ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายก็ได้
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผกก.2 บก.ปอท.) ในฐานะรองโฆษก บก.ปอท.
“กลยุทธ์ในการขายหน้าเพจของเขาคือราคาที่ถูกมาก และการเรียกเก็บเงินปลายทาง ซึ่งมันโดนใจ โดยผู้จำหน่ายสินค้าปลอมเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีน เพราะจะสังเกตได้ว่ารูปภาพหรือลักษณะของเว็บต้นทางมีภาษาจีนให้เห็น หรือบางกรณีลูกค้าติดต่อขอคืนสินค้าปรากฏว่าปลายสายสนทนาด้วยภาษาจีน” พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ระบุ

รองโฆษก บก.ปอท. กล่าวต่อว่า หากพบว่ามีการเปิดเพจขึ้นมาเพื่อหลอกลวงประชาชนให้ซื้อสินค้าปลอมก็จะดำเนินการตามกฎหมาย เนื่องจากกรณีนี้นอกจากจะผิดกฎหมายฉ้อโกงแล้ว ยังถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) เนื่องจากเป็นการหลอกลวงขายสินค้าให้แก่ผู้อื่น/ประชาชน ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ Facebook, LINE ฯลฯ โดยมีเจตนาทุจริต หรือไม่มีเจตนาจะขายสินค้าจริงๆ หรือไม่มีสินค้าอยู่จริง หรือนำภาพสินค้าของผู้อื่นมาโพสต์เพื่อจำหน่ายและหลอกเหยื่อ ซึ่งนอกจากจะดำเนินการตามกฎหมายแล้ว ปอท.ยังทำการปิดเพจดังกล่าวด้วย แต่ปัญหาคือเมื่อถูกปิดเพจก็ไปเปิดเพจใหม่ หรือบางกรณีเป็นเพจและตัวบริษัทตั้งอยู่ในต่างประเทศจึงไม่สามารถติดตามได้

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าหากมีการชำระค่าสินค้าไปแล้ว การติดตามทวงคืนดูจะเป็นเรื่องยาก ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์ควรตรวจสอบข้อมูลให้ดีเสียก่อน อย่ารีบซื้อเพียงเพราะข้อเสนอด้านราคา และโปรดจำไว้ว่าเงื่อนไขในการจ่ายเงินปลายทางนั้น ผู้ซื้อมีสิทธิปฏิเสธการรับสินค้าได้ตลอดเวลา หากไม่พึงพอใจและยังไม่มีการชำระเงิน



กำลังโหลดความคิดเห็น