xs
xsm
sm
md
lg

เปิดปมธุรกิจซื้อ-ขายไอจี ปั๊ม-แฮก ยึดยอดฟอลโลว์ขายแม่ค้าออนไลน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลาดซื้อ-ขายไอจีอู้ฟู่ ประกาศเกลื่อนเน็ต เจาะกลุ่มแม่ค้าออนไลน์ เรตราคาตามยอดฟอลโลเวอร์ ตั้งแต่หลักสิบยันหลักพัน ผู้ค้าหัวใสสร้างยอดติดตามจากการปั๊มฟอลและปั๊มมือ พบมิจฉาชีพแฮกอินสตาแกรมขโมยยอดฟอลโลว์ แฮกเกอร์ปลอมเป็นชาวต่างชาติเพื่ออำพรางตัว หลีกเลี่ยงการติดตาม ด้านรองโฆษก อปท.เตือนอย่าใช้แอปฯฟรี-โปรแกรมเถื่อน อาจถูกมัลแวร์เจาะระบบ

ด้วยพื้นที่ที่สามารถโชว์ภาพสวยๆ แคปชันโดนใจ เข้าถึงได้ง่าย ทำให้ Instagram หรือไอจี เป็นหนึ่งในสื่อโซเชียลยอดฮิตที่คนไทยใช้ในการสื่อสาร แสดงอัตลักษณ์ตัวตน และนิยมนำมาใช้เป็นหน้าร้านในการขายสินค้าออนไลน์ แต่บางคนอาจไม่รู้ว่ายอดฟอลโลว์หลายพันหลายหมื่นที่เห็นอยู่นั้นอาจไม่ได้มาจากฟอลโลเวอร์หรือผู้ที่ติดตามร้านค้านั้นจริงๆ แต่ได้มาจากการแฮกเพื่อยึดยอดฟอลโลว์มาขาย หรือเกิดจากปั๊มยอดฟอลโลว์ ที่สำคัญไอจีที่มียอดฟอลโลว์สูงๆ ยังถูกนำมาวางขายกันเกลื่อนเน็ต ในสนนราคาแค่หลักสิบหลักร้อยเท่านั้น

แฮกเกอร์นิรนาม ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า เนื่องจากการขายสินค้าออนไลน์ผ่านไอจีเป็นธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยม มีแม่ค้าหน้าใหม่ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักเกิดขึ้นมากมาย แน่นอนว่าแม่ค้าออนไลน์จำนวนไม่น้อยต้องการสร้างความน่าเชื่อถือและความน่าสนใจให้สินค้าด้วยการแสดงตัวเลขยอดฟอลโลว์ ธุรกิจขายไอจีที่มียอดฟอลโลว์สูงๆ จึงเกิดขึ้นตามมา ซึ่งที่มาของยอดฟอลโลว์นั้นมีอยู่ 2 วิธีคือ การปั๊มเพื่อปั้นไอจี และการแฮกเพื่อยึดยอดฟอลโลว์ของเจ้าของไอจีตัวจริงมาขาย

เป้าหมายหนึ่งในการแฮกไอจีของคนดัง เช่น ดารา นักร้อง หรือแม้แต่ไอจีของคนธรรมดาที่มียอดฟอลโลว์เยอะๆ ก็เพื่อนำยอดฟอลโลว์ในไอจีไปขายให้กับคนที่อยากจะขายสินค้าผ่านไอจี ซึ่งการที่ไอจีมียอดฟอลโลว์เยอะจะทำให้ตัวพ่อค้าแม่ค้า รวมถึงสินค้านั้นมีความน่าสนใจ แต่ตัวพ่อค้าแม่ค้าเองไม่สามารถหาคนมาฟอลโลว์ได้มากขนาดนั้น จึงใช้วิธีซื้อไอจีที่มียอดฟอลโลว์อยู่แล้วแทน แต่ที่มันสร้างความเดือดร้อนคือไปแฮกไอจีเพื่อยึดยอดฟอลโลว์ขาย ซึ่งคนซื้อก็อาจจะไม่รู้ หรือไม่สนใจ ” แฮกเกอร์นิรนามกล่าว

แฮกเกอร์รายนี้อธิบายต่อว่า วิธีการก็คือหลังจากแฮกไอจีมาได้แล้วแฮกเกอร์จะทำการเปลี่ยนชื่อไอจี รูปภาพ และข้อมูลต่างๆ พร้อมทั้งปิดคอมเมนต์เพื่อใม่ให้คนเข้ามาแฉ ขณะที่เจ้าของไอจีส่วนใหญ่มักเลือกที่จะทิ้งไอจีที่ถูกแฮก และทำแค่เพียงแจ้งให้แฟนคลับหรือผู้ที่ฟอลโลว์ตนเองทราบว่าไอจีถูกแฮก แต่ไม่กู้คืนไอจี หรือแจ้งให้ผู้ดูแลระบบบล็อกไอจีนั้นๆ ทำให้ผู้แฮกเป็นเจ้าของไอจีไปโดยปริยาย ส่วนผู้ติดตามไอจีนั้นแม้จะมีคนที่อันฟอลโลว์หรือเลิกติดตามไปบ้าง แต่ก็ไม่ทั้งหมด ยังมียอดฟอลโลว์ค้างอยู่จำนวนมาก เมื่อไอจีนั้นถูกขายและเปลี่ยนชื่อเป็นของพ่อค้าแม่ค้าคนจึงเข้าใจว่าเป็นยอดฟอลโลว์ที่เกิดจากความชื่นชอบในตัวสินค้า   

เนื่องจากการแฮกไอจีเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แฮกเกอร์จำนวนไม่น้อยจึงใช้วิธีปลอมเป็นชาวต่างชาติเพื่ออำพรางตัว เช่น เมื่อแฮกได้แล้วอาจจะโพสต์เป็นภาษอังกฤษ ใส่ภาพสถานที่ในต่างประเทศ หรือนำคลิป MV ภาษาอาหรับมาใส่ ทำให้เจ้าของไอจีตัวจริงคิดว่าถูกชาวต่างชาติแฮกจึงไม่คิดจะติดตามดำเนินคดี

อย่างไรก็ดี แม้การแฮกไอจีเพื่อนำยอดฟอลโลว์ไปขายจะไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมากนัก แต่ผู้ที่จะทำการแฮกก็ต้องมีความเชี่ยวชาญระดับหนึ่ง อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกติดตามจับกุม จึงมีการขายไอจีอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากกว่า นั่นคือไอจีที่ยอดฟอลโลว์เกิดจากการปั๊ม

โดยผู้ขายไอจีที่ใช้ชื่อว่า J เปิดเผยถึงวิธีการในการปั๊มยอดฟอลโลว์อย่างละเอียดทุกขั้นตอนว่า การปั๊มยอดฟอลโลว์นั้นมีอยู่ 2 วิธีคือ “ปั๊มฟอล” ซึ่งเกิดจากการตั้งไอจีซึ่งเป็นแอกเคานต์เปล่าขึ้นมาหลายๆ แอกเคานต์ เพื่อกดฟอลโลว์ไอจีที่ต้องการปั๊มยอดฟอลโลว์ จากนั้นก็นำไอจีไปขาย แต่ฟอลโลเวอร์นั้นไม่มีตัวตนอยู่จริง ปัญหาที่ตามมาคือหากทาง instagram ตรวจพบว่าไอจีที่เป็นฟอลโลเวอร์เป็นแอกเคานต์ที่ไม่มีการใช้งานก็จะถูกแบน กลายเป็นอันฟอลโลว์ ทำให้ยอดฟอลโลว์หายไปโดยอัตโนมัติ

ส่วนอีกวิธีการหนึ่งเรียกว่า “ปั๊มมือ” ซึ่งเป็นการตั้งไอจีขึ้นมาแล้วไปกดฟอลโลว์ไอจีของคนทั่วไป ไอจีเหล่านั้นก็จะฟอลโลว์กลับ ทำให้ไอจีที่ตั้งขึ้นมามียอดฟอลโลว์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อได้ยอดฟอลโลว์ถึงระดับหนึ่งก็นำไอจีมาขายให้แม่ค้าออนไลน์ หลังจากซื้อไอจีมาแล้วแม่ค้าออนไลน์ก็นำมาเปลี่ยนเป็นชื่อของตัวเอง ส่วนฟอลโลเวอร์ที่ติดมากับไอจีที่ซื้อส่วนใหญ่จะไม่ได้อันฟอลโลว์เพราะไม่ได้สนใจไอจีนี้ ทำให้ยอดฟอลโลว์ยังอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าการมียอดฟอลโลว์สูงจะทำให้ธุรกิจขายสินค้าบนไอจีประสบความสำเร็จ เพราะหากแม่ค้าไม่สามารถเรียกลูกค้าตัวจริงได้ ยอดฟอลโลว์ก็ไม่มีความหมาย

นอกจากนั้นยังมีการขายไอจีที่อ้างว่าเจ้าของไอจีเป็นแม่ค้าออนไลน์มาก่อน มียอดฟอลโลว์สูง ปัจจุบันเลิกขายสินค้าแล้วจึงนำไอจีมาขาย ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่

เราก็ต้องยอมรับยอดฟอลโลว์มันไม่ได้เกิดจากการติดตามไอจีจริงๆ ถึงหน้าไอจีจะมียอดฟอลโลเวอร์หลายพันคน แต่ถ้าแม่ค้าที่ซื้อไปไม่สามารถสร้างฟอลโลเวอร์ตัวจริง มันก็ไม่มียอดไลค์ หรือถ้ายอดไลค์น้อย ไม่สัมพันธ์กับยอดฟอลโลว์ ลูกค้าที่เข้ามาก็ดูออก” ผู้ขายไอจีที่ใช้ชื่อว่า J กล่าว

ปัจจุบันจะพบว่าการซื้อ-ขายไอจีทำกันอย่างเปิดเผย มีการแคปหน้าไอจีโพสต์ขายบนอินเทอร์เน็ตเพื่อโชว์ยอดฟอลโลว์ พร้อมระบุราคาขายไว้อย่างชัดเจน เช่น 1K = 40 บาท ซึ่งหมายถึงมีฟอลโลเวอร์หรือผู้ติดตาม 1,000 คน ขายในราคา 40 บาท, 2.1K ขาย 140 บาท, ผู้ติดตาม 9,980 ขาย 800 บาท, ขายไอจีว่าง ผู้ติดตาม 10K พร้อมโอน 2,800 บาท โดยราคาขายนั้นไม่มีเรตที่แน่นอนตายตัว ขึ้นอยู่กับการตั้งราคาของผู้ขาย แต่โดยหลักคือยิ่งยอดฟอลโลว์สูง ราคาก็ยิ่งแพง และแต่ละโพสต์มักมีจุดขายเหมือนๆ กันคือ “ฟอลไทย เช็กได้ ไม่ปั๊มฟอล กดมือเอง มีตัวตนจริงทุกฟอล มีฐานลูกค้าทุกไอจี” ซึ่งหมายถึงฟอลโลเวอร์ที่เห็นบนหน้าไอจีเป็นคนไทยและเล่นไอจีจริงๆ ผู้ซื้อไอจีสามารถเข้าไปดูหน้าไอจีของฟอลโลเวอร์แต่ละคนได้ และฟอลโลเวอร์เหล่านี้มีโอกาสที่จะเข้ามาเป็นลูกค้าของไอจีที่ถูกซื้อ”

นอกจากการประกาศขายไอจีแล้วยังมีประกาศรับซื้อไอจีที่มียอดฟอลโลว์ เพื่อนำมาขายต่ออีกด้วย อย่างไรก็ดีไม่มีใครสามารถการันตีได้ว่าไอจีพ่วงยอดฟอลโลว์ที่นำมาขายนั้นถูกแฮกมาหรือไม่ ฟอลโลเวอร์ที่เห็นบนหน้าไอจีมีตัวตนจริงหรือเปล่า เพราะผู้ซื้อจะทราบได้ก็ต่อเมื่อซื้อไอจีนั้นมาใช้งานแล้ว ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่พบว่าหลังเปิดใช้ไม่นานก็ได้รับการติดต่อจากเจ้าของไอจีที่ถูกแฮก
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผกก.2 บก.ปอท.) ในฐานะรองโฆษก บก.ปอท.
ทั้งนี้ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผกก.2 บก.ปอท.) ในฐานะรองโฆษก บก.ปอท. ได้ชี้แจงถึงปรากฏการณ์ในการขายไอจีว่า เนื่องจากการปั๊มฟอลโลว์ยังไม่ได้สร้างความเสียหายให้ใคร จึงถือว่าไม่ผิดกฎหมาย การซื้อขายจึงสามารถทำได้ แต่ที่ผ่านมาพบว่าไอจีที่นำมาขายนั้นมีจำนวนไม่น้อยที่ถูกแฮกมา มีการแจ้งความให้ติดตามและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง โดยทาง ปอท.นั้นมีวิธีการในการสืบหาผู้ที่ทำการแฮกซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้ และนอกจากตัวแฮกเกอร์แล้วจะต้องตรวจสอบด้วยว่าผู้ขายไอจีมีส่วนรู้เห็นกับการแฮกหรือไม่ ถ้ารับรู้ว่ามีการแฮกมาขาย หรือทำกันเป็นขบวนการก็ต้องถูกดำเนินคดีด้วย

สำหรับผู้ที่ถูกแฮกไอจีนั้นเบื้องต้นสามารถรีพอร์ตไปยังผู้ดูแลระบบ instagram ยืนยันตัวตนว่าเป็นเจ้าของบัญชี เพื่อทำการบล็อก หรือหากต้องการกู้คืนก็ดำเนินการทางเทคนิคได้ และเนื่องจากการแฮกถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จึงควรแจ้งความเพื่อให้มีการติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี โดยในส่วนของแฮกเกอร์จะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 7 ซึ่งระบุว่า ผู้ใดเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ที่นำไอจีที่ถูกแฮกมาขาย หากมีส่วนรู้เห็นก็จะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 9 ซึ่งระบุว่า ผู้ให้บริการแก่บุคคลเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” รองโฆษก บก.ปอท. ระบุ

จะมีวิธีการใดบ้างที่เจ้าของไอจีจะปกป้องตัวเองจากเหล่าแฮกเกอร์ที่เข้ามาแฮกเพื่อยึดยอดฟอลโลว์ไปขายนั้น พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่าช่องทางในการแฮกนั้น  แฮกเกอร์ส่วนใหญ่จะใช้วิธีเดารหัสผ่านผู้ตั้งรหัสที่สามารถคาดเดาได้ง่าย เช่น วันเดือนปีเกิด บ้านเลขที่ เลขบัตรประชาชน เพราะข้อมูลเหล่านี้หาได้ง่ายจากอินเทอร์เน็ต จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกแฮก อีกวิธีคือการใช้มัลแวร์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายไวรัสเข้าไปเจาะระบบ โดยจะฝังมัลแวร์ไว้ในแอปพลิเคชันปลอม หรือโปรแกรมเถื่อนต่างๆ แล้วนำมาปล่อยให้ใช้ฟรีเพื่อล่อให้เข้าไปดาวน์โหลด วิธีป้องกันจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้โปรแกรมเถื่อนและการโหลดแอปฯ ฟรี

เมื่อระบบยังมีช่องโหว่ และมิจฉาชีพในโลกออนไลน์ไม่สามารถถูกปราบปราบให้หมดสิ้น ทั้งผู้ใช้อินสตาแกรม และแม่ค้าออนไลน์ที่คิดจะซื้อไอจีที่มียอดฟอลโลว์มาเป็นหน้าร้านก็ควรต้องระมัดระวังและป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากการหากินของ “ขบวนการแฮกยึดยอดฟอลโลว์”



กำลังโหลดความคิดเห็น