xs
xsm
sm
md
lg

วัดหลวงพ่อเงิน คดีตกค้างยุค'สมเด็จช่วง'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไม่จบ!! หลังฝ่ายปกครองเข้าตรวจสอบทรัพย์สินวัดหลวงพ่อเงิน พิจิตร ชาวบ้านร้องกรรมาธิการศาสนาฯ สอบรักษาการเจ้าอาวาสรูปใหม่ เหตุตั้งแต่ปี 2557 ยุคสมเด็จช่วง ครองเจ้าคณะใหญ่หนเหนือและผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช สั่งปลดพระครูวิสิฐสีลาภรณ์ พบข้อสังเกตหลายประการ ถ้าผิดจริงเหตุใดไม่ดำเนินคดีอาญา ภาค 4 สายเดียวกับสมเด็จ รักษาการจัดทำหลวงพ่อเงินเพื่อนำรายได้ไปสร้างกุฎิวัดตัวเอง ส่วนเจ้าคณะจังหวัดปฏิเสธเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ

ปฏิบัติการเข้าตรวจสอบทรัพย์สินวัดหิรัญญาราม หรือวัดบางคลาน อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร ตั้งแต่ 23-24กรกฎาคม 2561 แต่ในวันที่ 3 ของการตรวจสอบกลับถูกชาวบ้านในพื้นที่ขัดขวาง และในวันรุ่งขึ้น 26 กรกฎาคม 2561 ชาวบ้านวัดบางคลานจำนวนหนึ่งเดินทางมาที่รัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือต่อ พลตำรวจเอกพิชิต ควรเดชะคุปต์ ประธานคณะกรรมาธิการคณะกรรมาธิการ การศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เพื่อให้ตรวจสอบและคุ้มครองทรัพย์สินของวัด

พระครูวิสิฐสีลาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดบางคลาน ถูกร้องเรียนจากอดีตไวยาวัจกรของวัดเมื่อ 22 กันยายน 2557 และถูกสั่งปลดโดยสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ(ในขณะนั้น) “ในฐานะเจ้าอาวาสไม่สามารถควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินของวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือได้ว่า หย่อนความสามารถไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ เห็นควรให้พระครูวิสิฐสีลาภรณ์ออกจากตำแหน่งหน้าที่เจ้าอาวาสวัดหิรัญญาราม”

11 พฤศจิกายน 2557 พระทีฆทัสสีมุนีวงศ์ เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร ได้ลงนามสั่งปลด พระครูวิสิฐสีลาภรณ์ ให้พ้นจากตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดหิรัญญาราม โดยมอบหมายให้พระครูพิสุทธิวรากร(หลวงพ่อวิทยา) รองเจ้าคณะอำเภอโพทะเล เจ้าอาวาสวัดหนองดง จังหวัดพิจิตร เป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดหิรัญญาราม แต่รักษาการเจ้าอาวาสรูปใหม่ ไม่สามารถเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ที่วัดบางคลานได้ เนื่องจากมีชาวบ้านต่อต้าน

ชาวบ้านค้านเจ้าอาวาสรูปใหม่

จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่วัดบางคลาน ถึงสาเหตุที่ไม่ยินยอมให้รักษาการเจ้าอาวาสรูปใหม่เจ้าบริหารวัดบางคลานตามมติของคณะสงฆ์ชั้นปกครอง ได้รับคำตอบว่า ถ้าพระรูปใหม่ดีก็คงไม่มีใครต่อต้าน แต่คนในพื้นที่รู้ดีว่าท่านเป็นอย่างไร ขณะที่อดีตเจ้าอาวาสที่ถูกปลดนั้น เป็นคนพื้นที่บวชมาตั้งแต่เป็นเณรปัจจุบันท่านอายุ 68 ปีแล้ว ชาวบ้านเห็นความประพฤติมาตลอดว่าท่านเป็นพระดีหรือไม่ดี

จริงอยู่ที่มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งหนุนรักษาการเจ้าอาวาสรูปใหม่ แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นในเจ้าอาวาสรูปเดิม ชาวบ้านเข้าใจดีว่าอำนาจคณะสงฆ์ชั้นปกครองนั้น สามารถสั่งการกับพระใต้ปกครองได้ แต่ควรต้องตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบกว่านี้ เท่าที่เห็นกรณีนี้ค่อนข้างจะดำเนินการอย่างรวบรัด
กลุ่มประชาชนชาวบางคลาน ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมธิการศาสนา สนช. ขอให้ตรวจสอบการทำงานของรักษาการเจ้าอาวาสวัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร
คดีตกค้างสมเด็จช่วง

แหล่งข่าวจากคณะทำงานด้านศาสนากล่าวว่า เรื่องดังกล่าวนั้นควรต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อน ปฏิเสธไม่ได้ว่าวัดที่มีชื่อเสียง มีรายได้เข้าวัดมาก ย่อมมีความเสี่ยงที่จะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ แม้เจ้าอาวาสบริหารงานสุจริต แต่ถ้าไม่เข้าหาพระผู้ใหญ่ก็อยู่ลำบาก ขั้นตอนต่อไปคือการส่งพระในสายของตัวเองเข้ามาทำหน้าที่แทน วัดดังอื่น ๆ ก็ถูกเปลี่ยนตัวเจ้าอาวาสมาให้เห็นตลอด

นี่คือผลตกค้างของระบบสงฆ์เดิมที่ยังส่งผลมาถึงวัดบางคลาน

แน่นอนว่าผู้มีอำนาจสูงสุดตามสายบังคับบัญชาขณะนั้นคือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ และท่านยังดำรงตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

เมื่อสั่งการลงไปยังเจ้าคณะภาค 4 คือพระธรรมรัตนดิลก (เชิด จิตฺตคุตฺโต) วัดสุทัศนเทพวราราม ที่ดูแลจังหวัดพิจิตร และลงถึงเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร จึงมีคำสั่งปลดพระครูวิสิฐสีลาภรณ์ จนเหลือสถานะเป็นพระลูกวัดธรรมดา

ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าพระครูวิสิฐสีลาภรณ์ถูกต้องทั้งหมด ทุกอย่างอยู่ที่พยานหลักฐาน ส่วนจะสอบสวนใหม่หรือไม่ ขณะนี้มีการยื่นเรื่องไปที่คณะกรรมาธิการศาสนา อีกทั้งปัจจุบันมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2561 ออกมาบังคับใช้แล้ว คงต้องขึ้นกับคณะกรรมาธิการศาสนาด้วยว่าจะมีแนวทางอย่างไร

ข้อสังเกตุหลายประการ

แต่เรื่องดังกล่าวก็มีข้อที่น่าสังเกตหลายประการ กรณีการปลดพระครูวิสิฐสีลาภรณ์ ที่กลายเป็นอดีตเจ้าอาวาสนั้น อย่างข้อกล่าวหาที่นำเงินวัดไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องถือเป็นความผิดร้ายแรง ควรต้องดำเนินคดีทางอาญาและทางวินัย เหตุใดจึงปล่อยอดีตเจ้าอาวาสคงสถานะพระลูกวัดไว้ไม่ถูกดำเนินคดี

ประการต่อมา ถ้าพระหรือเจ้าอาวาสประพฤติไม่ดี ชาวบ้านมักจะเป็นคนเริ่มที่จะขับไล่พระรูปนั้นออกไป แต่รอบนี้มีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่ออกมาปกป้องอดีตเจ้าอาวาส ส่วนจะเป็นกลุ่มจัดตั้งหรือไม่ตรงนี้พิจารณาได้ไม่ยาก เพราะกลุ่มจัดตั้งจะอยู่ได้ไม่นานแต่นี้เกือบ 4 ปี ตรงนี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรลงไปตรวจสอบ

แม้ว่าพระสงฆ์ในชั้นปกครองนั้นจะมีอำนาจในการตัดสินข้อกล่าวหาต่าง ๆ แต่การพิจารณานั้นควรตั้งอยู่บนเจตนาที่บริสุทธิ์ ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

สำหรับพระธรรมรัตนดิลก (เชิด จิตฺตคุตฺโต) วัดสุทัศนเทพวราราม เจ้าคณะภาค 4 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์เทพวรารามเมื่อ 20 กันยายน 2559 แทนเจ้าอาวาสรูปเดิมที่มรณภาพ โดยเมื่อปี 2555 ท่านเป็นกรรมการที่ปรึกษา โครงการบวชพระภาคฤดูร้อน 1 แสนรูปของวัดพระธรรมกายระหว่าง 22 มีนาคม-13 พฤษภาคม 2555

หลังจากรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ฯ 29 พฤศจิกายน 2560 พระครูสังฆรักษ์รังสฤษดิ์ อิทฺธิจินฺตโก เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ได้นำคณะสงฆ์วัดพระธรรมกาย ไปช่วยงานตรวจข้อสอบนักธรรมสนามหลวง ที่วัดสุทัศนเทพวราราม โดยได้ตั้งกองเลี้ยงน้ำปานะด้วย

นับเป็นความสัมพันธ์ที่สอดคล้องกับวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ในฐานะวัดพี่วัดน้องกับวัดพระธรรมกาย
ใบสั่งจองหลวงพ่อเงิน รุ่นเงินพันล้าน 25 มกราคม 2558
ออกหลวงพ่อเงินรายได้เข้าวัดหนองดง

ข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ การปลดพระครูวิสิฐสีลาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดพิจิตรดำเนินการเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2557 และตั้งพระครูพิสุทธิวรากร(หลวงพ่อวิทยา) รองเจ้าคณะอำเภอโพทะเล เจ้าอาวาสวัดหนองดง จังหวัดพิจิตร เป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดหิรัญญาราม

กลับพบว่า ต้นปี 2558 พระครูพิสุทธิวรากร หรือ พระอาจารย์วิทยา รองเจ้าคณะอำเภอโพทะเล เจ้าอาวาสวัดหนองดง จังหวัดพิจิตร และรักษาการเจ้าอาวาสวัดบางคลาน ได้จัดสร้างรูปหล่อ “หลวงพ่อเงิน รุ่นเงินพันล้าน 58” ขึ้นมอบเป็นที่ระลึกแก่ญาติโยมที่ร่วมบริจาคทำบุญ วัตถุประสงค์เพื่อระดมปัจจัยก่อสร้างกุฏิสงฆ์ในวัดหนองดงให้แล้วเสร็จ

โดยเริ่มทำพิธีเททองตั้งแต่ 16 กันยายน 2557 จากนั้นพระธรรมรัตนดิลก เจ้าคณะภาค 4 และพระอาจารย์วิทยา ร่วมเป็นประธานในพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 และทำพิธีครั้งที่ 3 เมื่อ 25 มกราคม 2558

หากไล่ลำดับเวลาพบว่า ทำพิธีตั้งแต่ก่อนการร้องเรียนพระครูวิสิฐสีลาภรณ์จนถูกสั่งปลด และพระครูพิสุทธิวรากร ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเป็นรักษาการเจ้าอาวาส นับเป็นเรื่องบังเอิญอย่างน่าประหลาด อีกทั้งยังจัดสร้างหลวงพ่อเงิน แห่งวัดบางคลาน เพื่อนำเงินที่ได้ไปก่อสร้างกุฏิสงฆ์วัดหนองดง
พระราชสิทธิเวที เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร
เงินๆ ทองๆ ‘เจ้าคณะจังหวัด:วัดบางคลาน’

อย่างไรก็ตามในพื้นที่ยังพบปมเรื่องเงิน ระหว่างวัดบางคลานกับเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร ซึ่งเรื่องนี้พระราชสิทธิเวที เจ้าคณะจังหวัดพิจิตรได้ออกมาชี้แจงว่า มีความพยายามจะกล่าวใส่ร้ายป้ายสีเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร ใน 3 ประเด็น

1.กล่าวหาและแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จกล่าวหาว่า เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร ใช้อำนาจขอยืมเงินจากวัดหิรัญญาราม หรือ วัดหลวงพ่อเงินบางคลาน จำนวน 2 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปสร้างพระอุโบสถวัดถ้ำชาละวัน หมู่ 1 บ้านดงชาละวัน ต.คลองคะเชนทร์ อ.เมืองพิจิตร ซึ่งในช่วงเวลานั้นเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดถ้ำชาละวัน

เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร ชี้แจงว่าก็เป็นเรื่องปกติในหมู่พระสงฆ์ วัดไหนที่มีกำลังพอก็จะจุนเจือวัดเล็ก หรือวัดในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งก็ถือก็เป็นเรื่องปกติของวัดใหญ่ ก็ควรจะสงเคราะห์วัดเล็ก ไม่ได้ไปขู่เข็ญหรือบังคับแต่อย่างใด เป็นการขอความร่วมมือ และได้ทำหนังสือเป็นหลักฐานเป็นเรื่องเป็นราว ว่าเป็นการขอยืม ไม่ได้ขอมาเฉยๆ แล้วเมื่อวัดถ้ำชาละวันก่อสร้างหรือสำเร็จลุล่วงแล้วก็จะใช้คืน

ในคราวนั้น คณะกรรมการฯ เจ้าอาวาสวัดหิรัญญาราม ในขณะนั้น ก็ไม่ได้อนุมัติ ซึ่งก็ไม่ได้ติดใจ ก็ถือว่าเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ หรือของวัดที่ว่าจะให้ยืมหรือไม่ให้ยืมเงิน

2. เรื่องเงิน 5 แสนบาทที่มีใบอนุโมทนาบัตรของวัดถ้ำชาละวันเป็นหลักฐาน ที่เอามากล่าวร้ายป้ายสี ขอชี้แจงว่า เป็นความศรัทธาของเจ้าอาวาสวัดบางคลาน ในขณะนั้น ซึ่งเจ้าคณะจังหวัดฯ ได้จัดงานทอดผ้าป่าเพื่อจะสร้างพระอุโบสถวัดถ้ำชาละวัน

ตอนนั้นอดีตเจ้าอาวาสวัดบางคลาน ก็สอบถามมาว่า พระประธานในพระอุโบสถมีหรือยัง เมื่อไม่มี อดีตเจ้าอาวาสฯ ก็แสดงความประสงค์ขอเป็นเจ้าภาพ อีกทั้งยังถามว่าจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ในการดำเนินการ สร้างพระประธานในโรงอุโบสถ ก็บอกไปว่า ประมาณ 5 แสนบาท ท่านเจ้าอาวาสวัดบางคลาน ก็ได้นำเงินมาบริจาคที่วัดถ้ำชาละวัน ต่อหน้าสาธารณชนในวันจัดงานทอดผ้าป่าวัดถ้ำชาละวัน

ช่วงนั้นอาตมารักษาการเป็นเจ้าอาวาสวัดถ้ำชาละวันอยู่ จึงได้ออกใบอนุโมทนาบัตรให้เป็นหลักฐาน และขณะนี้การก่อสร้างพระประธาน คือ พระพิจิตรพุทธมงคล ก็เสร็จสมบูรณ์ เป็นการร่วมทำบุญไม่ใช่เป็นการจ่ายส่วยอย่างที่กล่าวอ้างใส่ร้าย

3.ข้อกล่าวหาว่า เจ้าคณะจังหวัดขู่เข็ญ บังคับให้เจ้าอาวาสวัดบางคลาน จ่ายส่วยให้ไปเที่ยวต่างประเทศนั้นก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน เรื่องจริงก็คือเจ้าอาวาสวัดบางคลาน ทราบว่าเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร จะเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อปฏิบัติศาสนกิจ ประชุมร่วมกับสมัชชาคณะสงฆ์ที่อเมริกา

ทางวัดบางคลานก็เสนอตัว โดยถามมาว่า หลวงพ่อ การเดินทางครั้งนี้มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ซึ่งก็ตอบไปว่าประมาณ 160,000 บาท โดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือขอ หรือเอ่ยปากขอแต่อย่างได้ จู่ๆทางวัดบางคลานก็ให้ผู้แทนนำเงินมาถวายให้ เพื่อไปปฏิบัติศาสนกิจยังต่างประเทศ

“กรณีที่อดีตเจ้าอาวาสวัดบางคลาน ถูกปลดออกจากตำแหน่งนั้น เป็นคนละเรื่องกับการกล่าวหาเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร แต่กลับนำเรื่องการขอยืมเงินมาใส่ร้าย ซึ่งปลดเจ้าอาวาสวัดบางคลานนั้น เพราะเป็นมติคณะกรรมการสอบสวน และพระมหาเถระ หรือเจ้าคณะผู้ปกครองโดยลำดับชั้น มีคำสั่งให้ออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส”

สูตรสำเร็จ’ควบเจ้าอาวาส-ออกพระเครื่อง’

ในทางปฏิบัติแล้วการควบเจ้าอาวาส 2 วัดนั้นมีให้เห็นอยู่บ้างในบางวัด หรือการสร้างพระเครื่องวัดดัง โดยวัดอื่นเพื่อนำเอาเงินที่ได้ไปพัฒนาวัดของตัวเองก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย นี่คือวิถีปฏิบัติที่คณะสงฆ์ใช้เรื่อยมาจนกลายเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะวัดดัง ๆ ที่มีพระประธานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังเคยเป็นเจ้าอาวาส จนประชาชนเลื่อมใสศรัทธากันมาก ๆ มักเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้

ที่จริงหากเจ้าอาวาสประพฤติไม่เหมาะสมหรือผิดพระธรรมวินัย เมื่อถูกปลดออกจากตำแหน่ง พระปกครองมักจะเลือกพระในวัดที่เป็นรองเจ้าอาวาสหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสขึ้นมาทำหน้าที่แทน เพราะการแต่งตั้งพระจากที่อื่นมาเป็นเจ้าอาวาสนั้นเสี่ยงต่อการถูกต่อต้านจากพระลูกวัดและชาวบ้านในพื้นที่ได้

ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วอย่างวัดวัดโสธรวรารามวรวิหาร ฉะเชิงเทรา ครั้งนั้นสมเด็จช่วงฯ ก็เป็นผู้ตัดสินยุติปัญหาความวุ่นวายในวัดเอง จนเกิดเรื่องเศร้าขึ้นที่วัดสระเกศ หรืออย่างกรณีการสึกพระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ คดีใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ก็ตั้งพระลำดับรองภายในวัดขึ้นมารักษาการ

ลักษณะนี้มีทั้งมหานิกายและธรรมยุติ ต่างต้องการส่งพระในสังกัดของตัวเองเข้าไปคุมวัดใหญ่ วัดดัง รายได้ดี หากมีการต่อต้านพระผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในมือก็อาจออกคำสั่งปลดหรือกดดันด้วยวิธีอื่น ๆ จนพระเหล่านั้นอาจอยู่ไม่ได้

กรณีของวัดบางคลาน นับเป็นกรณีตกค้างที่ยืดเยื้อกันมาจากรูปแบบการปกครองของคณะสงฆ์ในยุคที่ผ่านมา



กำลังโหลดความคิดเห็น