คปภ.เตรียมยกเครื่องกฎหมายประกันชีวิตและประกันวินาศภัยทั้งระบบ เพิ่มบทลงโทษเรื่องการฉ้อฉลของบริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิต ตัวแทน และนายหน้า จากเดิมที่ต้องอิงกฎหมายอาญา พร้อมทั้งพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อปราบปรามการฉ้อฉล ควบคุมทุกช่องทางจัดจำหน่าย โดยเฉพาะการขายทางโทรศัพท์ ดูแลการบริหารเงินกองทุนและเปิดเผยข้อมูลการเงินของบริษัทประกันเพื่อป้องกันความเสี่ยงของผู้ทำประกัน
จากปัญหากลโกงของตัวแทน รวมถึงบริษัทประกัน ที่มักใช้เล่ห์เหลี่ยมบิดพลิ้วปฏิเสธที่จะดูแลและจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ทำประกันกระทั่งนำไปสู่การร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกลายเป็นข่าวครึกโครมอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) จึงเร่งหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาและอุดช่องโหว่ที่เป็นอุปสรรคต่อการควบคุมดูแลการดำเนินงานของผู้ประกอบการประกันภัย เพื่อให้ผู้ทำประกันได้รับความคุ้มครองตามที่ระบุในสัญญา
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คปภ.กำลังดำเนินการในการปรับปรุงแก้ไขระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัยทั้งระบบ ซึ่งมีกว่า 100 มาตรา เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการดูแลธุรกิจประกันภัยให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล และสามารถคุ้มครองดูแลผู้ทำประกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งคือการแก้ไขกฎหมายแม่บทด้านการประกันภัย (กลุ่มที่ 1) ที่มุ่งเน้นให้ความคุ้มครองประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการทำประกัน โดยเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดทางอาญาฐานใหม่ “เรื่องการฉ้อฉลประกันภัย” ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)แล้ว และอยู่ระหว่างเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พร้อมกันนี้ยังได้มีการยกร่างประกาศ คปภ. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อฉล ซึ่งถือเป็นอนุบัญญัติหรือกฎหมายลูก ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยและคนกลางประกันภัยมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้ง ป้องกัน ตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาการฉ้อฉลในการประกันภัย โดยได้เพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อฉลเพื่อให้กระบวนการและมาตรการในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการฉ้อฉลของบริษัทประกันภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งยังลดความสูญเสียจากการฉ้อฉลที่อาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือของธุรกิจ และคุ้มครองผู้ทำประกันหรือผู้รับผลประโยชน์ ทั้งนี้ คณะกรรมการ คปภ.ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างประกาศดังกล่าวแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปปรับปรุงให้สมบูรณ์ที่สุด
อีกทั้งในปีนี้ คปภ.จะมีการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและปราบปรามการฉ้อฉลประกันภัย โดยมีการบูรณาการการทำงานทั้งระหว่างสายงานของสำนักงาน คปภ. และระหว่างสำนักงาน คปภ. กับหน่วยงานภายนอก มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาหลักเกณฑ์และแนวทางในการป้องกันและปราบปรามการฉ้อฉลประกันภัย โดยคณะกรรมการประกอบด้วย คณะผู้บริหารของ คปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ประธานกรรมการมรรยาททนายความ สภาทนายความฯ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย รวมทั้งมีการพัฒนาเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะฐานข้อมูลฉ้อฉลประกันภัยซึ่งจะช่วยตรวจจับการฉ้อฉล รวมทั้งมีการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย โดย คปภ.จะจัดทำหนังสือคู่มือเรื่อง “รู้ทันการฉ้อฉลประกันภัย การป้องกันและการรับมือ”
แน่นอนว่าปัญหาการฉ้อฉลย่อมเกิดมาจากตัวแทนและบริษัทประกัน ดังนั้น คปภ.จึงให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลในจุดนี้ โดย ดร.สุทธิพล ชี้แจงว่า คปภ.ได้มีการปรับปรุงประกาศ คปภ.เรื่องวิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย การปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทน และนายหน้าประกันภัย ซึ่งการปรับปรุงแก้ไขจะครอบคลุมทั้งการกำกับ ตรวจสอบ ควบคุม ประเมิน และแก้ไขปัญหา เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย (Insurance Cover Principles : ICP) 18 ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนกลางประกันภัย ให้เป็นผู้ที่มีความรู้ ประสบการณ์และคุณธรรม และมาตรฐาน ICP ซึ่งเป็นเรื่องของพฤติกรรมในการดำเนินธุรกิจ กำหนดให้บริษัทปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรม และมีการปรับปรุงมาตรการลงโทษให้เหมาะสมตามลำดับชั้นความผิด โดยสาระสำคัญจะเป็นการดูแลครอบคลุมทุกช่องทางการขายทั้งในส่วนของตัวแทน/นายหน้าประกันภัย ธนาคารพาณิชย์ เทเลเซล หรือการขายประกันทางโทรศัพท์ และช่องทางไปรษณีย์ ส่วนการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์จะยึดตามประกาศเสนอขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งกำหนดให้บริษัทประกันภัยต้องปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกหรือการเสนอขายกรมธรรม์ การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และการจัดการเรื่องร้องเรียน กำหนดให้บริษัทต้องเปิดเผยรายชื่อและข้อมูลของตัวแทนที่เสนอขายและสามารถเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ของบริษัทได้ และหากผู้เสนอขายไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ทางบริษัทต้องยุติการทำหน้าที่ของตัวแทนทันที
ส่วนการเสนอขายประกันทางโทรศัพท์ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการรบกวนประชาชน และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับให้ดูแลอย่างเข้มงวดนั้น ดร.สุทธิพล ระบุว่า ในการปรับปรุงร่างประกาศ คปภ.ดังกล่าว ได้กำหนดให้ห้ามเสนอขายประกันกับผู้บริโภคที่ปฏิเสธ ให้เสนอขายได้เฉพาะวันจันทร์ถึงเสาร์ ในเวลา 08.30-19.00 น. ผู้เสนอขายต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงสิทธิต่างๆ ในกรมธรรม์อย่างชัดเจน อาทิ สิทธิในการขอยกเลิกกรมธรรม์ บทสนทนาในการเสนอขายต้องผ่านความเห็นชอบจากบริษัท
อีกทั้งยังมีการปรับปรุงร่างประกาศ คปภ. เรื่องการประกันภัยต่อ ให้ครอบคลุมในส่วนของการติดตามและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยต่อ และให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงระหว่างการจัดทำประกันภัยต่อกับกรอบการบริหารความเสี่ยง และการบริหารเงินกองทุน โดยบริษัทต้องดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำและคณะกรรมการสามารถกำหนดให้บริษัทดำรงเงินกองทุนเพิ่มเติมได้ในกรณีที่ปรากฏว่าบริษัทมีความเสี่ยงสูงหรือคาดว่าจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ที่ประชุม คปภ.ได้ให้ความเห็นชอบร่างประกาศดังกล่าวแล้ว โดยอยู่ระหว่างการเสนอให้ประธาน คปภ.ลงนาม เพื่อบังคับใช้ต่อไป
อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานะการเงินของบริษัทประกันภัยก็มีผลต่อความเสี่ยงของผู้ทำประกันเช่นกัน ซึ่ง ดร.สุทธิพล ระบุถึงแนวทางในการป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวว่า คปภ.ได้ทำการปรับปรุงร่างประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทประกันภัยที่สอดคล้องกับ ICP 20 ซึ่งเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ โดยกำหนดให้บริษัทประกันภัยเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ผู้เอาประกันและผู้มีส่วนร่วมในธุรกิจได้เห็นถึงภาพรวมที่ชัดเจนในการทำธุรกิจ ทั้งนี้ที่ประชุม คปภ.ได้ให้ความเห็นชอบร่างประกาศนี้แล้ว ขณะนี้กำลังรอเสนอให้ประธาน คปภ.ลงนาม และบังคับใช้ต่อไป
“เชื่อมั่นได้ว่าผลของการทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้การคุ้มครองดูแลผู้ทำประกันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” เลขาธิการ คปภ.กล่าวตบท้าย