xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ปั้นยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี เดินถูกทางสร้างเศรษฐกิจมั่นคง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการเชื่อแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สร้างความมั่นใจให้นักลงทุน แม้เปลี่ยนรัฐบาลแต่โครงการเศรษฐกิจยังอยู่ “สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์” ชี้ประเทศที่ประสบความสำเร็จล้วนมีแผนระยะยาว เชื่อแนวทางพัฒนาด้านเกษตร ท่องเที่ยว และสุขภาพ มาถูกทางแล้ว พร้อมระบุคนเขียนแผนแม่บทต้องมีวิสัยทัศน์ที่จะคาดการณ์อนาคต ด้าน “รศ.ดร.พิชาย” ติงกระบวนการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ในสภาอาจล่าช้าไม่ทันสถานการณ์

ประเด็นร้อนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้น “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติรับร่างฯ ตามที่คณะรัฐมนตรี ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอ และเตรียมตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนที่กรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะยกร่างแผนแม่บทเพื่อกำหนดกรอบรายละเอียดและบังคับใช้ต่อไป ด้วยหลายฝ่ายโดยเฉพาะบรรดานักการเมืองต่างเกรงกันว่าการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ผูกพันในระยะยาวอาจเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

อย่างไรก็ดี ภาคส่วนที่มิอาจมองข้ามก็คือมุมมองความเห็นจากฟากฝั่งนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ธุรกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับแนวทางการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะจะเห็นได้ว่าหลายประเทศที่มีเป้าหมายในการพัฒนา อาทิ มาเลเซีย หรือประเทศในแถบแอฟริกา ต่างก็มีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติเป็นระยะเวลา 20 ปี หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาก็เคยกำหนดแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี แต่ปัจจุบันลดลงมาเหลือ 5 ปี ขณะที่ประเทศไทยนั้นผลการสำรวจพบว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้นักลงทุนไม่กล้ามาลงทุนในประเทศไทยเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจที่มักเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล ดังนั้นการมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่ผูกพันถึง 20 ปี จะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นและตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแต่โครงการเศรษฐกิจที่สำคัญยังคงเดินหน้าต่อ
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ธุรกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายเกรงว่าการกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาวจะไม่สอดคล้องกับสถาการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคตนั้น ผศ.ดร.ธนวรรธน์ ชี้ว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นการกำหนดกรอบกว้างๆ เท่านั้น ส่วนรายละเอียดของแผนยุทธศาสตร์นั้นจะถูกกำหนดโดยรัฐบาลชุดต่อไป

ขณะที่ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง มองว่ายุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือทำให้ประเทศไทยมีโรดแมป มีแนวทางในการพัฒนา เปรียบเหมือนการวางอนาคตของคนเราในแต่ละช่วงวัย ถ้าอยู่ในวัยเด็กเราก็ต้องวางแผนว่าโตขึ้นอยากทำงานอะไร อยากเป็นวิศวะต้องเรียนสายไหน เราอ่อนวิชาอะไร ต้องเสริมความรู้ตรงไหน ถ้าอยู่ในวัยกลางคนก็ต้องวางแผนว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนถึงวัยเกษียณ ดูแลร่างกายอย่างไร ต้องมีเงินเก็บเท่าไหร่ ต้องทำประกันสุขภาพไหม เมื่อถึงตอนเกษียณจะได้ใช้ชีวิตอย่างสบาย ดังนั้นถ้าเรามีเป้าหมายว่าต้องการให้ประเทศพัฒนาไปทางด้านใดก็จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน มีการวางแผนว่าตลอดระยะเวลา 20 ปี ต้องทำอะไรบ้าง รวมถึงมีการจัดสรรรงบประมาณให้สอดคล้องกับการทำงาน เพื่อให้ผลลัพธ์เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจ ไมว่าจะเป็น สิงคโปร์ มาเลเซีย ไปจนถึงสหรัฐอเมริกา ล้วนแต่มีการวางยุทธศาสตร์ชาติทั้งสิ้น

ส่วนข้อเสียในการวางยุทธศาสตร์ชาตินานถึง 20 ปี ก็คือ ประการแรก ผู้ที่จะมาวางแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติมีความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นใน 20 ปีข้างหน้าหรือไม่ เพราะถ้ามองพลาดความสียหายที่เกิดขึ้นตามมานั้นมหาศาล ประการที่ 2 แม้เป้าหมายจะเป็นไปเพื่อการพัฒนาเหมือนกันแต่พรรคการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศในแต่ละช่วงย่อมมีแนวนโยบายที่แตกต่างกัน และช่วงหาเสียงต้องชูแนวทางการทำงานของพรรค เมื่อเข้าไปทำงานก็ต้องทำตามที่หาเสียงไว้ ถ้ามีกรอบมากำหนดก็อาจจะทำงานยาก

ประการที่ 3 ในทางการเมืองแต่ละพรรคจะมั่นใจในแนวทางและการบริหารงานของตนเองมากกว่า

ประการที่ 4 การปรับเปลี่ยนรายละเอียดในแผนยุทธศาสตร์ชาติทำได้ยากเพราะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องอาศัยเสียงในสภา หากพรรคการเมืองอื่นไม่เห็นด้วยก็เป็นไปได้ยาก และประการที่ 5 แผนยุทธศาสตร์ชาติต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน แต่ที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักยุทธศาสตร์ชาติ ไม่เข้าใจว่าไทยแลนด์ 4.0 คืออะไร
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.สมชายมองว่า การพัฒนาบางด้านที่ระบุไว้ในร่างยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี เป็นการพัฒนาที่ตรงจุด และเชื่อว่าไม่ว่าพรรคการเมืองใดเข้ามาบริหารประเทศก็จะดำเนินการตามแนวทางนี้ นั่นคือการพัฒนาด้านการเกษตร ด้านอินฟราสตรักเจอร์หรือโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการท่องเที่ยว ด้านสุขภาพ ด้านอาหาร ตลอดจนการช่วยเหลือเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัป

“หัวใจของแผนยุทธศาสตร์ชาติคือการดำเนินมาตรการต่างๆ ต้องสอดคล้องกับโลกแห่งความเป็นจริง

ผู้ที่จะเขียนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติซึ่งจะเริ่มดำเนินการในอีก 2 เดือนข้างหน้า จะต้องเป็นคนเก่งและมีวิสัยทัศน์ สามารถคาดการณ์ได้ว่าอาคตข้างหน้าสภาพเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จะเป็นอย่างไร คนที่สามารถมองเห็นอนาคตเพียง 5 คน ดีกว่าคน 995 คนที่เอาปัญหาในปัจจุบันเป็นตัวตั้งในการวางแผนระยะยาว ซึ่งปัญหาในขณะนี้คือเรายังมองไม่เห็นบุคลากรที่มีคุณสมบัติดังกล่าวในคณะทำงานของรัฐบาลชุดนี้” รศ.ดร.สมชาย แสดงความวิตก

รศ.ดร.สมชาย ยังยกตัวอย่างของผลกระทบที่เกิดจากการวางแผนเศรษฐกิจผิดพลาดอันเนื่องมาจากไม่สามารถประเมินสถานการณ์ในอนาคตได้ ว่า ช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินเมื่อปี 2540 ซึ่งก่อนหน้านั้นโลกเปิดเสรีการค้าแล้ว ค่าเงินของโลกลอยตัว แต่ประเทศไทยยังฟิกซ์อยู่ กระทั่งเศรษฐกิจมีปัญหาจึงได้ประกาศลอยตัวค่าเงินซึ่งนำมาสู่วิกฤตเศรษฐกิจ หรือในช่วงหลังสงครามเย็นนานาประเทศเล็งเห็นว่าจะเกิดการแข่งขันทางเศรษฐกิจ มีการเปิดเสรีการค้า และเกิดการย้ายฐานการผลิต ดังนั้นประเทศที่ปรับตัวก่อน อาทิ มาเลเซีย ก็จะกำหนดนโยบายเศรษฐกิจให้สอดรับกับสถานการณ์ เช่น ลดการปลูกยาง เนื่องจากมองว่าการเปิดเสรีจะทำให้ราคายางถูกลง แต่หันไปพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางพาราแทน

ขณะที่ประเทศไทยมองสถานการณ์ไม่ออกจึงได้รับผลกระทบจากราคายางที่ตกต่ำเพราะการเปิดเสรี ดังนั้นการวางตัวผู้ที่จะมาเขียนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติจึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก

ด้าน รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองว่าการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นกฎหมาย คือพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 นั้นเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว เนื่องจากหลักการของการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติคือหลักบริหาร ซึ่งต้องสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ขณะที่หลักการของการยกร่างกฎหมายคือความชัดเจน ตายตัว ไม่เปลี่ยนแปลง สามารถบังคับใช้กฎหมายเดียวกันไม่ว่าเวลาหรือสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
 รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
นอกจากนั้นการกำหนดให้การแก้ไขยุทธศาสตร์ต้องดำเนินการในลักษณะเดียวกับการแก้ไขกฎหมายคือต้องผ่านความเห็นชอบของสภา อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาซึ่งทำให้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงาน ยุทธศาสตร์ที่ออกมาไม่อาจสอดคล้องกับสถานการณ์ กว่าจะแก้ไขได้ก็อาจไม่ทันการ การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติที่ยาวนานถึง 20 ปี และแก้ไขได้ยากอาจสร้างความเสียหายได้ เพราะหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแต่ยังใช้ยุทธศาสตร์เดิมการบริหารงานต่างๆ ก็จะผิดพลาดไปหมด

รศ.ดร.พิชาย ระบุว่า จากข้อมูลพบว่าประเทศในแถบยุโรปไม่มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว เพราะเขามองว่าแต่ละรัฐบาลควรเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์เอง ประเทศที่กำหนดแผนยุทธศาสตร์ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศสังคมนิยม เช่น สหภาพโซเวียต ประเทศที่มีแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวแล้วจะประสบความสำเร็จจะต้องมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ สามารถบริหารงานได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่การเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ ดังนั้นการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจึงอาจมีปัญหาได้ อีกประเด็นที่น่าสนใจคือนักวิชาการจำนวนไม่น้อยมองว่าเป็นไปได้ยากที่ยุทธศาสตร์ระยะยาวจะบรรลุผลได้จริง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ยุทธศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จจึงมักเกิดจากการวางแผนเฉพาะหน้า

ส่วนที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กำหนดในร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ให้สามารถทบทวนยุทธศาสตร์ชาติได้ทุก 5 ปี โดยเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบในการแก้ไขนั้น รศ.ดร.พิชาย มองว่าเป็นระยะเวลาที่นานเกินไปและการแก้ไขมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ระยะเวลาในการแก้ไขไม่ควรเกิน 2-3 ปี และเนื่องจากยุทธศาสตร์ชาติเป็นเรื่องของการบริหาร การแก้ไขจึงควรเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ไม่ใช่กระบวนการแบบนิติบัญญัติ

การกำหนดยุทธศาสตร์ในการบริหารเป็นกฎหมายเท่ากับเป็นการบั่นทอนประสิทธิภาพของตัวยุทธศาสตร์ชาติ” รศ.ดร.พิชาย กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น