xs
xsm
sm
md
lg

ซื้อประกันแบบยูนิตลิงก์ มีความเสี่ยงอาจ “เจ๊ง” ได้ !

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จับตาประกันแบบ Unit Link ถือเป็นลูกเล่นใหม่ ซึ่งคุ้มครองชีวิตบวกการลงทุน ที่ผู้ซื้อต้องแบกรับความ 'เสี่ยง' เพียงลำพัง เหตุผู้ขายมักจะบอกแต่ข้อมูลเชิงบวก ผลตอบแทนที่ 8% หรือ10% หรือมากกว่านั้น แต่ไม่มีการการันตีผลตอบแทน มีสิทธิ์ 'เจ๊ง' ได้ ขณะที่ คปภ.บ่น Unit Link สร้างความปั่นป่วน ลูกค้าใช้สิทธิ free look ไม่ได้ บางรายยอมขายทิ้ง ถึงรู้ความจริง 'เงิน' ในเบี้ยประกันชีวิตจิ๊บจ๊อย ส่วนการลงทุนวูบหาย เผย 6บริษัทชั้นนำ ขายUnit Link เอไอเอ - เมืองไทยประกันชีวิต-พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต - FWDประกันชีวิต - กรุงไทยแอกซ่า และ แมนูไลฟ์ ประกันชิวิต

ผู้ซื้อประกันชีวิตส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับปัญหาของการโฆษณาเกินจริง สื่อข้อความไม่ชัดเจน ใช้ข้อความกำกวมหรือบอกไม่หมด จนทำให้เกิดปัญหาเมื่อลูกค้าตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตไปแล้ว และเมื่อถึงเวลาไม่สามารถเคลมประกันได้ จึงทำให้มีการร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากธุรกิจประกันภัย เป็นจำนวนมาก

ที่ผ่านมาหลายๆ คนอาจจะรู้สึกรำคาญบรรดาตัวแทนขายประกันเพราะรู้สึกว่าตัวเองถูกตื๊อ ถูกกดดันให้ต้องซื้อประกัน แต่ในเวลาเดียวกันคนบางกลุ่มก็เชื่อว่า การซื้อประกันชีวิต เป็นการคุ้มครองชีวิตที่ดีมากเพราะเมื่อยามที่จากไป ก็สามารถเป็นมรดกให้ลูกหลานได้ ที่สำคัญยังเป็นการออมเงินไว้ใช้ในระยะยาวหรือในยามเกษียณที่ตัวเองยังมีชีวิตอยู่ได้อย่างดี ไม่ต้องเป็นภาระลูกหลานในอนาคต

ดังนั้นบริษัทประกันชีวิตต่างๆ จึงได้ออกผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตหลากหลายรูปแบบเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาซื้อประกัน โดยการขายผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายออนไลน์ การขายผ่านตัวแทนนายหน้า รวมไปถึงการขายผ่านแบงก์พาณิชย์ ซึ่งข้อมูลจากสมาคมประกันชีวิตไทย ระบุว่า 90% ของเบี้ยประกันชีวิตมาจากช่องทางการขายผ่านธนาคาร 47.2% และขายผ่านตัวแทนประกันชีวิต 46.6% ที่เหลือเป็นช่องทางอื่นๆ

การที่ผลิตภัณฑ์ประกันขายผ่านช่องทางแบงก์พาณิชย์ได้มากที่สุด นั้นเป็นเพราะการจับมือของบริษัทประกันและแบงก์พาณิชย์ โดยแบงก์พาณิชย์ที่ขายผลิตภัณฑ์ประกันไปด้วยนั้นจะเป็นช่องทางเพิ่มรายได้เป็นอย่างดี จากค่าธรรมเนียมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมการบริหารกรมธรรม์ ค่าธรรมเนียมในการซื้อกองทุนและสับเปลี่ยนกองทุน รวมถึงค่าคอมมิชชันจากการขายประกันชีวิต

“แบงก์ขายประกัน เป็นรายได้เต็มๆ ไม่ต้องรับความเสี่ยง ไม่มีภาระสำรองหนี้สูญ แบงก์จึงให้พนักงานขายประกัน ขายกองทุน มีการตั้งเป้ารายได้ค่าธรรมเนียมถือเป็น KPI (วัดผลงาน) ถือเป็นคุณภาพของสาขา พนักงานแบงก์จึงพยายามขายประกันชีวิตและกองทุนให้ลูกค้า

โดยเฉพาะผลิตภันฑ์ประกันชีวิตรูปแบบใหม่ ที่บริษัทประกันชีวิตเน้นขายมากในเวลานี้ รวมไปถึงการขายผ่านแบงก์พาณิชย์คือประกันแบบ Unit Link ซึ่งเป็น 'ประกันชีวิต ควบการลงทุน' ซึ่งจะให้ความคุ้มครองชีวิตกับผู้เอาประกัน และผู้เอาประกันสามารถเลือกลงทุนในกองทุนได้เอง หรือเลือกกองทุนที่บริษัทประกันจัดไว้ให้ก็ได้ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้เอาประกัน

ว่าไปแล้วการประกันแบบUnit Link นั้นอาจจะไม่เหมาะกับเราๆ ท่านๆ ทุกคนที่ต้องการความมั่นคงปลอดภัยด้านการเงิน โดยเฉพาะคนที่ซื้อประกันรูปแบบนี้จะต้องเข้าใจและทำใจไว้ด้วยว่ามีความ 'เสี่ยง' ซึ่งไม่ใช่แค่ไม่รับประกันผลตอบแทนขั้นต่ำแต่มีโอกาสขาดทุน หรือ 'เจ๊ง' ได้เช่นกัน

โดยเฉพาะหากผู้ซื้อประกันUnit Link ไม่เข้าใจในรายละเอียดของส่วนการลงทุนที่ผู้ขายทั้งผ่านตัวแทนและพนักงานแบงก์ เชิญชวนหรือเชียร์ให้ซื้อ ก็มักจะให้ข้อมูลเฉพาะส่วนที่เป็นบวกว่าจะมีผลตอบแทนจากกองทุนที่ถูกคัดเลือกจากบริษัทประกันมาแล้วได้ดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝากแบงก์แน่นอน แต่ไม่มีการบอกเลยว่าผู้ซื้อมีอัตราเสี่ยงอะไร อย่างไรบ้าง

“คนขายก็พูดกล่อมไปเรื่อย เพื่อให้คนซื้อคิดตามว่าจะมีผลตอบแทน 8% 10% แต่ต้องลงทุนกันในระยะยาว 5 ปี 10 ปี ไปแล้วจึงจะเห็นผล เมื่อซื้อไปแล้วถ้าทนขาดทุนไม่ได้ในช่วงแรก ก็ต้องเลือกที่จะขายทิ้ง

แหล่งข่าวจาก คปภ. ระบุว่า การขายผลิตภันฑ์ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์นั้น เบี้ยประกันที่เก็บมาได้บริษัทประกันจะต้องมีการตั้งสำรอง และจะนำไปลงทุนในสัดส่วนที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น และหากบริษัทประกันมีปัญหา หรือ ปิดกิจการ คนที่ซื้อประกันชีวิต จะไม่ได้รับความเดือดร้อน โดย คปภ.จะเป็นผู้เข้าไปดูแล แก้ปัญหาให้

แต่การซื้อUnit Link บริษัทประกันไม่ต้องตั้งสำรองสูง เพราะถือเป็นการลงทุนในกองทุน และลูกค้าเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงเองทั้งหมด ตรงนี้เป็นเรื่องที่ คปภ.มีความกังวลว่าในระยะยาวจะเกิดปัญหาตามมาหรือไม่ โดยเฉพาะลูกค้าที่ไม่เข้าใจกรมธรรม์ Unit Link

“คนซื้อต้องรู้ว่า เงินก้อนที่เราลงไปนั้น จะแบ่งเป็นส่วนคุ้มครองชีวิตเท่าไร และส่วนของการลงทุนเท่าไร ซึ่งในส่วนการลงทุนก็ต้องรู้ให้ละเอียดว่า มีค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าธรรมเนียมอะไรบ้าง ค่าคอมมิชชัน ค่าบริหาร การจัดการต่างๆ หรือการโยกกองทุนต้องมีค่าธรรมเนียมเท่าไร และผลประโยชน์จากกองทุนที่มีการสะสมจะโอนเป็นเบี้ยประกันชีวิตได้หรือไม่ และค่าใช้จ่ายต่างๆ จะถูกหักไว้ก่อน ที่เหลือถึงจะนำไปลงทุนใช่หรือไม่”

สำหรับปัญหาที่มีการพูดคุยกันในวงการประกันชีวิตขณะนี้ก็คือ มีลูกค้าจำนวนมาก ที่ซื้อด้วยความไม่เช้าใจ แต่เมื่อซื้อไปแล้ว บางคนเพียง 2-3 ปีก็รู้สึกไม่ไหว เนื่องจากเงินในส่วนของกองทุนหดหายไปจากที่ตัวเองซื้อไว้ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ซึ่งบางรายได้รับคำแนะนำให้โยกกองทุน แต่การโยกกองทุนก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมทั้งขาไป ขากลับ และเมื่อโยกไปแล้วกองทุนนั้นก็ขาดทุนไปอีก ก็ต้องเลือกระหว่างตัดใจขายทิ้งUnit Link เลย

“พอตัดใจขายทิ้ง ถึงรู้ว่า ในส่วนที่ได้คืนคือส่วนประกันชีวิต แต่เป็นสัดส่วนที่ถูกแบ่งไว้ไม่มาก และส่วนของการลงทุนก็ได้ตามมูลค่าปัจจุบัน หักค่าธรรมเนียมต่างๆ ไปแล้ว ทั้งหมดขึ้นอยู่กับเงื่อนไขกรมธรรม์ Unit Link ของแต่ละบริษัทประกันกำหนดไว้”

ขณะเดียวกันผู้ซื้อUnit Link โดยความไม่เข้าใจหรือเมื่อนำไปศึกษาแล้วไม่ได้เป็นอย่างที่ผู้ขายนำเสนอไว้ จึงไม่ต้องการกรมธรรม์นี้แล้วนั้น แบบประกันทั่วไปจะสามารถใช้สิทธิขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตได้ (Free look period) ภายใน 15 วัน คือได้ 100% ซึ่ง คปภ.จะออกมาเตือนผู้ซื้อประกันชีวิตอยู่แล้วว่ามีสิทธิยกเลิกได้ แต่ในกรณีของUnit Link ใช้สิทธิ free look ได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับบริษัทประกันกำหนดไว้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ซื้อจะต้องหาคำตอบจากผู้ขายประกันให้ชัดเจน

“ตามหลักการ ซื้อกรมธรรม์ สามารถทำ free look ได้ หลังจากกรมธรรม์ออกแล้ว ต้องถามว่า unit link นี่ free look ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ผู้ซื้อต้องถามไปที่ คปภ ว่าทำไม กรมธรรม์ เหล่านี้ถึง free look ไม่ได้ ซึ่ง คปภ. กำลังปวดหัวกับ unit link เพราะบางราย free look ได้ บางรายไม่ได้ บางคนซื้อUnit Link ที่ 1 แสนบาท เขาเอาไปลงทุน 6 หมื่นบาท ส่วนนี้ไม่ได้คืน จะได้เฉพาะส่วนประกันชีวิตเท่านั้น”

แหล่งข่าว ระบุว่า ปัจจุบัน มีลูกค้าที่ซื้อแบบประกันUnit Link แล้วเกิดปัญหาต้องการใช้สิทธิ free look แล้วยกเลิกไม่ได้เป็นจำนวนมากจึงมีปัญหากับบริษัทประกัน ซึ่งบางคนที่ยกเลิกเพราะมีความรู้ในตลาดทุน รู้เรื่องการเล่นหุ้น รู้เรื่องกองทุน ก็เชื่อว่าไปเล่นเองน่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า และก็เลือกที่จะไปซื้อประกันชีวิตเพียงอย่างเดียว น่าจะให้ผลตอบแทนที่มั่นคงและไม่เสี่ยงด้วย ส่วนบางคนยกเลิกเพราะเกิดความกลัวว่า เงินจะสูญในอนาคตที่ตนเองต้องการเก็บไว้ใช้หลังเกษียณ

“คนที่จะซื้อ Unit Link ต้องเข้าใจว่าการลงทุนมีความเสี่ยง HIGH RISK HIGH RETURN ถ้าทำได้ อึดได้ ก็มีโอกาส เพราะการลงทุนแบบUnit Link ดีตรงที่กองทุนยืดหยุ่นได้ ไม่ชอบก็เปลี่ยน เพิ่มหรือลดการลงทุนก็ได้”

แต่ความน่ากลัวของการลงทุนแบบUnit Link ที่คนบางกลุ่มโดยเฉพาะบรรดาข้าราชการไม่อยากเก็บออมกรมธรรม์นี้ก็เพราะเขากลัวว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยในอนาคต ถ้าเกิดเสียหาย ใครจะรับผิดชอบ ซึ่งไม่ต่างจาก กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่สมัยก่อนอยู่กับรัฐบาล แล้วย้ายเงินมาลงทุนก็หวังจะได้เงินเยอะ แต่พอวันหนึ่ง หุ้นมันตก ทำให้การลงทุนมีปัญหา คนที่เกษียณอายุ ไม่ได้เงิน ตามที่ตกลงกันไว้”

ปัจจุบันมีบริษัทประกันที่ขายผลิตภัณฑ์ประกันแบบ Unit Link ประกอบด้วย

บริษัท เอไอเอ ซึ่งมีประกันชีวิตแบบยูนิตลิงก์ให้เลือกหลายตัว เพื่อเพิ่มโอกาสการออมและคุ้มครองชีวิต โดยมีให้เลือกตั้งแต่ 1 เดือนถึง 99 ปี

บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต ที่มีผลิตภัณฑ์ที่สามารถชำระเบี้ยประกันรายงวดและครั้งเดียว พร้อมบอกรายละเอียดของกองทุนที่สามารถลงทุนได้

บริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต ที่มีผลิตภัณฑ์ยูนิตลิงก์ ขายผ่านช่องทางตัวแทนและแบงก์ เช่น ธนาคารยูโอบี

ธนาคารธนชาต ธนาคารทิสโก้ ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งจะบอกรายละเอียดของกองทุน ผลการดำเนินงานไว้พร้อม

บริษัท FWDประกันชีวิต ในชื่อ พาวเวอร์ลิงค์ ที่ให้ความคุ้มครองชีวิตสูงและเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนการลงทุนสูง มีแบบกองทุนให้เลือกลงทุน มีช่องทางขายทั้งทางตัวแทนและผ่านธนาคารทีเอ็มบี

บริษัท กรุงไทยแอกซ่า ที่เป็นแบบยูนิตลิงก์ ในชื่อILNVEST และมีกองทุนให้เลือกถึง 14 กองทุน

บริษัท แมนูไลฟ์ ประกันชิวิต มีให้เลือกทั้ง แมนูไลฟ์ ยูนิตลิงก์ แมนูไลฟ์ บียอนต์ เวลท์ แมนูไลฟ์ บียอนต์ เวลท์พลัส ซื้อได้จนถึงอายุ 99 ปี

อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตมีให้เลือกหลากหลาย จึงขึ้นอยู่กับผู้ทำประกันเป็นผู้เลือกและหากเลือกที่จะซื้อประกันแบบUnit Link ต้องทำใจไว้ตามที่บริษัทประกันเขียนไว้ ว่าการลงทุนมีความ 'เสี่ยง' ดังนั้นคนที่ซื้อUnit Link ก็มีสิทธิที่จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนตามเป้าหมายหรือสูงกว่าเป้าหมาย และอาจจะขาดทุน หรือ 'เจ๊ง' ได้เช่นกัน

ดังนั้นต้องศึกษาข้อเสนอให้ละเอียดแม้ว่าผู้ที่จะขายแบบ Unit Link ได้จะต้องมี IC LICENSE ก็ตาม แต่สุดท้ายผู้เสนอขายเหล่านี้อาจบอกเฉพาะข้อมูลที่เป็นบวก ส่วนที่มีความเสี่ยง ก็ปล่อยให้ผู้ซื้อเผชิญชะตากรรมเอาเอง!



กำลังโหลดความคิดเห็น