จับาปรากฏการณ์ความเหมือนของ “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์” กับ “รัฐบาลทักษิณ” ทั้งนโยบายประชานิยม การจัดประชุม ครม.สัญจร กรณีคอร์รัปชันอันอื้อฉาว ปัญหาการแทรกแซงองค์กรอิสระ พร้อมยุทธวิธีดูดยกพรรคเพื่อยึดเสียงข้างมากในสภา ด้าน “อ.คมสัน” ชี้เหตุที่โมเดลเหมือนกัน เพราะใช้ทีมงานเดียวกัน!
แปลกแต่จริงเมื่อรัฐบาลต่างขั้ว ต่างที่มา อย่างรัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมาจากการรัฐประหาร ด้วยเหตุผลเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง กับรัฐบาล “นายทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง แต่ภายหลังถูกประชาชนชุมนุมขับไล่เพราะไม่พอใจกับการทุจริตคอร์รัปชัน กระทั่งนำไปสู่การยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีบิ๊กตู่เป็นหัวหน้า คสช. เมื่อปี 2557
หากแต่ทั้งสองรัฐบาลกลับมีพฤติการณ์หลายอย่างที่เหมือนกันอย่างไม่น่าเชื่อ ? ไม่ว่าจะเป็นนโยบายประชานิยม และการจัดประชุม ครม.สัญจร ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นโครงการถลุงงบประมาณเพื่อหาเสียง ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการขนาดใหญ่ที่สร้างความเสียหายให้แก่บ้านเมืองอย่างมหาศาล การใช้อำนาจแทรกแซงองค์กรอิสระซึ่งหลายฝ่ายมองว่าจะส่งผลให้องค์กรเหล่านี้ไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติได้ต่อไป หรือแม้แต่กลยุทธ์การดูดนักการเมืองกลุ่มต่างๆ เข้าสังกัดเพื่อสร้างฐานอำนาจและยึดครองเสียงข้างมากในสภา ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาเผด็จการรัฐสภาดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
•โครงการประชานิยมหว่านงบ
โครงการประชานิยมดูจะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การสร้างฐานเสียงที่นักการเมืองนำมาใช้ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลทักษิณได้ริเริ่มโครงการประชานิยมที่เรียกคะแนนจากประชาชนรากหญ้าได้ล้นหลาม อย่าง โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการพักชำระหนี้ให้เกษตรกร โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการบ้านเอื้ออาทร และอีกหลากหลายโครงการที่แม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่าเป็นนโยบายผลาญงบประมาณแต่ก็ส่งผลให้เขาสามารถครองใจประชาชนมาจนถึงทุกวันนี้
ด้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่แม้จะมีทีท่าว่ายืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับระบอบทักษิณ แต่ดูเหมือนจะเดินตามแนวทางประชานิยมที่ไม่ต่างจากรัฐบาลทักษิณ ที่ฮือฮาที่สุดเห็นจะเป็นการแจกเงินให้คนจน ภายใต้ชื่อโครงการ “สวัสดิการแห่งรัฐ” เมื่อปี 2559 โดยให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากไร้และคนจนในเมือง จำนวน 8.3 ล้านราย วงเงินรวม 19,290 ล้านบาท
ตามด้วยโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่เรียกกันว่า “บัตรคนจน” ที่เปิดให้ผู้มีรายได้น้อยมาลงชื่อทำบัตรเพื่อใช้แทนเงินสดในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและเป็นค่าโดยสารรถสาธารณะตามวงเงินที่กำหนด ถึงสองรอบด้วยกัน โดยรอบแรกในปี 2560 รัฐทุ่มงบประมาณ 41,940 ล้านบาท เพื่อช่วยลดภาระการใช้จ่ายให้แก่ประชาชน 11 ล้านคน ส่วนรอบที่สองในปี 2561 รัฐบาลอัดงบประมาณรวม 35,679.09 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือคนจนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐผ่าน 34 โครงการ โดยนอกจากการใช้บัตรแทนเงินสดซื้อสินค้าแล้วยังมีโครงการพัฒนาอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ อีกด้วย โดยตั้งเป้าช่วยเหลือคนจน 5.3 ล้านคน ซึ่งแน่นอนว่าโครงการดังกล่าวจะถูกวิจารณ์ว่าเป็นการหว่านเงินหาเสียงแต่ก็สามารถเรียกคะแนนนิยมจากประชาชนได้ไม่น้อย
•ครม.สัญจร เรียกยคะแนนนิยม
อีกทั้งโครงการจัดประชุม ครม.สัญจร ซึ่งคณะรัฐมนตรียกขบวนลงพื้นที่ไปจัดประชุมและพบปะกับประชาชนในจังหวัดต่างๆ เพื่อสร้างความใกล้ชิดและเรียกคะแนนนิยม โดยในสมัยของอดีตนายกฯ ทักษิณนั้นลงพื้นที่พร้อมโครงการวาดฝันว่าจะพัฒนาจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือต้องมีกิจกรรมที่นายกฯ จะกลายเป็นภาพข่าวในเช้าวันรุ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคาดผ้าขาวม้า สับหมูย่าง ทอดปาท่องโก๋ ฯลฯ ซึ่งล้วนสร้างความประทับใจให้ประชาชนในทุกภูมิภาคและกลายเป็นต้นแบบของอีเวนต์ทางการเมืองมาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อมาถึงการประชุม ครม.สัญจรในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ดูจะอลังการไม่แพ้กัน อาทิ การประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.พิษณุโลก-สุโขทัย เมื่อวันที่ 25-26 ธ.ค. 2560 ซึ่งได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดในภาคเหนือ โดยเน้นโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานและการบริหารจัดการน้ำ งานนี้นอกจากจะมีข้าราชการและประชาชนแห่แหนมาต้อนรับแล้ว บิ๊กตู่ยังโชว์ขับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นภาพที่ทุกสำนักข่าวต้องรีบกดชัตเตอร์อีกด้วย หรือการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.สุรินทร์-บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 7-8 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา พร้อมอภิมหาโปรเจกต์ โดยมีการประชุมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนล่าง ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เพื่อพิจารณา 121 โครงการ ในวงเงินงบประมาณ 20,706 ล้านบาท ซึ่งนายกฯ ตู่ได้สร้างภาพความทรงจำด้วยการนุ่งโสร่ง สาวไหม ตำข้าว และรำเรือมตร๊ด (รำตรุษสงกรานต์) อันเป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่นของบุรีรัมย์ ที่ทำให้ชาวบ้านปลาบปลื้ม
•อภิมหาคอร์รัปชัน
แม้ด้านหนึ่งทั้งสองรัฐบาลจะพยายามผลักดันหลากหลายโครงการเพื่อเรียกคะแนนนิยม แต่อีกด้านก็มีรอยด่างที่ไม่สามารถลบออกไปจากความทรงจำของประชาชนได้ โดยเฉพาะปัญหาการคอร์รัปชันที่สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติอย่างมหาศาล ยุคอดีนายกฯ ทักษิณนั้นได้รับการขนานนามว่าเป็นรัฐบาลอภิมหาคอร์รัปชัน ไม่ว่าเป็นการซื้อ-ขายที่ดินรัชดาอันอื้อฉาว, การทุจริตในการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้แก่กลุ่มกฤษดามหานคร, การออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ-ดาวเทียมเป็นภาษีสรรพสามิต เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทชินคอร์ป, กรณีปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ ให้รัฐบาลเมียนมาร์ วงเงิน 4,000 ล้านบาท เพื่อหวังประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียมที่พม่ามีการสั่งซื้ออุปกรณ์จากบริษัท ชินแซทเทลไลท์ บริษัทในเครือชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของตระกูลชินวัตร และคดีหวยบนดินที่สร้างความเสียหายให้แก่รัฐ
รวม 5 โครงการดังกล่าวทำให้ประเทศชาติเหายสียไปแล้วกว่า 114,670 ล้านบาท!
ขณะที่ข้อกล่าวหาในการทุจริตยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็มีไม่น้อยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อไมโครโฟนไฮเทค เพื่อติดตั้งภายในห้องประชุมตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเป็นการจัดซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดถึง 4,094,000 บาท โครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีปัญหาการใช้งบประมาณที่ไม่โปร่งใส สร้างความเสียหายกว่า 176 ล้านบาท ความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อเรือดำน้ำ Yuan Class S26T จากสาธารณรัฐประชาชนจีน สร้างความเสียหายให้รัฐถึง 12,000 ล้านบาท การทุจริตในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งมีข้อครหากรณีการปรับเพิ่มงบประมาณในโครงการติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) ที่สร้างความเสียหายไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท และโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน วงเงินงบประมาณ 4,261 ล้านบาท ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งจากกรณีการจัดซื้อในราคาที่น่าจะสูงเกินจริง และความเสียหายจากการถูกฟ้องร้อง เป็นมูลค่ารวมถึง 1,561 ล้านบาท
สำหรับปัญหาการทุจริตใน 5 โครงการดังกล่าวที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลบิ๊กตู่ ว่ากันว่าสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติประมาณ 18,741 ล้านบาท!
•แทรแซกงองค์กรอิสระ ทำลายระบบตรวจสอบ
อีกประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในยุครัฐบาลทักษิณและรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็คือปัญหาการแทรกแซงองค์กรอิสระ โดยตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี กับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ทักษิณใช้อำนาจในการแทรกแซงองค์กรอิสระต่างๆ ทั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตั้งแต่กระบวนการสรรหา การแต่งตั้ง การพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด จนทำให้การปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระดังกล่าวขาดความเป็นอิสระและเที่ยงธรรม เป็นการทำลายเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ และนี่ยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาถูกประชาชนลุกฮือขึ้นชุมนุมขับไล่และถูกรัฐประหารยึดอำนาจในที่สุด
ขณะที่รัฐบาล คสช.ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีการแทรกแซงองค์กรอิสระต่างๆ นับตั้งแต่การประกาศ “เซตซีโร่” โดยยุบคณะกรรมการองค์กรอิสระชุดเก่าทิ้ง แล้วแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ที่มั่นใจว่าสามารถควบคุมได้ ผ่านกลไกของกรรมการร่างธรรมนูญ (กรธ.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งล้วนมีที่มาจากการแต่งตั้งบนฐานอำนาจของ คสช. แม้องค์กรอิสระบางแห่งจะแค่ถูก “รีเซต” คือเปลี่ยนตัวกรรมการเพียงบางท่าน ขณะที่บางองค์กรยังคงให้ดำรงตำแหน่งต่อไป แต่ก็ไม่สามารถหลีกหนีการแทรกแซงด้วยวิธีการต่างๆ ได้ โดยเฉพาะ กกต. ซึ่งมีบทบาทหลักในการจัดการเลือกตั้งที่เชื่อว่าจะมีขึ้นในปีหน้า ตามคำมั่นสัญญาของรัฐบาล องค์กรแห่งนี้นับว่าถูกแทรกแซงหนักที่สุด และที่ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างมากคือการใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งปลดนายสมชัย ศรีสุทธิยากร พ้นจากตำแหน่ง กกต. เนื่องจากไม่พอใจที่สมชัยออกมาให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินการของ สนช.ที่ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำสั่งปลดนายสมชัยนั้นส่งผลให้ความนิยมในรัฐบาลบิ๊กตู่ลดลงเช่นกัน
•พลังดูด สร้างฐานอำนาจทางการเมือง
ส่วนกลยุทธ์ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งไม่ต่างจากรัฐบาลทักษิณก็คือการทาบทามและควบรวมบรรดานักการเมืองจากพรรคต่างๆ ให้เข้ามาอยู่ในเครือข่ายเพื่อขยายฐานอำนาจ โดยมีเป้าหมายเพื่อครองเสียงข้างมากในสภาและต้องเป็นพรรคอันดับหนึ่งที่มีสิทธิสูงสุดในการจัดตั้งรัฐบาล โดยในการก่อตั้งพรรคไทยรักไทยนั้นนายทักษิณได้ใช้วิธีซื้อตัวนักการเมืองหน้าเก่าจากพรรคต่างๆ ซึ่งถูกเรียกขานว่าเป็นการ “ตกเขียว” ส่งผลให้มีกลุ่มการเมืองที่ย้ายเข้าสู่พรรคไทยรักไทยเป็นจำนวนมาก
ทั้งหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลทักษิณ 1 แล้วยังเกิดปรากฏการณ์ “ยุบรวมพรรค” โดยมีพรรคการเมืองถึง 3 พรรคที่ประกาศยุบพรรคมารวมกับไทยรักไทย โดยพรรคแรกได้แก่ พรรคเสรีธรรม พรรคเล็ก 16 ที่นั่ง ซึ่งผลจากการยุบรวมทำให้ไทยรักไทยมี ส.ส.ถึง 262 คน เกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งสภา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย อีกหนึ่งปีต่อมา พรรคความหวังใหม่ภายใต้การนำของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งมี ส.ส. ถึง 36 คนได้ตัดสินใจยุบพรรคเพื่อไปรวมกับพรรคไทยรักไทยเช่นเดียวกัน
ถัดจากนั้นอีก 2 ปีต่อมาพรรคชาติพัฒนา ภายใต้การนำของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ซึ่งมี ส.ส. 29 คน ได้ประกาศยุบพรรคเข้ารวมกับพรรคไทยรักไทย ทำให้พรรคไทยรักไทยมีจำนวน ส.ส.ถึง 325 ที่นั่ง ส่งผลให้พรรคไทยรักไทยมีจำนวน ส.ส.มากเพียงพอที่จะรอดพ้นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อีกทั้งส่งผลให้พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งในปี 2548 และสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้อีกด้วย สถานะดังกล่าวทำให้ถูกมองว่าเป็นอำนาจนิยมที่ทำลายการตรวจสอบถ่วงดุลของระบบรัฐสภา
ขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งประกาศตัวว่าจะเข้าสู่สนามการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็สร้างปรากฏการณ์ “พลังดูด” เพื่อผนึกกำลังสร้างฐานอำนาจทางการเมืองไม่ต่างจากยุคทักษิณ โดยบิ๊กตู่มีทีมงานระดับผู้ใหญ่ที่ใช้กำลังภายในเดินเกมเจรจาเพื่อดูดนักการเมืองจากพรรคต่างๆ มาร่วมสังกัดพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นเป็นนายกฯ ดังเช่น กลุ่มของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เตรียมย้ายจากประชาธิปัตย์มาสังกัดพรรคใหม่ หรือกรณีที่ปรากฏข่าวว่านายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มวังน้ำยม เตรียมโบกมือลาพรรคเพื่อไทยมาซบไหล่พรรคทหาร
นอกจากนั้นบิ๊กตู่เองยังเดินสายพบปะเจรจากับบรรดาหัวหน้าพรรคขนาดกลางเพื่อสร้างเครือข่ายแนวร่วมที่จะจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ว่าจะเป็น พรรคชาติไทยพัฒนา หรือพรรคภูมิใจไทย ที่เชื่อกันว่าข้อเสนอในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคสีเขียวนั้นน่าจะเป็นเก้าอี้รัฐมนตรีเกรดเอ รวมทั้งการแต่งตั้ง นายสนธยา คุณปลื้ม และนายอิทธิพล คุณปลื้ม สองแกนนำจากพรรคพลังชล ให้เป็นที่ปรึกษาในรัฐบาล คสช. ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ดูจะเป็นการซื้อใจและให้สัญญาว่าจะทำงานร่วมกันในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ด้านอาจารย์คมสัน โพธิ์คง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ชี้ว่า สาเหตุที่โมเดลในการสร้างฐานอำนาจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ดูจะเหมือนกับรัฐบาลทักษิณราวกับพิมพ์เดียวกัน เนื่องมาจากบุคลากรระดับต้นๆ บางคนในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็คือคนเดียวกับที่ทำงานให้รัฐบาลทักษิณ ทำให้เรายังคงเห็นนโยบายประชานิยม การแทรกแซงองค์กรอิสระ รวมถึงพลังดูดแบบเดิมๆ
“สุดท้ายปลายทางรัฐบาล คสช.จะจบแบบคุณทักษิณหรือไม่ก็ยังตอบไม่ได้ เพราะแม้ตอนนี้คนส่วนใหญ่จะไม่พอใจรัฐบาลแต่การจะออกมาชุมนุมขับไล่ก็ยังมีกฎหมายการชุมนุมครอบไว้อยู่”
อย่างไรก็ดี แม้ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะมีหลายอย่างที่เหมือนกับรัฐบาลทักษิณ แต่เส้นทางของบิ๊กตู่ยังคงอีกยาวไกล ขณะที่การเมืองเป็นเรื่องไม่แน่นอน จากนี้จึงต้องจับตาดูกันต่อไป!