xs
xsm
sm
md
lg

ยุค “บิ๊กตู่” ทุจริต 1.8 หมื่นล้าน กลุ่มทุนบ่นเสียงดังหาเงินช่วยนายตั้งพรรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เช็กปัญหาการทุจริต “รัฐบาลบิ๊กตู่” พบเฉพาะ 5 โครงการฉาว จัดซื้อไมโครโฟนไฮเทค สร้างอุทยานราชภักดิ์ ซื้อเรือดำน้ำสัญชาติจีน สร้างรัฐสภาแห่งใหม่ และซื้อรถเมล์เอ็นจีวี สร้างความเสียหายรวม 18,741 ล้านบาท ด้าน “วัชระ เพชรทอง” ชี้ อาจเกี่ยวข้องกับการระดมทุนตั้งพรรค

ขณะนี้หลายฝ่ายเริ่มตั้งข้อสังเกตว่าในยุครัฐบาล คสช.ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งประกาศกร้าวว่าจะกวาดล้างการทุจริตในประเทศไทยให้สิ้นซาก แต่ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมากลับปรากฏเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปัญหาการคอร์รัปชันในโครงการน้อยใหญ่หลายต่อหลายโครงการ ขณะที่ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เกี่ยวกับดัชนีคอร์รัปชันไทยเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมาก็พบว่า ความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในยุครัฐบาล คสช. เพิ่มขึ้นถึง 37% สูงสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 และคาดว่าสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชันในปี 2561 จะเพิ่มขึ้นเป็น 48%

แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการคอร์รัปชันในแต่ละโครงการ ซึ่งว่ากันว่าสิ่งที่ประชาชนคนไทยต้องสูญเสียจากปัญหาการทุจริตในบางโครงการนั้นมีมูลค่ามากกว่างบประมาณรายจ่ายประจำปีเสียอีก หากไล่เรียงดูจะพบว่าในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมามีโครงการที่ถูกจับตาเรื่องการทุจริตอยู่ไม่น้อย  เรียกได้ว่าเข้ามาบริหารประเทศเพียงสัปดาห์กว่าๆ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็มีข่าวฉาวเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างเสียแล้ว เพราะหลังจากที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2557 ต้นเดือนกันยายนปีเดียวกันก็มีเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับ “การจัดซื้อไมโครโฟนไฮเทค” ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับที่ใช้ในห้องประชุมทำเนียบขาว ของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพื่อติดตั้งภายในห้องประชุมตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล จำนวน 3 ห้อง คือ ห้อง 301, 302 และห้อง 501 รวมทั้งหมด 89 ตัว ซึ่งสนนราคาสูงถึงตัวละ 1.45 แสนบาท แต่ถ้าหากคิดเหมารวมทั้งระบบไมโครโฟนชุดประชุมของทั้ง 3 ห้องแล้ว ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 37 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณที่ใช้ในการปรับปรุงห้องประชุมทั้ง 3 ห้อง ซึ่งตั้งไว้ที่ 69 ล้านบาท

 ขณะที่จากการตรวจสอบพบว่า ไมโครโฟนยี่ห้อนี้ รุ่นนี้ ราคาในท้องตลาดอยู่ที่ชุดละ 99,000 บาทเท่านั้น ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดราคาจึงต่างกันเกือบ 5 หมื่นบาท ซึ่งเท่ากับว่ามูลค่ารวมที่สำนักนายกรัฐมนตรีจัดซื้อนั้นสูงกว่าราคาตลาดถึง 4,094,000 บาท

กรณีดังกล่าวทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจในความโปร่งใสของการใช้จ่ายงบประมาณตั้งแต่แรกที่เข้ามาบริหารประเทศเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี ต่อมาคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้เข้ามาตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว โดย พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้แถลงผลการตรวจสอบว่า “ไม่ถึงขั้นมีการทุจริต เพียงแต่ส่วนต่างมันเยอะ จึงทำให้มองไม่ดี” จึงเกิดเป็นวลีที่บรรดาสื่อมวลชนเมาท์มอยถึงโครงการดังกล่าวว่า... “ไม่โกง แค่ส่วนต่างเยอะ”

อีกโครงการที่ปรากฏภาพการทุจริตในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน คือในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2558 ก็คือ “โครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์” ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเงินที่ใช้ในการก่อสร้างนั้นแท้จริงแล้วมาจาก “เงินบริจาค” ไม่ใช่งบประมาณของภาครัฐ แต่กลับปรากฏว่าหน่วยงานของกองทัพบก เช่น กรมกิจการพลเรือนทหารบก (กร.ทบ.) กรมยุทธโยธาทหารบก (ยย.ทบ.) เป็นต้น ได้มีการเบิกจ่ายเงินบางส่วนเพื่อใช้ในโครงการนี้ นอกจากนั้นจากการการตรวจสอบของนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ยังพบว่ามีการใช้ “งบกลาง” กว่า 63 ล้านบาทเพื่อจัดสร้างโครงการดังกล่าว

แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือจากการขุดคุ้ยของสื่อมวลชนพบว่ายอดที่มีผู้บริจาคให้แก่โครงการนี้มีอย่างน้อย 468 ล้านบาท ขณะที่ยอดบริจาคที่แจ้งในเว็บไซต์ของกองทัพบกและหน่วยงานในสังกัดระบุกลับมีเพียง 292 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งต่างกันถึง 176 ล้านบาท อย่างไรก็ดีกองทัพปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ซึ่งยิ่งทำให้สังคมฟันธงตรงกันว่าโครงการนี้มีปัญหาเรื่องความโปร่งใสอย่างแน่นอน

โครงการต่อมาที่อื้อฉาวไม่แพ้กันก็คือ “การจัดซื้อเรือดำน้ำ Yuan Class S26T จากสาธารณรัฐประชาชนจีน” จำนวน 1 ลำ วงเงิน 1.35 หมื่นล้านบาท จากโครงการทั้งหมดที่ต้องจัดซื้อ 3 ลำ ในวงเงิน 36,000 ล้านบาท (ตกลำละ 12,000 ล้านบาท) โดยเป็นการจ่ายเงินแบบผูกพันงบประมาณ 3-4 ปี ของกองทัพเรือ ซึ่งสังคมเกิดความเคลือบแคลงใจว่าเดิมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต่างก็ชี้แจงถึงเหตุผลเลือกศึกษาและจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนว่าเนื่องจากมีข้อเสนอสุดพิเศษ ด้วยโปรโมชันซื้อ 2 แถม 1 แต่พลันที่เรื่องออกมาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีกลับกลายเป็นว่ารัฐบาลไทยตกลงซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนในราคาที่มีส่วนลดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ใช่ราคาซื้อ 2 แถม 1 อย่างที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้

ขณะที่วงในระบุว่าราคาที่เจรจากันไว้เบื้องต้นนั้นอยู่ที่ประมาณลำละ 8 พันล้านบาท ส่วนราคาขายจริงประมาณ 12,000 ล้านบาท หากซื้อ 2 แถม 1 จะใช้งบประมาณ 24,000 ล้านบาท ซึ่งก็ยังต่ำกว่างบประมาณที่รัฐบาลชี้แจงถึง 12,000 ล้านบาท จึงทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความโปร่งใสในการจัดซื้อดังกล่าว

นอกจากนั้นสังคมยังแสดงความวิตกในเรื่องของคุณภาพ และความจำเป็นในการจัดซื้อเรือดำน้ำซึ่งรัฐบาลอ้างว่าเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้แก่กองทัพเรือไทย ด้วยหลายฝ่ายเกรงว่าจะซ้ำรอยกับกรณีการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพในหลายครั้งที่ผ่านมาซึ่งต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลไปกับยุทโธปกรณ์ที่ไร้คุณภาพและไม่สามารถนำมาใช้งานได้จริง ถูกทิ้งให้กลายเป็นซากปรักหักพังไปในที่สุด ดังเช่นการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ (จีที 200) เรือเหาะ และรถหุ้มเกราะ ที่กลายเป็นประเด็นอื้อฉาวเมื่อหลายปีก่อน
( บน )ภาพจำลอง โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ (ภาพจากแฟ้ม)
อีกโครงการที่ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักก็คือการทุจริต “การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่” ซึ่งมีข้อครหากรณีการปรับเพิ่มงบประมาณในโครงการติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเป็น 8,000 ล้านบาทจากเดิมที่ตั้งไว้เพียง 3,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่างบประมาณในส่วนนี้เพิ่มขึ้นถึง 5,000 ล้านบาท อีกทั้งมีการขยายระยะเวลาก่อสร้างให้ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ถึง 4 ครั้ง รวม 1,482 วัน จากเดิมที่กำหนดให้ก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 900 วัน ซึ่งการต่อสัญญารอบที่ 4 นั้น ส่งผลให้ซิโน-ไทย สามารถขยายเวลาก่อสร้างได้ถึงวันที่ 15 ธ.ค. 2562 จากเดิมที่ต้องเสร็จใช้การได้ ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2558 ทั้งนี้หากไม่ขยายเวลาให้ผู้รับเหมาต้องเสียค่าปรับวันละ 12 ล้านบาท จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่ากรณีนี้ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนโดยไม่ชอบหรือไม่ ที่สำคัญปฏิเสธไม่ได้ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นั้นมีที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ขณะที่รัฐบาล คสช.นั้นประกาศจะก้าวสู่สนามการเมืองในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ท่ามกลางกระแสข่าวการหาทุนรอนเพื่อทำพรรคการเมืองที่ว่ากันว่าสูงถึง 40,000 ล้านบาท

นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ซึ่งเกาะติดตรวจสอบการทุจริตในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่อย่างต่อเนื่อง ระบุว่า โครงการดังกล่าวมีการคอร์รัปชันสูงมาก เฉพาะในส่วนของโครงการ ICT ก็คอร์รัปชันกันถึง 150%

นอกจากนั้นยังมี “โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี” 489 คัน วงเงินงบประมาณ 4,261 ล้านบาท ซึ่งบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ได้รับสัมปทานในการจัดหารถดังกล่าว โดยวงในระบุว่าเดิมบริษัทดังกล่าวยื่นประมูลไว้ในวงเงิน 3,800 ล้านบาทเท่านั้น แต่งบประมาณการจัดซื้อกลับเพิ่มขึ้นถึง 461 ล้านบาท นายวัชระ เพชรทอง จึงออกมาเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ดำเนินการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลดังกล่าว

ขณะเดียวกันก็ยังมีความเสียหายที่เกิดจากกรณีที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้แก่ บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำนวน 1,100 ล้านบาท หลังจากบริษัทดังกล่าวได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก ขสมก. กรณีที่ยกเลิกสัญญาจัดซื้อจัดจ้างรถเมล์เอ็นจีวีโดยมิชอบ ซึ่งทางด้าน ขสมก.อยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์ ซึ่งหากสุดท้ายแล้ว ขสมก. แพ้คดีและต้องจ่ายค่าชดเชย ก็เท่ากับว่ารัฐบาลน่าจะได้รับความเสียหายจากความไม่โปร่งใสของโครงการนี้รวมแล้วไม่น้อยกว่า 1,561 ล้านบาทเลยทีเดียว

ทั้งนี้กล่าวได้ว่าปัญหาความไม่โปร่งใสเฉพาะ 5 โครงการดังกล่าวข้างต้น สร้างความเสียหายรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 18,741 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่ต้องแบกรับความเสียหายดังกล่าวหาใช่ผู้มีอำนาจบารมีที่ไหน หากแต่เป็นประชาชนคนไทยซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีนั่นเอง
นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์
นายวัชระ ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาการทุจริตในโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์นั้นส่อเค้าว่าอาจจะเกี่ยวพันกับการระดมทุนในการก่อตั้งพรรคการเมืองหรือไม่อย่างไร

จากที่ได้ยินบรรดาผู้รับเหมาพูดกันว่าคนที่เรียกรับผลประโยชน์จากกลุ่มธุรกิจให้เหตุผลว่าต้องหาเงินช่วยนายตั้งพรรค ซึ่งการทุจริตดังกล่าวเกิดขึ้นในยุคที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรคอยตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณของนักการเมืองและข้าราชการตั้งแต่ปลายปี 2557 ถึงปัจจุบัน เป็นไปตามอำเภอใจ ไม่มีการตรวจสอบ” นายวัชระกล่าว

และนี่คือบางส่วนของโครงการภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล คสช. ซึ่ง ณ วันนี้ กลายเป็นหนึ่งในรัฐบาลที่ถูกตั้งคำถามเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันไม่แพ้รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร !



กำลังโหลดความคิดเห็น