xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมกายปักหมุดกัมพูชา รุกจัดอีเวนต์ขยายศรัทธา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธรรมกายล้ำลึกขยายฐานยึดหลัก AEC เจาะพม่าสำเร็จ เริ่มขยายฐานไปกัมพูชา ใช้สูตรสำเร็จเข้าทางพระผู้ใหญ่ในประเทศนั้น “พระพรชัย พิญญพงษ์” คีย์แมนสำคัญ เชิญดูงานธรรมกาย จากนั้นให้ความช่วยเหลือ มอบรางวัลผู้นำพุทธโลกให้ เบิกทางจัดกิจกรรมในต่างประเทศ เริ่มด้วยงานบรรพชาสามเณร 1,000 รูป เพิ่มฐานผู้ศรัทธาไปในตัว เผยเป้าหลักต้องการเจาะ “ลาว” แต่ถูกรัฐบาลลาวสกัด ส่วนมาเลเซียยังไม่คืบ
พิธีบรรพชาสามเณรที่วัดโสริยาราม จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา 27 เมษายน 2561(ภาพ FB:Phrapan Kudtajidto Cambudia)
ไม่ว่าภายในประเทศไทยจะมีทั้งผู้ที่ศรัทธาและไม่ศรัทธาวัดพระธรรมกายเป็นอย่างไร หรือแม้แต่วิกฤตปิดล้อมวัดพระธรรมกายเมื่อปี 2560 ด้วยมาตรา 44 ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจทำให้ภาพลักษณ์ของวัดที่ใหญ่ที่สุดแห่งนี้ดูแย่ลง แถมพระธัมมชโยถูกถอดสมณศักดิ์ออกจากพระเทพญาณมหามุนี ผู้คนที่เคยศรัทธาอาจหดหายไป

ดูเหมือนคณะผู้บริหารของวัดพระธรรมกายได้มองเหตุการณ์เหล่านี้เอาไว้อยู่แล้ว และเตรียมขยายฐานของผู้ศรัทธาไม่ได้ถูกจำกัดไว้เฉพาะภายในประเทศไทย แม้วัดพระธรรมกายจะมีสาขาอยู่ทั่วโลกหลายแห่ง แต่การรุกขยายฐานผู้ศรัทธาในต่างแดนนั้นดำเนินการอย่างจริงจังที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยก่อน

ยึดฐานพม่าสำเร็จ

ประเทศที่มีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าติดกับประเทศไทยนั้น เมียนมาร์ นับว่าเป็นประเทศที่ทางวัดพระธรรมกายทำการสร้างสัมพันธ์กับเครือข่ายสงฆ์ในพม่ามายาวนาน ตั้งแต่ปี 2550 ที่ทีมงานวัดพระธรรมกายรุกจานดาวเทียม DMC โดยมอบให้กับวัดต่าง ๆ ในพม่า และเมื่อพม่าประสบภัยพิบัติพายุนาร์กิสถล่มเมื่อปี 2551 ทางธรรมกายได้ให้ความช่วยเหลือครั้งใหญ่

จากนั้นก็มีกิจกรรมสานสัมพันธ์กับคณะสงฆ์ในพม่ามาอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมใดที่ทางวัดพระธรรมกายมี ก็มีการจัดที่พม่าเช่นกัน

อย่างการเดินธุดงค์ธรรมชัย ก็มีการจัดที่เมืองทวาย พม่า เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2557 มีการโปรยดอกดาวเรืองบนทางเดินให้กับพระที่ร่วมในกิจกรรมเช่นเดียวกับเมืองไทย

กิจกรรมใหญ่ของทางวัดพระธรรมกายที่จัดขึ้นในพม่าคือ พิธีตักบาตรพระ 10,000 รูป ที่มัณทะเลย์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2558

ความสัมพันธ์ระหว่างวัดพระธรรมกายกับคณะสงฆ์พม่าพัฒนามากขึ้น จนองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก(ยพสล.) โดยนายแพทย์พรชัย พิญญพงษ์ ประธาน ได้มอบรางวัลผู้นำพุทธโลก ให้องค์กรสันติภาพมะบะธะแห่งสหภาพเมียนมาร์ เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2559

จากนั้นเปิดโอกาสให้ชาวพม่าที่มาทำงานในประเทศไทยเข้าทำบุญที่วัดพระธรรมกาย 2 ครั้งในปี 2560 คือเมื่อ 27 สิงหาคมและ 19 พฤศจิกายน 2560 แต่ละรอบมีชาวพม่าเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1 หมื่นคน

ที่ฮือฮาเป็นอย่างมากนั่นคือพิธีตักบาตรอาหารแห้งพระภิกษุ 20,000 รูป ที่เมืองมัณฑะเลย์ พม่า เมื่อ 21 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นพิธีตักบาตรพระครั้งที่ 2 ที่ธรรมกายเข้าไปจัดงาน พระจำนวนมากเข้าร่วมในพิธี พร้อมด้วยการเผยแพร่ภาพที่ยิ่งใหญ่อลังการจนเป็นที่กล่าวถึงกันทั่ว และยังมีการจัดงานตักบาตรพระอีก 3,000 รูปที่เมียวดี ตามหลังมาอีกงานหนึ่งเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นการตักบาตรพระสงฆ์เป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของเมืองเมียวดี

หรือแม้แต่กิจกรรมธรรมยาตราระหว่าง 2-31 มีนาคม 2561 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ก็ยังมีการบรรจุพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครที่มีแรงงานชาวพม่าทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นหนึ่งในจุดที่ทำกิจกรรม ทั้ง ๆ ที่จังหวัดดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ของหลวงพ่อสด

นั่นคือความสำคัญของวัดพระธรรมกายที่จัดให้กับแรงงานพม่าในประเทศไทยโดยเฉพาะ แต่สุดท้ายก็ยกเลิกกิจกรรมที่จังหวัดสมุทรสาครไป หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป้าหมายหลักเพราะต้องการเงินทำบุญจากชาวพม่า

รุกตลาดใหม่-กัมพูชา

อีกกิจกรรมหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของวัดพระธรรมกายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน นั่นคือ โครงการบรรพชาสามเณร AEC 1,000 รูป ณ เมืองพระตะบอง ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 23 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2561 พิธีบรรพชาจัดขึ้นวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2561 ณ วัดโสริยาราม อำเภอโมงฤาษี จังหวัดพระตะบอง

ตอนนี้น่าจะเป็นการให้น้ำหนักในการขยายฐานไปยังกัมพูชามากขึ้น หลังจากที่ทำสำเร็จในพม่ามาแล้ว ซึ่งทางวัดพระธรรมกายเองได้หันมาให้ความสำคัญกับประเทศในแถบ AEC มากขึ้น ด้วยโครงการบรรพชาสามเณรมัธยมปลายต้นแบบสู่ AEC ปี 2557

การผูกสัมพันธ์ระหว่างวัดพระธรรมกายกับคณะสงฆ์จากกัมพูชานั้น เห็นได้จากวันคุ้มครองโลก 22 เมษายน 2559 ครั้งนั้นสมเด็จพระสังฆราชเทพวงศ์ ประเทศกัมพูชา ได้ร่วมงานวันคุ้มครองโลก และงานตักบาตร 100,000 รูป ณ วัดพระธรรมกาย

ท่านพูดกับคณะทุกคนว่าท่านปลื้มที่ได้มาเยือนวัดพระธรรมกายในครั้งนี้ ได้เห็นการจัดตักบาตร 100,000 รูป ที่เป็นระบบระเบียบสวยงาม ท่านจึงพูดกับคนกัมพูชาว่า เมื่อไรประเทศเราถึงจะจัดแบบเขาได้ จะได้ปลื้มกัน เลขาฯ พระสังฆราชท่านบอกอีกว่า ท่านหายเหนื่อยเลยเมื่อเห็นเด็กน้อย(ลูกเณร)บวชกัน

จากนั้น 13 พฤษภาคม 2559 พระเทพญาณมหามุนี เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ถวายผ้าไตร 500 ไตร แด่พระครูปราสาทรังศรี ลาจเลียง เจ้าคณะอำเภอเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา เพื่อสนับสนุนโครงการบวชสามเณรกว่า 1,060 รูป เนื่องในวันวิสาขบูชา อบรมระหว่าง 15-21 พ.ค. 2559 ณ นครวัด เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา

ตามด้วยพระโซเฮียน ปฏิพโล พร้อมด้วยชาวกัมพูชา 400 กว่าท่าน จากโรงงานบีฟูดท์ จังหวัดลพบุรี 200 ท่าน โรงงานแคลคอม จังหวัดเพชรบุรี 100 กว่าท่าน และจากกอฟล์แมนชั่น จังหวัดปทุมธานี 120 ท่าน ได้เดินทางมาร่วมสักการะพระมหาธรรมกายเจดีย์ พระมหาเจดีย์พระพุทธเจ้าล้านพระองค์ เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2559

จนกระทั่งฝ่ายกัมพูชาได้มอบใบตราตั้งแต่งตั้งพระวิเทศธรรมาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายไทยเป ไต้หวัน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เป็นที่ปรึกษาสมเด็จพระอัคคมหาสังฆราชาธิบดี(เทพ วงษ์) ฝ่ายมหานิกาย ที่วัดอุณาโลม พนมเปญ กัมพูชา เมื่อ 15 มกราคม 2561

ปิดท้ายด้วยพระสุเมธาธิบดีนนเง็ก สังฆนายก ราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นประธานในพิธีถวายรางวัลผู้นำพุทธโลกแก่สมเด็จพระวันรัตน์น้อยจรัส รองสังฆนายกลำดับที่ 3 แห่งประเทศกัมพูชา และมหาอุบาสิกาอีก 3 ท่าน ที่สนับสนุนกิจการพระพุทธศาสนามาตลอด เมื่อ 14 มีนาคม 2561

จนกลายเป็นที่มาของโครงการบรรพชาสามเณร 1,000 รูปที่ประเทศกัมพูชา

รางวัลผู้นำพุทธโลก-เครื่องมือเบิกทาง

สูตรของการสร้างสัมพันธ์ของวัดพระธรรมกายกับคณะสงฆ์จากประเทศอื่นนั้น จะดำเนินการผ่านนายแพทย์พรชัย พิญญพงษ์ ลูกศิษย์คนสำคัญของวัดพระธรรมกาย ที่เคยเป็นประธานองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก(ยพสล.) World Fellowship of Buddhist Youth หรือ WFBY เป็นหน่วยงานขับเคลื่อน ทั้งการร่วมจัดกิจกรรมกับวัดพระธรรมกายและเชิญเครือข่ายจากต่างประเทศมาศึกษางานที่วัดพระธรรมกาย

เมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมกับทางวัดพระธรรมกายแล้ว ทางธรรมกายจะให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ในทางสงฆ์กับประเทศเหล่านั้น

เครื่องมือที่สำคัญของนายแพทย์พรชัย คือ การมอบรางวัลผู้นำพุทธโลก ให้กับบุคคลต่าง ๆ ที่ทางทีมงานเห็นสมควร ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการบุกเบิกเส้นทางของวัดพระธรรมกายหรือเป็นบุคคลที่ทางธรรมกายให้การสนับสนุน เพียงแต่แยกหน่วยงานนี้ออกจากทางวัดเพื่อป้องกันการถูกเชื่อมโยง

ทั้งนี้จากการมอบรางวัลให้องค์กรมะบะธะในพม่า ซึ่งเป็นองค์กรที่มีพระวีระธุให้การสนับสนุนอยู่ จึงทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก หลังจากนั้นถูกปลดออกจาก WFBY เมื่อเดือนเมษายน 2559 แต่ยังคงใช้องค์กรนี้ขับเคลื่อนกดดันรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงที่มีการใช้มาตรา 44 ปิดล้อมวัดพระธรรมกาย

จากนั้นจึงไปหาองค์กรใหม่ในประเทศศรีลังกา ใช้ชื่อว่า องค์กรผู้นำพุทธโลก (World Alliance of Buddhist Leader) หรือ WABL มอบรางวัลให้กับบุคคลต่าง ๆ เช่นเดิม อย่างเช่นที่มาเลเซียและกัมพูชา

รางวัลเหล่านี้เท่ากับเป็นใบเบิกทางความสัมพันธ์ในการเข้าไปร่วมจัดงานให้กับคณะสงฆ์ในประเทศนั้น ความยิ่งใหญ่ อลังการ ภาพสวย ผ่านสื่อต่าง ๆ เป็นเทคนิคสำคัญที่สร้างความประทับใจให้กับประเทศเจ้าภาพ นั่นเท่ากับการขยายฐานความศรัทธาในประเทศนั้นประสบความสำเร็จ

นอกจากเราจะได้เห็นความยิ่งใหญ่ของวัดพระธรรมกายที่ขยายตัวไปยังประเทศต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งแนวทางหากสถานการณ์ภายในประเทศไม่เป็นใจ ฐานลูกศิษย์ในประเทศลดน้อยลง ยังมีลูกศิษย์ภายใต้เครือข่ายในต่างประเทศพร้อมให้การสนับสนุน หรือแม้เกิดเหตุร้ายกับวัดพระธรรมกาย เครือข่ายระดับประเทศเหล่านั้นย่อมพร้อมที่จะช่วยกดดัน เห็นได้จากคณะสงฆ์ในพม่าได้มายื่นเรื่องประท้วงที่สถานทูตไทยเมื่อครั้งวัดพระธรรมกายถูกปิดล้อม

พยายามเจาะลาว-ยังไม่สำเร็จ

ทางธรรมกายพยายามขยายไปในประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่ง พม่าสำเร็จเพราะเข้าถึงพระวีระธุ พระผู้นำของชาวพม่า แล้วขยายเพิ่มมาที่กัมพูชาซึ่งเป็นไปได้ด้วยดี เนื่องจากพระผู้ใหญ่ที่กัมพูชารู้สึกดีกับวัดพระธรรมกาย อย่างก่อนเริ่มโครงการธรรมยาตราของวัดพระธรรมกาย เมื่อ 1 มีนาคม 2561 คณะสงฆ์จากจังหวัดพระตะบอง กัมพูชา ได้เดินทางมาดูการเตรียมงานโครงการธรรมยาตรา เพื่อนำไปปรับใช้ในงานโครงการบรรพชาสามเณร 1,000 รูป ที่กัมพูชา

อย่างมาเลเซีย ธรรมกายก็พยายามเข้าไป แต่อาจมีข้อจำกัดในเรื่องของประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ อีกประเทศหนึ่งที่ธรรมกายพยายามเจาะเข้าไปแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จนัก นั่นคือประเทศลาว แม้คณะสงฆ์ในลาวอยากจะจัดกิจกรรมร่วมกับวัดพระธรรมกาย แต่ติดตรงที่ทางรัฐบาลของลาวไม่อนุญาต



กำลังโหลดความคิดเห็น