กระทรวงแรงงานจัดหนัก เร่งออกกฎหมาย ดูแลลูกจ้างหลังเกษียณ กำหนดรับเงินก้อนชดเชยตามอายุงาน พร้อมทั้งเตรียมขยายอัตราค่าชดเชย ทำงานต่อเนื่องครบ 20 ปี รับค่าชดเชยทันที 400 วัน ขณะที่สำนักงานประกันสังคมเดินหน้าปรับสูตรคำนวณบำนาญชราภาพใหม่ ขยายอายุเกิดสิทธิจาก 55 เป็น 60 พร้อมการันตีรับบำนาญอย่างน้อย 5 ปี หากตายก่อนผลประโยชน์ตกแก่ทายาท ส่วนผู้ที่ถูกนายจ้างบังคับให้ออกก่อนอายุ 60 รับบำเหน็จ 10-30 เท่าของบำนาญ กระทั่งอายุครบเกณฑ์ ด้านเลขาฯ ประกันสังคม ระบุ รอทำประชาพิจารณ์อีกครั้ง
ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งแนวโน้มคนสูงวัยใกล้เกษียณนับวันจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงเร่งหาแนวทางที่จะดูแลคนกลุ่มนี้ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีและมีความมั่นคงในบั้นปลายชีวิต โดยเฉพาะลูกจ้างและพนักงานบริษัทซึ่งไม่ได้มีบำเหน็จบำนาญเหมือนกับผู้ที่รับราชการ โดยกระทรวงแรงงานได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้เกษียณอายุและผู้ที่ทำงานมานานแต่ถูกเลิกจ้าง
สิทธิประโยชน์ซึ่งลูกจ้างทุกบริษัทที่เกษียณอายุจะได้รับเพิ่มขึ้นนั้นจะมาจาก 2 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนแรกได้รับจากนายจ้าง ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน และอีกส่วนได้รับจากกองทุนประกันสังคมที่ลูกจ้างแต่ละบริษัทได้ส่งเงินเข้ากองทุนไว้ฯ ซึ่งเรื่องนี้ทางสำนักงานประกันสังคมจึงได้ดำเนินการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ในส่วนของสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างควรได้รับจากนายจ้างนั้นกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และออกพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้มีการเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการเกษียณอายุและการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ โดยได้เพิ่มมาตรา 118/1 ซึ่งระบุว่า การเกษียณอายุตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน หรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้ให้ถือว่าเป็น “การเลิกจ้าง” ตามมาตรา 118 วรรคสอง นายจ้างจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยจากการเลิกจ้างให้แก่ลูกจ้างตามอายุงานของลูกจ้าง
ส่วนในกรณีที่มิได้มีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้ หรือมีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่า 60 ปี ให้ลูกจ้างที่มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไปมีสิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุได้ โดยให้แสดงเจตนาต่อนายจ้างและให้มีผลเมื่อครบ 30 วัน นับแต่วันแสดงเจตนา และให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุนั้น โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2560 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีแนวทางจะเพิ่มค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งปัจจุบันอยู่
ระหว่างการจัดทำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นการปรับปรุงแก้กฎหมายแรงงานเพื่อเพิ่มอัตราค่าชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างให้เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น จากเดิมอัตราค่าชดเชยกรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิดนั้น กำหนดอยู่ 5 อัตรา คือ 1.ลูกจ้างทำงานต่อเนื่องครบ 120 วัน ได้รับค่าชดเชย 30 วัน 2.ลูกจ้างทำงานครบ 1 ปี ได้รับค่าชดเชย 90 วัน 3.ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 6 ปี ได้รับค่าชดเชย 180 วัน 4.ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 8 ปี ได้รับค่าชดเชย 240 วัน และ 5.ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 10 ปี ได้รับค่าชดเชย 300 วัน
แต่กฎหมายฉบับใหม่ได้เพิ่มอัตราที่ 6 คือ หากทำงานต่อเนื่องครบ 20 ปี จะได้รับค่าชดเชย 400 วัน
นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะทำงานร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้พระราชบัญญัติดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้ว และได้ส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจร่างกฎหมาย เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบแล้วเสร็จจะส่งกลับมายังคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง จากนั้นก็จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป
“ตอนนี้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) อยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา ซึ่งจากการสอบถามทราบว่าจะส่งกลับมาที่กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ภายในเดือนเมษายนนี้ จากนั้นกระทรวงก็จะส่งเรื่องให้ ครม. เพื่อเสนอเข้าสภาต่อไป ซึ่งแต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลา ดังนั้นเชื่อว่ากฎหมายนี้คงไม่สามารถออกมาใช้ได้ทันวันแรงงาน หรือวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ตามที่มีการคาดการณ์แน่นอน”
นายมนัส บอกว่า ร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับที่ 7 นี้ถือเป็นกฎหมายสำคัญที่จะช่วยให้ลูกจ้างที่ทำงานมานานได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรม อย่างไรก็ดีเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่นายจ้างด้วย ลูกจ้างที่จะรับเงินชดเชยตามข้อกำหนดดังกล่าวต้องทำงานในบริษัทเดียวกันอย่างต่อเนื่องตามเวลาที่ระบุ จึงจะได้รับค่าชดเชยจากบริษัท 400 วัน ส่วนลูกจ้างที่ทำงานเข้า ๆ ออก ๆ แม้จะครบ 20 ปีก็จะไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว
อย่างไรก็ดี นอกจากลูกจ้างบริษัทเอกชนที่เกษียณอายุจะได้รับเงินก้อนดังกล่าวแล้ว ยังจะได้รับสิทธิประโยชน์ในเรื่องของบำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคมซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการ “ปฏิรูประบบบำนาญกองทุนประกันสังคม” โดยจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของลูกจ้างและนายจ้างทั้งในกรุงเทพมหานครและภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อให้เป็นระบบบำนาญที่สอดคล้องกับความต้องการของทุกฝ่ายมากที่สุด โดย ล่าสุดสำนักงานประกันสังคมได้ข้อสรุปเป็นนโยบาย 3 ประการด้วยกันคือ
1. ขยายอายุการเกิดสิทธิเริ่มรับเงินบำนาญ จากเดิม 55 ปี เป็น 60 ปี ภายในระยะเวลา 10 ปี โดยจะทยอยปรับขยายอายุ ทุก ๆ 2 ปี คือปีแรกที่บังคับใช้ ผู้ประกันตนเริ่มมีสิทธิรับเงินบำนาญตั้งแต่อายุ 55 ปี อีก 2 ปีถัดไป ผู้ประกันตนมีสิทธิรับเงินบำนาญตั้งแต่อายุ 56 ปี จากนั้นอีก 2 ปี มีสิทธิรับเงินบำนาญตั้งแต่อายุ 57 ปี โดยจะขยายอายุในลักษณะนี้ไปจนกว่าจะขยายอายุครบ 60 ปี ซึ่งระบบนี้เป็นระบบที่จะสร้างความมั่นคงให้แก่ผู้ประกันตน เพราะผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญไปตลอดชีวิต โดยในช่วงเปลี่ยนผ่าน อาจมีผู้ประกันตนบางรายถูกบริษัทบังคับให้เกษียณตั้งแต่ก่อนที่จะมีสิทธิรับบำนาญชราภาพ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกบังคับเกษียณที่อายุ 55 ปี ทางสำนักงานประกันสังคมจะให้การช่วยเหลือโดยในแต่ละปีที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์รับบำนาญ ประกันสังคมจะจ่ายบำเหน็จให้ 10 เท่าของบำนาญ 1 เดือน เช่น ถูกบังคับเกษียณตอนอายุ 55 ปี อายุรับบำนาญอยู่ที่ 56 ปี ก็จะได้บำเหน็จ 10 เท่าของบำนาญ 1 เดือน หากอายุรับบำนาญอยู่ที่ 57 ปี จะได้บำเหน็จ 20 เท่าของบำนาญ 1 เดือน ทั้งนี้สูงสุดไม่เกิน 30 เท่า
2. การันตีระยะเวลาการรับเงินบำนาญอย่างน้อย 5 ปี หากเสียชีวิตก่อนครบ 5 ปี ผลประโยชน์บำนาญรายเดือนที่เหลือในส่วนที่ยังไม่ครบ 5 ปี จะตกแก่ทายาท โดยจ่ายเป็นรายเดือนให้จนครบ 5 ปี
3. ปรับสูตรการคำนวณเงินบำนาญ จากเดิมที่นำอัตราค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ เปลี่ยนเป็นนำอัตราเงินเดือนตั้งแต่เริ่มทำงานจนกระทั่งสิ้นสุดการทำงานมาเฉลี่ย พร้อมทั้งนำมูลค่าเงินในอดีตแต่ละช่วงเวลามาพิจารณาและปรับเพิ่มให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้เงินบำนาญที่ผู้ประกันตนจะได้รับสอดคล้องกับค่าเงินในปัจจุบันและเกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกันตน
โดยนายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำข้อสรุปดังกล่าวไปจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกันตนและนายจ้างอีกครั้ง จากนั้นจะนำข้อเสนอที่ได้จากการทำประชาพิจารณ์ไปพิจารณาว่าจะต้องมีการปรับปรุงรายละเอียดในเรื่องใดหรือไม่ ก่อนเสนอให้คณะกรรมการประกันสังคมพิจารณา และส่งเรื่องให้กระทรวงแรงงานนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป ดังนั้นกว่าระบบบำนาญที่ผ่านการปฏิรูปจะออกมาบังคับใช้คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
ขณะที่ นายมนัส ในฐานะประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ระบุว่า กรณีที่ประกันสังคมจะขยายอายุการรับบำนาญจาก 55 ปี เป็น 60 ปีนั้น ลูกจ้างบางกลุ่มไม่เห็นด้วย เนื่องจากกิจการบางอย่าง เช่น โรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท ลูกจ้างต้องใช้แรงงานหนัก เมื่ออายุมากขึ้นสภาพร่างกายไม่ไหว อาจจะไม่สามารถทำงานจนถึงอายุ 60 ปีได้
คงต้องติดตามดูต่อไปว่าสุดท้ายแล้วสิทธิประโยชน์จากระบบบำนาญกองทุนประกันสังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากข้อสรุปข้างต้นหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าจากความพยายามของภาครัฐในการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้แรงงานและพนักงานบริษัท โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานที่ใกล้วัยเกษียณจะส่งผลให้ผู้สูงอายุที่เกษียณจากการทำงานไปแล้วมีความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างแน่นอน