xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มต้านถ่านหินเตรียมเคลื่อนไหว ชี้ตั้งกรรมการ SEA ขัด MOU

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดประวัติ 4 กรรมการ SEA ล้วนชมรมคนหนุนถ่านหิน ด้าน “ประสิทธิ์ชัย” ชี้ กรรมการขาดคุณสมบัติ ไม่เป็นกลาง ผิดเงื่อนไขใน MOU การแต่งตั้งถือเป็นโมฆะ พร้อมเผย เครือข่ายต้านถ่านหินกระบี่-เทพา เร่งหารือ เตรียมรวมพลเคลื่อนไหว ให้เวลารัฐบาลแค่หลังสงกรานต์

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยทีเดียวสำหรับการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นเกม “ปาหี่” ซื้อเวลา ภายใต้วาระปักธงสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในดินแดนด้ามขวานให้จงได้ เนื่องเพราะกรรมการดังกล่าวถูกแต่งตั้งขึ้นหลังจากที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประกาศยกเลิกผลการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และยุติกระบวนการจัดทำ EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ฉบับใหม่ ที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นห่วงเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เชื่อว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินถูกล้มเลิกไปแล้ว และกรรมการชุดใหม่ที่ตั้งขึ้นมาจะเป็นผู้หาทางออกเรื่องพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ แต่สุดท้ายเมื่อรายชื่อคณะกรรมการปรากฏออกมาทำให้เชื่อได้ว่ากรรมการชุดนี้อาจมารับไม้ต่อทำหน้าที่ปลุกปั้นผลักดันโครงการให้สำเร็จเป็นรูปธรรม

เพราะจากรายชื่อกรรมการทั้งหมด 19 คนนั้น 4 คนเป็นนักวิชาการที่สนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบสุดลิ่มทิ่มประตู ขณะที่ตัวแทนภาครัฐ 4 คน ซึ่งถือว่าเป็นภาคส่วนที่มีความจำเป็น ก็ยังไม่อาจมั่นใจได้ว่าจะพิจารณาจากข้อเท็จจริงหรือพิจารณาบนพื้นฐานของนโยบายรัฐ ในทางกลับกันกลับไม่มีตัวแทนฝ่ายต้านถ่านหินร่วมเป็นกรรมการเลย และที่น่าสังเกตคือผู้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวซึ่งจะมาทำหน้าที่กำหนดเกณฑ์การคัดเลือกผู้ศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ พร้อมให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ คือ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน” จึงมีคำถามตามมาว่าหากกระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เหตุใดจึงแต่งตั้งนักวิชาการหนุนถ่านหินเข้ามาเป็นกรรมการถึง 4 คน ?

นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ชี้ถึงความผิดปกติในการแต่งตั้งคณะกรมการ SEA ว่า จริง ๆ ก่อนหน้านี้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ SEA ขึ้นมาชุดหนึ่งแล้ว แต่พอกลุ่มหนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นมาชุมนุมประท้วงที่หน้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงพลังงานก็มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อกรรมการใหม่ โดยตัด ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ให้มุมมองในเรื่องความขัดแย้งในพื้นที่ และ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล และรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งพูดเรื่องโซลาร์เซลล์ ออกไป ขณะเดียวกันก็มีการแต่งตั้ง ดร.โสภณ พรโชคชัย นักวิชาการด้านอสังหาริมทรัพย์, ดร.อุริช อัชชโคสิต นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน, ผศ.ดร.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายมนูญ ศิริวรรณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) ซึ่งล้วนเป็นบุคคลที่สนับสนุนการใช้พลังงานถ่านหินอย่างชัดเจน จึงไม่มีความเป็นกลาง ไม่เหมาะสมที่จะร่วมเป็นกรรมการ SEA

ในการทำบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกับทั้งกลุ่มหนุนและกลุ่มต้านถ่านหิน ระบุชัดว่ากระทรวงพลังงานจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อศึกษาว่าพื้นที่จังหวัดกระบี่ และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ โดยนักวิชาการที่มีความเป็นกลางและเป็นที่ยอมรับทั้งสองฝ่าย แต่ที่ผ่านมาการแสดงความคิดเห็นหรือการให้สัมภาษณ์ต่าง ๆ ของกรรมการ 4 ท่านดังกล่าวนั้นปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าเป็นผู้ที่หนุนถ่านหิน ซึ่งทำให้คุณสมบัติของกรรมการขัดกับ MOU ดังนั้นคณะกรรมการ SEA ชุดนี้จึงเป็นโมฆะ”
นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน
นายประสิทธิ์ชัยกล่าวต่อว่า กรรมการชุดนี้เป็นผู้กำหนดคุณสมบัติและคัดเลือกคณะทำงานที่จะลงไปประเมินยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม และประเมินว่าควรสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่และเทพาหรือไม่ หากตั้งกรรมการ SEA ที่ไม่มีความเป็นกลาง เขาก็ย่อมเลือกทีมที่เขาเชื่อว่าผลการประเมินจะออกมาอย่างที่เขาอยากได้ แล้วอย่างนี้ผลการประเมินที่ออกมาจะตรงกับข้อเท็จจริงได้อย่างไร ซึ่งในเบื้องต้นเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานขอให้ถอดถอนนักวิชาการทั้ง 4 คนออกจากการเป็นกรรมการ SEA แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด ซึ่งขณะนี้ทางเครือข่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และเครือข่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา กำลังหารือกันถึงแนวทางในการเคลื่อนไหว

“เนื่องจากกระบี่กับเทพาค่อนข้างไกลกัน การจะเคลื่อนไหวตรงไหนอย่างไรจึงต้องปรึกษากันก่อน เราจะให้เวลารัฐบาลถึงหลังสงกรานต์ หากยังไม่มีคำตอบเราจะเคลื่อนทันที ส่วนจะในรูปแบบใดอีกไม่กี่วันคงได้ข้อสรุป ยืนยันว่าเราไม่อยู่เฉยแน่เพราะนี่คืออนาคตของลูกหลานชาวกระบี่และเทพ

หากพิจารณาจากบริบทและท่าทีของกรรมการ SEA ทั้ง 4 คนที่กำลังเป็นประเด็นแล้วนับว่าน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักวิชาการทั้ง 4 คน ล้วนมีท่าทีสนับสนุนให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงอย่างชัดเจน โดย 3 ใน 4 ได้แก่ นายมนูญ ศิริวรรณ ดร.อุริช อัชชโคสิต และ ผศ.ดร. ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ นั้นเป็นนักวิชาการในชมรมนักวิชาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งทั้งสามได้ร่วมกับนักวิชาการอีก 40 คน ลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เมื่อเดือน ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา
( จากซ้าย ) นายมนูญ ศิริวรรณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) , ดร.อุริช อัชชโคสิต นักวิชาการอิสระด้านพลังงา
ด้านนายมนูญนั้นถือว่าเป็นผู้ที่คลุกคลีอยู่ในธุรกิจพลังงานมาช้านาน ด้วยเป็นลูกหม้อเก่าของเอสโซ่ ก่อนที่จะก้าวไปเติบโตในระดับบริหารของบางจาก ปัจจุบันนั่งเก้าอี้ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันวิชาการพลังงาน กระทรวงพลังงาน

นายมนูญมักให้สัมภาษณ์ฟันธงว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อเสถียรภาพด้านพลังงาน อาทิ เขาได้กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “ผ่าทางตัน : โรงไฟฟ้าถ่านหิน” เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2561 ว่า “แม้ประเทศไทยจะมีกำลังสำรองไฟฟ้าสูง แต่ต้องคำนึงถึงชนิดของเชื้อเพลิงด้วย ซึ่งความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ขณะนี้อาจไม่จำเป็น แต่ในอนาคตต้องสร้างอย่างแน่นอน เพื่อความสมดุลด้านพลังงาน”

คนต่อมาคือ ดร.อุริช นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ซึ่งสนับสนุนให้ใช้ถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเหตุผลเรื่องต้นทุนพลังงานซึ่งมีราคาถูกกว่าพลังงานประเภทอื่น นอกจากเขาจะร่วมลงชื่อเรียกร้องให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้วเขายังประกาศชัดว่าต้องทำให้เทพามีโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ได้

 ดร.อุริชได้กล่าวในงานเสวนา “เจาะลึกประเด็นร้อนโรงไฟฟ้าถ่านหิน-บุหรี่ไฟฟ้า นวัตกรรมช่วยลดผลกระทบเชิงลบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้จริงหรือไม่?” ซึ่งจัดโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมาว่า

“ผมให้คำมั่นสัญญากับชาวเทพาไว้ว่า จะช่วยนำโรงไฟฟ้าถ่านหินไปให้ชาวเทพา เพื่อให้ชาวเทพามีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต มีงานทำ มีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคง และถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงแข็ง ที่นานาอารยประเทศก็ล้วนต้องใช้กันทั้งสิ้น มีราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงเหลว และก๊าซ ถ่านหินจะสร้างความมั่นใจว่า เราจะมีไฟฟ้าใช้ในราคาที่แข่งขันกันได้กับประเทศอื่น ๆ
( จากซ้าย )ผศ.ดร.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.โสภณ พรโชคชัย นักวิชาการด้านอสังหาริมทรัพย์
ส่วน ผศ.ดร.ฐิติศักดิ์ เป็นนักวิชาการจากรั้วมหาวิทยาลัย โดยมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาให้ความสนใจพลังงานในเชิงเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก เคยให้สัมภาษณ์ในทำนองว่าถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่เหมาะกับการผลิตกระแสไฟฟ้าเนื่องจากให้ความร้อนสูงจึงประหยัดเพราะใช้ในปริมาณน้อย หากแต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องความปลอดภัยหรือผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่

ถ่านหินน่ากลัว เพราะมันเกิดจากการที่คนไม่เข้าใจมาใส่สี มาพูดในประเด็นซึ่งจริง ๆ ไม่เกี่ยวกับตัวถ่านหิน ถามว่าจริง ๆ ถ่านหินคืออะไร ถ่านหินคือชีวมวลประเภทหนึ่ง เหมือนกับที่เราเอาต้นไม้มาเผา ทำฟืน หรืออะไรต่าง ๆ มันเป็นชีวมวลที่เกิดมาตั้งแต่สมัยโบราณ” ส่วนหนึ่งในการให้สัมภาษณ์ของ ผศ.ดร.ฐิติศักดิ์

คนสุดท้าย คือ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เจ้าของฉายา “ดอกเตอร์ในตำนาน” เพราะหลายคนมองว่าเขาเพี้ยน เนื่องจากมักแสดงความเห็นสวนทางกับจริยธรรมทางสังคม และมักสนับสนุนการดำเนินการของทุนที่สร้างความเสียหายให้ประเทศชาติและประชาชน อาทิ เปิดฉากวิวาทะกับบล็อกเกอร์ นาม “หมูสนาม” โดยยืนกรานว่าอดีตนายกฯทักษิณไม่ได้โกง, สนับสนุนการเวนคืนที่ดินเพื่อขยายนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ขณะที่คนส่วนใหญ่มองว่าที่ผ่านมานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ จึงสมควรที่จะขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอีก

ขณะที่ในส่วนของการสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น ดร.โสภณ ก็ออกตัวแรงเช่นกัน โดยเขามักให้สัมภาษณ์และเขียนบทความยืนยันว่า “ถ่านหินปลอดภัย” โดยหยิบยกโรงไฟฟ้าถ่านหินมาเลเซียเป็นตัวอย่าง ขณะที่ข้อมูลอีกด้านระบุว่าชาวมาเลเซียก็ลุกขึ้นมาชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเช่นกัน กระทั่งส่งผลให้โรงไฟฟ้าบางแห่งต้องยุติการก่อสร้าง นอกจากนั้น ดร.โสภณ ยังกล่าวหาว่าข้อมูลของกรีนพีซเป็นเรื่องโกหก การเคลื่อนไหวต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นการกระทำของกฎหมู่ และเลยเถิดไปถึงขั้นออกมาเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ ม.44 จัดการกับกลุ่มต้านถ่านหินที่ออกมาเคลื่อนไหว

จากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า หากหลังเทศกาลสงกรานต์ กระทรวงพลังงานยังไม่มีคำตอบว่าจะเปลี่ยนตัวกรรมการ SEA ที่มีปัญหาหรือไม่ เครือข่ายต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพาจะออกมาเคลื่อนไหวอย่างไร ที่สำคัญอย่าลืมว่า ณ เวลานี้ เครือข่ายคนต้านถ่านหินนั้นไม่ได้มีเฉพาะชาวบ้านและเอ็นจีโอในพื้นที่ภาคใต้เท่านั้น แต่ยังขยายวงไปถึงนักวิชาการ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงคนเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายภาครัฐที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งพร้อมจะออกมาร่วมเคลื่อนไหว ดังเช่นที่เคยปรากฏมาแล้วในการชุมนุมที่หน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา



กำลังโหลดความคิดเห็น