xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมหั่นภาษีรถหรูเหลือ 200% หวังลดปัญหาเลี่ยงภาษี-ลักลอบนำเข้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พล.อ.อ.ประจิน” เผยรัฐเร่งพิจารณาลดภาษีนำเข้ารถหรู จาก 328% เหลือ 200% นิดๆ เชื่อแก้ปัญหาสำแดงเท็จเลี่ยงภาษี ยึดหลักการทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ด้านกรมศุลกากรส่งเรื่องให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีแล้ว ขณะที่ “รองอธิบดี DSI” ระบุปัจจุบันมีคดีรถหรู 120 คดี เตรียมบินอิตาลีเดือนหน้า ขอข้อมูลราคา พร้อมเช็กเลขรถที่นำเข้า

การลักลอบนำเข้ารถหรูเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีดูจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานหลายปี แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้มงวดในการตรวจสอบและเร่งกวาดล้างจับกุมเพียงใดแต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้หมดไปได้ ซึ่งหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาก็คืออัตราภาษีนำเข้าที่สูงลิบลิ่ว ล่าสุดจึงมีการหารือถึงแนวทางที่จะปรับลดภาษีนำเข้าลงเพื่อจูงใจให้นำเข้ารถหรูอย่างถูกกฎหมายและเสียภาษีตามข้อเท็จจริง
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งกำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วเห็นว่าการจัดเก็บภาษีนำเข้ารถหรูในอัตราภาษีที่สูงมากจะเป็นอุปสรรคแก่ผู้ประกอบธุรกิจ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษีโดยการสำแดงเท็จ ดังนั้นจึงได้หารือร่วมกันเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าว และได้ข้อสรุปว่าควรมีการปรับลดอัตราภาษีนำเข้ารถหรู ภายใต้พื้นฐานที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน

ต้องยอมรับว่าอัตราภาษีมีผลต่อราคาขาย ถ้าต้องจ่ายภาษีในอัตราสูงราคารถก็จะสูงตามไปด้วย ที่สำคัญถ้าภาษีสูงเกินไปจะมีการเลี่ยงภาษี ถ้าอัตราภาษีต่ำเกินไปกรมศุลกากรก็เสียประโยชน์

ดังนั้นการกำหนดอัตราภาษีต้องพิจารณาให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งผู้ซื้อ ผู้นำเข้า และภาครัฐ คือหากกำหนดอัตราภาษีนำเข้าต่ำมาก ราคารถหรูถูกมาก แต่รัฐจัดเก็บภาษีได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ก็ถือว่าไม่เหมาะสม แต่หากตั้งอัตราภาษีนำเข้าสูง ทำให้ราคารถหรูสูง รัฐเก็บภาษีได้ในอัตราสูง แต่มีปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีเป็นจำนวนมาก ก็ไม่เกิดประโยชน์ จึงจำเป็นต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการได้กำไรพอสมควร ผู้ซื้อสามารถซื้อรถหรูได้ในราคาที่ไม่สูงเกินไป ขณะที่กรมศุลกากรก็สามารถจัดเก็บภาษีได้พอสมควร

พล.อ.อ.ประจิน ระบุว่าการปรับโครงสร้างภาษีดังกล่าวจะสามารถแก้ปัญหาหลีกเลี่ยงภาษีในการนำเข้ารถหรูได้ในระยะยาว ปัจจุบัน มีการตั้งกรรมการขึ้นมาพิจารณาการปรับโครงสร้างภาษีนำเข้ารถหรู อาจมีโอกาสที่จะปรับลดอัตราภาษีให้ต่ำลงมาจากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 328% ลดลงอย่างน้อย 100% อัตราก็น่าจะอยู่ที่ 200% กว่าๆ หรือต่ำกว่านั้น คือเหลือสัก 200% คือปัจจุบันถ้าผู้ประกอบการนำเข้ารถมาในราคาคันละ 10 ล้าน อยากได้กำไรคันละ 10 ล้าน บวกภาษี 328% เขาจะต้องขายในราคา 30 กว่าล้าน ซึ่งผู้บริโภคอาจจะไม่มีกำลังซื้อ

เรื่องอัตราภาษีนี้ยังเป็นแค่การปรึกษาหารือกัน เมื่อประชุมเสร็จได้ข้อสรุปทั้งหมดจะต้องให้ท่านวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ดูแลด้านกฎหมายเศรษฐกิจช่วยดูว่าจะมีผลกระทบอย่างไรหรือไม่ โดยเราจะมองอย่างรอบด้าน ทั้งผลประโยชน์ของรัฐ ประโยชน์ของผู้ประกอบการ ประโยชน์ของประชาชน
นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร
ด้าน นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร บอกว่า ขณะนี้กรมศุลกากรได้ส่งเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีนำเข้ารถหรูให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง พิจารณาแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ต้องศึกษา จึงต้องใช้เวลาพอสมควร

ส่วนเรื่องของการตรวจสอบปราบการการหลีกเลี่ยงภาษีและลักลอบนำเข้ารถหรูนั้นกรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งรับผิดชอบเรื่องนี้ก็หาได้นิ่งนอนใจ โดย พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมสอบสวนคดีพิเศษได้ประสานไปยังรัฐบาลของประเทศอังกฤษ อิตาลี และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถหรูที่นำเข้ามาในประเทศไทย เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับรถดังกล่าว โดยทางสำนักงานตำรวจของแต่ละประเทศได้ทำการรวบรวมและส่งข้อมูลบางส่วนมาให้แล้ว แต่ยังไม่ครบถ้วน

ดังนั้นในเดือน พ.ค.นี้ จะเดินทางไปยังประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่กรมสอบสวนคดีพิเศษแจ้งความจำนงขอข้อมูลไปมากที่สุด เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับรถหรูสัญชาติอิตาลีที่ส่งเข้ามายังประเทศไทย อาทิ ราคารถ ณ ช่วงเวลาที่มีการนำเข้า เลขตัวถังรถแต่ละคันที่นำเข้ามายังประเทศไทย จากนั้นจะนำข้อมูลดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากเจ้าของรถว่าตรงกันหรือไม่ หากปรากฏว่าข้อเท็จจริงไม่ตรงกันก็จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
“จากเมื่อต้นปีเรามีคดีรถหรูที่อยู่ระหว่างการสืบสวน 134 คดี ล่าสุดดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว 14 คดี เบ็ดเสร็จขณะนี้เหลืออยู่ 120 คดี ซึ่งกำลังตรวจสอบและทำสำนวน ในส่วนของการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้นเราไม่ได้ดำเนินการแค่ในประเทศแต่ยังมีการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอิตาลีซึ่งเป็นประเทศที่ไทยสั่งนำเข้ารถหรูมากที่สุด ในการเดินทางครั้งนี้เราจะขอข้อมูลรถยนต์ 3 ยี่ห้อ คือ ลัมบอร์กินี เฟอร์รารี และมาเซราติ ซึ่งหลังเสร็จจากอิตาลีลำดับต่อไปก็จะเดินทางไปประสานขอข้อมูลที่อังกฤษ” รองอธิบดีดีเอสไอระบุ

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยนำเข้ารถหรูประมาณ 10,000 คัน/ปี ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากหลายปีก่อน โดยจากการสำรวจพบว่ารถหรูที่มีปัญหาการสำแดงราคาต่ำและเสียภาษีไม่ถูกต้องนั้นมีอยู่ 4 ยี่ห้อ ได้แก่ ปอร์เช่, ลัมบอร์กินี, เฟอร์รารี และมาเซราติ ขณะที่ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับรถหรูที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับจากประเทศผู้ผลิตแล้ว ประกอบด้วย รถที่นำเข้าจากประเทศอังกฤษ 9,391 คัน อิตาลี 505 คัน และข้อมูลรถจากญี่ปุ่น 5 คัน

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลพบว่าการหลีกเลี่ยงภาษีในการนำเข้ารถหรูนั้นมีอยู่ 2 ลักษณะด้วยกันคือ

แบบแรก   นำรถหรูซึ่งมีราคาสูงเข้ามาทั้งคัน แต่สำแดงเท็จคือแจ้งราคานำเข้าต่ำกว่าราคาจริง ในการตรวจสอบนั้นดีเอสไอจะประสานไปยังกรมศุลกากรและแหล่งผู้ผลิตเพื่อขอทราบราคาจำหน่ายที่แท้จริง พร้อมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับตัวรถ จากนั้นก็จะนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบระหว่างราคาที่เจ้าของรถแจ้งต่อกรมศุลกากรและราคาจัดจำหน่ายของบริษัทผู้ผลิต ซึ่งหากพบว่าราคาที่แจ้งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงก็ต้องเรียกภาษีเพิ่ม พร้อมทั้งค่าปรับ โดยการนำเข้ารถหรูทั้งคันจะต้องเสียภาษี 3 ประเภทด้วยกันคือ ภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมแล้ว 328% และอาจถูกปรับ

แบบที่ 2  หลบเลี่ยงภาษีโดยแจ้งข้อมูลเท็จว่าเป็นรถจดประกอบ โดยมีทั้งผู้ที่นำรถหรูเข้ามาทั้งคันแต่แจ้งว่าเป็นรถจดประกอบ และผู้ที่นำรถหรูมาแยกเป็นชิ้น ๆ แล้วนำเข้าในลักษณะของชิ้นส่วนเพื่อเลี่ยงภาษี โดยจะเสียภาษีในอัตราของรถจดประกอบ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 30% จากนั้นจึงนำชิ้นส่วนมาประกอบเป็นรถทั้งคัน ซึ่งในส่วนของการตรวจสอบนั้นดีเอสไอจะเช็กเลขเครื่องและเลขตัวถัง หากพบว่าเลขเครื่องและเลขตัวถังเป็นเลขเดียวกันก็แสดงว่าเป็นรถคันเดียวกัน ไม่ใช่รถจดประกอบ ดีเอสไอก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ดีหากผู้ซื้อซื้อรถโดยสุจริตตามระบบการซื้อขายทั่วไปก็จะไม่มีความผิด ขณะที่ผู้นำเข้าและผู้จำหน่ายจะมีความผิดในข้อหาสำแดงเท็จ

จากนี้คงต้องรอดูต่อไปว่าการปรับโครงสร้างเพื่อลดภาษีนำเข้ารถหรูจะแล้วเสร็จเมื่อใด และมาตรการนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีและลักลอบนำเข้าได้มากน้อยเพียงใด ?



กำลังโหลดความคิดเห็น