xs
xsm
sm
md
lg

ม.44 เครื่องมือสืบทอดอำนาจ ? แซะองค์กรอิสระ-แทรกแซงเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการ ชี้ ม.44 อำนาจที่อันตราย คสช. มีสิทธิใช้ถึงวันตั้งรัฐบาลใหม่ เชื่อปลด “สมชัย” เป็นการกลั่นแกล้ง เชือดไก่ให้ลิงดู “ศ.ดร.บรรเจิด” ระบุ แทรกแซงยิ่งกว่ายุคทักษิณ ขณะที่ “มือกฎหมายประชาธิปัตย์” ติงอาจขัดรัฐธรรมนูญ ด้าน “อ.คมสัน” หวั่นรัฐใช้กฎหมายพิเศษล้มเลือกตั้ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งปลด นายสมชัย ศรีสุทธิยากร พ้นจากตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาล คสช.ตกต่ำอย่างหนัก เนื่องเพราะเป็นการตอกย้ำข้อครหาเรื่องการแทรกแซง “องค์กรอิสระ” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมานับแต่มีรัฐบาล คสช.องค์กรอิสระต่าง ๆ ถูกแทรกแซงมาตลอด นับตั้งแต่การประกาศ “เซตซีโร่” โดยยุบคณะกรรมการองค์กรอิสระชุดเก่าทิ้ง แล้วแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ที่มั่นใจว่าสามารถควบคุมได้ ผ่านกลไกของกรรมการร่างธรรมนูญ (กรธ.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งล้วนมีที่มาจากการแต่งตั้งบนฐานอำนาจของ คสช. แม้องค์กรอิสระบางแห่งจะแค่ถูก “รีเซต” คือเปลี่ยนตัวกรรมการเพียงบางท่าน ขณะที่บางองค์กรยังคงให้ดำรงตำแหน่งต่อไป แต่ก็ไม่สามารถหลีกหนีการแทรกแซงด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้

โดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีบทบาทหลักในการจัดการเลือกตั้งที่เชื่อว่าจะมีขึ้นในปีหน้า ตามคำมั่นสัญญาของรัฐบาล องค์กรแห่งนี้นับว่าถูกแทรกแซงหนักที่สุด เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งในการชี้เป็นชี้ตายว่าผู้สมัครฯ คนใดจะผ่านการเลือกตั้งและก้าวเข้าสู่ประตูสภาได้บ้าง กกต.จึงเป็นหนึ่งในองค์กรอิสระที่ถูก “เซตซีโร่” โดยอ้างเหตุผลว่าเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้เพิ่มอำนาจหน้าที่ กกต.มากขึ้น คุณสมบัติของ กกต.แต่ละท่านจึงเข้มข้นตามไปด้วย พร้อมทั้งได้เพิ่มจำนวน กกต.จาก 5 คน เป็น 10 คน แต่สุดท้ายความจริงก็ปรากฏ เมื่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมายอมรับว่า เหตุผลแท้จริงของ กมธ.ที่ต้องการให้เซตซีโร่ กกต. เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหาการทำงานแบบ “ปลาสองน้ำ”

กระทั่งล่าสุดเกิดปรากฏการณ์ ม.44 ซึ่งส่งผลให้นายสมชัยต้องเก็บของออกจากห้องทำงานที่ กกต.ในชั่วข้ามคืน ซึ่งในทัศนะของบรรดานักวิชาการและนักกฎหมายต่างมองว่าการใช้อำนาจแบบไร้ขีดจำกัดของรัฐบาลในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร
อาจารย์คมสัน โพธิ์คง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความเห็นว่า การใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐบาล คสช.ปลดนายสมชัยออกจากตำแหน่ง กกต.ถือเป็นการแทรกแซงองค์กรอิสระ ซึ่งจะส่งผลต่อการทำหน้าที่ขององค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล ส่วนตัวมองว่าการใช้ ม.44 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษปลด กกต. ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้ง ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลซึ่งตกต่ำถึงขีดสุดอยู่แล้วยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก

“การใช้ ม.44 ครั้งนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคล เพราะการปลดคุณสมชัยไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรต่อสาธารณชนแต่เป็นการใช้อำนาจกลั่นแกล้งเพราะไม่ชอบส่วนตัว ต่อไปองค์กรอิสระต่าง ๆ จะระมัดระวังตัว ไม่กล้าตรวจสอบรัฐบาล เพราะมีการเชือดไก่ให้ลิงดู ถ้าย้อนไปดูตั้งแต่รัฐบาล คสช.เข้ามาบริหารประเทศ องค์กรอิสระต่าง ๆ ก็ไม่เคยตรวจสอบรัฐบาลอยู่แล้ว คงไม่ต้องบอกว่าเพราะอะไร น่าเสียใจที่รัฐบาลซึ่งประกาศตัวว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมืองกลับใช้อำนาจแทรกแซงองค์กรอิสระไม่ต่างจากยุครัฐบาลทักษิณ”

ขณะที่ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ระบุว่า ที่ผ่านมาการแทรกแซงองค์กรอิสระมีหลายรูปแบบ ในอดีตสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็มีการแทรกแซงตั้งแต่กระบวนการแต่งตั้ง เนื่องจากอดีตนายกฯ ทักษิณสามารถคุม ส.ว.ซึ่งมีหน้าที่ในการสรรหาคณะกรรมการในองค์กรอิสระ ทำให้องค์กรอิสระถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมือง สมัยนั้นการเล่นงานองค์กรอิสระจะใช้วิธียื่นเรื่องให้มีการตรวจสอบ แต่นี่เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่รัฐบาลใช้อำนาจแทรกแซงถึงขั้นสั่งปลด กกต.

“เมื่อใช้ ม.44 ปลดคุณสมชัยซึ่งเป็น กกต.ได้ ก็ใช้ปลดคณะกรรมการในองค์กรอิสระอื่น ๆ ได้เหมือนกัน นี่เป็นการแทรกแซงที่อันตรายมาก” ศ.ดร.บรรเจิดระบุ
อาจารย์คมสัน  โพธิ์คง  รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ มองว่ารัฐบาลกำลังใช้อำนาจครอบงำองค์กรอิสระ โดยใช้ ม.44 เป็นเครื่องมือ ทั้งที่ตามโครงสร้างแล้วองค์กรอิสระไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจฝ่ายบริหาร แต่เป็นองค์กรที่ถูกกำหนดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุล จะเห็นได้ว่า ม.44 มีศักดิ์เป็นเพียงพระราชบัญญัติ ดังนั้นจะใช้ ม.44 ในลักษณะที่ก้าวล่วงหรือขัดต่ออำนาจรัฐธรรมนูญไม่ได้

“รัฐบาลสามารถสั่งปลดหรือแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการได้เพราะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่กำลังใช้ ม.44 เข้าไปก้าวล่วงองค์กรอิสระ การปลดคุณสมชัยโดยใช้อำนาจของ ม.44 จึงสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ”

ด้าน รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.ซึ่งถูกรัฐบาลใช้อำนาจตาม ม. 44 สั่งปลด ระบุว่า ตนน้อมรับคำสั่งของรัฐบาล ลำพังตนเองนั้นไม่มีปัญหาเพราะแค่ถูกออกจากงาน เพียงแต่วิตกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับ กกต.และคณะกรรมการในองค์กรอิสระอื่น ๆ ซึ่งต่อไปอาจไม่กล้าทำหน้าที่เนื่องจากกลัวถูกสั่งปลด ส่วนว่าในการดำเนินการต่าง ๆ ของ กกต.ในช่วงเลือกตั้ง จะถูกครอบงำโดยอำนาจรัฐหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับ กกต.ทั้ง 4 ท่านว่าจะทำงานด้วยความกล้าหาญหรือทำงานด้วยความเกรงอกเกรงใจ

อย่างไรก็ดี นักวิชาการต่างแสดงความวิตกต่อการใช้อำนาจตาม ม.44 โดยไม่มีขอบเขตของรัฐบาล ทำให้ ม.44 กลายเป็นเครื่องมือในการเล่นงานฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะการสั่งปลด และแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งหลายครั้งพบว่ามีการกลั่นแกล้งและเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง อีกทั้งมีความพยายามที่จะใช้กฎหมายพิเศษดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ
ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
อาจารย์คมสัน กล่าวว่า เนื่องจากมีการเขียนบทเฉพาะกาลแนบท้ายรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า มาตรา 44 จะมีผลบังคับใช้ไปจนกว่ารัฐบาล คสช.จะหยุดปฏิบัติหน้าที่ พร้อมทั้งกำหนดให้รัฐบาลนี้บริหารงานไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ ขณะเดียวกัน คสช.และเครือข่ายก็มีเป้าหมายที่จะเข้าสู่สนามการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะรัฐบาล คสช.สามารถใช้ ม.44 ได้ตลอดเวลา ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง ระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง ลงคะแนน ไปจนกระทั่งจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้ง เพราะอำนาจของ ม.44 ทำอะไรก็ได้ แม้กระทั่งล้มการเลือกตั้ง

ตอนนี้เราเป็นเผด็จการเทียบเท่ากับแอฟริกาแล้ว การใช้ ม.44 ไม่มีมาตรฐานอะไรทั้งสิ้น เป็นการนำกฎหมายพิเศษใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันวิปริต แม้อำนาจหน้าที่ของรัฐบาล คสช.จะสิ้นสุดลงหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่อำนาจ ม.44 ไม่ได้สิ้นสุดตามไปด้วย การจะยกเลิก ม.44 รัฐบาลชุดใหม่ต้องเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งจะผ่าน 2 สภา คือทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา แต่ในเมื่อวุฒิสภาคือคนของ คสช.ถามว่าอะไรจะเกิดขึ้น? ” อาจารย์คมสันกล่าว

ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ ศ.ดร.บรรเจิด ที่ระบุว่า มาตรา 44 ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว หลังจากรัฐบาล คสช.ขึ้นบริหารประเทศ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ มาตรา 44 ก็ยังถูกระบุไว้ในบทเฉพาะกาล นับเป็นการเขียนกฎหมายแบบพิสดาร คือรัฐธรรมนูญชั่วคราวถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ไม่ยกเลิกมาตรา 44 ซึ่งเป็นอำนาจพิเศษ ที่สำคัญยังมีการใช้มาตรา 44 ในลักษณะที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ และมักมีการใช้อำนาจ ม.44 ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ที่กฎหมายหรือระเบียบขั้นตอนปกติสามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว

จากนี้หลายฝ่ายคงต้องจับตาดูว่า หากมีการเลือกตั้งตามที่ “นายกฯ ตู่” รับปากไว้ ม.44 จะลุกขึ้นมาแผลงฤทธิ์อีกหรือไม่ และจะส่งผลต่อขั้วอำนาจต่าง ๆ อย่างไร ?



กำลังโหลดความคิดเห็น