xs
xsm
sm
md
lg

ลั่นคดี “เปรมชัย” รุกป่าไม่มีมวยล้ม “3 หน่วย” ร่วมขุดหลักฐานยึดทรัพย์!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร มั่นใจ คดีรุกป่าของ “เปรมชัย” ไม่มีมวยล้ม ผนึกกำลังป่าไม้ ดีเอสไอ และ ปปง. ร่วมทำคดี จี้ยึดทรัพย์ เหตุรุกป่าเพื่อทำธุรกิจ ผิดกฎหมาย เข้าข่ายฟอกเงิน เผยทุน 3 กลุ่ม รุกป่าทำเกษตรและธุรกิจท่องเที่ยว ทัวร์ศูนย์เหรียญร่วมด้วย ชี้ จ.เลย เสียหายหนักสุด ลั่นปัญหาการบังคับใช้กฎหมายปล่อยคนผิดลอยนวลคือต้นเหตุใหญ่ แจงคนกล้าบุกรุก ล้วนมีอำนาจเงิน อิทธิพล และคอนเนกชัน เสนอตั้ง “สำนักงานสอบสวนคดีสิ่งแวดล้อม” ทำคดีโดยเฉพาะ

ปัญหาการบุกรุกป่าของกลุ่มทุนเป็นที่จับตามองของสังคมอีกครั้ง หลังตรวจพบการบุกรุกป่าของนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล หลังจากที่นายเปรมชัยตกเป็นข่าวอื้อฉาวกรณีเข้าไปล่าสัตว์และสังหารชีวิตเสือดำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร โดยพบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูเรือ ภูขี้เถ้า และภูเปือย จำนวน 147 แปลง เนื้อที่รวมกว่า 6,000 ไร่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ของรังเย็นรีสอร์ท ไร่องุ่น-โรงงานผลิตไวน์ชาโตเดอเลย และไร่ภูเรือวโนทยาน โดยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตรอยต่อระหว่าง อ.ภูเรือ กับด่านซ้าย จ.เลย

นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า ในฐานะหัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร และประธานคณะทำงานติดตามคดีบุกรุกป่าภูเรือ ภูขี้เถ้า และภูเปือย ของนายเปรมชัยและพวก เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์และความคืบหน้าในการทำคดีบุกรุกป่าของนายเปรมชัย ว่า เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้เป็นผู้ที่มีบารมี อีกทั้งได้รับนโยบายจาก พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในพื้นที่ต้องไม่ทำงานอย่างโดดเดี่ยว กรมป่าไม้จึงส่งกำลังเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางลงไปช่วย พร้อมทั้งประสานงานไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ให้เข้ามาช่วยทำคดีนี้
นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า ในฐานะหัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร
อย่างไรก็ดีการที่ดีเอสไอรับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษเพราะเห็นว่าการออกเอกสารสิทธิที่ดินมีความสลับซับซ้อน เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับหลายฝ่าย จึงต้องให้เจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้าไปตรวจสอบเพื่อให้การทำคดีมีประสิทธิภาพ ซึ่งหลังจากวันที่ 12 มี.ค.นี้ คณะทำงานส่วนกลางและดีเอสไอจะลงพื้นที่ร่วมกัน ส่วน ปปง.นั้นเข้ามาทำในส่วนของคดีแพ่ง เนื่องจากที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าต้นน้ำชั้น 1 และ 2 ซึ่งห้ามถือครองเพื่อทำธุรกิจ การที่บริษัทของนายเปรมชัยมีรายได้จากการทำธุรกิจในพื้นที่ป่ามาอย่างต่อเนื่องจึงถือเป็นการทำธุรกิจผิดกฎหมาย

ที่เป็นธุรกิจผิดกฎหมายเพราะมีรายได้ไหลเข้าระบบจึงเข้าข่ายการฟอกเงิน ซึ่งจะนำไปสู่การยึดทรัพย์ พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหายจากนายเปรมชัยได้ โดยทีมงานส่วนกลางของป่าไม้ก็มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบการบุกรุกป่า ทั้งในเรื่องของการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ การสำรวจแนวป่า การออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ ตลอดจนการรวบรวมหลักฐานและความเชื่อมโยงของฝ่ายต่าง ๆ ในการเข้าใช้ประโยชน์ทางธุรกิจในพื้นที่ป่า ทุกหน่วยทำงานร่วมกัน เราประสานและส่งต่อข้อมูลกันอยู่เป็นระยะ ทุกฝ่ายทำงานอย่างเต็มที่ จึงมั่นใจว่าคดีนี้ไม่มีมวยล้ม” ประธานคณะทำงานติดตามคดีรุกป่าของนายเปรมชัยกล่าว

ทั้งนี้คดีบุกรุกป่าของนายเปรมชัย แบ่งออกเป็น 4 คดี เนื้อที่รวมประมาณ 6,500 ไร่ ได้แก่

1. การบุกรุกป่ารอบรังเย็นรีสอร์ท จำนวน 147 แปลง เนื้อที่รวม 6,215 ไร่
 
   2. พื้นที่ของรังเย็นรีสอร์ทเกินเข้าไปในเขตป่า เนื้อที่รวม 3 ไร่

3. มีการปลูกแมคคาเดเมียในพื้นที่ป่า เนื้อที่รวม 12 ไร่

4. มีการรุกป่าเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำ และแคมป์คนงาน เนื้อที่รวม 240 ไร่

นายชีวะภาพ บอกอีกว่า ปัจจุบันการบุกรุกพื้นที่ป่าของกลุ่มทุนถือเป็นปัญหาใหญ่และสร้างความเสียหายให้แก่ผืนป่าจำนวนมหาศาล เนื่องจากกลุ่มทุนมีศักยภาพในทุกด้าน ทั้งอำนาจเงิน อิทธิพล และคอนเนกชัน ที่สำคัญเป้าหมายการบุกรุกป่าของกลุ่มทุนไม่ใช่เพื่อใช้ประโยชน์หรืออยู่อาศัย หากแต่คือผลกำไรซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด

จากการตรวจสอบพบว่ากลุ่มทุนที่เข้าไปบุกรุกป่านั้นมี 3 กลุ่มหลัก ๆ ด้วยกัน คือ

1. กลุ่มทุนใหญ่ เป็นกลุ่มที่ถูกจับตามากคือทุนอสังหาฯ และทุนเกษตร โดยส่วนใหญ่จะดำเนินการในนามนอมินี เมื่อมีการตรวจสอบและจับกุมจึงไม่สามารถสาวถึงเจ้าของตัวจริงได้ วิธีเข้าครอบครองพื้นที่ป่าเพื่อทำธุรกิจนั้นมีทั้งเข้าไปบุกรุกป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์ ไม่มีผู้อยู่อาศัย โดยใช้อำนาจเงิน อิทธิพล เส้นสายเป็นใบเบิกทาง และการซื้อสิทธิจากชาวบ้าน เช่นซื้อ น.ส.ล. (หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง) ซึ่งเป็นเพียงหนังสือแสดงสิทธิในการขอใช้ที่ดินในพื้นที่ป่า แต่ไม่ใช่เจ้าของและไม่สามารถซื้อขายได้ ซึ่งเรียกกันว่า “ซื้อที่มือเปล่า” โดยจะมีนายหน้าเข้าไปกว้านซื้อและรวบรวมที่ดินให้

2. กลุ่มทุนหน้าใหม่ และข้าราชการเกษียณ เป็นกลุ่มที่ร่ำรวยจากการขายที่ดิน การทำธุรกิจ การลงทุนในตลาดเงินตลาดทุน โดยจะซื้อสิทธิต่อจากชาวบ้านที่เข้าไปแผ้วถางหรือครอบครองอยู่แล้ว และพื้นที่ป่าซึ่งมีเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นซิกแซ็กดำเนินการให้

3. กลุ่มทุนรายย่อย เป็นกลุ่มที่มีเงินลงทุนไม่มาก พื้นที่ป่าซึ่งเข้าไปครอบครองเพื่อใช้ประโยชน์ทางธุรกิจจึงมีขนาดเล็ก โดยจะซื้อสิทธิจากชาวบ้านเป็นหลัก

กลุ่มทุนที่เข้าไปบุกรุกป่านั้นล้วนเป็นทุนต่างถิ่นทั้งสิ้น ทุนใหญ่ก็จะใช้นอมินีดำเนินการแทน กรณีอย่างคุณเปรมชัยที่ใช้ชื่อตัวเองและเครือญาติเข้าไปทำธุรกิจในป่าอย่างโจ่งแจ้งเนี่ยผมไม่เคยเห็น เขาคงมั่นใจว่าไม่มีใครทำอะไรเขาได้” หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพรระบุ

สำหรับเป้าหมายในการบุกรุกป่าของกลุ่มทุนนั้น จากสถิติพบว่ามีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่

1)เพื่อทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เนื่องจากจุดขายของการท่องเที่ยว คือความงดงามทางธรรมชาติ กลุ่มทุนจึงมักบุกรุกป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีต้นน้ำลำธาร พื้นที่เชิงเขา หรือพื้นที่ซึ่งมองเห็นวิวทะเล เพื่อทำโรงแรม รีสอร์ต บ้านพักตากอากาศ สิ่งปลูกสร้างเพื่อทำกิจกรรมแอดเวนเจอร์ รวมถึงท่าจอดเรือสำหรับนักท่องเที่ยว อาทิ กรณีบุกรุกอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต กรณีรุกอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา กรณีหุบเขาไฮโซ ที่มีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ท่าช้างและป่าแม่ขนิน จ.เเชียงใหม่ เพื่อสร้างรีสอร์ตและบ้านพักตากอากาศ และล่าสุดกรณีรุกป่าคลองทุ่งมะพร้าว จ.พังงา ซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติเพื่อสร้างท่าเรือเถื่อนรับส่งนักท่องเที่ยว พื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกจึงมักอยู่ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ เลย นครราชสีมา ภูเก็ต กระบี่

2)เพื่อทำเกษตร โดยมีกลุ่มทุนจากภาคใต้และภาคตะวันออกเห็นว่า ราคาที่ดินในภูมิภาคตนเองปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว จึงย้ายฐานการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไปยังภาคเหนือและอีสานซึ่งราคาที่ดินถูกกว่า โดยเฉพาะถ้าเป็นพื้นที่ป่าซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิต้นทุนการผลิตก็ยิ่งลดลง ขณะที่บางกลุ่มบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกไม้เมืองหนาวเนื่องจากเห็นว่าภูมิประเทศเหมาะสม โดยกลุ่มนี้จะซื้อที่มือเปล่าจากชาวบ้านที่รุกป่าอยู่ก่อนแล้ว

3)บุกรุกป่าเพื่อเก็งกำไร โดยกลุ่มนี้มองว่าหากในอนาคตพื้นที่ป่าที่เข้าไปถือครองได้รับการพัฒนาจะมีราคาสูงขึ้น จึงซื้อเพื่อรอจังหวะขายต่อทำกำไร โดยกลุ่มนี้มักมีเจ้าหน้าที่หรือนักการเมืองท้องถิ่นชี้แนะช่องทางและจัดหาพื้นที่ให้

ธุรกิจที่เข้าไปบุกรุกป่ามากที่สุดคือธุรกิจท่องเที่ยว ตอนนี้ที่น่าจับตาคือเริ่มมีนักธุรกิจทั้งไทยและต่างชาติซึ่งทำทัวร์ศูนย์เหรียญขายนักท่องเที่ยวจีนและรัสเซีย กลุ่มนี้พยายามทำทุกอย่างเพื่อลดต้นทุน เขาก็เข้าไปบุกรุกป่าเพื่อทำท่าเรือเถื่อนจอดรับนักท่องเที่ยว จะได้ไม่ต้องจ่ายค่าใช้บริการให้แก่ผู้ประกอบการท่าเรือ อีกกลุ่มคือทัวร์ที่ทำกิจกรรมแอดเวนเจอร์ต่าง ๆ กลุ่มนี้นิยมเข้าไปติดตั้งซิปไลน์ โหนสลิงชมป่า ซึ่งนอกจากจะเป็นการบุกรุกป่าแล้วยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินคดีไปแล้วนับสิบราย” นายชีวะภาพกล่าว

ทั้งนี้หากพิจารณาจากจำนวนพื้นที่ป่าที่ได้รับความเสียหายจากการบุกรุกจะพบว่าจังหวัดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดได้แก่ จ.เลย ขณะที่สถิติการจับกุมและยึดคืนพื้นที่ป่า ตั้งแต่ ต.ค.2560-ม.ค.2561 พบว่าจังหวัดที่สามารถยึดคืนพื้นที่ป่าได้มากที่สุด 5 อับดับแรก ได้แก่ จ.เชียงราย ยึดคืนได้ 2,374 ไร่ ตาก ยึดได้ 1,458 ไร่ ลำปาง 1,214 ไร่ แม่ฮ่องสอน 1,122 ไร่ และ จ.ลำพูน ยึดได้ 710 ไร่

หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร ระบุว่า ปัญหาใหญ่ที่เป็นอุปสรรคในการยึดคืนผืนป่าและดำเนินคดีกับผู้ที่บุกรุกก็คือการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้บางคดีหลุดไปทั้งที่หลักฐานหนาแน่น แต่เจ้าหน้าที่กลับสั่งไม่ฟ้อง จึงเสนอว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรตั้ง “สำนักงานสอบสวนคดีสิ่งแวดล้อม” ขึ้นมาทำคดีโดยเฉพาะ โดยดึงเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องมาเป็นคณะทำงาน

คิดว่าแนวทางนี้มีความเป็นไปได้และผู้ใหญ่หลายท่านก็เห็นด้วย เพราะหลังจากมีการปรับโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ก็จะมีการยุบบางหน่วยงานที่เห็นว่าเกินกว่าหน้าที่และเป็นภาระของเจ้าหน้าที่ตำรวจมากเกินไป ซึ่งกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการกระทำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่จะถูกยุบ” ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าฯ บอก

พร้อมกับย้ำว่าปัจจุบันเป็นจังหวะดีที่จะตั้งสำนักงานสอบสวนคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นมาดูแลคดีที่เกี่ยวข้องกับการทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น การตัดไม้ การบุกรุกป่า โดยดึงเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการทำคดีประเภทนี้มาเป็นทีมเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ที่ดิน เจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงฝ่ายกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลให้การตรวจสอบจับกุม ตลอดจนการดำเนินคดีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อกลไกกฎหมายเข้มแข็ง คนก็จะไม่กล้ารุกป่าอีกต่อไป!



กำลังโหลดความคิดเห็น