xs
xsm
sm
md
lg

การรถไฟฯเตรียมรื้อสัญญา ปรับขึ้นค่าเช่าที่ 1.6 หมื่นราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รฟท. ลุยรถไฟรางคู่ 16 เส้นทาง รักษาการผู้ว่าฯ ฟันธง ปี 62 คนไทยได้ใช้แน่ 2 เส้นทาง สำหรับปีนี้มีแผนก่อสร้าง 5 โครงการ เริ่มจากเส้นทางมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ปักหมุด ก.พ.นี้ ส่วนอีก 9 โครงการรออนุมัติ EIA เผยก่อสร้างยักษ์ใหญ่ “อิตาเลียนไทย” คว้าไป 2 โครงการ 3 สัญญา ล่าสุด! เร่งปั๊มรายได้ เตรียมรื้อสัญญา-ปรับขึ้นค่าเช่าที่รถไฟ 1.6 หมื่นสัญญาทั่วประเทศ

“รถไฟทางคู่” นับเป็นหนึ่งในโครงการที่คนไทยรอคอยมานานกว่า 20 ปี ด้วยความหวังว่าจะสามารถช่วยให้การเดินทางด้วยรถไฟสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดไฟเขียว การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก็เร่งเดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์  รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย
ล่าสุด “นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์” รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการดังกล่าวว่า รฟท.มีโครงการรถไฟทางคู่ทั้งสิ้น 16 เส้นทาง โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ โครงการที่ลงมือก่อสร้างไปแล้วตั้งแต่ปี 2559 โครงการที่เริ่มก่อสร้างในปี 2561-2562 และโครงการรถไฟทางคู่ที่อยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการ

สำหรับ โครงการที่ลงมือก่อสร้างไปแล้วตั้งแต่ปี 2559 และจะเริ่มเปิดให้บริการในปี 2562 มี 2 เส้นทาง ได้แก่ 1) โครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตร และ 2) โครงการรถไฟทางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร

ส่วน โครงการที่เริ่มก่อสร้างในปี 2561-2562 มี 5 เส้นทาง 10 สัญญา ระยะทางรวม 702 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้างรวม 69,531 ล้านบาท ประกอบด้วย

1) โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 145 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 บ้านกลับ-โคกกระเทียม สัญญาที่ 2 ท่าแค-ปากน้ำโพ

2) โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 136 กิโลเมตร แบ่งเป็น 3 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 มาบกะเบา-คลองขนานจิตร สัญญาที่ 2 คลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ และสัญญาที่ 3 อุโมงค์รถไฟ

3) โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 นครปฐม-หนองปลาไหล สัญญาที่ 2 หนองปลาไหล-หัวหิน 4) โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 1 สัญญา ระยะทาง 84 กิโลเมตร และ 5) โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 168 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 ประจวบฯ-บางสะพานน้อย สัญญาที่ 2 บางสะพานน้อย-ชุมพร

รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ยังอธิบายถึงเหตุผลที่ รฟท.มีการแบ่งการก่อสร้างในแต่ละเส้นทางออกเป็นหลายสัญญาว่า “เนื่องจากการประมูลก่อสร้างทางรถไฟสายยาว ๆ โดยอนุมัติให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งเพียงรายเดียวนั้นอาจถูกครหาเรื่องของความโปร่งใส เราจึงได้ซอยย่อยออกเป็นหลายสัญญา ซึ่งการที่มีผู้รับเหมาหลายเจ้ายังทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ รฟท.จะซอยย่อยสัญญาก่อสร้างออกเป็น 10 สัญญา แต่บริษัทก่อสร้างรายใหญ่ที่มากด้วยประสบการณ์อย่าง อิตาเลียนไทย และชิโน-ไทย ก็สามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ชนะการประมูลไปได้หลายโครงการ ทั้งในนามของบริษัทเองและในนามของกิจการร่วมค้า โดยอิตาเลียนไทยได้ไป 2 โครงการ 3 สัญญา คือ โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ จำนวน 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาสร้างทางรถไฟเส้นทางมาบกะเบา-คลองขนานจิตร และสัญญาก่อสร้างอุโมงค์รถไฟ และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ อีก 1 สัญญา ขณะที่ชิโน-ไทย ได้ไป 2 โครงการ 2 สัญญา คือ โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน ในส่วนของสัญญาเส้นทางหนองปลาไหล-หัวหิน และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ในส่วนของสัญญาเส้นทางบางสะพานน้อย-ชุมพร

นอกจากนั้นยังมีบริษัทยูนิค ซึ่งมีประสบการณ์ในการก่อสร้างโครงการด้านคมนาคมขนส่ง สามารถประมูลได้ไป 1 โครงการ 2 สัญญา คือโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ สัญญาเส้นทางบ้านกลับ-โคกกระเทียม และสัญญาเส้นทางท่าแค-ปากน้ำโพ โดยยื่นประมูลในนามของบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียร์ริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และในนามกิจการร่วมค้า



สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ที่อยู่ระหว่างขออนุมัติ นั้น รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฯ ระบุว่า มีอยู่ 9 เส้นทาง ระยะทางรวม 2,217 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้างรวม 3.98 แสนล้านบาท โดยแต่ละโครงการอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม และส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA )

ทั้งนี้ 9 โครงการดังกล่าวแบ่งเป็น โครงการที่สร้างคู่ขนานไปกับเส้นทางเดิม 7 เส้นทาง ได้แก่
1) โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร วงเงิน 62,883.55 ล้านบาท

2) โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 217 กิโลเมตร วงเงิน 56,837.78 ล้านบาท

3) โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กิโลเมตร วงเงิน 37,527.10 ล้านบาท
 
4) โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 กิโลเมตร วงเงิน 26,663.36 ล้านบาท

5) ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 24,294.36 ล้านบาท

6) โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 339 กิโลเมตร วงเงิน 57,375.43 ล้านบาท 

7) โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงิน 8,120.12 ล้านบาท

และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่อีก 2 เส้นทาง คือ 1) โครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กิโลเมตร วงเงิน 85,345 ล้านบาท    และ2) โครงการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร

โครงการที่คนให้ความสนใจมากก็คือรถไฟทางคู่เส้นทางใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ซึ่งจะสร้างตัดตรงจาก อ.เด่นชัย จ.แพร่ ไป อ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยไม่ต้องผ่านเชียงใหม่ คือเดิมมีเส้นเด่นชัย-เชียงใหม่อยู่แล้ว แต่ถ้าตัดตรงจากเด่นชัยไปเชียงของเลยก็จะช่วยร่นระยะเวลาได้มาก ที่สำคัญเส้นทางนี้จะเป็นทั้งเส้นทางการขนส่งสินค้าและเส้นทางท่องเที่ยว เป็นจุดที่จะเชื่อมการค้าในเขตระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ จากประเทศไทยไป สปป.ลาว โดยไปเชื่อมกับสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ซึ่งสามารถเดินทางต่อไปยังเวียดนามและจีนได้” รักษาการผู้ว่าการ รฟท. กล่าว
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้นอกจากความคืบหน้าในการขับเคลื่อนโครงการรถไฟทางคู่แล้ว ปีนี้ รฟท.ยังมีแผนในการนำที่ดินของการรถไฟฯ มาพัฒนาเพิ่มมูลค่าเพื่อสร้างรายได้ให้มากขึ้นอีกด้วย โดยจะมีการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ เพื่อบริหารที่ดินจำนวน 38,469 ไร่ ซึ่งแบ่งเป็น ที่ดินที่มีสัญญาแล้ว 15,199 ไร่ โดยเมื่อหมดสัญญาจะเจรจาปรับขึ้นราคาใหม่ และที่ดินเปล่า 23,270 ไร่ ซึ่งจะเริ่มพัฒนาได้ในปีนี้ ที่สำคัญจะมีการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ 3 แปลงใหญ่ ได้แก่ พื้นที่กิโลเมตร 11(กม.11) ด้านหลัง ปตท. สำนักงานใหญ่ จำนวน 350 ไร่, ที่ดินบริเวณสถานีแม่น้ำ จำนวน 277 ไร่ และโครงการพัฒนาที่ดินบางซื่อแปลง A จำนวน 32 ไร่ โดยก่อนหน้านี้การรถไฟฯ   ประเมินว่าการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลให้ รฟท.มีรายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จากปัจจุบันรายได้อยู่ที่ปีละ 2,800 ล้านบาท คาดว่าในปี 2563 การรถไฟฯจะมีรายได้ถึง 9,000 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 15,000 ล้านบาท ปี 2564

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “เรามีแผนการเพิ่มรายได้ที่ชัดเจน ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สิน โดยจะเสนอเรื่องเข้า ครม.ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการรายใหญ่ ๆ เหมือนกับเซ็นทรัล ทั้งจากในและต่างประเทศมาประมูลเช่าใช้พื้นที่ แน่นอนว่าเมื่อมีการแข่งกันราคาก็จะปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนั้นเรายังเตรียมพิจารณารื้อสัญญาปรับขึ้นค่าเช่าที่ดินการรถไฟฯ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 16,000 สัญญาอีกด้วย” .




กำลังโหลดความคิดเห็น