xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “7 ป.ป.ช.” หลุดเก้าอี้ ขู่เอาผิด “บิ๊กกุ้ย” ไม่ตรวจสอบนาฬิกา “บิ๊กป้อม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักกฎหมายฟันธง “พล.ต.อ.วัชรพล” พร้อม 6 กรรมการ ป.ป.ช. หลุดตำแหน่ง เหลือรอดแค่ 2 หลังยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ม.178 คาดใช้เวลา 6 เดือนตั้ง ป.ป.ช.ใหม่ ด้าน “ชูศักดิ์ ศิรินิล” จี้ สนช.รับผิดชอบออกกฎหมายลูกขัดรัฐธรรมนูญ “วัชระ เพชรทอง” ระบุไม่ต่างจากนิรโทษกรรมสุดซอย ชี้รัฐบาล คสช.ครอบงำองค์กรอิสระเหมือนยุคทักษิณ ขู่ดำเนินคดีประธาน ป.ป.ช. หากไม่รับตรวจสอบที่มานาฬิกาหรู
พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ
ปมปัญหาเรื่องการขาดคุณสมบัติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดูจะเป็นประเด็นร้อนที่ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์มายาวนานข้ามปี โดยเฉพาะกรณีของ “บิ๊กกุ้ย” พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งขาดคุณสมบัติ ขณะเดียวกันก็มีความสนิทสนมกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยิ่งเมื่อเกิดกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตรที่ไม่มีการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน แต่ ป.ป.ช.กลับนิ่งเฉย ก็ยิ่งเพิ่มความเคลือบแคลงใจให้กับสังคม

กระทั่งล่าสุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งถูกกระแสสังคมกดดันอย่างหนักก็ได้ไขนอตคลายปม ทำตามคำชี้แนะของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อตีความว่า มาตรา 178 ซึ่งกำหนดข้อยกเว้นให้กรรมการ ป.ป.ช. ที่มีลักษณะต้องห้ามสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้นั้น เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ
เมื่อมาถึงจุดนี้สิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไปก็คือ หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเกิดอะไรขึ้นตามมา เพราะคำวินิจฉัยของศาลมีเพียง 2 แนวทาง คือ ขัด หรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และหากศาลฯ วินิจฉัยว่า มาตรา 178 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ขัดรัฐธรรมนูญ สถานะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะเป็นเช่นไร ?

เรื่องนี้คงต้องไปฟังความเห็นจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายซึ่งต่างให้มุมมองที่น่าสนใจ โดย นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ อธิบายว่า ปัญหาเรื่องคุณสมบัติของ ป.ป.ช.นั้นเกี่ยวข้องกับกฎหมายสองมาตรา คือ มาตรา 232 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และมาตรา 178 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่กำหนดข้อยกเว้นให้กรรมการ ป.ป.ช. ที่มีลักษณะต้องห้ามสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ เท่ากับว่า สนช.ออกกฎหมายลูกให้มีอำนาจเหนือกว่ารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่ ซึ่งตามหลักการแล้วไม่สามารถทำได้
รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล
ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยเรื่องนี้ให้กระจ่าง โดยส่วนตัวเชื่อมั่นในการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าแต่ละท่านคงไม่เอาเกียรติของตัวเองมาทำลาย

ทั้งนี้หากศาลฯ วินิจฉัยว่า มาตรา 178 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คนก็ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่หากศาลฯ วินิจฉัยว่า มาตราดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ต้องมีกรรมการ ป.ป.ช.บางคนที่หลุดจากตำแหน่ง

สนช.เขียนกฎหมายเพื่อให้ ป.ป.ช.อยู่ในตำแหน่งต่อไป ทั้งที่ส่วนใหญ่ขาดคุณสมบัติหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 178 ขัดรัฐธรรมนูญ เท่าที่ดูจะมีเพียง 2 คนเท่านั้นที่ได้อยู่ต่อ ซึ่ง 2 คนนี้ก็ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตต่อไป และต้องมีการสรรหากรรมการ ป.ป.ช มาแทน 7 คนที่พ้นตำแหน่งไป คงใช้เวลาไม่นานเพราะ ป.ป.ช.เป็นตำแหน่งที่มีคุณสมบัติเฉพาะตามที่กฎหมายระบุ แล้วมาตรวจดูประวัติว่ามีอะไรเสื่อมเสียหรือใหม่ เพื่อคัดเลือกคนที่เหมาะสมที่สุด คิดว่าขั้นตอนทั้งหมดคงใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน

สอดคล้องกับ รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ระบุว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 178 ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่ให้กรรมการ ป.ป.ช. ที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เบื้องต้นจะต้องพิจารณาคุณสมบัติของ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน ซึ่งจากการตรวจสอบจะพบว่ามีเพียง 2 คนเท่านั้นที่มีคุณสมบัติครบและสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ คือ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ และนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร

ส่วนที่เหลืออีก 7 คนนั้นขาดคุณสมบัติอย่างชัดเจน โดยเฉพาะ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เข้าข่ายลักษณะต้องห้าม เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นเลขาฯ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และพ้นจากตำแหน่งยังไม่เกิน 10 ปี ดังนั้นทั้ง 7 คนจึงน่าจะพ้นจากตำแหน่งโดยอัตโนมัติ จึงเป็นหน้าที่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยเพื่อธำรงไว้ซึ่งธรรมาภิบาล”

ขณะที่ ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. และคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เห็นว่า มีกรรมการ ป.ป.ช. 2 คนเท่านั้นที่ไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนั้นกรรมการ ป.ป.ช.ที่ไม่ขาดคุณสมบัติจึงน่าจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ แต่ก็ต้องขึ้นกับดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ดี ในส่วนความรับผิดชอบของ สนช.ในกรณที่ศาลฯ วินิจฉัยว่า มาตรา 178 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่ออกโดย สนช.ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ เห็นว่า สนช.ไม่อาจปฏิเสธความผิดในเรื่องนี้ได้

การที่ สนช.ไปมีมติรับรองให้ ป.ป.ช.ที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอยู่ต่อจนครบวาระ ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน หากเป็นยุคที่บ้านเมืองปกติ สนช.ที่มีมติดังกล่าวจะต้องรับผิดชอบทั้งทางการเมืองและทางอาญา แต่ยุคนี้ไม่แน่ใจ เราก็รู้กันดีว่าองค์กรต่าง ๆ มีที่มาที่ไปอย่างไร สนช. ซึ่งทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่ไม่มีสิทธิ์อภิปรายหรือตั้งกระทู้ถามรัฐบาล คสช.” รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์บอก
( ซ้าย) ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ , นายวัชระ เพชรทอง
ด้าน นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า ยุครัฐบาล คสช.มีการแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระทำให้องค์กรเหล่านี้ไร้ซึ่งหลักนิติรัฐนิติธรรมไม่ต่างจากยุคของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จะเห็นได้ว่า สนช.มาจากการแต่งตั้งของ คสช. การทำงานต่าง ๆ เป็นไปเพื่อสนองความต้องการของ คสช. กรณีมีปัญหาขาดคุณสมบัติของ ป.ป.ช.ก็เกิดจาก สนช.ออกกฎหมายลูกที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง เหมือนกับกรณีนิรโทษกรรมสุดซอยในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขณะที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีต สนช. นั้นลาออกจาก สนช.ไปดำรงตำแหน่งประธาน ป.ป.ช. ตามคำสั่งของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งใคร ๆ ก็รู้ว่า พล.ต.อ.วัชรพลเป็นอดีตหน้าห้องของ พล.อ.ประวิตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่ พล.ต.อ.วัชรพล ในฐานะประธาน ป.ป.ช. จะตรวจสอบที่มานาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร

ได้ยื่นเรื่องให้ พล.ต.อ.วัชรพล ตรวจสอบที่มานาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร แต่ท่านวัชรพลบอกว่าอาจจะไม่รับเรื่อง หมายความว่าอะไรครับ ท่านเป็นประธาน ป.ป.ช.นะครับ ถ้าท่านไม่รับเรื่องก็จะแจ้งความดำเนินคดีท่านฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” นายวัชระกล่าว

จากนี้คงต้องติดตามต่อไปว่าผลการตีความ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 178 จะออกมาเป็นเช่นไร และจะสร้างความสั่นสะเทือนให้กับเก้าอี้ ป.ป.ช.มากน้อยเพียงใด ใครจะอยู่ ใครจะไป คงต้องจับตาดูชนิดห้ามกะพริบตา



กำลังโหลดความคิดเห็น