เปิดผลงาน “4 มือแฉ” ระดับประเทศ ขุดคุ้ยเปิดโปงสารพัดวีรกรรมสุดฉาวของรัฐบาล คสช. “วัชระ เพชรทอง” เตือน ม.44 ไม่คุ้มครองความผิดกรณีคอร์รัปชัน ชี้ความอัดอั้นของประชาชนอาจกลายเป็นชนวนให้รัฐบาลจบไม่สวย ด้าน “ศรีสุวรรณ จรรยา” เผยหมัดเด็ด น็อก “นายกฯ ตู่”
ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรืออาสาเข้ามาแก้ปัญหาด้วยวิธีรัฐประหารก็ล้วนต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน แม้แต่ “รัฐบาล คสช.” ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีอำนาจจาก ม.44 สามารถเชิญผู้ที่ไม่เข้าใจรัฐบาลไปปรับทัศนคติ ก็ไม่อาจหลีกหนีการวิพากษ์วิจารณ์ไปได้ และวันนี้ถึงจะมีผู้กล้าที่เฝ้าตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลแบบเกาะติดชนิดกัดไม่ปล่อยอยู่ไม่มากนักแต่ในเชิงข้อมูลแล้วต้องยอมรับว่าหนักแน่นและชัดเจนจนยากจะปฏิเสธ กระทั่งใครๆ ก็เรียกพวกเขาว่า “มือแฉ” ซึ่งในการขับเคลื่อนนั้นแม้ต่างคนจะต่างตรวจสอบแต่บางประเด็นก็มีการสานต่อรับลูกกันโดยมิต้องนัดหมาย
มือแฉคนแรกที่ต้องยอมรับว่าแรงจัดชัดเจนก็คือ “นายวัชระ เพชรทอง” อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ เขามีบทบาทในฐานะนักเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ครั้งเป็นแกนนำนักศึกษาในยุคพฤษภาทมิฬ ด้วยมองว่าการเมืองคือองคาพยพที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ เขาจึงผันตัวเข้าสู่เส้นทางการเมือง โดยประเด็นซึ่งสร้างความฮือฮาที่สุดที่นายวัชระออกมาเปิดโปงรัฐบาล คสช.ก็คือกรณีการเดินเกมจัดตั้ง “พรรคทหาร” ภายใต้ชื่อพรรคประชารัฐ เพื่อหวนคืนสู่อำนาจของบรรดาพี่บิ๊ก โดยมีกำนันสุเทพเป็นหัวหอกในการรวบรวมนักการเมืองเข้าสังกัดพรรค เพื่อเป้าหมายดัน พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ส่งผลให้สื่อพากันขุดคุ้ยเปิดโปงชนิดหมดไส้หมดพุง กระทั่ง “บิ๊กตู่” ต้องออกมายอมรับและประกาศตัวว่า “เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร”
นอกจากนั้นนายวัชระยังเคยออกมาแฉเรื่องการฮั้วประมูลข้าวค้างสต๊อก ของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยมีข้าราชการอ้างชื่อ นายกฯ ประยุทธ์ และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อกันบริษัทอื่นที่เข้าเสนอประมูลออกไป ที่สำคัญบางบริษัทที่ประมูลได้ยังมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็น นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ หรือนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีระบายข้าวจีทูจี
คนต่อมาที่เป็นมือแฉอันดับต้นๆ และเลือกก้าวเข้ามาในเส้นทางการเมืองเช่นกันก็คือ “นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นที่จดจำในฐานะผู้ที่ตรวจสอบการกระทำอันมิชอบของนักการเมืองและภาครัฐในหลายกรณี กระทั่งได้รับฉายา “แจ็คผู้ฆ่ายักษ์” แม้ปัจจุบันจะผันตัวมาทำงานการเมืองก็ยังไม่ทิ้งลาย ในส่วนของการขุดคุ้ยตรวจสอบรัฐบาล คสช.นั้น ถือว่ามีหลายกรณีที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งบรรดาคอการเมืองเริ่มนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง โดยพุ่งเป้าไปที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นหลัก
เริ่มจากยื่นเรื่องให้กรมสรรพากรตรวจสอบการเสียภาษีของ พล.อ.ประยุทธ์ จากการขายที่ดินของบิดาให้แก่บริษัท 69 พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด สูงกว่าราคาประเมินถึง 402,435,000 บาท ว่ามีการเสียภาษีถูกต้องหรือไม่
ตามด้วยยื่นให้กรมสรรพากรตรวจสอบ พล.อ.ประวิตร ว่าเสียภาษีอย่างถูกต้องหรือไม่ จากกรณีที่ระบุไว้ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. ตอนเข้ารับตำแหน่ง รมว.กลาโหม เมื่อปี 2551 ว่ามีเช็คเงินสดจำนวน 1 ล้านบาท อยู่ในบัญชีรายการทรัพย์สินอื่น เพราะหากมีการนำเช็คดังกล่าวไปขึ้นเงิน ก็จะถือว่าเป็น “เงินได้พึงประเมิน” ซึ่งจำเป็นต้องเสียภาษี โดยหากไม่มีการเสียภาษี กรมสรรพากรก็ควรเรียกเก็บพร้อมเบี้ยปรับ ภายในอายุความ 10 ปี
นอกจากนั้นนายเรืองไกรยังได้ร้องศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ของ คสช.ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ และยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 142 กำหนดไว้
และกรณีที่ยอมไม่ได้สำหรับนักการเมืองสายแฉก็คือปฏิบัติการ “รีเซตพรรคการเมือง” ของ คสช. โดยนายเรืองไกรได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของหัวหน้า คสช. ซึ่งออกคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ถือเป็นการกระทำที่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพบุคคลที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือไม่ เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ประกอบมาตรา 77 วรรคสอง และเป็นการกระทำอันต้องห้ามตามมาตรา 5 หรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 สิ้นผลไป โดยไม่มีผลใช้บังคับได้มาตั้งแต่แรก หรือเสมือนไม่เคยมีคำสั่งนี้ ทั้งนี้เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวส่งผลให้ทุกพรรคต้องมีการขึ้นทะเบียนรายชื่อสมาชิกพรรคใหม่ทั้งหมด ซึ่งผลในทางการเมืองคือสมาชิกทุกคนจะปลอดพันธะที่ทำไว้กับพรรค หากจะย้ายไปสังกัดพรรคอื่นก็ไม่ต้องยื่นใบลาออกให้กระอักกระอ่วนใจ ช่วยให้พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่มาติดต่อช้อนซื้อได้ง่ายขึ้น และไม่แปลกที่การเคลื่อนไหวของนายเรืองไกรจะสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นเป้าหมายแรกที่ได้รับผลกระทบจากการทุ่มซื้ออดีต ส.ส.
อีกหนึ่งมือแฉที่กล้าลุยกล้าชนไม่แพ้กัน และถือเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาล คสช.ก็คือ “นายวีระ สมความคิด” เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) ซึ่งประเด็นหลักที่นายวีระเคลื่อนไหวคัดค้านก็ยังคงเป็นกรณีปัญหาที่ดินทับซ้อนระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านอันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยเสียดินแดนเช่นเดียวกับที่เคยเคลื่อนไหวในยุครัฐบาลที่ผ่าน ๆ มา โดยในยุครัฐบาล คสช. นายวีระออกมาแฉว่าได้มีการเปิดบ่อนบริเวณจุดผ่านแดนด่านช่องสายตะกู ต.จันทบเพชร อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ โดยพื้นที่แห่งนี้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตาพระยา ซึ่งเป็นพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชา อีกทั้งมีข้อมูลว่าบ่อนดังกล่าวเป็นของนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลของกัมพูชา ซึ่งมีทหารใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้องและได้รับผลประโยชน์ด้วย พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่าเหตุใดจึงปล่อยให้มีการตั้งบ่อนในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งการออกมาแฉของนายวีระนับว่าส่งผลต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลทหารที่มีหน้าที่ปกป้องผืนแผ่นดินไทยไม่น้อยทีเดียว
นอกจากนั้นนายวีระยังได้ร่วมแฉในกรณีแหวนเพชรและนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร โดยหลังจากเพจ CSI LA โพสต์ภาพแหวนเพชรและนาฬิกาหรูมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท บนข้อมือของ พล.อ.ประวิตร ขณะถ่ายรูปร่วมกับคณะรัฐมนตรี พร้อมตั้งคำถามถึงที่มา ตามด้วยการเปิดประเด็นของโลกโซเชียลที่โพสต์ภาพเอกสารแสดงบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.ประวิตร ซึ่งชี้ชัดว่าไม่ได้แจ้งบัญชีในส่วนของนาฬิกาและแหวนเพชร จนกลายเป็นประเด็นร้อน ขณะที่ “บิ๊กป้อม” ออกมาแก้ต่างว่าเป็นแหวนที่ยืมมาจากมารดา ส่วนนาฬิกามีเพื่อนให้ ทางด้านนายวีระก็ได้ขุดคุ้ยเรื่องนี้ต่อโดยระบุว่ามีหลักฐานว่า พล.อ.ประวิตร ใส่นาฬิการาคาแพงเกินล้านบาทอยู่หลายเรือน ใส่แหวนเพชร แหวนทับทิม ราคาแพงอยู่หลายวง แต่กลับไม่มีการแจ้งต่อ ป.ป.ช. ก่อนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีในปี 2557 และหากได้มาหลังจากนั้น ต้องตรวจสอบว่าเงินที่ซื้อมาจากไหน
นอกจากนั้นยังมีแนวร่วมอย่าง “นายศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม ที่ขุดคุ้ย เคลื่อนไหว เรียกร้องความเป็นธรรมในประเด็นต่าง ๆ ด้วยหวังสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องให้แก่สังคมมากว่า 20 ปี จนได้รับฉายาว่า “นักร้องเรียน” ซึ่งประเด็นที่นายศรีสุวรรณออกมาแฉรัฐบาล คสช.นั้นมีมากมาย ซึ่งเขาเลือกใช้วิธียื่นเรื่องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาดำเนินการมากกว่าจะออกมาแฉเพียงอย่างเดียว อาทิ ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอชื่อแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้แต่งตั้ง สนช. ทั้งหมดยื่นหนังสือให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งเครือญาติเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบกรณีบริษัทของบุตรชาย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้งานจากกองทัพภาคที่ 3 ในระหว่างที่ พล.อ.ปรีชาเป็นแม่ทัพภาคที่ 3 อีกทั้งยังยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ พล.อ.ปรีชา ในกรณีสร้างบ้านพักหลังใหม่ใน จ.พิษณุโลก โดยไม่แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. ว่าเข้าข่ายเป็นการยื่นบัญชีเท็จหรือไม่
ทั้ง 2 กรณีแม้จะไม่ใช่เรื่องของ พล.อ.ประยุทธ์โดยตรง แต่ไม่อาจปฏิเสธสายสัมพันธ์พี่น้องที่ย่อมกระทบต่อภาพลักษณ์เรื่องธรรมาภิบาลและความโปร่งใสร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และ พล.ท.วิชัย แซจอหอ แม่ทัพภาคที่ 2 กรณีปล่อยให้มีการตั้งกาสิโนบริเวณพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ซึ่งถือเป็นการรับไม้ต่อจากนายวีระ สมความคิด ซึ่งออกมาเปิดประเด็นเรื่องนี้
และล่าสุดได้ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายความผิดรับประโยชน์ หรือ ทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท ตามกฎหมายและประกาศของ ป.ป.ช.จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ให้สุนัขบางแก้วที่ซื้อมาในราคาตัวละ 6,000 บาท แก่ พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.อ.ฉัตรชัย
แน่นอนว่าแม้ พล.อ.ประยุทธ์ และพี่บิ๊กในคณะรัฐมนตรี จะทำเป็นไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับการเปิดโปงสารพัดกรณีของบรรดามือแฉ แต่ก็มิอาจปฏิเสธผลกระทบที่ตามมาโดยเฉพาะภาพลักษณ์อันฉาวโฉ่และเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมทั้งในประเด็นการใช้อำนาจโดยมิชอบและการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งสวนทางกับมอตโต้ของนายกฯ ตู่ ที่ประกาศตัวว่าเข้ามาเพื่อขจัดคอร์รัปชัน
ทั้งนี้ นายวัชระ เพชรทอง วิเคราะห์ว่าขณะนี้รัฐบาลกำลังประสบปัญหาการทุจริตอย่างรุนแรงส่งผลให้คะแนนนิยมของรัฐบาลลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำเป็นไม่รู้ร้อนรู้หนาว เพราะจำเป็นต้องปกป้องคณะรัฐมนตรีที่ร่วมทำรัฐประหารมาด้วยกัน ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าทำไมต้องยอมจำนนต่อคอร์รัปชัน เมื่อผสมกับกระแสความไม่พอใจต่อการใช้อำนาจโดยไม่ฟังเสียงประชาชนแล้ว มันก็เหมือนกับรัฐบาลเอามือไปอุดพวยกาที่น้ำกำลังเดือด ถึงจุดหนึ่งมันจะระเบิด
“เชื่อว่าความอัดอั้นของประชาชนจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ถ้ารัฐบาลยังยื้อที่จะอยู่ในอำนาจ ไม่จัดการเลือกตั้งตามที่เคยรับปาก ก็ไม่แน่ว่าอาจมีจุดจบแบบเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ หรือสมัยพลเอกสุจินดา และอย่าลืมว่าแม้รัฐบาลจะใช้ ม.44 คุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม.ให้พ้นผิดในทุกกรณี แต่ ม.44 ไม่คุ้มครองกรณีคอร์รัปชัน” นายวัชระกล่าว
ขณะที่ นายศรีสุวรรณ เปิดเผยว่าตนจะยื่นคำร้องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการกรณีที่มาและปัญหาขาดคุณสมบัติของ ป.ป.ช.ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากนายกฯ เพิกเฉยตนจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นหมัดน็อกนายกรัฐมนตรี