xs
xsm
sm
md
lg

ปี 2560 “ตระกูลชินวัตร” โดนหนัก รัฐต้องไล่ล่ายึดทรัพย์คืนให้แผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปี 2560 วิบากกรรมตระกูลชิน “ยิ่งลักษณ์” ถูกหมายจับ “ทักษิณ” โดนรื้อคดีใหญ่ 4 และคดีหมิ่นฯ อีก 1 ขณะที่ “โอ๊ค” ติดคดีฟอกเงิน แม้ไร้วี่แววถูกจับส่งดำเนินคดีในไทย แต่ต้องหนีตลอดชีวิต นักกฎหมายชี้สามารถตามยึดทรัพย์สินชดเชยค่าเสียหายได้ อีกทั้งถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้นักการเมือง

กล่าวได้ว่าปี 2560 เป็นปีที่หนักหนาสาหัสสำหรับตระกูลชินวัตร เนื่องเพราะมีคดีที่เกี่ยวข้องกับ “ทักษิณและครอบครัว” ถูกขับเคลื่อนเดินหน้าอย่างเข้มข้น ที่สำคัญสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังมีการออก พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 29 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อดัดหลังนักการเมืองที่หนีคดี ซึ่งทำให้คดีของคนในตระกูลชินวัตรที่มีทีท่าว่าจะค้างคาและรอวันหมดอายุความสามารถนำมาพิจารณาตัดสินได้ เมื่อประกอบกับนโยบายปราบปรามการทุจริตที่จริงจังของรัฐบาลจึงนำไปสู่การรื้อคดีอีกด้วย

ทั้งนี้คดีที่เกี่ยวข้องกับทักษิณและครอบครัวมีทั้งสิ้น 5 คดี โดยมีคดีที่ได้รับผลจากการออกกฎหมายและนโยบายดังกล่าว ดังนี้

1. คดีรับจำนำข้าว ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นจำเลยในข้อหาปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตและเกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว 5 แสนล้าน และเนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์หลบหนี ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาลับหลัง ตัดสินจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเวลา 5 ปี โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รอลงอาญา อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ต้องหาในคดีระบายข้าวจีทูจีซึ่งเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการรับจำนำข้าว ไม่ว่าจะเป็น นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ หรือนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ รวมถึงข้าราชการคนอื่นๆ ซึ่งถูกศาลตัดสินจำคุกเช่นกัน แต่ไม่มีใครสามารถหลบหนีออกนอกประเทศได้ ยกเว้น น.ส.ยิ่งลักษณ์เพียงคนเดียว ทั้งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นจำเลยคนสำคัญและมีทหารคอยเฝ้าอยู่หน้าบ้าน ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีผู้ใหญ่ใน คสช.เปิดทางให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์หลบหนีหรือไม่ เพราะหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ติดคุกจริงอาจจะเป็นชนวนให้เกิดเหตุวุ่นวายก็เป็นได้

2. คดีทุจริตในการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้แก่กลุ่มกฤษดามหานคร ซึ่งนายทักษิณ ชินวัตร และนายพานทองแท้ ชินวัตร ตกเป็นจำเลย สร้างความเสียหายให้รัฐประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยคดีนี้อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณ (จำเลยที่ 1) และพวกอีก 27 ราย ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดในอีกหลายมาตรา ที่ผ่านมาศาลได้ตัดสินจำคุกและปรับจำเลยที่เกี่ยวข้องในคดีหลายราย แต่ในส่วนของนายทักษิณนั้นเนื่องจากตามกฎหมายเดิมไม่สามารถพิจารณาคดีลับหลังได้ และศาลพิจารณาเห็นว่า ทักษิณ ได้รับทราบนัดโดยชอบแล้ว แต่ไม่มาฟังการพิจารณาคดี มีเหตุให้สงสัยว่าจำเลยจะหลบหนี จึงให้ออกหมายจับ และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว ล่าสุดเมื่อ พ.ร.ป.คดีอาญาการเมือง 2560 ออกมาบังคับใช้ อัยการสูงสุดจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อขอรื้อคดีขึ้นมาอีกครั้ง

ในส่วนของนายพานทองแท้นั้นแม้ในช่วงแรกจะมีชื่อเกี่ยวข้องแต่ไม่ถูกดำเนินคดี แต่เมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เรียกนายพานทองแท้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาฐานฟอกเงิน โดยนายทองแท้ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2560 และส่งทนายเข้ายื่นเอกสารแก้ข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อสู้คดีต่อไป

3. คดีออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ-ดาวเทียมเป็นภาษีสรรพสามิต เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทชินคอร์ป ทำรัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งอดีตนายกฯ ทักษิณตกเป็นจำเลย โดยเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2560 อัยการสูงสุดในฐานะโจทก์ได้สั่งรื้อคดี เนื่องจากก่อนหน้านี้แม้จะมีหลักฐานที่สามารถเอาผิดนายทักษิณได้ แต่จากการพิจารณาคดีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2551 นายทักษิณ รวมถึงทนายจำเลยไม่ได้เดินทางมาศาล มีเพียงอัยการโจทก์เท่านั้น ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยทราบหมายโดยชอบแล้วไม่มาศาล เชื่อว่ามีพฤติการณ์มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะหลบหนี จึงให้ออกหมายจับจำเลย แต่ยังไม่ทราบว่าจะได้ตัวจำเลยมาพิจารณาคดีเมื่อใด จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้ตัวจำเลยมา ศาลจึงจะยกคดีมาพิจารณาอีกครั้ง ดังนั้นเมื่อ พ.ร.ป.คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งระบุว่าหากจำเลยหลบหนีก็สามารถพิจารณาคดีลับหลังได้ ออกมาบังคับใช้ อัยการสูงสุดจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อขอรื้อคดี

4. คดีทุจริตในการปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ให้แก่รัฐบาลเมียนมาร์ 4,000 ล้านบาท เพื่อดําเนินโครงการจัดซื้อ อุปกรณ์กิจการโทรคมนาคมจากบริษัทในเครือชิน คอร์ปอเรชั่น ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องอดีตนายกฯ ทักษิณ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่นายทักษิณไม่มาศาลตามนัด และหลบหนีไปต่างประเทศก่อนหน้านี้ ศาลแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงออกหมายจับเนื่องจากหนีคดี และได้จำหน่ายคดีไว้เป็นการชั่วคราว แต่เมื่อ พ.ร.ป.คดีอาญาทางการเมือง 2560 ที่ออกมาบังคับใช้ กรรมการ ป.ป.ช. จึงได้ยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อขอรื้อคดีใหม่

5. คดีทุจริต โครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสํานักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือคดีหวยบนดินซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง อดีตนายกฯ ทักษิณและคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งข้าราชการเกี่ยวข้อง โดยในส่วนของ ครม.และข้าราชการนั้นศาลได้ตัดสินคดีไปแล้ว แต่ในส่วนของนายทักษิณเนื่องจากเจ้าตัวไม่ได้มาขึ้นศาล โดยหลบหนีไปต่างประเทศก่อนหน้านี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมืองจึงจำหน่ายคดีไว้ก่อน และเนื่องจาก คตส.หมดวาระไปก่อนที่คดีจะถูกตัดสิน คดีจึงถูกโอนมาที่ ป.ป.ช. ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นเมื่อมีการออกกฎหมายให้สามารถพิจารณาคดีลับหลังได้ ป.ป.ช.จึงยื่นขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรื้อคดีของนายทักษิณขึ้นมาพิจารณาใหม่

นอกจากนั้นในปี 2560 ยังมีคดีใหม่จากกรรมเก่าที่ตามไล่ล่าทักษิณ คือ “คดีหมิ่นเบื้องสูง” และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ...ซึ่งเกิดขึ้นภายนอกราชอาณาจักรและทักษิณตกเป็นจำเลย โดยเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2560 อัยการสูงสุดเห็นสมควรสั่งฟ้องและประสานให้ตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ออกหมายจับและขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน แต่เนื่องจากเป็นคดีอาญาไม่ใช่คดีทุจริตที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาฯ นักการเมือง การฟ้องจึงต้องมีตัวจำเลยมายื่นต่อศาล ซึ่งแปลว่าหากไม่สามารถจับตัวนายทักษิณมาขึ้นศาล ศาลก็ไม่สามารถพิจารณาคดีนี้ได้
พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
อย่างไรก็ดี แม้ความพยายามในการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันของคนในตระกูลชินวัตรจะเป็นไปอย่างเข้มข้น แต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสามารถจับกุมสองพี่น้องชินวัตรกลับมาดำเนินคดีในไทยได้ อีกทั้งมีข่าวว่าทั้งสองยังคงใช้ชีวิตอย่างสุขสบายอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กระทั่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมาดูเหมือนทางการไทยไม่ได้พยายามอย่างจริงจังที่จะนำตัวบุคคลทั้งสองกลับมาดำเนินคดี ขณะที่ประเทศอังกฤษไม่ได้ให้ความร่วมมือในเรื่องนี้

เห็นได้จากการให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2560 ว่าได้รับรายงานจากทางประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เดินทางออกจากดูไบไปยังประเทศอังกฤษแล้วตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบถามไปยังประเทศอังกฤษแล้ว แต่ยังไม่ตอบรับกลับมา

นอกจากนั้น พล.ต.อ.ศรีวราห์ ยังระบุว่าได้เซ็นขอ "หมายแดง" ไปแล้ว แต่กระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่าให้ขอ "หมายน้ำเงิน" ไปก่อน เพื่อสืบเสาะหาแหล่งพักพิงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และเนื่องจากไทยกับอังกฤษมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดของไทย ที่จะทำหนังสือขอส่งตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้กลับมาดำเนินคดีในไทย

ขณะที่ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยเมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ได้รับการประสานขอข้อมูลเพิ่มเติมจากตำรวจสากลเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาว่าจะสามารถออกหมายน้ำเงินได้หรือไม่

ทั้งนี้การออกหมายของตำรวจสากลจะเรียกตามรหัสสี ซึ่ง “หมายน้ำเงิน” หมายถึงหมายสืบ ส่วน“หมายแดง” หมายถึง หมายจับ

โดยเว็บไซต์ของตำรวจสากลระบุว่า การออก "หมายแดง" ของ Interpol จะเกิดขึ้นเมื่อประเทศสมาชิกร้องขอพร้อมยื่นหมายจับของประเทศนั้นมาประกอบ หลังจากนั้นตำรวจสากลจะส่งหมายแดงให้แก่สมาชิก 19
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์
จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการนำตัวนางสาวยิ่งลักษณ์กลับมาดำเนินคดีในไทยดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะที่กรณีของอดีตนายกฯ ทักษิณซึ่งหนีออกนอกประเทศตั้งแต่ปี 2551 และมีหมายจับไม่ต่ำกว่า 7 คดี ก็ไม่มีทีท่าว่าจะมีการจับกุมเพื่อส่งตัวกลับมาดำเนินคดีในไทย

จึงมีคำถามตามมาว่าหากเป็นเช่นนั้นการรื้อคดีดังกล่าวจะมีประโยชน์อะไร ?
ประเด็นนี้ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การออกกฎหมายเพื่อให้สามารถพิจารณาคดีลับหลังในคดีทุจริตคอร์รัปชัน โดยคดีไม่มีอายุความ รวมทั้งการขานรับของหน่วยที่เกี่ยวข้องซึ่งขอรื้อคดีของอดีตนายกฯ ทักษิณนั้น ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานในการดำเนินคดีทุจริตของนักการเมือง

การรื้อคดีทำให้คดีสิ้นสุดกระบวนการกฎหมายอย่างสมบูรณ์ หากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาคดีสิ้นสุดแล้ว ปรากฏว่ามีโทษจำคุก แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถนำตัวคุณทักษิณและคุณยิ่งลักษณ์กลับมาดำเนินคดีได้ แต่เขาก็ต้องหนีไปตลอดชีวิตเพราะคดีไม่มีอายุความ อีกทั้งหากมีโทษปรับ หรือต้องชดเชยค่าเสียหาย ก็สามารถติดตามทรัพย์สินในส่วนนี้ให้ตกเป็นของแผ่นดินได้” นายวิรัตน์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น