xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กทหาร-ตำรวจ” สับเละระบบ “ธำรงวินัย” เอาผิดคนทำ “น้องเมย” ตายเป็นคดีอาญา!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บิ๊กทหาร-ตำรวจ ดาหน้ายันอดีตโรงเรียนนายร้อยไม่มีระบบ “ธำรงวินัย” คัดค้านการใช้ความรุนแรง และระบบพี่ลงโทษน้อง เหตุเด็กไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ ด้าน “พล.ร.อ.บรรณวิทย์” เผยแม้แต่การฝึกหน่วยซีลยังไม่เคยมีคนตาย พร้อมระบุกรณี “น้องเมย” เป็นคดีอาญา ส่วนผู้บังคับกองพันนักเรียนมีความผิดทางวินัย ด้าน “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” ชี้ต้องให้ตำรวจชันสูตรพลิกศพ และแจ้งให้ญาติทราบก่อน

นับเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของกองทัพอย่างมาก สำหรับการเสียชีวิตของ ‘น้องเมย’ นตท.ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ที่ถูกพุ่งเป้าไปที่การใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุในการ “ซ่อม” หรือที่เรียกเป็นภาษาทหารว่า “ธำรงวินัย” กระทั่งเป็นสาเหตุให้น้องเมยเสียชีวิต กรณีดังกล่าวมิใช่แค่ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวางเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การรวบรวมรายชื่อของประชาชนหลายหมื่นราย โดยเว็บไซต์ change.org เพื่อเรียกร้องให้กองทัพยกเลิกระบบธำรงวินัย

มิใช่แค่ประชาชนทั่วไปเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยต่อการใช้ความรุนแรงในการลงโทษนักเรียนเตรียมทหาร นายตำรวจและนายทหารระดับสูงจำนวนไม่น้อยก็ออกมาคัดค้านระบบ “ธำรงวินัย” ด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังยืนยันว่าในอดีตโรงเรียนเตรียมทหารไม่เคยมีการลงโทษด้วยระบบดังกล่าวมาก่อน

พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 7 บอกว่า “การธำรงวินัย” ซึ่งเป็นระบบที่ให้นักเรียนเตรียมทหารรุ่นพี่ปกครองและสามารถลงโทษรุ่นน้องด้วยความรุนแรงนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และไม่ได้ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่นักเรียนเตรียมทหารแต่อย่างใด เนื่องจากนักเรียนเตรียมทหารมีอายุเพียง 14-17 ปี เทียบเท่ากับเด็กมัธยมปลายเท่านั้น ร่างกายไม่มีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรับการฝึกหรือลงโทษอย่างหนัก หลักสูตรของนักเรียนเตรียมทหารก็เป็นเพียงการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะแยกเหล่าไปเป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศ หรือโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ที่สำคัญนักเรียนเตรียมทหารที่เป็นรุ่นพี่นั้นไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะปกครองหรือสั่งลงโทษรุ่นน้อง เรื่องเหล่านี้ควรเป็นหน้าที่ของผู้บังคับกองพันนักเรียนที่จะดูแล

พล.ร.อ.บรรณวิทย์ย้ำว่า ในสมัยที่ตนเรียนโรงเรียนเตรียมทหารนั้นไม่มีระบบธำรงวินัย และไม่มีการลงโทษด้วยความรุนแรง มีแค่เพียงการวิดพื้น สกอตจัมป์ และวิ่งรอบสนามเท่านั้น และแม้จะแยกเหล่ามาเรียนโรงเรียนนายเรือเพื่อเข้าสู่การเป็นทหารอาชีพแล้วก็ไม่มีระบบการลงโทษด้วยความรุนแรง

ตอนผมเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นพี่ผมคือ ท่านประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 6 ท่านก็ไม่เคยใช้ความรุนแรงกับรุ่นน้อง ผมยืนยันว่าการใช้ความรุนแรงไม่ได้ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้ทหาร จะเห็นได้ว่าโรงเรียนนายเรือไม่มีระบบการลงโทษด้วยความรุนแรง ส่วนใหญ่จะลงโทษด้วยการกักบริเวณ แต่หน่วยทำลายใต้น้ำจู่โจมหรือที่เรียกว่าหน่วยซีลของกองทัพเรือคือหน่วยรบที่ได้รับการยอมรับว่าแข็งแกร่งที่สุด ขนาดการฝึกของหน่วยซีลยังไม่มีคนตาย แต่การธำรงวินัยของโรงเรียนนายร้อยกลับมีคนตาย มันไม่ใช่เรื่องปกติแล้ว” พล.ร.อ.บรรณวิทย์ ตั้งข้อสังเกต

สอดคล้องกับความเห็นของ พล.ท.พงศกร รอดชมภู ซึ่งโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ยืนยันว่าในอดีตโรงเรียนเตรียมทหารไม่มีระบบ “ธำรงวินัย” มีแต่ระบบ "เกียรติศักดิ์"

พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 14 แสดงความคิดเห็นว่า รุ่นผมก็ไม่เคยได้ยินธำรงวินัยไร้สาระ เรายึดถือระบบเกียรติศักดิ์ นั่นคือ ไม่โกหก ไม่โกง และไม่ลักขโมย รวมถึงไม่ทนที่จะเห็นใครทำแบบนั้นแล้วลอยนวลไปได้ มีทหาร ตำรวจ อีกหลายท่านที่ยังดำรงเกียรติศักดิ์นี้ครับ

นอกจากเรื่องการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุแล้ว อีกประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่แพ้กันก็คือขั้นตอนการดำเนินการของโรงเรียนเตรียมทหารหลังจากที่ นตท.ภคพงศ์ เสียชีวิต ที่หลายฝ่ายมองว่ามีลักษณะปิดบังซ่อนเร้นเนื่องจากทางครอบครัวไม่เคยได้รับการติดต่อจากโรงเรียนเตรียมทหารหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงถึงสาเหตุที่ทำให้น้องเมยหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันและเป็นเหตุให้เสียชีวิตตามที่ผู้บังคับการโรงเรียนเตรียมทหารกล่าวอ้าง หนำซ้ำยังพบบาดแผลตามร่างกาย

ของบุตรชาย และหลังจากที่ทางครอบครัวได้ส่งร่างของน้องเมยให้สถาบันนิติวิทยาผ่าพิสูจน์อีกครั้งก็พบว่า หัวใจ กระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะหายไป ส่วนปอดและตับหายไปอย่างละครึ่ง

ขณะที่ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 และอดีตหัวหน้าภาควิชานิติเวช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การเก็บชิ้นส่วนเพื่อนำไปวิเคราะห์สาเหตุการตายนั้นแพทย์จะเก็บสมอง และหัวใจ ซึ่งเป็นอวัยวะหลัก และปกติจะแจ้งให้ญาติทราบ

ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 8 แสดงความเห็นว่าการดำเนินการที่ถูกต้องในกรณีที่มีนักเรียนเตรียมทหารถูกซ่อมจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต ตามหลักกฎหมายนั้นห้ามเคลื่อนย้ายศพ ต้องแจ้งให้พนักงานสอบสวนในพื้นที่รับทราบ และก่อนที่จะตรวจหาสาเหตุการตายหรือดำเนินการชันสูตรพลิกศพต้องแจ้งให้บุพการีหรือคนในครอบครัวรับทราบเพื่อมาร่วมในการชันสูตรศพ จากนั้นก็ทำสำนวนส่งถึงอัยการเพื่อส่งเรื่องให้ศาลทำการไต่สวน จนกระทั่งศาลมีคำสั่ง จึงจะเป็นขั้นตอนที่ชอบด้วยกฎหมาย

ในประเด็นนี้ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เห็นว่า การที่อวัยวะภายในของ นตท.ภคพงศ์ หายไปนั้นทำให้เกิดข้อสงสัยว่าอาจมีความพยายามทำลายหลักฐานเพื่อปิดบังสาเหตุการเสียชีวิต และกรณีนี้ผู้ที่สั่งธำรงวินัยจนเป็นเหตุให้ นตท.ภคพงศ์ถึงแก่ความตายจะต้องมีความผิดทางอาญา ส่วนผู้บังคับกองพันนักเรียน ไปจนถึงผู้บังคับการโรงเรียนเตรียมทหาร ซึ่งมีหน้าที่ดูแลนักเรียนเตรียมทหารนั้นถือว่ามีความผิดทางวินัย

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ยังวิจารณ์ถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่าการเสียชีวิตของน้องเมยเป็นเรื่องภายในของกองทัพ คนอื่นไม่เกี่ยว ว่าเป็นคำพูดที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งไม่ใช่หน้าที่ของนายกฯ และรองนายกฯ ที่จะปกป้องผู้ที่ทำให้น้องเมยเสียชีวิต เรื่องนี้เป็นหน้าที่ซึ่งผู้บังคับการกรมนักเรียน โรงเรียนเตรียมทหาร ต้องรับผิดชอบ นายกฯ และรองนายกฯ ต้องดูแลและให้ความเป็นธรรมกับคนไทยทุกคน

ทำแบบนี้พ่อแม่เขาจะคิดอย่างไร และถ้าเป็นลูกของคนที่พูดบ้างจะรู้สึกอย่างไร ท่านก็รักลูกตัวเอง คนอื่นเขาก็รักลูกเขาเหมือนกัน จะไม่ให้เขาสงสัยหรือ ธำรงวินัยมีไว้เพื่ออะไร ถามว่าคุณจบ จปร.มาจนถึงตอนนี้คุณมีวินัยขนาดไหน ทำอะไรก็ไม่รับผิดชอบ อย่างนี้เรียกว่ามีวินัยหรือ จะบอกว่าใครรับไม่ได้ก็ไม่ต้องเป็นทหาร มันมากไป ทหารดีๆ มีเยอะแยะ แบบนี้ทหารเฮงซวย ไม่รับผิดชอบ บ้าอำนาจ” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าว

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า น้องเมยไม่ใช่ทหารรายแรกที่เสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงในการลงโทษ โดยจากการตรวจสอบพบว่าช่วงเวลาแค่ 2 ปี คือระหว่างปี 2559-2560 มีทหารที่เสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าวไม่น้อยกว่า 7 นาย ประกอบด้วย 

           1. สิบโท กิตติกร สุธีรพันธุ์ ค่ายวีรวัฒน์โยธิน จ.สุรินทร์ ถูกสิบเวรผู้คุมเรือนจำ พร้อมทหาร 4 นาย รุมทำร้ายเสียชีวิต เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2559

2. พลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม ค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราษฎร์ธานี ถูกลงโทษทางวินัย กล้ามเนื้อร่างกายแตก ไตวาย อวัยวะภายในล้มเหลว เสียชีวิต เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560

      3. พลทหารทรงธรรม หมุดหมัด ค่ายพยัคฆ์ จ.ยะลา ถูกลงโทษทางวินัย ต่อเนื่องนานกว่า 7 ชั่วโมง พบว่ามีเลือดออกในสมอง เสียชีวิต เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559

4. สิบโทปัญญา เงินเหรียญ ค่ายสุรสีห์ จ.กาญจนบุรี ถูกลงโทษกลางแดดจนมีอาการฮีตสโตรก เสียชีวิต เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559

5. พลทหารนภดล วรกิจพันธ์ ค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราษฎร์ธานี เสียชีวิต เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2560 จากอาการหัวใจฉีก ม้ามแตก ญาติเชื่อเสียชีวิตเพราะถูกลงโทษทางวินัย

6. พลทหารอดิศักดิ์ น้อยพิทักษ์ ค่ายเทพสตรีศรีสุนทร จ.นครศรีธรรมราช เสียชีวิตด้วย “สภาวะหัวใจล้มเหลว” เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน หลังเข้าค่ายทหารไปได้แค่ 11 วัน

7. นตท.ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือน้องเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 เสียชีวิตจากการลงโทษในระบบ “ธำรงวินัย” ภายในโรงเรียนเตรียมทหาร จ.นครนายก

การจากไปของ “น้องเมย” อาจไม่ใช่รายสุดท้ายที่ต้องสังเวยชีวิตให้แก่วัฒนธรรมและระบบของกองทัพที่ส่งเสริมให้มีการใช้ความรุนแรงลงโทษและทำร้ายผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้นอกจากจะไม่ได้ช่วยสร้างศักยภาพให้แก่บุคลากรแล้ว ยังนำมาซึ่งความเสื่อมและทำให้กองทัพต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตศรัทธาของประชาชนอีกด้วย!


กำลังโหลดความคิดเห็น