xs
xsm
sm
md
lg

วงการที่ปรึกษาแฉกันเอง จ่ายใต้โต๊ะ 30-40% ให้ “EIA-EHIA” ฉลุย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วงในคมนาคมและนักวิชาการบริษัทที่ปรึกษารับงานใหญ่ ก.เกษตรฯ ระบุบริษัทที่ปรึกษาทำงานชุ่ย ใช้กูเกิล เอิร์ธ ผสมผสานกับการตัดแปะผลการศึกษาเก่า แทนการลงพื้นที่สำรวจจริง ยันผู้มีอำนาจรู้เห็น ให้เกิดกระบวนการตัดแปะ EIA-EHIA ประหยัดเวลาและงบประมาณ ระบุมีการจ่ายใต้โต๊ะ 30-40% ทำให้งานผ่านฉลุย ด้าน เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นชี้นักการเมืองท้องถิ่นรับงานซื้อและจัดตั้งมวลชนในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ขณะที่ “นพ.สุภัทร” แนะใช้ ม.157 เอาผิด ‘คชก. - สผ.-ข้าราชการเจ้าของหน่วยงาน’ ที่ร่วมทุจริต

ในตอนที่ 1 “เปิดกลโกง EIA-EHIA เท็จ 3 หน่วยงานจับมือปั้นข้อมูล!” ได้กล่าวถึงกระบวนการและขบวนการของคนหรือหน่วยงานที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการปั้นข้อมูลการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment -EIA) และการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment- EHIA) เป็นเท็จ จนเป็นเหตุให้หลาย ๆ โครงการเกิดปัญหาต่อต้านจากมวลชนในพื้นที่ตามมา

สำหรับตอนที่ 2 จะเป็นเรื่องราวจากผู้ที่เกี่ยวข้องยืนยันว่ามีการสร้าง EIA และ EHIA เป็นเท็จจริง แถมยังมีเรื่องของผลประโยชน์หรือเงินทอนคืนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับ 30-40% ของมูลค่างาน แต่ที่น่าตลกคือบริษัทที่ปรึกษาบางแห่ง บางโครงการไม่ได้ลงพื้นที่ของจริงหรือบางโครงการลงแต่น้อยครั้งมาก แต่เลือกทำงานโดยการใช้ กูเกิล เอิร์ธ (Google Earth) ผสมผสานกับข้อมูลเก่า ๆ ที่เคยศึกษาไว้แล้วมาปัดฝุ่นพร้อมตัดแปะนำเสนอเป็นผลศึกษาโครงการที่กำลังรับจ้างอยู่ต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม บอกว่า ในอดีตโครงการขนาดใหญ่จะมีการว่าจ้างศึกษาเป็นส่วน ๆ คือแยกเป็นการศึกษาด้านความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility study), การออกแบบเบื้องต้น (Preliminary design), การออกแบบรายละเอียด (Detail Design) และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันได้รวมงาน 4 สัญญาว่าจ้างวิศวกรที่ปรึกษาเป็นสัญญาเดียว

ของเดิมแบ่งเป็น 4 สัญญา หน่วยงานรัฐอาจจะจ้างได้หลายบริษัทถ้าเราเห็นว่าบริษัทแรกไม่ดี เช่นเราจ้างบริษัท ก.ศึกษาความเป็นไปได้แล้วเสร็จ เราก็ให้บริษัท ข.ศึกษา Preliminary design พอถึงในช่วงออกแบบ Detail Design และผลกระทบสิ่งแวดล้อม เราก็อาจไม่ใช้ทั้ง ก.และ ข. หรือจะใช้ ก.และ ข. อีกก็ได้ แต่วันนี้พูดได้เต็มปากที่ปรึกษาได้งานไปทุกสัญญา แต่ทำงานชุ่ยมาก ๆ ใช้วิธีการเปิดกูเกิล เอิร์ธ เป็นการนั่งเทียนคำนวณปริมาณพื้นที่ผิด ๆ ถูกๆ รังวัดที่ดินกันบนดาวเทียม พอไปจัดประชุมประชาชนในพื้นที่กลับไปบอกประชาชนเวนคืนที่ดินนิดเดียว แต่เมื่อออกกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินและกรมที่ดินเข้าไปดำเนินการกลับมีการเวนคืนมากกว่าที่บอกประชาชนไว้จำนวนมาก

อีกทั้งในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมมี 36 ปัจจัย ซึ่งทางบริษัทที่ปรึกษาต้องบอกให้ชัดเจน เช่นผลกระทบทางเสียงรบกวนชุมชนหรือไม่อย่างไร ก่อมลพิษทางอากาศ แรงสั่นสะเทือนในการทำงานของเครื่องจักร/รถบรรทุกวัสดุ จะก่อความรำคาญให้ชุมชน 2 ข้างทางหรือไม่ รวมไปถึงสภาพดินที่มีการเวนคืน และจะทำการก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการทางด่วนพิเศษ ต้องรู้ชัดว่าเป็นดินอย่างไร มีปัจจัยเสี่ยงที่จะถล่มลงมาได้หรือไม่ เพราะถ้ามีโอกาสถล่มที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมก็จะต้องเสนอแนวทางแก้ไว้ด้วย เช่นเสนอในการก่อสร้างต้องมีกำแพงกั้นดินสไลด์

“ไปสำรวจถนนกรมทาง หลาย ๆ สายเกิดปัญหาดินสไลด์ข้างถนน ผู้รับเหมาต้องไปซ่อมแซมกันในช่วง 2 ปีตามสัญญาค้ำประกัน แต่หลังจากนั้นกรมทางหลวงก็ต้องตั้งงบประมาณซ่อมแซมกันทุกปี นี่เป็นผลจากการที่ที่ปรึกษาไม่ลงไปสำรวจพื้นที่จริง ขณะที่รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะต้องรู้ว่าสภาพทางธรณีวิทยา สภาพดินเป็นอย่างไร ต้องซักถาม โต้แย้ง แต่กลับปล่อยรายงานฯ เหล่านี้ออกมากันง่าย ๆ

ส่วนวิศวกรที่เข้ามาทำงานให้กับบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา ก็มักเลือกจ้างฟรีแลนซ์ เป็นพวกเด็กจบใหม่ เข้ามาทำงานเป็นสัญญา ๆ กันไป ทำงานก็ไม่ละเอียดตรวจสอบพบจุดผิดพลาดในปริมาณสูง ส่วนผู้เชี่ยวชาญของบริษัทที่ปรึกษาสามารถตรวจสอบได้มีกันไม่กี่คน ส่วนใหญ่จะผลัดเปลี่ยนกันรับงานในแต่ละบริษัท

ผู้เชี่ยวชาญจะมีหน้าที่มารับงาน และประสานกับผู้ใหญ่ ที่เหลือก็ปล่อยให้เด็กจบใหม่ทำกันไป ทั้งที่รัฐจ้างบริษัทที่ปรึกษา ก็ต้องถือว่าเราจ้างผู้เชี่ยวชาญ กลับเป็นว่าวิศวกรในหน่วยงานรัฐต้องมาสอนวิศวกรจบใหม่ที่เข้ามาทำงานให้บริษัทที่ปรึกษา เรื่องนี้ผู้ใหญ่ยก็รู้เห็นด้วย

อย่างไรก็ดีแหล่งข่าวคนเดิมให้ความเห็นสอดคล้องกับนักวิชาการที่ทำงานให้กับบริษัทที่ปรึกษารายใหญ่ที่มีงานอยู่ในมือจำนวนมากโดยเฉพาะงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ผู้เชี่ยวชาญนั้นจะเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย พวกนี้จะมีลูกศิษย์ เป็นระดับผู้บริหารอยู่ในแต่ละกระทรวง จึงมักจะมีการส่งงานให้กัน เมื่อได้งานแล้ว ก็จะเลือกใช้บรรดาลูกศิษย์ที่มีบริษัทเล็ก ๆ เป็นของตัวเองเข้ามารับช่วงงานไปอีกต่อหนึ่ง โดยทำงานประสานกับเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในโครงการนั้น แต่เมื่อใดที่มีการประชุมหรือส่งมอบงานผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ก็จะเข้ามาร่วมด้วย

ในส่วนของการทำ EIA-EHIA จะมีตัวแทนจากสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม(สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ามาร่วมด้วย เพราะโครงการใดที่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะต้องจัดทำรายงานเสนอ สผ. และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)พิจารณาอนุมัติก่อนจึงจะดำเนินการก่อสร้างได้

ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ก็มีช่องโหว่ทั้งเรื่องคนที่เข้าร่วมฟังก็ไม่ใช่คนที่อยู่ในชุมชน จัดใครมาก็ไม่รู้ บางโครงการไม่ได้จัดจำนวนครั้งตามที่กฎหมายกำหนด งบประมาณที่ใช้จัดตามที่เขียนแผนไว้ก็ไม่รู้หายไปไหน แต่ที่แน่ ๆ บริษัทที่ปรึกษามีการจัดเงินทอนให้กับหน่วยงานที่ว่าจ้างในสัดส่วน 30-40% ของมูลค่างานที่ปรึกษา ปัจจุบันโครงการขนาดใหญ่มีค่างานที่ปรึกษาเป็น 100 กว่าล้านบาท แต่ไม่ปรากฏใบเสร็จให้คนนอกได้รู้เห็น เรื่องนี้เป็นที่รู้กันและธรรมเนียมปฏิบัติในการรับงานที่ปรึกษา

แหล่งข่าวบอกอีกว่า อยากให้สังคมหรือใครก็ตามที่มักจะพูดว่า “ก็อย่าไปจ่ายใต้โต๊ะ” ให้กับคนเหล่านี้ ช่วยกันขีดเส้นใต้เส้นใหญ่ไว้เลยว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เด็ดขาด หากไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียม บริษัทต่าง ๆ นั่นแหละจะอยู่ไม่ได้ต้องปิดตัวเอง ดังนั้นในการรับงานที่ปรึกษา บริษัทต่าง ๆ ก็จะมีการบวกตัวเลขดังกล่าวเข้าไปในเนื้องานอยู่แล้ว เพียงแต่จะซ่อนเข้าไปอย่างไรที่ไม่ให้ถูกจับได้เท่านั้น

จริง ๆ วิธีนี้ทำให้บริษัทอยู่ได้สบาย ๆ เพราะผู้ใหญ่ก็ช่วยให้งานอนุมัติได้รวดเร็ว บางครั้งก็เหมือนปิดหูปิดตาด้วยการนำผลการศึกษาเล่มเก่า ๆ มาปัดฝุ่น มาตัดแปะไม่ต้องออกแรงกันมากมาย งานก็จบได้แล้ว เมื่อบริษัทต้องไปพบเจ้าหน้าที่รัฐทั้งในเรื่องงาน หรือช่วงเทศกาล หรือมีการร้องขออะไรมา บริษัทก็ต้องจัดให้ ทุกอย่างเป็นต้นทุน แต่ช่วยให้เราปิดโครงการได้เร็ว ผลกำไรก็ได้ตามเป้าหรือบางครั้งเกินเป้าและยังทำให้บริษัทผูกขาดงานได้ด้วย
(จากซ้าย ) ดร.มานะ นิมิตมงคล  )และ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ
ด้าน ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ACT) ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า จากการตรวจสอบข้อมูลของ ACT พบว่า การทำ EIA-EHIA ในขั้นตอนการรับฟังความเห็นประชาชนนั้นมักพบว่ามีลักษณะของการซื้อและจัดตั้งมวลชนเพื่อให้ผลการศึกษาออกมาอย่างที่เจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษาต้องการ

วิธีการก็คือบริษัทที่ปรึกษาจ่ายเงินให้นักการเมืองท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ นักการเมืองก็จะไปเกณฑ์ชาวบ้านโดยจ่ายค่าหัวคนละ 100-1,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและความสำคัญของโครงการ เพื่อให้ชาวบ้านสนับสนุนหรือให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ ขณะเดียวกันก็ใช้อิทธิพลข่มขู่และสกัดกั้นไม่ให้ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการมาร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นหรือเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการ ส่วน คชก.ซึ่งทำหน้าที่พิจารณา EIA-EHIA จะรับเงินใต้โต๊ะด้วยหรือไม่นั้นเราไม่มีข้อมูลชัดเจน แต่เชื่อว่าหากผลการศึกษามันขัดกับข้อเท็จจริง มันต้องมีความผิดปกติเกิดขึ้นแน่ๆ

ขณะที่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ในฐานะแกนนำเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เปิดเผยว่า ในการทำ EIA-EHIA ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ จ.สงขลา นั้นมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น อาทิ มีการแจกข้าวสารให้ชาวบ้านที่มาร่วมในเวทีรับฟังความเห็น โดยให้ชาวบ้านเซ็นชื่อรับข้าวสารแต่กลับนำลายเซ็นดังกล่าวไปแอบอ้างว่าเป็นการลงชื่อสนับสนุนโครงการ มีการกีดกันชาวบ้านที่คัดค้านโครงการไม่ให้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น โดยเอาเจ้าหน้าที่ทหารและลวดหนามมาปิดกั้น เอารถถังออกมาข่มขู่

นอกจากนั้นหลายฝ่ายยังเห็นตรงกันว่าหลักเกณฑ์ในการทำ EIA-EHIA มีปัญหา เนื่องจากไม่มีการนำเรื่องยุทธศาสตร์ของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดหรือชุมชนมาพิจารณา ทำให้โครงการที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชนสามารถผ่านการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม อีกทั้งไม่มีการตรวจสอบข้อมูล จึงมีการลักไก่นำผลการศึกษาของ EIA-EHIA ซึ่งเป็นโครงการลักษณะเดียวกันเคยทำไว้มาตัดแปะ

นพ.สุภัทร ย้ำว่า การทำ EIA-EHIA ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา มีข้อมูลที่น่าเชื่อว่ามีการก๊อบปี้ข้อมูล EIA-EHIA จากโครงการอื่น อาทิ ระบุว่าอำเภอเทพามีป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ซึ่งเป็นลักษณะของป่าที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ ระบุว่าคลองเทพา คลองตูหยง และคลองในชุมชนเกาะแลหนัง ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำกร่อยและน้ำเค็ม มีปลาช่อน ปลาหมอ และปลากระดี่ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ หรือกรณีที่ระบุว่าความหนาแน่นของสัตว์น้ำในทะเลที่ อ.เทพา มีปริมาณต่ำกว่าที่ทะเล อ.สะทิงพระ ถึง 40 เท่า ทั้งที่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะต่างกันขนาดนั้น

อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบันยังไม่มีระเบียบหรือข้อกฎหมายที่กำหนดให้ คชก. สผ.  และเจ้าของโครงการ ต้องรับผิดชอบต่อข้อมูล EIA-EHIA ที่เป็นเท็จ แต่ นพ.สุภัทร มองว่า สามารถใช้มาตรา 157 ดำเนินคดีกับ คชก. และ สผ. ซึ่งเป็นผู้พิจารณาและอนุมัติ EIA-EHIA ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากหน่วยงานดังกล่าวมีหน้าที่ต้องตรวจสอบด้วยว่าข้อมูล EIA-EHIA ที่เสนอมานั้นตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่  ขณะเดียวกันหากเจ้าของโครงการซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดจากโครงการ เจ้าของโครงการก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย เนื่องจากเจ้าของโครงการต้องตรวจสอบก่อนตรวจรับงาน และหากมีฐานะเป็นหน่วยงานรัฐก็ต้องโดนมาตรา 157 ด้วยเช่นกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น