xs
xsm
sm
md
lg

เปิดกลโกง EIA-EHIA เท็จ 3 หน่วยงานจับมือปั้นข้อมูล!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เครือข่าย NGO ชี้ 3 ปัจจัยหลัก ทำ EIA-EHIA เท็จ เหตุเจ้าของโครงการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเอง คชก. ไม่ต้องลงตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่ และไม่มีกฎหมายเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง เผยค่าจ้างทำ EIA-EHIA ของโครงการขนาดใหญ่สูงถึง 100 ล้าน เชื่อมีการจ่ายใต้โต๊ะเพื่อให้โครงการผ่าน ด้านนักวิชาการพลังงาน แจง ประเทศอังกฤษ จะมีการทำ EIA-EHIA ถึง 2 ฝ่าย และมีการตั้งองค์กรกลางทำหน้าที่คัดเลือกและจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาแทนเจ้าของโครงการ พร้อมรายงานของฝ่ายชุมชนก่อนเสนอให้หน่วยงานสิ่งแวดล้อมเป็นผู้พิจารณาต่อไป

เป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาหนึ่งที่มักเกิดขึ้นในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ก็คือการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment -EIA) และการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment- EHIA) ซึ่งมักมีเสียงสะท้อนจากชาวบ้านถึงความไม่ชอบมาพากลในการจัดทำรายงานผลการศึกษาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการรวบรัดขั้นตอน ปัญหาการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมถึงข้อมูลและผลการศึกษาที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อันนำไปสู่รายงาน EIA-EHIA ที่เป็นเท็จ ทำให้เกิดคำถามว่ากระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร ? และเหตุใดจึงต้องมีการทำรายงาน EIA-EHIA เท็จ

ในหลักการแล้ว EIA และ EHIA คือการใช้หลักวิชาการในการศึกษาเพื่อทำนายหรือคาดการณ์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดจากการดำเนินโครงการทั้งทางบวกและทางลบ โดยศึกษาผลกระทบในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชน เพื่อจะได้หาทางป้องกันผลกระทบในทางลบที่อาจเกิดขึ้นให้เกิดน้อยที่สุด เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้อย่างมีประโยชน์ มีประสิทธิภาพสูงสุด และคุ้มค่าที่สุด ที่สำคัญรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจของรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าสมควรที่จะดำเนินโครงการนั้น ๆ หรือไม่

สำหรับขั้นตอนในการทำ EIA-EHIA นั้นเริ่มต้นจาก สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม(สผ.) พิจารณากลั่นกรองโครงการที่ “เจ้าของโครงการ” เสนอมาว่าเข้าข่าย 35 ประเภทโครงการที่ต้องทำ EIA หรือเข้าข่าย 11 ประเภทโครงการที่ต้องทำ EHIA หรือไม่ หาก สผ.เห็นว่าจำเป็นต้องทำ EIA หรือ EHIA เจ้าของโครงการก็จะว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้เป็นผู้ดำเนินการ โดยบริษัทที่ปรึกษาจะเชิญเจ้าหน้าที่ สผ. ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ มาร่วมกันจัดทำร่างขอบเขตและแนวทางการประเมินผล จากนั้นจึงเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงการประเมินผลกระทบ และกำหนดมาตรการเรื่องการจัดทำร่างรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรับฟังความเห็นอีก 2 ครั้ง  เมื่อรวบรวมข้อมูลและความเห็นครบถ้วนแล้วบริษัทที่ปรึกษาก็จะจัดทำรายงานเสนอ สผ. และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ซึ่งตั้งขึ้นมาเฉพาะเพื่อพิจารณารายงานดังกล่าว โดยกระบวนการพิจารณานั้นจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดก่อนที่ คชก.จะทำความเห็นไปยัง สผ.ว่าควรจะอนุมัติให้ดำเนินโครงการนี้หรือไม่ ซึ่งกระบวนการทำ EIA-EHIA ทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี
นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล หนึ่งในแกนนำเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แม้การทำ EIA-EHIA จะมีการกำหนดขั้นตอนต่าง ๆ อย่างชัดเจน แต่จากการตรวจสอบข้อมูลกลับพบว่ามีรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจำนวนไม่น้อยที่มีผลการรายงานไม่ตรงกับข้อเท็จจริงหรือมีการจัดทำข้อมูลเท็จ นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล หนึ่งในแกนนำเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฉบับใหม่ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการทำ EIA และ EHIA ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาดังกล่าวนั้นมีอยู่ 3 ประการ คือ

1. ผู้ว่าจ้างให้ทำ EIA และ EHIA คือ “เจ้าของโครงการ” เอง ซึ่งการที่เจ้าของโครงการว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยจ่ายเป็นงวด ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดข้อมูลเท็จเพราะบริษัทที่ปรึกษาจะต้องพยายามทุกวิถีทางให้ EIA-EHIA เข้าหลักเกณฑ์การพิจารณาของ สผ. แม้ข้อมูลจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะไม่เช่นนั้นเจ้าของโครงการก็จะไม่จ่ายเงินให้

2. คชก.ไม่ได้ลงสำรวจข้อเท็จจริงในพื้นที่ เนื่องจากไม่มีระเบียบหรือข้อกฎหมายกำหนดไว้ คชก.จึงพิจารณาเฉพาะข้อมูล EIA-EHIA ที่บริษัทที่ปรึกษาส่งให้เท่านั้น ไม่มีการตรวจสอบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

3. ไม่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น คชก.ซึ่งมีหน้าที่พิจารณา EIA-EHIA หน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างทำ EIA-EHIA หรือบริษัทที่ปรึกษาซึ่งรับจ้างทำ EIA-EHIA ต้องรับผิดชอบหากข้อมูลในการทำ EIA-EHIA เป็นเท็จ

การทำ EIA และ EHIA ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมามันผิดมาตั้งแต่เริ่มกระบวนการแล้ว ผิดตั้งแต่ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเป็นผู้ว่าจ้างทำ EIA-EHIA ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ข้อมูลจะไม่เบี่ยงเบน เมื่อถึงขั้นตอนการพิจารณา คชก.ก็พิจารณาจากข้อมูลบนกระดาษ แล้วเจ้าหน้าที่ คชก.ได้เบี้ยประชุมแค่ครั้งละ 1-2 พันบาท เขาจะมาทุ่มเทกับการอ่านและตรวจสอบรายงาน EIA-EHIA เป็นร้อยเป็นพันหน้าหรือ จากนั้นเมื่อ EIA-EHIA ผ่าน และสามารถดำเนินโครงการได้ ก็ไม่มีการตรวจสอบผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินโครงการ” นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ระบุ
ผศ.ประสาท มีแต้ม นักวิชาการด้านพลังงาน
ขณะเดียวกัน นายประสิทธิ์ชัย บอกอีกว่า การทำ EIA-EHIA จึงเป็นการทำเพื่อให้โครงการผ่านการอนุมัติเท่านั้น ที่สำคัญไม่มีใครต้องรับผิดชอบกับข้อมูลที่เป็นเท็จ ขณะที่แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชายังมีการแก้กฎหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่พิจารณา EIA-EHIA ต้องรับผิดชอบ หากพบว่า EIA-EHIA ที่อนุมัติไปมีปัญหาจะมีความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง

ด้านแหล่งข่าวด้านสิ่งแวดล้อม ระบุว่า การทำ EIA-EHIA เท็จจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือของทั้ง 3 ฝ่าย คือ เจ้าของโครงการ บริษัทที่ปรึกษา และเจ้าหน้าที่ คชก. ซึ่งหากเจ้าของโครงการไม่ได้สั่งการหรือมีนโยบายว่าทำยังไงก็ได้ให้โครงการผ่านการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม บริษัทที่ปรึกษาซึ่งรับจ้างทำ EIA-EHIA ก็ไม่มีความจำเป็นต้องปั้นข้อมูลเท็จ

ความจริงถ้าคณะกรรมการ คชก.ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจพิจารณารายงาน EIA-EHIA นั้นไม่ชุ่ย สักแต่เซ็นให้โครงการผ่าน ก็ตั้งใจปล่อยให้ผ่านแลกกับค่าตอบแทนที่ได้รับจากบริษัทที่ปรึกษาหรือเจ้าของโครงการ ซึ่งน่าจะมากโขอยู่เพราะโครงการมีมูลค่ามหาศาล ปัจจุบันเฉพาะค่าจ้างทำ EIA-EHIA ของโครงการใหญ่ก็ปาเข้าไปเป็น 100 ล้านแล้ว คิดดูได้น้ำร้อนน้ำชาแค่ 1% ของค่าจ้างในการทำ EIA-EHIA ก็เป็นล้านแล้ว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเขาจ่ายกันเท่าไหร่

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลของ ผศ.ประสาท มีแต้ม นักวิชาการด้านพลังงาน ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่า โครงการที่มีปัญหาในการทำ EIA-EHIA นั้นส่วนใหญ่มักเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนสูง บางโครงการมีมูลค่าหลายหมื่นหลายแสนล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของบางโครงการสูงถึง 100 ล้านบาท ซึ่งอาจเป็นเหตุจูงใจให้มีการทำข้อมูลเท็จ

โดย ผศ.ประสาท ได้ยกตัวอย่างกรณีของจังหวัดกระบี่ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มียุทธศาสตร์หลักด้านการท่องเที่ยว แต่การทำโครงการด้านพลังงานกลับไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดกับการท่องเที่ยว จึงมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เกิดขึ้น โดยไม่สนใจเสียงคัดค้าของชาวบ้านในพื้นที่

ในประเทศอังกฤษเขาให้ความสำคัญกับชุมชน การทำ EIA-EHIA จะมี 2 ชุด จาก 2 ฝ่าย โดยมี EIA-EHIA จากฝ่ายเจ้าของโครงการ 1 ชุด แต่เจ้าของโครงการไม่สามารถจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเอง แต่จะมีองค์กรกลางทำหน้าที่คัดเลือกและจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาดังกล่าวแทน ส่วน EIA-EHIA อีกชุดจะมาจากฝ่ายชุมชน ซึ่งจะคัดเลือกและจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษามาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อทำการศึกษาเสร็จก็ส่งข้อมูลทั้ง 2 ชุดให้หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมพิจารณาว่าควรอนุมัติโครงการหรือไม่ ขณะที่ประเทศไทยถ้าข้อมูล EIA-EHIA ที่ส่งมายัง คชก.ไม่ผ่านก็ให้บริษัทที่ปรึกษากลับไปปรับปรุงมาใหม่ แทนที่จะยุติโครงการ” ผศ.ประสาทกล่าว

อย่างไรก็ดี กระบวนการดังกล่าวจึงทำให้เกิดข้อมูล EIA-EHIA เท็จในหลากหลายโครงการ อีกทั้งยังเป็น
ที่รู้กันระหว่างเจ้าของงานและบริษัทที่ปรึกษาว่าควรจะเลือกบริษัทใดที่จะทำให้เกิดผลประโยชน์ใต้โต๊ะหรือมีเงินทอนคืนให้กับผู้ว่าจ้าง ซึ่งในที่สุดจะต้องมีวิธีจัดการกับขบวนการนี้อย่างไร ติดตามได้ในตอนที่ 2

กำลังโหลดความคิดเห็น