xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลถือไพ่เหนือเหมืองทองอัครา ขุดหลักฐานลับน็อก “คิงส์เกต” ในขั้นอนุญาโตฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมสรรหาอนุญาโตตุลาการฝ่ายไทย พร้อมทนายมือหนึ่งจากต่างประเทศ ต่อสู้ข้อพิพาทกับคิงส์เกต ในต้นปีหน้า ด้าน ป.ป.ช.ชี้ช่อง รัฐบาลบิ๊กตู่สามารถหยิบยกเรื่องการติดสินบนมาเป็นข้อต่อสู้ในการเจรจา ด้านเลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น มั่นใจรัฐบาลต้องมีหลักฐานเรื่องสินบนจึงกล้าที่จะออก ม.44 สั่งยุติการทำเหมือง พร้อมเสนอรัฐไทยฟ้องเรียกค่าเสียหายจากอัครา ชดเชยผลกระทบจากการทำเหมืองทอง

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้งสำหรับกรณีปัญหาเหมืองทองอัครา โดยทันทีที่ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดดเต็ด จำกัด ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลกและเพชรบูรณ์ ยื่นเรื่องขอเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการกับราชอาณาจักรไทย เพื่อขอความเป็นธรรมจากกรณีที่รัฐบาลไทยใช้มาตรา 44 สั่งระงับการประกอบกิจการของเหมืองทองอัครา ก็ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา โดยเฉพาะความวิตกที่ว่าไทยอาจต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้แก่บริษัทอัคราเป็นเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเตรียมรับมือกับเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน โดยตั้งคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทฯ ตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหัวหน้าคณะ และมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อเจรจาและหาข้อยุติ
นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจา ระบุว่ากระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างบริษัท คิงส์เกตกับไทยจะเริ่มในต้นปี 2561 ดังนั้นภายใน 1-2 สัปดาห์นับจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งรัดสรรหาอนุญาโตตุลาการฝ่ายไทย และหาสถานที่การเจรจากับบริษัท คิงส์เกตฯ โดยจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 เดือน นับจากวันที่คิงส์เกตฯ ยื่นให้ไทยเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

โดยทั้งบริษัท คิงส์เกต และฝ่ายไทยจะมีอนุญาโตตุลาการฝ่ายละ 1 คน ซึ่งในการสรรหาอนุญาโตตุลาการของไทยขณะที่มีผู้เสนอชื่อมา 3-4 คน อีกทั้งได้มีการว่าจ้างทนายมือหนึ่งจากเมืองนอกมาช่วยดูเรื่องนี้ด้วย

ทั้งนี้ ข้อพิพาทระหว่างบริษัท คิงส์เกตฯ กับรัฐบาลไทย เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาลไทยใช้มาตรา 44 ระงับการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 และเมื่อวันที่ 3 เมษายน คิงส์เกตฯ ได้ยื่นหนังสือแจ้งว่า ต้องการเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ต่อมาทั้ง 2 ฝ่ายจึงได้ประชุมร่วมกันในสองครั้ง ครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 เมษายน และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม แต่ข้อเรียกร้องของคิงส์เกตฯ มีหลายเรื่องที่อยู่นอกเหนืออำนาจของกระทรวงอุตสาหกรรม กระทั่งวันที่ 2 พฤศจิกายน คิงส์เกตฯ จึงยื่นหนังสือให้ไทยเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ โดยคิงส์เกตเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดเชยค่าเสียหายให้บริษัทเป็นจำนวนเงินประมาณ 750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท เนื่องจากคำสั่งปิดเหมืองทองคำดังกล่าวละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย (TAFTA)

อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามพันธกรณี ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย หรือ ทาฟต้า ซึ่ง บริษัท คิงส์เกต ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด มหาชน ซึ่งถือประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตรและเพชรบูรณ์ ได้ยื่นหนังสือขอปรึกษาหารือกับรัฐบาลไทยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยอาศัยสิทธิตามข้อตกลงทาฟต้า ยื่นเรื่องให้คิงส์เกตและประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทฯ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจาของอนุญาโตตุลาการ

ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะหนึ่งในอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีบริษัท คิงส์เกต ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท อัครา ติดสินบนนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของไทยเพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกในการสำรวจและทำเหมืองทอง ชี้ว่า

รัฐบาลไทยสามารถนำประเด็นเรื่องการติดสินบนดังกล่าวของบริษัท คิงส์เกต มาเป็นข้อต่อสู้ในการเจรจาของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้ เพราะถือว่าการกระทำลักษณะนี้เป็นการกระทำที่มิชอบในการดำเนินธุรกิจ

ขณะที่ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น เห็นสอดคล้องกันว่า หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าบริษัท คิงส์เกต ติดสินบนดังกล่าวจริงก็แสดงว่าการออกใบอนุญาตประกอบกิจการเหมืองทองของบริษัท อัครา เป็นการออกใบอนุญาตโดยมิชอบ ซึ่งถือว่าเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 123/5 ซึ่งระบุว่า…ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ…
(จากซ้าย)ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ,ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น
อีกทั้งรัฐบาลไทยยังสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท อัครา เนื่องจากการทำกิจการเหมืองทองของอัคราได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่

ตรงนี้ก็ต้องรอความชัดเจนจาก ป.ป.ช. หากผลการสอบข้อเท็จจริงออกมาว่าบริษัทแม่ของอัครามีการติดสินบนจริง พยานหลักฐานเกี่ยวกับการติดสินบนที่คณะกรรมการหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศออสเตรเลีย (ASIC) ที่ส่งมาให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประเทศไทย มีน้ำหนัก ก็เท่ากับว่าการออกใบอนุญาตดำเนินกิจการเหมืองทองของอัคราเป็นโมฆะ อัคราจะฟ้องร้องไทยไม่ได้ แต่ในทางกลับกันรัฐบาลไทยสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทอัคราได้ เชื่อว่างานนี้รัฐบาลน่าจะมีหลักฐานชัดเจนว่ามีการให้สินบนจริงถึงกล้ายกเลิกสัมปทาน” ดร.มานะกล่าว

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น บอกอีกว่า จากข้อมูลพบว่าที่ผ่านมามีบริษัทต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่ให้สินบนเจ้าหน้าที่เพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติอย่างมาก และถือเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันตรวจสอบ อีกทั้งต้องมีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดในการพิจารณาอนุมัติสัมปทานให้สาธารณชนรับทราบเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและถือเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ส่วนผลการเจรจาในชั้นอนุญาโตตุลาการระหว่างรัฐบาลไทยและบริษัท คิงส์เกต จะออกมาเป็นอย่างไรนั้นคงต้องติดตามกันต่อไป...

กำลังโหลดความคิดเห็น