xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯชี้ ม.44 จัดผังเมืองรวม EEC ไม่เกี่ยวถมทะเล-ทำลายสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เลขาธิการ กรศ. แจง ‘บิ๊กตู่’ ใช้ ม.44 เร่งวางผังเมืองรวม 3 จังหวัด ‘ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง’ ในเขต EEC ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการถมทะเลในโครงการมาบตาพุดเฟส 3 ชี้เพื่อให้การจัดทำผังเมืองออกมาได้รวดเร็วภายในปี 2561 หวังดึงนักลงทุนลงพื้นที่ หลังการกำหนดเขตอุตสาหกรรมมีความชัดเจน มั่นใจ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC ไม่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแน่นอน

กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางสำหรับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 47/60 ให้ใช้มาตรา 44 เรื่อง “ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) "โดยจัดให้มีการวางผังเมืองและพัฒนาเมืองในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งทำให้ถูกตีความไปว่าเป็นการใช้มาตรา 44 เพื่อผลักดันการดำเนินโครงการ EEC โดยไม่สนใจข้อกำหนดด้านผังเมือง ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามมาในอนาคต

อย่างไรก็ดี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้อธิบายข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ว่าเป็นเช่นไร
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.)
ดร.คณิศ บอกว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริงการนำมาตรา 44 มาใช้ในครั้งนี้ก็เพื่อให้การดำเนินการในการวางผังเมืองรวมของ 3 จังหวัด ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก อันได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมามักติดปัญหาว่าแต่ละจังหวัดมีผังเมืองของตัวเอง ระเบียบและข้อกำหนดต่าง ๆ ของแต่ละจังหวัดจึงแตกต่างกัน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในจุดที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัด

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องจัดทำผังเมืองรวมของทั้ง 3 จังหวัด เพื่อให้กฎระเบียบต่าง ๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่ผ่านมาการวางผังเมืองรวมเป็นไปด้วยความล่าช้ารัฐบาลจึงต้องนำมาตรา 44 มาใช้เพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้

ทั้งนี้ กระบวนการจัดทำผังเมืองใน EEC จะกำหนดกระบวนการใหม่ ไม่ใช่ 18 ขั้นตอนเดิมที่มี โดยได้เริ่มทำการศึกษาพื้นที่ จากนั้นเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) รับทราบและเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศใช้ผังเมืองใหม่ในเดือน พ.ค. 2561 จากเดิมที่คาดว่าการทำผังเมืองรวมจะแล้วเสร็จเดือน ส.ค. 2561 ซึ่งจะส่งผลให้การใช้พื้นที่ใน EEC สามารถกำหนดเขตการลงทุนที่ชัดเจนให้กับภาคอุตสาหกรรมได้ทันทีที่ผังเมืองแล้วเสร็จ แม้ว่าจะต้องใช้เวลาอีก 1 ปี ในการร่างกฎหมายผังเมืองฉบับใหม่ขึ้นมาบังคับใช้ แต่การมีผังเมืองรวมที่ชัดเจนจะทำให้นักธุรกิจสามารถตัดสินใจเข้ามาลงทุนในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกได้ง่ายขึ้น

เหตุที่รัฐบาลนำมาตรา 44 มาใช้ในการวางผังเมืองรวมเกิดจากทางเจ้าหน้าที่ผังเมืองมาคุยกับเราถึงปัญหาความล่าช้าในการวางผังเมือง ซึ่งปกติต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี 6 เดือน แต่การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงระบบขนส่งของ 3 จังหวัดเข้าด้วยกัน เช่น รถไฟรางคู่ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า จึงต้องดำเนินการให้การวางผังเมืองรวมเป็นไปด้วยความรวดเร็วขึ้น แต่บังเอิญว่าช่วงที่มีการออกคำสั่งเรื่องนี้ตรงกับช่วงพระราชพิธีฯ พอดี รัฐบาลจึงไม่มีโอกาสชี้แจง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันขึ้น

ดร.คณิศ ยืนยันว่าการทำผังเมืองรวมเพื่อรองรับ EEC นั้นไม่เกี่ยวข้องกับการถมทะเล เนื่องจากโครงการ EEC นั้นเป็นการทำอุตสาหกรรมในพื้นที่สีม่วงสำหรับภาคอุตสาหกรรม 12,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมที่มีอยู่แล้ว ทั้งของเอกชนและในนิคมอุตสาหกรรม อีกทั้งผังเมืองใหม่ในอนาคตจะสามารถขยายพื้นที่รองรับภาคอุตสาหกรรมไปด้วย โดยจะใช้พื้นที่อีกไม่เกิน 50,000 ไร่เท่านั้น ซึ่งจะเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมพิเศษ ที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะเข้ามาดูด้วย

นอกจากนั้นการทำผังเมืองรวมยังไม่เกี่ยวข้องกับการทำอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด เนื่องจากโครงการ EEC นั้นเป็นการดำเนินการใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งล้วนแต่เป็นอุตสาหกรรมสะอาด อันได้แก่ 1. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4. การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5. อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 6. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม 7. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 8. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9. อุตสาหกรรมดิจิตอล 10. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

ดร.คณิศ ย้ำว่า ในเรื่องของการถมทะเลไม่เกี่ยวกับการวางผังเมือง เพราะแต่เดิมโครงการมาบตาพุด เฟส 3 จะมีการถมทะเลเพื่อสร้างท่าเรือเพิ่มอยู่แล้ว จึงไม่เกี่ยวกับโครงการ EEC และอยากจะให้ทำความเข้าใจด้วยว่ามาบตาพุดกับโครงการ EEC เป็นคนละส่วนกัน เพียงแต่มีบางจุดที่เชื่อมกันเท่านั้น คือการวางระบบรถไฟรางคู่เข้าไปใกล้ท่าเรือเนื่องเพราะสินค้าจากมาบตาพุดบางส่วนเป็นสินค้าอันตราย ไม่ปลอดภัยที่จะขนส่งทางรถยนต์ นอกจากนั้นอุตสาหกรรมในโครงการมาบตาพุดส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับปิโตรเคมี ขณะที่ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมในโครงการ EEC ล้วนแต่เป็นอุตสาหกรรมสะอาด ส่วนปัญหาที่มาบตาพุดจะเป็นการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กรศ. ก็ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่าหากต้องการให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี พ.ศ. 2575 ประชากรไทยจะต้องมีรายได้มากกว่า 12,746 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ขณะที่ปัจจุบันประชากรไทยมีรายได้เพียง 5,410 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปีเท่านั้น นั่นหมายถึง ประเทศไทยจะต้องมีการลงทุนขยายตัวร้อยละ 10 ต่อปี และมี GDP ขยายตัวร้อยละ 6 ต่อปี อย่างต่อเนื่องในอีก 17 ปีข้างหน้า

ดร.คณิศ ยังแสดงความเชื่อมั่นว่าโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกจะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวถึงร้อยละ 5 ต่อปี จากเดิมที่เติบโตแค่ร้อยละ 2-3 ต่อปีเท่านั้น ดังนั้นเป้าหมายที่ไทยจะก้าวเข้าสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วคงอยู่ไม่ไกลเท่าใดนัก

กำลังโหลดความคิดเห็น