เปิดงานวิจัยของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พบ 10 รูปแบบพร้อมวิธีการในการทำ ‘ธุรกิจพุทธพาณิชย์’ ของบรรดาวัดต่าง ๆ ที่สามารถกระตุ้นความต้องการให้พุทธศาสนิกชนเข้ามาซื้อหาและครอบครอง ซึ่งทุกกิจกรรมของวัด ล้วนมีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้และแสวงหากำไร โดยเฉพาะมีการสร้างตำนานการตลาดที่ชวนให้หลงใหล เชื่อในอิทธิฤทธิ์ และผลบุญจากอานิสงส์ของการทำบุญ ที่สำคัญแค่การสร้างพระใหญ่ ก็ยังทำให้เกิดสารพัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดผลประโยชน์ตามมาได้ทั้งวัดและผู้เกี่ยวข้อง
หลังคณะสงฆ์ฝ่ายปกครอง ทั้งคณะใหญ่หนกลาง-เหนือ-ใต้ และคณะธรรมยุต ได้มีการออกคำสั่งห้ามติดป้ายโฆษณา การจัดสร้างพระบูชาวัตถุมงคลและเทวรูปต่าง ๆ โดยเฉพาะในพระอุโบสถ เป็นสถานที่ที่พระภิกษุสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรม จึงไม่ควรมีการจำหน่ายพระบูชา วัตถุมงคลและเทวรูปต่างๆ ทั้งภายในและบริเวณพระอุโบสถ เพราะมีผู้ใช้ความเชื่อ และศรัทธาไปหาผลประโยชน์ด้วยการโฆษณาสรรพคุณ พระบูชาและวัตถุมงคล มีการอ้างอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ โดยไม่คำนึงถึงหลักธรรมคำสั่งสอน
คำสั่งดังกล่าวได้สำแดงฤทธิ์จนก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในวัดต่าง ๆ ทั้งในเรื่องการยุติการจำหน่ายวัตถุมงคล การปลดป้ายโฆษณาต่าง ๆ และบางแห่งมีการนำผ้ามาคลุมและสร้างรั้วปิดล้อมองค์เทวรูปอันเป็นที่สักการะของประชาชน และยังมีปรากฏการณ์ที่คาดไม่ถึงกรณีที่ พระครูรัตนคีรีรักษ์ เจ้าอาวาสวัดเขาแดง จังหวัดนครนายก มีการนำรถแบ็กโฮมาทุบทำลายเทวรูปทิ้ง รวมทั้งทุบทำลายรูปปั้นช้างสามเศียรที่สร้างมานับ 10 ปี
ไม่เว้นกระทั่งเจ้าคุณธงชัย หรือพระพรหมมังคลาจารย์ (ธงชัย ธมฺมธโช) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร กรุงเทพฯ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกจาก “ผ้ายันต์เลสเตอร์” ซึ่งวันนี้ได้หลบไปปลีกวิเวกแล้ว
ที่สำคัญได้สร้างผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ 'พุทธพาณิชย์' ในสถาบันพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ดีมีงานวิจัยเรื่อง “รูปแบบและวิธีการทางธุรกิจกับพุทธพาณิชย์ในสถาบันพระพุทธศาสนา” ของ อาจารย์วีรยุทธ เกิดในมงคล หัวหน้าภาควิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ศึกษาไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า “พุทธพาณิชย์” ก็คือการค้าที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา และมีพุทธพาณิชย์ในหลายรูปแบบและวิธีการ ซึ่งมีเป้าหมายคือการสร้างรายได้และแสวงหากำไร จึงต้องมีกิจกรรมสนับสนุนส่งเสริมพุทธพาณิชย์ตามกลไกของตลาดในระบบทุนนิยม เช่นการเชิญชวน ขายตรง การโฆษณา เพื่อสร้างกระแสให้เกิดความต้องการและนำไปสู่เป้าหมายคือรายได้และแสวงหากำไร
โดยในการทำธุรกิจพุทธพาณิชย์มีด้วยกัน 10 รูปแบบ ประกอบด้วย
รูปแบบที่ 1 การบูชารูปเคารพ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันพุทธศาสนิกชนนิยมเดินทางไปวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะวัดที่มีชื่อเสียงว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เคารพบูชา เพื่อกราบไหว้ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเรามักจะพบเห็นบางวัดเต็มไปด้วยแท่นบูชาพระพุทธรูป เทพเจ้า และจะพบเห็นคำเชิญชวนให้บูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน เครื่องบูชา ซื้อแผ่นทองคำเปลวเพื่อติดองค์พระเพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นบุญกุศล เพื่อความร่ำรวย อีกทั้งยังมีการเชิญชวนบูชาซึ่งเป็นที่นิยมอย่างหนึ่ง คือการบูชาต้นตะเคียน หรือรูปเคารพ เพื่อการขอเลขหวย และบางวัดมีเครื่องเซ่นไหว้แก้บน มีคณะนางรำแก้บน
สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้น ล้วนเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้แก่ทางวัดจากเครื่องบูชาซึ่งมีทั้งที่วัดเป็นผู้ดำเนินการเองหรือบางกรณีเป็นการตกลงแบ่งปันผลประโยชน์กันระหว่างผู้เช่าพื้นที่ขายเครื่องบูชาโดยวัดได้ค่าเช่าสถานที่
รูปแบบที่ 2 กิจกรรมหรือพิธีกรรมในลักษณะที่เป็นการบริการตนเอง รูปแบบคือจะมีป้ายเชิญชวนทำพิธีกรรมนั้น ซึ่งเริ่มต้นด้วยการบริจาคเงินเพื่อแลกกับอุปกรณ์ในการทำพิธีกรรม เช่นมีบทสวดให้อ่าน พร้อมทั้งบอกชื่อตัว สิ่งที่ประสงค์เป็นลักษณะการอธิษฐานขอ ไม่ต้องอาศัยพระสงฆ์ในการดำเนินพิธีกรรม เช่น การตักบาตรเหรียญ (หยอดเหรียญลงในบาตร) ปิดทองลูกนิมิต ตักบาตรข้าวสาร ตักบาตรพระอรหันต์ การหยอดเงินลงไปบนรอยพระพุทธบาทจำลอง การลอยเทียนสีประจำวันเกิด ลอยบัวบูชาพระบรมสารีริกธาตุ บูชาเทียนสืบชะตา บูชาเทียนสะเดาะเคราะห์ ทำบุญแก้ปีชง บูชาพระธาตุประจำปีเกิด เติมน้ำมันตะเกียง(ต่อดวงชะตา เสริมบารมี) การลอดโบสถ์ การทำบุญบูชาดวงวิญญาณทารกที่ถูกทำแท้งหรือวิญญาณเร่ร่อน การเขียนใบโพธิ์เงินโพธิ์ทอง เป็นต้น
ในการเชิญชวนเข้าร่วมในกิจกรรมเหล่านี้มักอ้างอานิสงส์โน้มน้าวใจ โดยจะมีข้อความอธิบายอานิสงส์ว่าทำกิจกรรมหรือพิธีกรรมนั้นแล้วจะได้อะไร ส่งผลอย่างไรแก่ผู้ประกอบกิจกรรม ส่วนค่าใช้จ่ายมีทั้งที่รับบริจาคตามกำลังศรัทธาและโดยกำหนดราคา ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมในการบูชา
รูปแบบที่ 3 การเชิญชวนทำบุญบริจาคด้วยตู้รับบริจาค และเครื่องเสี่ยงทาย ซึ่งจะพบเห็นได้ทั่วไปซึ่งเป็นตู้ที่รับบริจาคเงินสำหรับการทำบุญด้วยการบริจาคทาน และจะมีข้อความอธิบายวัตถุประสงค์อย่างสั้น ๆ เพื่อชี้แจงว่าทางวัดจะนำเงินที่ได้จากการบริจาคไปใช้ในกิจการใด เช่นค่าน้ำ ค่าไฟ หลอดไฟฟ้า ชำระหนี้สงฆ์
การบริจาครูปแบบนี้จะเป็นการชักชวนว่าเป็นการทำบุญ อธิบายว่าบุญที่ได้ทำไปนี้จะมีอานิสงส์ตอบแทนผู้รับบริจาคเช่นไร โดยตู้เหล่านี้มักจะตั้งเคียงข้างวัตถุสิ่งของที่เชิญชวนบริจาค เช่น วัสดุก่อสร้าง โลงศพ ปัจจุบันบางวัดมีการสร้างหุ่นโครงกระดูกที่มีกลไกเคลื่อนไหวได้ มีเสียงพูดเชิญชวนให้ร่วมบริจาคโลงศพ หรือบางวัดจะมีหุ่นพระเกจิอาจารย์ที่สามารถสวดมนต์ได้เมื่อหยอดเงินบูชาลงในตู้นั้น
อีกทั้งเราจะพบเห็นตู้เสี่ยงทายเซียมซีแบบหยอดเหรียญ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผู้มาวัดนิยมใช้บริการ และบางวัดก็มีลักษณะเป็นเกมเสี่ยงทาย เช่น มีรูปช้างให้ยกเสี่ยงทาย การโยนเหรียญเสี่ยงทายลงในบาตรที่กำลังหมุน ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ให้ทางวัดเป็นอย่างดี
รูปแบบที่ 4 การให้เช่าบูชาพระเครื่อง พระบูชา เครื่องรางของขลัง วัตถุมงคล ถือเป็นรูปแบบที่มีมายาวนานและถูกตั้งคำถามในเรื่องของการเป็นพุทธพาณิชย์ ที่อาศัยความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาด้วยคติความเชื่อทางศาสนา คุณค่าทางศิลปะ และวิธีทางการตลาด พัฒนาจนถึงขั้นที่ว่าสะสมไว้เพื่อการสร้างผลกำไรทางธุรกิจด้วยการนำไปให้คนเช่าบูชา ทัศนคติเหล่านี้ก่อให้เกิดความนิยมในแง่ของการเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการซื้อขายแลกเปลี่ยนโดยมีการสร้างนวัตกรรมรูปลักษณ์ใหม่ ๆ นำเสนอสินค้ารูปแบบใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง
โดยพุทธพาณิชย์รูปแบบนี้จะผสมผสานกับการสร้างเรื่องเล่าสรรพคุณของพระเครื่องราง ของขลัง วัตถุมงคลนั้น ๆ และยังเชื่อมโยงไปถึงพระเกจิผู้สร้าง รูปแบบของพิธีปลุกเสกนั่งปรกอธิษฐานจิต รวมไปถึงประสบการณ์ของผู้ใช้วัตถุมงคล เรื่องอิทธิฤทธิ์ และเรื่องเจตนาในการสร้างในลักษณะเพื่อนำเงินที่ได้จากการให้เช่าบูชาไปทำกิจกรรมเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา บูรณปฏิสังขรณ์ หรือสาธารณประโยชน์อื่น ๆ
ตามด้วยการติดป้ายโฆษณาในวัดและหน้าวัด และลงในสื่อโฆษณาต่าง ๆ บอกถึงช่องทางในการเข้าไปเช่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ กระจายตามแผงพระ การสั่งซื้อทางไปรษณีย์ ธนาคาร และร้านสะดวกซื้อเช่น ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เป็นต้น
รูปแบบที่ 5 การให้บริการในเรื่องการทำพิธีกรรม เป็นการให้ความสำคัญกับพระสงฆ์ในฐานะผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคล เช่นการอุปสมบท การขึ้นบ้านใหม่ การฌาปนกิจ หรือการประกอบพิธีกรรมเพื่อเป้าหมายโดยเฉพาะบางอย่าง วัดหลายวัดมีการให้บริการเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งในวันสำคัญทางศาสนา เทศกาลตามประเพณี บางวัดจะเป็นพิธีกรรมเล็ก ๆ มีพระสงฆ์รูปเดียวเป็นผู้กระทำพิธีให้ อาจทำในกุฎิหรือศาลา บางพิธีก็เป็นพิธีใหญ่มีผู้เข้าร่วมมากก็จะมีพระสงฆ์เข้าร่วมมากเช่นกัน โดยจะมีการเรียกรับค่ายกครู หรือค่าพานของไหว้ เครื่องบูชาในพิธีนั้น ๆ
โดยรูปแบบพิธีกรรมที่มีเป้าหมายเฉพาะ เช่น สวดยันต์เกราะเพชร พิธีสะเดาะเคราะห์ พิธีแก้ปีชง รับส่งพระเสาร์ พิธีเสริมดวง แก้กรรม ปัดรังควาญ พิธีห่มผ้าพระประธาน พิธีสวดภาณยักษ์ พิธีสวดนพเคราะห์ พิธีอาบน้ำว่าน พิธีอาบน้ำมนต์ พิธีสะเดาะเคราะห์นอนโลง 7 สี พิธีบังสุกุลเป็น ทำบุญต่ออายุ สืบชะตา ลงนะ ฯลฯ
วัดที่ดำเนินการรูปแบบนี้จะมีการตั้งป้ายประชาสัมพันธ์กิจกรรมไว้ที่วัด กระจายกันปากต่อปาก ทำป้ายโฆษณา ใบปลิว แผ่นพับ รวมถึงเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ของทางวัดเพื่อให้ข้อมูลนัดหมายวันเวลาในการทำกิจกรรม และช่องทางหนึ่งที่เริ่มนำมาใช้ในการเผยแพร่กิจกรรมคือ การถ่ายทอดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งจะทำให้มีการเผยแพร่กิจกรรมได้กว้างขวางยิ่งขึ้น
รูปแบบที่ 6 การจัดงานเทศกาลวันสำคัญตามประเพณี และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการหารายได้อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งวัดต่าง ๆ มักจะมีการจัดงานประจำปีตามโอกาสต่าง ๆ เช่นงานเทศกาลปิดทองนมัสการ “หลวงพ่อ” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์หรือรูปเคารพพระเกจิของวัด งานปิดทองฝังลูกนิมิต งานยกช่อฟ้าพระอุโบสถศาลา งานลอยกระทง งานเทศน์มหาชาติ งานนมัสการรอยพระพุทธบาท งานชักพระประธาน โดยในโอกาสดังกล่าว ก็จะมีการเชิญชวนพุทธศาสนิกชนให้ร่วมเป็นเจ้าภาพกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม เชิญชวนให้ประชาชนร่วมเขียนชื่อในแผ่นทอง แผ่นเงิน แผ่นทองแดง ซึ่งเป็นกุศโลบายในการเชิญชวนให้ร่วมบริจาคเงินเมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมนั้น ๆ
นอกจากนี้ยังมีการดึงดูดประชาชนให้มาร่วมงานด้วยการจัดกิจกรรมการจัดฉายภาพยนตร์ งานแสดงมหรสพ วงดนตรี มีดารานักร้องมาร่วมในงาน และสิ่งที่จะชักชวนให้เข้าร่วมได้มากอีกวิธีหนึ่งคือการแจกเครื่องราง วัตถุมงคล สีผึ้ง ผ้ายันต์ ตะกรุด เหรียญพระเกจิประจำวัด สายสิญจน์ให้กับญาติโยมที่มาทำบุญ ด้วยการตั้งชื่อให้เห็นสรรพคุณที่ทำให้อยากได้รับ ซึ่งผู้เข้าร่วมรับแจกส่วนใหญ่จะต้องร่วมทำบุญในกิจกรรมนั้น ๆ
รูปแบบที่ 7 การเชิญชวนร่วมทำบุญสร้างวัตถุมงคล สร้างรูปบูชาและพระพุทธรูป ในการสร้างพระพุทธรูปมาจากศรัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในการสืบทอดพระพุทธศาสนา เพื่ออุทิศส่วนกุศล เพื่อสร้างบุญบารมีแสดงให้เห็นความรุ่งเรืองทางศาสนา แต่เหตุผลในปัจจุบันกลับกลายเป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคล โดยเฉพาะในเรื่องพุทธพาณิชย์ เพราะใช้เป็นช่องทางในการระดมศรัทธาเพื่อรับบริจาคทุนทรัพย์เชิญชวนร่วมเป็นเจ้าภาพ
ปัจจุบันหลายวัดนิยมสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ซึ่งมีข้ออ้างเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา กระทั่งเกิดข้อวิจารณ์ตามมาคือเป็นการสร้างเพื่อต่อลาภสักการะ หวังผลให้พุทธศาสนิกชนเดินทางมากราบไหว้ซึ่งเป็นช่องทางในการหารายได้ต่อไป เช่นพิธีพุทธาภิเษก พิธีบวงสรวงฉลองเบิกพระเนตร เป็นต้น
รูปแบบที่ 8 การเชิญชวนทำบุญก่อสร้างสาธารณสมบัติ การสร้างบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะ ทั้งนี้เพราะพุทธศาสนิกชนเชื่อว่า หากต้องการให้ได้บุญมาก ก็ต้องสร้างวัดวาอาราม ซึ่งการสร้างโบสถ์วิหารจะทำให้อานิสงส์ผลบุญกุศลแรง เพราะเมื่อมีการสร้างวัดก็จะเป็นการพัฒนาจากการเป็นที่พักสงฆ์ หรือวัดร้าง มีพระสงฆ์เชิญชวนทำบุญทอดผ้าป่า ทอดกฐิน รับบริจาคหาปัจจัยเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างบูรณปฏิสังขรณ์ เสนาสนะต่าง ๆ เช่นสร้างกุฏิ พระอุโบสถ ศาลาปฏิบัติธรรม หอสวดมนต์ หอระฆัง บำรุงเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด รวมถึงการเชิญชวนทำบุญก่อสร้างสาธารณสมบัติให้ชุมชน เช่นสร้างห้องเรียน สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล สร้างถนน สะพาน โดยการเชิญชวนทำบุญซื้ออิฐ หิน ปูน ทราย แผ่นสังกะสี
ขณะที่วัดมีการตอบแทนคนเหล่านี้ทั้งในรูปการมอบวัตถุมงคลแล้ว บางวัดยังมีการแจกลอตเตอรี่ให้ผู้ร่วมทำบุญ มีการออกใบอนุโมทนาบัตรที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ และหากมียอดบริจาคตามที่วัดระบุไว้ จะมีการจารึกชื่อบนสิ่งปลูกสร้างนั้นไว้เป็นอนุสรณ์
รูปแบบที่ 9 การทำบุญไถ่ชีวิตโคกระบือ และการทำบุญซื้ออาหารให้สัตว์ต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ผู้มาทำบุญนิยมทำ คือการปล่อยนกปล่อยปลา เพราะเชื่อว่าเป็นการให้ชีวิตเป็นการสร้างกุศล โดยเฉพาะการให้ชีวิตสัตว์ใหญ่ยิ่งได้กุศลมาก ปัจจุบันหลายวัดนิยมกั้นคอกสัตว์เลี้ยง เลี้ยงนกเลี้ยงปลาไว้โดยมีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องตามมาคือ การซื้ออาหารให้สัตว์ต่าง ๆ ที่วัดเลี้ยงไว้ เช่นมีซุ้มขายหญ้าแห้ง หญ้าสด โดยอาจมีตู้รับบริจาคหรือมีเจ้าหน้าที่คอยขายหญ้าให้โค กระบือ และยังมีป้ายเชิญชวนให้ร่วมทำบุญไถ่ชีวิตโคกระบือ มีกิจกรรมให้นมแพะ นมแกะ หมูจิ๋ว
นอกจากได้บุญจากการซื้ออาหารให้สัตว์ต่าง ๆ แล้ว บางวัดยังมีข้อความบอกว่า รายได้จากการรับบริจาคซื้ออาหารสัตว์จะนำไปสร้างโรงพยาบาลให้ชุมชนอีกต่อหนึ่งด้วย
อีกทั้งในการไถ่ชีวิตโคกระบือ มักจะมีการให้ข้อมูลที่โน้มน้าวใจว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่เป็นการให้ชีวิตเป็นทาน เพราะบุญจากการให้ชีวิตโคกระบือที่ไถ่มาจากโรงฆ่าสัตว์ เมื่อทางวัดนำไปมอบให้เกษตรกรที่ยากไร้ ทำให้ผู้ทำบุญได้บุญจากการช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจน ที่จะได้วัว ควายไปใช้ด้านการเกษตร และยังมีคำเชิญชวนที่มักใช้คือเป็นการทำบุญที่จะถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสต่าง ๆ
รูปแบบที่ 10 เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ปัจจุบันวัดกลายเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวตามความนิยมของชาวต่างชาติ ในการเดินทางมาเยี่ยมชมความงามของศาสนสถาน เช่นวัดโพธิ์ วัดสุทัศน์ ฯลฯ ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปชมความงาม ทำให้วัดสามารถเก็บค่าเข้าชมจากนักท่องเที่ยวได้ อีกทั้งนโยบายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่นกระแสความนิยมในเรื่องการทำบุญไหว้พระ 9 วัด ที่ดึงดูดให้คนเดินทางไปวัดต่าง ๆ เพื่อกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ให้ได้ 9 วัด ใน 1 วัน ด้วยเชื่อว่าการทำบุญได้ 9 วัดใน 1 วันจะได้อานิสงส์มาก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในการแสวงหารายได้เข้าวัดด้วยการสร้างจุดเด่นต่างๆ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม ส่งผลให้มีการสร้างวัดให้ดูโอ่อ่า สวยงามดุจปราสาทราชวัง การสร้างรูปประติมากรรมภาพเหตุการณ์ตามพุทธประวัติ เช่น สังเวชนียสถาน 4 ตำบล สัตตมหาสถาน จำลองพระธาตุอินแขวนจำลอง รวมไปถึงพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ หรือสร้างพระเกจิ รูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ขนาดใหญ่เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาสักการบูชา ทำให้บางวัดต้องจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกไว้พร้อม มีห้องน้ำสะอาดติดแอร์ มีตลาดให้จับจ่ายใช้สอย
ดังนั้นนโยบายชักชวนคนมาวัด จึงเป็นการทำวัดให้เป็นตลาดเพื่อซื้อหาแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่จะทำให้ทางวัดมีรายได้จากการให้เช่าพื้นที่ และดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนมีรายได้จากสินค้าและบริการตามความเชื่อและศรัทธาที่วัดได้จัดเตรียมไว้
ส่วนวิธีการทางพุทธพาณิชย์ จะมีการสร้างเรื่องเล่าทางการตลาดที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้สินค้าได้รับความนิยมสร้างรายได้และผลกำไรทางธุรกิจ โดยมีกิจกรรมทางพุทธพาณิชย์ สร้างมโนทัศน์เรื่องบุญและอิทธิปาฏิหาริย์และมีการใช้สื่อโฆษณา ใช้ดาราเข้ามาช่วยโปรโมตพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างกระแสนิยมและกระตุ้นความต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่งการทำการตลาดของวัตถุมงคล ก็ไม่ต่างไปจากการทำโฆษณาผลิตภัณฑ์สินค้าประเภทอื่น ๆ ที่ต้องการให้เกิดความเชื่อมั่นและค่านิยมที่ดีต่อสินค้าและตัดสินใจซื้อสิ่งนั้นเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ในงานวิจัยดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าแม้พุทธพาณิชย์จะมีวิธีการในการสร้างคุณค่าและความต้องการให้กับรูปแบบสินค้าและบริการของพุทธพาณิชย์ ที่มีประสิทธิภาพนำมาซึ่งรายได้อย่างมากมาย แต่ถ้าพุทธพาณิชย์หมายถึงการค้าที่นำเอาความเชื่อความศรัทธาทางพุทธศาสนามาแปรเป็นสินค้าบนฐานของการมุ่งเน้นไปที่บุญและอิทธิปาฏิหาริย์ก็ย่อมสร้างผลกระทบที่เป็นอุปสรรคอันนำมาซึ่งความยุ่งยากเดือดร้อนหรือความทุกข์อันปรุงแต่งด้วยกิเลสวัตถุนั่นเอง!