xs
xsm
sm
md
lg

9 เหรียญที่ระลึก 'ในหลวงรัชกาลที่ 9' ยังมีให้เก็บสะสมเป็นมงคลชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประชาชนแห่ซื้อเหรียญที่ระลึกประจำรัชกาลที่ 9 เหรียญพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพหมดเกลี้ยง ขณะที่รัฐบาลจะเปิดจองเข็มที่ระลึกพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ อีกครั้ง 1 ธ.ค.นี้ ด้านกรมธนารักษ์ยังมีเหรียญที่ระลึกเนื่องในวโรกาสต่างๆของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดจำหน่ายอีก 9 รุ่น ที่สามารถเก็บสะสมเป็นมงคลชีวิต!

เป็นช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าของปวงชนชาวไทยซึ่งต่างพร้อมใจกันถวายความอาลัยแด่ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” เป็นครั้งสุดท้ายในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ แต่แม้พระองค์จะจากไปแต่ความอาลัยรักที่พสกนิกรมีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็มิเคยจางหาย

อีกทั้งทุกคนยังขวนขวายเสาะหาสัญลักษณ์ต่างๆซึ่งเป็นดั่งตัวแทนของพระองค์ท่านมาเก็บรักษาและบูชาไว้เหนือเกล้า โดยเฉพาะเหรียญที่ระลึกซึ่งออกมาในวโรกาสต่างๆอันเกี่ยวเนื่องกับรัชกาลที่ 9 นั้นเป็นที่ต้องการอย่างมาก ชนิดที่เรียกได้ว่ายิ่งใกล้งานถวายพระเพลิงพระบรมศพ เหรียญที่ระลึกของพระองค์ท่านซึ่งจัดสร้างและเปิดจำหน่ายนั้นหมดเกลี้ยงภายในพริบตา
เข็มที่ระลึกพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
เหรียญที่ระลึกซึ่งเป็นที่ต้องการของคนไทยมากที่สุดในขณะนี้คือ “เข็มที่ระลึกพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ที่จัดสร้างโดยสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเหรียญทรงหกเหลี่ยม ด้านหน้าเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์ คือพระปรมาภิไธยย่อ 'ภปร' อยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมี บนพระปรมาภิไธยย่อมีเลข ๙ ซึ่งเป็นเลขประจำรัชกาล จัดจำหน่ายในราคา 300 บาท โดยผลิตออกมาล็อตแรก จำนวน 40,000 เหรียญ และกำหนดให้ประชาชนซื้อได้เพียงคนละ 2 เหรียญเท่านั้น ด้วยความจงรักภักดี ต้องการเก็บเข็มดังกล่าวไว้เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ประชาชนจำนวนมากจึงได้มากแห่แหนไปต่อแถวซื้อที่กรมประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่เวลา 04.00 น. ของวันที่ 22 ตุลาคม 2560 หลังจากเปิดจำหน่ายในเวลา 07.00 น. เข็มที่ระลึกนี้ก็ถูกจับจองอย่างรวดเร็วและจำหน่ายหมดภายในวันเดียวเท่านั้น
 
อย่างไรก็ดี เพื่อให้ประชาชนสามารถจัดซื้อเข็มที่ระลึกดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง รัฐบาลจะเปิดให้จองอีกครั้ง ในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป โดยสำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลนั้นจะเปิดให้จองได้ที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล และธนาคารกรุงไทย ส่วนในส่วนภูมิภาคอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่จะรับสั่งจองว่าเปิดรับจองในที่ใดบ้าง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสั่งจองได้ไม่จำกัดจำนวน
เหรียญที่ระลึกในโอกาสการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
เหรียญที่ระลึกอีกชิ้นที่คนไทยต่างเสาะหา ณ ห้วงเวลานี้ก็คือ “เหรียญที่ระลึกในโอกาสการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ที่จัดสร้างโดยกรมธนารักษ์ แต่น่าเสียดายที่เหรียญดังกล่าวได้สิ้นสุดการจองไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2560 และจะเปิดให้ประชาชนรับเหรียญที่ระลึก ณ สถานที่สั่งจองได้ตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.2561 เป็นต้นไป

ทั้งนี้เหรียญดังกล่าวมีความงดงามอย่างยิ่ง โดยด้านหน้าแสดงพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และสายสร้อยจุลจอมเกล้า ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่าง มีข้อความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ส่วนด้านหลังกลางเหรียญมีรูปพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร อยู่เหนือลายเมฆ เบื้องบนรูปพระเมรุมาศมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ เบื้องหลังรูปพระเมรุมาศมีรูปแสงพระอาทิตย์แผ่รัศมีผ่านปุยเมฆ ภายในวงขอบเหรียญ เบื้องล่างมีข้อความว่า “พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ” และข้อความ “วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖o ” ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร

โดยเหรียญที่ระลึกดังกล่าวมี 4 แบบด้วยกัน คือ 1.เหรียญที่ระลึกทองคำ ราคาเหรียญละ 50,000 บาท2. เหรียญที่ระลึกทองแดงรมดำพ่นทราย ราคาเหรียญละ 3,000 บาท 3.เหรียญที่ระลึกเนื้อเงิน ราคาเหรียญละ 2,000 บาท และ 4.เหรียญที่ระลึกคิวโปรนิกเกิล ราคาเหรียญละ 100 บาท

เหรียญที่ระลึกในโอกาสการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นั้นได้รับความนิยมอย่างมากและจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็ว ทำให้กรมธนารักษ์ต้องเปิดให้จองถึง 2 รอบ โดยมียอดการจำหน่ายรวมดังนี้ 1.เหรียญที่ระลึกทองคำ ยอดจำหน่าย 149,999 เหรียญ 2. เหรียญที่ระลึกทองแดงรมดำพ่นทราย ยอดจำหน่าย 79,999 เหรียญ 3.เหรียญที่ระลึกเนื้อเงิน ยอดจำหน่าย 799,999 เหรียญ และ 4.เหรียญที่ระลึกคิวโปรนิกเกิล ยอดจำหน่ายประมาณ 62 ล้านเหรียญ
เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี เนื้อเงิน
ขณะเดียวกันยังมีเหรียญที่ระลึกของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่จัดสร้างโดยกรมธนารักษ์ เนื่องในวาระอื่นๆ ซึ่งทางกรมธนารักษ์ยังมีจัดจำหน่ายอยู่ และประชาชนสามารถจับจองเพื่อเก็บรักษาไว้เป็นเครื่องระลึกถึงพระองค์ท่านอยู่พอสมควร ประกอบด้วย

1)“เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี” เนื้อเงิน จัดทำขึ้นเมื่อปี 2549 เป็นเหรียญเงินรูปไข่ กว้าง 30 มิลลิเมตร ยาว 35 มิลลิเมตร หน้าเหรียญ มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผินพระพักตร์ทางเบื้องขวา ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง มหาจักรีบรมราชวงศ์ และสายสร้อยจุลจอมเกล้า ในวงขอบเหรียญมีข้อความว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙" ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในวงขอบเหรียญเบื้องบน มีข้อความว่า "พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี" เบื้องล่างมีข้อความว่า "วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙" นอกขอบเหรียญเบื้องบนมีจักรและตรีศูลประดับอยู่กลางรูปพระมหาเศวตฉัตร 9 ชั้นห้อยแพรแถบกว้าง 32 มิลลิเมตร พื้นของแพรแถบเป็นสีเหลือง อันเป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพของในหลวง รัชกาลที่ 9 ริมแพรแถบทั้งสองข้างเป็นริ้วสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ ข้างละสามริ้วรวมหกริ้ว หมายถึง ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ระหว่างริ้วน้ำเงินเป็นริ้วสีขาว อันเป็นสีแห่งความบริสุทธิ์และศาสนา ปัจจุบันกรมธนารักษ์ จัดจำหน่ายเหรียญดังกล่าวในราคา 1,500 บาท
เหรียญเฉลิมพระเกียรติ
2) เหรียญเฉลิมพระเกียรติ เป็นเหรียญที่จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสที่สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(UNDP) ทูลเกล้าฯ ถวาย "รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ ปี 2549" เป็นเหรียญเงินขัดเงาและลงสี เป็นเงินร้อยละ 99.9 น้ำหนัก 31.10 กรัม เส้นผ่านศูนย์กลาง 40.60 มิลลิเมตร ขอบมีเฟือง มีราคาหน้าเหรียญ 900 บาท ลวดลายด้านหน้าเหรียญ มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะทรงงาน ทรงฉลองพระองค์สากล ใช้เทคนิคการลงสี (Coloured Coin) ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปพานเงิน เบื้องบนรูปพานเงิน มีสัญลักษณ์องค์การสหประชาชาติ ด้านขวาและซ้ายของพานเงินมีข้อความบอกราคา “๙oo บาท” โดยรอบรูปพานเงินเบื้องบนมีข้อความว่า "His Majesty King Bhumibol Adulyadej of Thailand" เบื้องล่างมีข้อความว่า "The First UNDP Human Development Lifetime Achievement Award" โดยมีจุดกลมคั่นระหว่างข้อความ ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า "รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์" เบื้องล่างมีข้อความว่า "๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ประเทศไทย" โดยมีรูปลายไทยคั่นข้อความเบื้องบนกับเบื้องล่าง กรมธนารักษ์จัดจำหน่ายในราคา 2,000 บาท
เหรียญกาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ชุดทองคำ
3)“ชุดเหรียญกาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ซึ่งจัดสร้างในปี 2539 ด้านหน้าเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ครึ่งพระองค์ รอบริมขอบมีข้อความว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙” ส่วนด้านหลังเป็นตราสัญลักษณ์ งานฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี ออกแบบโดย นางสาววิยะดา เจริญสุข (เป็นแบบตราที่ชนะการประกวดตราสัญลักษณ์งานดังกล่าวโดยกรมศิลปากร และในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยเพื่อแก้ไขปรับปรุงแบบตราเพิ่มเติมก่อนพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ได้) ประกอบด้วย พระราชลัญจกรประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นหลักสำคัญ มีตราพระบรมราชวงศ์จักรี และพระมหาพิชัยมงกุฎอยู่ด้านบน เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์แห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ มีพานเครื่องสูง 2 ชั้น ที่มักอยู่ในมโนภาพของผู้คนทั่วไป เมื่อนึกถึงสัญลักษณ์ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีช้าง 2 เชือก เทินตราพระราชลัญจกร อยู่ภายใต้พระเศวตฉัตร และรอบริมขอบมีข้อความว่า
“ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕o ปี กาญจนาภิเษก ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ ประเทศไทย” พร้อมราคาหน้าเหรียญ
ซึ่งเหรียญกาญขนาภิเษกที่กรมธนารักษ์จัดจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน มีทั้งชุดทองคำ ชุดใหญ่ ชุดกลาง
และชุดเล็ก

-เหรียญกาญจนาภิเษก ชุดทองคำ ประกอบด้วย 1.เหรียญทองคำ ราคาหน้าเหรียญ 6,000 บาท

2.เหรียญทองคำ ราคาหน้าเหรียญ 3,000 บาท 3.เหรียญทองคำ ราคาหน้าเหรียญ 1,500 บาท โดยจัดจำหน่ายครบชุด ในราคา 100,000 บาท
-เหรียญกาญจนาภิเษก ชุดใหญ่ (มี 3 เหรียญ) กรมธนารักษ์จัดจำหน่าย ในราคา 60,500 บาท
-เหรียญกาญจนาภิเษก ชุดกลาง (มี 3 เหรียญ) กรมธนารักษ์จัดจำหน่าย ในราคา 30,000 บาท
- เหรียญกาญจนาภิเษก ชุดเล็ก (มี 3 เหรียญ) กรมธนารักษ์จัดจำหน่าย ในราคา 15,000 บาท
ทั้งนี้การจัดสร้างเหรียญกาญจนาภิเษกมีความพิเศษตรงที่ มีมูลค่าหน้าเหรียญตั้งแต่ 1 สตางค์ , 5 สตางค์ , 10 สตางค์ , 25 สตางค์ , 50 สตางค์ , 1 บาท , 2 บาท , 5 บาท , 10 บาท , 20 บาท , 150 บาท , 300 บาท , 600 บาท , 1,500 บาท , 3,000 บาท และ 6,000 บาท

เหรียญอะกริคอล่า เนื้อทองคำ
4) “เหรียญอะกริคอล่า” เนื้อทองคำ มูลค่าหน้าเหรียญ 60,000 บาท เหรียญดังกล่าวเป็นเหรียญที่ระลึกเนื่องในโอกาสที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ร่วมเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณของพระองค์ท่าน นับเป็นเหรียญที่สื่อแสดงถึงพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้อย่างแจ่มชัด โดยด้านหน้าเหรียญแสดงพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงสะพายกล้อง และหนีบแผนที่แนบพระวรกาย ส่วนด้านหลังเหรียญแสดงรูปพสกนิกรซึ่งเป็นชาวนาเข้าเฝ้าพระองค์อย่างใกล้ชิด เหรียญนี้จัดสร้างเมื่อปี 2538 ออกแบบโดย อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน นายกสมาคมประติมากรไทย และอาจารย์คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร อีกทั้งมีความพิเศษคือผลิตโดย บี.เอช. เมเยอร์ มินท์ ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นโรงกษาปณ์ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลก โดยปัจจุบันกรมธนารักษ์จัดจำหน่ายในราคา 58,000 บาท
เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 108 ปี แห่งการสถาปนากระทรวงกลาโหม เนื้อเงิน
5) “เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 108 ปี แห่งการสถาปนากระทรวงกลาโหม” เนื้อเงิน ด้านหน้าแสดงพระบรมรูปสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านหลังเป็นรูปพระคชสีห์ หรือสิงห์ที่มีตัวเป็นสิงห์และหัวเป็นช้าง ซึ่งเป็นตราประจำกระทรวงกลาโหม ราคาหน้าเหรียญ 600 บาท น้ำหนัก 22 กรัม จัดสร้างขึ้นเมื่อปี 2538 ปัจจุบันกรมธนารักษ์จัดจำหน่ายในราคา 2,650 บาท
เหรียญที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบ  80 ปี กรมสรรพากร เนื้อเงิน
6) “เหรียญที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบ 80 ปี กรมสรรพากร” เนื้อเงิน ด้านหน้า ปรากฏพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ผินพระพักตร์ทางเบื้องซ้าย ทรงฉลองพระองค์สากล ด้านซ้ายมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ "วปร" ภายใต้พระมหามงกุฎ ซึ่งเป็นพระปรมาภิไธยย่อของรัชกาลที่ 6 ด้านขวามีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ "ภปร" ภายใต้พระมหามงกุฎ ซึ่งเป็นพระปรภิไธยย่อของรัชกาลที่ 9 ส่วนด้านหลังมีเครื่องหมายของกรมสรรพากรอยู่ตรงกลาง ชิดวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า "๘๐ ปี กรมสรรพากร ๒ กันยายน ๒๕๓๘ " เบื้องล่างมีข้อความว่า "ประเทศไทย" และข้อความบอกราคา ๖oo บาทโดยมีจุดกลมคั่นระหว่างข้อความเบื้องบนกับเบื้องล่างที่สองข้าง จัดสร้างเมื่อปี 2538 ปัจจุบันกรมธนารักษ์จัดจำหน่ายในราคา 2,650 บาท
เหรียญพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุ 64 พรรษา รัชกาลที่ 9  เนื้อเงิน
7) “เหรียญพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุ 64 พรรษา รัชกาลที่ 9” เนื้อเงิน ราคาหน้าเหรียญ 600 บาท จัดสร้างขึ้นเมื่อปี 2534 เพื่อเป็นที่ระลึกในพระราชพิธีสมมงคล พระชนมายุ 64 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เท่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระปัยกา (ปู่ทวด) ของรัชกาลที่ 9 ด้านหน้ามีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์พื้นดำปักลายดิ้นทอง ทรงสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝรั่งเศส และพระมหาสังวาลนพรัตน์ และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเครื่องบรมขัติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงฉลองพระองค์ครุย ทรงสายสร้อยแห่งเครื่องขัติยราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และสายสร้อยแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชิดวงขอบเหรียญมีข้อความว่า "พระปรเมนทรมหามงกุฏ" และ "พระปรมินทรมหาภูมิพล" โดยมีเครื่องหมายมหาจักรีบรมราชวงศ์คั่นระหว่างข้อความ

ส่วนด้านหลังมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ "มปร" ภายใต้พระมหามงกุฎ ซึ่งเป็นพระปรมาภิไธยย่อของรัชกาลที่ 4 และอักษรพระปรมาภิไธยย่อ "ภปร" ภายใต้พระมหามงกุฎ ซึ่งเป็นพระปรมาภิไธยย่อของรัชกาลที่ 9 เบื้องล่างมีข้อความบอกราคาและข้อความว่า "๖oo บาท ประเทศไทย" ชิดวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า "พระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุ ๖๔ พรรษา เท่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" เบื้องล่างมีข้อความว่า "๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๔" โดยมีลายดอกประจำยามคั่นระหว่างข้อความเบื้องบนกับเบื้องล่างทั้งสองข้าง นับเป็นหนึ่งในเหรียญหายาก ปัจจุบันกรมธนารักษ์จัดจำหน่ายในราคา 3,150 บาท
เหรียญที่ระลึกครองราชย์ 36 ปี เนื้อเงิน
8) “เหรียญที่ระลึกครองราชย์ 36 ปี” เนื้อเงิน จัดสร้างเมื่อปี 2524 เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองราชย์ได้ 36 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาเท่ากับ 2 เท่าของการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชกาลที่ 4 เป็นอีกเหรียญที่มีลักษณะโดดเด่น โดยด้านหน้าเป็นพระรูปของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครึ่งพระองค์ ผินพระพักตร์เบื้องซ้าย ซ้อนกับพระรูปของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครึ่งพระองค์ ผินพระพักตร์เบื้องซ้าย เช่นกัน รอบริมขอบเหรียญมีข้อความว่า “พระปรมินทรมหาภูมิพล ประเทศไทย พระปรเมนทรมหามงกุฎ” ส่วนด้านหลังจารึกตราสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 4 ตราราชวงศ์จักรี และตราสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 9 รอบริมขอบเหรียญมีข้อความว่า “สถิตสิริราชสมบัติเป็นสองเท่าของรัชกาลที่ ๔” พร้อมระบุวันที่ “๙ มิถุนายน ๒๕๒๔” และราคาหน้าเหรียญ “๖oo บาท” โดยปัจจุบันกรมธนารักษ์จัดจำหน่ายเหรียญนี้ในราคา 2,150 บาท
เหรียญที่ระลึกในวโรกาสที่รัชกาลที่ 9 มีพระชนมายุครบ 3 รอบ
9)อีกเหรียญที่น่าสะสมอย่างยิ่งคือ “เหรียญที่ระลึกในวโรกาสที่รัชกาลที่ 9 มีพระชนมายุครบ 3 รอบ” ด้านหน้าเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครึ่งพระองค์ ผินพระพักตร์เบื้องซ้าย รอบริมขอบเหรียญมีข้อความว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช พระชนมายุครบ ๓ รอบ" ด้านหลังเป็นรูปเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ มหาพิชัยมงกุฎ อยู่เหนือพระราชสัญลักษณ์จักรและตรี และพระขรรค์ชัยศรีพัดโบก ไขว้กับธารพระกรและแส้จามรี กระหนาบด้วยฉลองพระองค์ มีพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรอยู่เบื้องหลัง เบื้องบนมีอักษรรัฐบาลไทย เบื้องซ้ายและเบื้องขวามีตัวเลขไทยบอกราคา ๒o เบื้องล่างมีคำว่าบาท ประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2506 นับเป็นเหรียญกษาปณ์เนื้อเงินรุ่นแรกที่จัดสร้างขึ้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 และเป็นเหรียญเพียงรุ่นเดียวที่ไม่มีปี พ.ศ.ระบุไว้หน้าเหรียญ ปัจจุบันกรมธนารักษ์จัดจำหน่ายในราคา 1,550 บาท ขณะที่ราคาในท้องท้องตลาดสูงกว่าหลายเท่าตัว

ดังนั้นแม้หลายคนจะพลาดหวังจากเหรียญที่ระลึกพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แต่ก็ยังพอเสาะหาเหรียญที่ระลึกในวโรกาสอื่นๆของพระองค์ท่านไว้บูชาเพื่อเป็นเครื่องระลึกว่าเราโชคดีเพียงใดที่ได้เกิดในแผ่นดินของในหลวงรัชกาลที่ 9

กำลังโหลดความคิดเห็น