xs
xsm
sm
md
lg

น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เดินตาม 'คำพ่อสอน '

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระปรีชาสามารถในทุกด้าน และในพระราชหฤทัยของพระองค์ล้วนมีแต่เรื่องการทรงงานเพื่อให้ประชาชนมีความสุข ทรงเป็นแบบอย่างของกษัตริย์ผู้ปกครองประชาชนด้วยทศพิธราชธรรม ทรงใช้เวลาตลอดพระชนมชีพและพระปรีชาสามารถทั้งหมด เพื่อดูแล ปกป้องคุ้มครองและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้นตลอดมา

จะมีใครโชคดีเหมือนคนไทยที่มีพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงห่วงใยประชาชนของพระองค์เสมอมา ทรงมีพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาท รวมทั้งหลักการทรงงานต่างๆ ที่สามารถปฏิบัติได้จริง พระราชทานให้กับเหล่าข้าราชบริพารและประชาชน ในโอกาสต่าง ๆ

Special scoop จึงขอน้อมนำพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาท รวมทั้งหลักการทรงงานต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณ ให้ประชาชนได้ซาบซึ้งใน 'คำสอนของพ่อ' เพื่อใช้เป็นหลักคิดในการดำเนินชีวิตซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติตลอดไป

พระบรมราโชวาทด้านศาสนา

“พระพุทธศาสนา บริบูรณ์ด้วยสัจธรรมที่เป็นสาระและเป็นประโยชน์ในทุกระดับ แต่จะต้องศึกษาให้มีความรู้ ความเข้าใจ และปฏิบัติให้เหมาะสมแก่สภาวะปัจจุบัน ด้วยศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้อง จึงจะเกิดเป็นประโยชน์ขึ้นได้”

พระบรมราโชวาท ในการเปิดประชุมใหญ่ สมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร วันที่ 17 ธันวาคม 2512

“ศาสนาชี้ทางดำเนินชีวิตที่ปราศจากโทษ ช่วยทำให้มีความเจริญร่มเย็นอย่างแท้จริง คนจึงเชื่อถือประพฤติปฏิบัติตาม ทั้งอุดหนุนค้ำชูศาสนาเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ความสวัสดีของตน พระพุทธศาสนานั้นมีลักษณะพิเศษประเสริฐในประการที่อาศัยเหตุผลอันเที่ยงแท้ตามเป็นจริงเป็นพื้นฐาน แสดงคำสั่งสอนที่บุคคลสามารถใช้ปัญญาไตร่ตรองตาม และหยิบยกขึ้นปฏิบัติเพื่อความสุขความเจริญและความบริสุทธิ์ได้ตามวิสัยของตน...”

พระบรมราโชวาท เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2518 

“..เมื่อชาวพุทธรู้ธรรมะ ปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องทั่วถึง พระศาสนาก็จะมั่นคงขึ้นได้ ทั้งนี้เพราะเหตุที่บ่อนเบียนพระศาสนาให้เศร้าหมองนั้น มักจะมาจากการกระทำของชาวพุทธผู้ไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่ปฏิบัติตามธรรมะนั่นเองเป็นสำคัญ

พระราชดำรัส ในการประชุมใหญ่ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก วันที่ 27 พฤศจิกายน 2529

พระบรมราโชวาท ด้านการพัฒนา

“ประเทศชาติกำลังพัฒนาในทุกด้าน และต้องการความสามัคคีความสงบเรียบร้อย ผลดีทั้งปวงดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ด้วยประชาชนมีหลักของใจอันมั่นคง มีศรัทธาและปัญญาอันถูกต้อง และปฏิบัติตนอยู่ในทางที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม...”

พระบรมราโชวาท ในการเปิดประชุมใหญ่ สมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร วันที่ 17 ธันวาคม 2512

“...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจชั้นที่สูงโดยลำดับต่อไป.....”

พระบรมราโชวาท ด้านความสามัคคี

“...ถ้าประเทศทั้งปวงจะยกย่องนับถือกันโดยบริสุทธิ์ใจ และช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันโดยพร้อมเพรียงแล้ว ก็เชื่อได้ว่าจะเกิดความเข้าใจในกันและกันอย่างแท้จริง พร้อมทั้งความร่วมมือกันฉันมิตรอย่างแน่นแฟ้นขึ้นได้ แล้วความสงบสุข อิสรภาพเสถียรภาพอันเสมอหน้าและถาวร ก็จะเกิดมีขึ้นทุกแห่งในโลก ดังที่ทุกคนปรารภปรารถนา...”

พระบรมราโชวาท วันที่ 6 ธันวาคม 2521

“....ประเทศของเรารักษาเอกราช อธิปไตย และอิสรภาพให้สมบูรณ์มั่นคงมาได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะคนไทยทุกหมู่เหล่ารู้รักความสามัคคี และรู้จักทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายให้ประสานส่งเสริมกัน เมื่อทุกคนมุ่งใจปฏิบัติดังนี้ ความถูกต้องเรียบร้อย ความพัฒนาก้าวหน้าและความมั่นคงเป็นปึกแผ่นจึงบังเกิดขึ้น

พระบรมราโชวาท ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณ และสวนสนามทหารรักษาพระองค์ ณ ลานพระราชวังดุสิต วันที่ 3 ธันวาคม 2534

พระราชดำรัส ด้านเศรษฐกิจพอเพียง

“...เมื่อปี 2517 ถึง 2541 ก็ 24 ปีใช่ไหม วันนั้นได้พูดว่า เราควรจะปฏิบัติให้พอมีพอกิน พอมีพอกินก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกินก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดีใหญ่....”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2541

" เศรษฐกิจพอเพียง คือ ทำให้พอเพียงถ้าไม่พอเพียงไปไม่ได้ แต่ถ้าพอเพียงสามารถนำพาประเทศได้ดี ก็ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จพอเพียงและเพื่อให้บ้านเมืองบรรลุความสำเร็จที่แท้จริง....”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2548

หลักการทรงงานของในหลวง

ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ การที่จะพระราชทานโครงการใดโครงการหนึ่งจะทรงศึกษาข้อมูลรายละเอียดอย่างเป็นระบบ ทั้งจากข้อมูลเบื้องต้นจากเอกสาร แผนที่ สอบถามจากเจ้าหน้าที่นักวิชาการและราษฎรในพื้นที่ ให้ได้รายละเอียดที่ถูกต้อง เพื่อที่จะพระราชทานความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วตรงตามความต้องการของประชาชน

 ระเบิดจากข้างใน พระองค์ทรงมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนา 'คน' ทรงตรัสว่า 'ต้องระเบิดจากข้างใน' หมายความว่า ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนาให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การนำเอาความเจริญหรือบุคคลจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนหมู่บ้านที่ยังไม่ทันได้มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งตัว

แก้ปัญหาที่จุดเล็ก พระองค์ทรงมองปัญหาในภาพรวม (Macro) ก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหาของพระองค์จะเริ่มจากจุดเล็ก ๆ (Micro) คือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่คนมักจะมองข้าม ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า

การปวดหัวก็คิดอะไรไม่ออกเป็นอย่างนั้นต้องแก้ไข การปวดหัวก่อน เพื่อที่จะให้อยู่ในสภาพที่คิดได้แบบ (Macro) นี้เขาจะทำแบบรื้อทั้งหมด ฉันไม่เห็นด้วย อย่างบ้านคนอยู่ เราบอกบ้านนี้มันผุตรงนั้น ผุตรงนี้ ไม่คุ้มที่จะซ่อม เอาตกลงรื้อบ้านนี้ ระเบิดเลย เราจะไปอยู่ที่ไหน ไม่มีที่อยู่ วิธีทำต้องค่อย ๆ ทำ จะไประเบิดหมดไม่ได้....”

 ทำตามลำดับขั้น ในการทรงงานพระองค์จะทรงเริ่มต้นจากสิ่งที่จำเป็นของประชาชนที่สุดก่อน ได้แก่ สาธารณสุข เมื่อมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงแล้วก็จะสามารถทำประโยชน์ด้านอื่น ๆ ต่อไปได้ จากนั้นจะเป็นเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและสิ่งจำเป็นในการประกอบอาชีพ อาทิ ถนน แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภค ที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนโดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการให้ความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีที่เรียบง่าย เน้นการปรับใช้ภูมิปัญหาท้องถิ่นที่ราษฎรสามารถนำไปปฏิบัติได้และเกิดประโยชน์สูงสุด

 ภูมิสังคม การพัฒนาใด ๆ ต้องคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศของบริเวณนั้น ว่าเป็นอย่างไร และสังคมวิทยาเกี่ยวกับลักษณะนิสัยใจคอของคน ตลอดจนวัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า

การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา คือ นิสัยใจคอของคนเราจะไปบังคับให้คนอื่นคิดอย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนำ เราเข้าไปดูว่าเขาต้องการอะไรจริง ๆ แล้วก็อธิบายให้เขาเข้าใจหลักการของการพัฒนานี้ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง…”

 องค์รวม การที่จะพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการใดโครงการหนึ่งจะทรงมองเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นและแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง ดังเช่นกรณีของ 'ทฤษฎีใหม่' ที่พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพทางการเกษตรแนวทางหนึ่งที่ทรงมองอย่างองค์รวม ตั้งแต่การถือครองที่ดินโดยเฉลี่ย 10-15 ไร่ มีการบริหารจัดการที่ดินและแหล่งน้ำ ต้องมีการจัดการการปลูกพืชหลากหลายชนิด ทั้งข้าว ไม้ผล พืชสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตัวเอง ตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ ทั้ง 3 ขั้น คือขั้นที่ 1 พึ่งตนเอง ขั้นที่ 2 พึ่งพิงกัน และขั้นที่ 3 พึ่งพาอาศัย

ไม่ติดตำรา ในการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ มีลักษณะของการพัฒนาที่อนุโลม และรอมชอมกับสภาพธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและสภาพสังคมจิตวิทยาแหล่งชุมชนคือ 'ไม่ติดตำรา' ไม่ผูกมัดติดกับวิชาการและเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนไทย

 ประหยัด เรียบง่าย ประโยชน์สูงสุด ดังที่เราเคยเห็นว่า หลอดยาสีพระทนต์นั้น ทรงใช้อย่างคุ้มค่าอย่างไร หรือฉลองพระองค์แต่ละองค์ทรงใช้อยู่เป็นเวลานาน
“กองงานในพระองค์โดยท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ บอกว่า ปีหนึ่งพระองค์ทรงเบิกดินสอ 12 แท่ง เดือนละแท่งใช้จนกระทั่งกุด ใครอย่าไปทิ้งของท่านนะ จะกริ้วเลย ประหยัดทุกอย่าง ทรงเป็นต้นแบบทุกอย่าง ทุกอย่างนี้มีค่าสำหรับพระองค์หมด ทุกบาททุกสตางค์จะใช้อย่างระมัดระวัง จะสั่งให้เราปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบ

 ทำให้ง่าย - Simplicity ด้วยพระปรีชาสามารถในพระองค์ท่าน ทำให้การคิดค้น ดัดแปลง ปรับปรุงและแก้ไขงานการพัฒนาประเทศตามแนวพระราชดำริดำเนินไปได้โดยง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่และระบบนิเวศ ทรงโปรดที่จะทำสิ่งที่ยากให้กลายเป็นง่าย ทำสิ่งที่สลับซับซ้อนให้เข้าใจง่าย อันเป็นการแก้ปัญหาด้วยการใช้กฎแห่งธรรมชาติเป็นแนวทางนั่นเอง แต่การทำสิ่งยากให้กลายเป็นง่ายนั้นเป็นของยาก คำว่า 'ทำให้ง่าย' หรือ 'Simplicity' จึงเป็นหลักคิดสำคัญที่สุดของการพัฒนาประเทศในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

 การมีส่วนร่วม พระองค์ทรงเป็นนักประชาธิปไตย จึงทรงนำ 'ประชาพิจารณ์' มาใช้ในการบริหาร เพื่อเปิดโอกาสให้สาธารณชน ประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับได้มาร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่จะต้องคำนึงถึงความเห็นของประชาชน หรือความต้องการของสาธารณชน ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า

สำคัญที่สุดจะต้องหัดทำใจให้กว้างขวางหนักแน่น รู้จักฟังความคิดเห็น แม้กระทั่งความวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่น ฉลาด เพราะการรู้จักรับฟังอย่างฉลาดนั่นแท้จริงคือ การระดมสติปัญญาและประสบการณ์อันหลากหลายมาอำนวยการปฏิบัติบริหารให้ประสบความสำเร็จที่สมบูรณ์นั่นเอง....”

 ประโยชน์ส่วนรวม การพัฒนาและช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ ทรงคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า
“ใครต่อใครบอกว่า ขอให้เสียสละส่วนตัวเพื่อส่วนรวมอันนี้ฟังจนเบื่อ อาจรำคาญด้วยซ้ำว่า ใครต่อใครมาก็บอกว่า ขอให้คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมอาจมานึกในใจว่า ให้ ๆ อยู่เรื่อยแล้วส่วนตัวจะได้อะไร ขอให้คิดว่าคนที่ให้เพื่อส่วนรวมนั้น มิได้ส่วนรวมแต่อย่างเดียว เป็นการให้เพื่อตัวเอง สามารถที่จะมีส่วนร่วมที่จะอาศัยได้...”

บริการรวมจุดเดียว เป็นรูปแบบการบริการแบบเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Services เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในระบบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2522 โดยทรงให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นต้นแบบในการบริการรวมที่จุดเดียว เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนที่จะมาขอใช้บริการ ซึ่งเป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยจะมีหน่วยงานราชการต่าง ๆ มาร่วมดำเนินการและให้บริการประชาชน ณ ที่แห่งเดียว ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ทรงเข้าใจถึงธรรมชาติและต้องการให้ประชาชนใกล้ชิดกับธรรมชาติ ทรงมองอย่างละเอียดถึงปัญหาธรรมชาติ หากเราต้องแก้ไขธรรมชาติจะต้องใช้ธรรมชาติ โดยการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก อันเป็นการปล่อยให้ธรรมชาติช่วยในการฟื้นฟูธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ได้แก่ ไม้เศรษฐกิจ ไม้ผล และไม้ฟืน นอกจากได้ประโยชน์ตามชื่อของไม้แล้วยังช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้แก่พื้นดินด้วยเห็นได้ว่า ทรงเข้าใจธรรมชาติ และมนุษย์อย่างเกื้อกูลกัน ทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน 

ใช้อธรรมปราบอธรรม ทรงนำความเจริญ ในเรื่องความเป็นไปแห่งธรรมชาติและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาเป็นหลักการแนวปฏิบัติที่สำคัญในการแก้ปัญหาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาวะไม่ปกติเข้าสู่ระบบที่เป็นปกติ เช่น การบำบัดน้ำเน่าเสียโดยใช้ผักตบชวาซึ่งมีตามธรรมชาติและก่อปัญหาด้านการกีดขวางการไหลของน้ำ ให้ดูดซึมสิ่งสกปรกปนเปื้อนในน้ำแต่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาด้านอื่น ๆ ได้อีก

ตัวอย่าง การฟื้นฟูสภาพดินเสื่อมโทรมโดยใช้ไม้ยูคาลิปตัส ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดังพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2539 ความตอนหนึ่งว่า

“ต้นยูคาลิปตัสให้ปลูกในที่ที่ปลูกอะไรไม่ได้ ถ้าปลูกต้นไม้อื่นได้ ก็ไม่ควรปลูกยูคาลิปตัส..”
วิธีการนี้เปรียบเสมือนการใช้อธรรมปราบอธรรม ไม้ยูคาลิปตัสเป็นพืชที่ทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้ดี ระบบรากมีความแข็งแรงและหาอาหารได้เก่ง เมื่อนำมาปลูกในสภาพดินที่เป็นทรายจัดและด้านล่างมีสภาพแข็งเป็นดาน ก็สามารถเจริญเติบโตได้ เมื่อลำต้นมีขนาดโตพอประมาณก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ จากนั้นให้ปลูกไม้ชนิดต่างๆ ทดแทนลงไป

ปลูกป่าในใจตน เป็นการปลูกป่าลงบนแผ่นดิน ด้วยความต้องการอยู่รอดของมนุษย์ ทำให้ต้องมีการบริโภคและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองเพื่อประโยชน์ของตนเองแต่กลับสร้างความเสียหายให้แก่สิ่งแวดล้อม ปัญหาความไม่สมดุลจึงบังเกิดขึ้น ดังนั้นในการที่จะฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กลับคืนมา จะต้องปลูกจิตสำนึกในการรักผืนป่าให้แก่คนเสียก่อน ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า
“เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน และคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...”

 ขาดทุนคือกำไร “....ขาดทุน คือกำไร Our Loss is our gain...การเสียคือ การได้ ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุขนั้น เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้....”

หลักการในพระองค์ที่มีต่อพสกนิกรไทย 'การให้' และ 'การเสียสละ' เป็นการกระทำอันมีผลเป็นกำไร คือ ความอยู่ดีมีสุขของราษฎร ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนได้

การพึ่งตนเอง การพัฒนาตามแนวพระราชดำริในเบื้องต้น เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้ประชาชนมีความแข็งแรงพอที่จะดำรงชีวิตได้ต่อไป แล้วขั้นต่อไปก็คือการพัฒนาให้ประชาชนสามารถอยู่ในสังคมได้ตามสภาพแวดล้อมและสามารถ 'พึ่งตนเองได้' ในที่สุด ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า......
“..การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ ก่อนอื่นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดเพราะผู้มีอาชีพ และฐานะเพียงพอที่จะพึ่งพาตนเองได้ ย่อมสามารถสร้างความเจริญในระดับสูงขั้นต่อไป....”

พออยู่พอกิน การพัฒนาเพื่อให้พสกนิกรทั้งหลายประสบความสุขสมบูรณ์ในชีวิตได้เริ่มจากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมประชาชนทุกหมู่เหล่าในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ได้ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของราษฎรด้วยพระองค์เอง จึงทรงสามารถเข้าพระราชหฤทัยในสภาพปัญหาได้อย่างลึกซึ้งว่ามีเหตุผลมากมายที่ทำให้ราษฎรตกอยู่ในวงจรแห่งทุกข์เข็ญ จากนั้นได้พระราชทานความช่วยเหลือให้พสกนิกรมีความกินดีอยู่ดี มีชีวิตอยู่ในขั้น “พออยู่พอกิน” ก่อน แล้วจึงขยับขยายให้มีขีดสมรรถนะที่ก้าวหน้าต่อไป

 เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิต ให้ดำเนินไปบน    “ทางสายกลาง' เพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งปรัชญานี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งระดับบุคคล องค์กร และชุมชน

ความซื่อสัตย์สุจริต จริงใจต่อกัน

     ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อย ก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้มากกว่าผู้ที่มีความรู้มาก แต่ไม่มีความสุจริต ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ  ทำงานอย่างมีความสุข เพราะการทำงานโดยคำนึงถึงความสุขที่เกิดจากการได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นก็สามารถทำได้ ซึ่งเคยมีพระราชดำรัสครั้งหนึ่งความว่า
“…ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกัน ในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น…”

 ความเพียร   การเริ่มต้นทำงานหรือทำสิ่งใดนั้นอาจจะไม่ได้มีความพร้อม ต้องอาศัยความอดทนและความมุ่งมั่น ดังเช่นพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” กษัตริย์ผู้เพียรพยายามแม้จะไม่เห็นฝั่งก็จะว่ายน้ำต่อไป เพราะถ้าไม่เพียรว่ายก็จะตกเป็นอาหารปู ปลาและไม่ได้พบกับเทวดาที่ช่วยเหลือมิให้จมน้ำ

. รู้ รัก สามัคคี

รู้   :        รู้ถึงปัญหาและรู้ถึงวิธีการแก้ไขปัญหา
รัก :       เมื่อรู้ปัญหาและวิธีแก้ไขแล้ว ต้องมีความรักที่จะลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหานั้น ๆ
สามัคคี :  การทำงานต้องร่วมมือร่วมใจเป็นองค์กรเป็นหมู่คณะจึงจะมีพลังและทำให้งานลุล่วงไปได้ด้วยดี

ข้อมูลจาก : ชุดเผยแพร่องค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริ โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

กำลังโหลดความคิดเห็น