xs
xsm
sm
md
lg

สบช่องไล่ยึดทรัพย์ “ทักษิณ” ทั้งในและนอกประเทศได้!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ป.ป.ช.และอัยการสูงสุด เร่งรื้อ “คดีทักษิณ” ฝ่ายกฎหมายชี้ชัด แม้กบดานอยู่ต่างแดน ก็พิจารณาคดีลับหลัง และออกหมายจับได้ ชี้ช่องประสาน interpol ออกหมายจับทั่วโลก ด้าน “วิชา มหาคุณ” ระบุ ตามยึดทรัพย์แม้วในต่างประเทศได้เช่นเดียวกับคดีราเกซ

ขยับขับเคลื่อนกันอย่างพร้อมเพรียงสำหรับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยทันทีที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 (พ.ร.ป.คดีอาญาการเมือง) ออกมาบังคับใช้ ส่งผลให้ศาลสามารถพิจารณาคดีลับหลัง โดยไม่จำเป็นต้องมีจำเลยมาขึ้นศาล ต่างจากกฎหมายเดิมที่ไม่สามารถพิจารณาคดีได้

ด้านสำนักงานอัยการสูงสุด และคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการติดตามและดำเนินคดีนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชัน ต่างก็ขานรับ ที่สำคัญยังพุ่งเป้าไปยังคดีที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุดอย่างคดีของ “ทักษิณ ชินวัตร” ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นที่จับตา

โดยในส่วนของอัยการสูงสุด นายเข็มชัย ชุติวงษ์ อัยการสูงสุด(อสส.) คนใหม่ ระบุชัดเจนว่าการทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุดจะต้องเปลี่ยนไปตาม พ.ร.ป.คดีอาญาการเมือง ฉบับใหม่ หมายความว่า คดีที่นักการเมืองอาศัยช่องว่างทางกฎหมายนี้หลบหนี คดีจะไม่หยุดชะงักอีกต่อไป เพราะศาลสามารถพิจารณาลับหลังได้ ซึ่งหมายรวมถึงคดีของอดีตนายกฯ ทักษิณ ด้วย

คดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณ มีอยู่ 2 คดี ประกอบด้วย

1. คดีทุจริตในการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้แก่กลุ่มกฤษดามหานคร สร้างความเสียหายให้รัฐประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณ (จำเลยที่ 1) และพวกอีก 27 ราย ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดในอีกหลายมาตรา ที่ผ่านมาศาลได้ตัดสินจำคุกและปรับจำเลยที่เกี่ยวข้องในคดีหลายราย แต่ในส่วนของนายทักษิณนั้นเนื่องจากตามกฎหมายเดิมไม่สามารถพิจารณาคดีลับหลังได้ และศาลพิจารณาเห็นว่า ทักษิณ ได้รับทราบนัดโดยชอบแล้ว แต่ไม่มาฟังการพิจารณาคดี มีเหตุให้สงสัยว่าจำเลยจะหลบหนี จึงให้ออกหมายจับ และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว ล่าสุดเมื่อ พ.ร.ป.คดีอาญาการเมือง 2560 ออกมาบังคับใช้ อัยการจึงรื้อคดีขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

2.คดีออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ-ดาวเทียมเป็นภาษีสรรพสามิต เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทชินคอร์ปทำรัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท โดยคดีนี้อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องอดีตนายกฯ ทักษิณในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว, เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่น, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต แต่จากการพิจารณาคดีครั้งสุดท้ายในวันที่ 15 ต.ค. 2551 นายทักษิณซึ่งเป็นจำเลย รวมถึงทนายจำเลยไม่ได้เดินทางมาศาล มีเพียงอัยการโจทก์เท่านั้น ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยทราบหมายโดยชอบแล้วไม่มาศาล เชื่อว่ามีพฤติการณ์มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะหลบหนี จึงให้ออกหมายจับจำเลยมา แต่ยังไม่ทราบว่าจะได้ตัวจำเลยมาพิจารณาคดีเมื่อใด จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้ตัวจำเลยมา ศาลจึงจะยกคดีมาพิจารณาคดีอีกครั้ง

นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อธิบดีอัยการ สำนักคดีพิเศษ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลคดีที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณ กล่าวว่า ขณะนี้สำนักคดีพิเศษอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดว่าจะดำเนินการในคดีดังกล่าวอย่างไร ซึ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน จึงยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้

สำหรับคดีของอดีตนายกฯ ทักษิณ ซึ่ง ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ระงับคดีเอาไว้ชั่วคราวนั้น พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มอบหมายให้สำนักคดีของ ป.ป.ช.ไปพิจารณาดำเนินการโดยมีอยู่ 2 คดีด้วยกันคือ

1.กรณีปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ ให้รัฐบาลเมียนมาร์ วงเงิน 4,000 ล้านบาท โดยเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปฯ 2.กรณีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว หรือคดีหวยบนดิน

โดย คดีปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) นั้น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดฐานใช้อำนาจหน้าที่กระทำผิด เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแล เข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่นด้วยกิจการนั้น และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152, 157 กรณีที่จำเลยอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ ให้กับรัฐบาลพม่า วงเงิน 4,000 ล้านบาท ในโครงการปรับปรุงระบบโทรคมนาคมของประเทศพม่า เพื่อเอื้อประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียม ให้สั่งซื้ออุปกรณ์จากบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ และบริษัทในเครือตระกูล ชินวัตร โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายทักษิณ ซึ่งเป็นจำเลย ได้รับหมายเรียกแล้ว แต่ไม่มาฟังการพิจารณาคดี โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง พฤติการณ์จึงมีเจตนาจะหลบหนี จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว และให้ออกหมายจับจำเลยมาเพื่อพิจารณาคดีต่อไป เมื่อได้ตัวจำเลยมาจึงจะนำคดีขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง

คดีหวยบนดิน  นั้น ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณ เป็นจำเลยที่ 1 (ครม.รัฐบาลทักษิณเป็นจำเลยที่ 2-30 คณะผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นจำเลยที่ 31-47) ในฐานความผิด เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อหรือจัดการทรัพย์ ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของคนอื่นโดยทุจริต (ยักยอก) เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการดูแลกิจการ เข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อผลประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จ่ายทรัพย์ จ่ายเกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์ตนเองหรือผู้อื่น เป็นเจ้าพนักงานที่แสดงว่ามีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร เรียกเก็บโดยทุจริตหรือละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ทั้งนี้ในส่วนของนายทักษิณนั้นศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราวเนื่องจากหนีคดี
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์
ขณะที่ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ อธิบายถึงขั้นตอนการดำเนินการในคดีดังกล่าวว่า หน่วยงานที่ฟ้องคดีคือ ป.ป.ช.และอัยการสูงสุด สามารถยื่นเรื่องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้หยิบยกคดีที่หน่วยงานเคยยื่นฟ้องนายทักษิณขึ้นมาพิจารณาใหม่ โดยศาลจะเรียกฝ่ายโจทก์และจำเลยมาให้การ โดยให้เวลานายทักษิณซึ่งเป็นจำเลย 3 เดือนในการสืบพยาน ซึ่งในขั้นตอนนี้นายทักษิณสามารถตั้งทนายมาให้การแทนได้ แต่หากภายใน 3 เดือนนายทักษิณไม่มาให้การหรือไม่ตั้งทนายมาให้การแทน ศาลก็สามารถพิจารณาคดีลับหลังและออกหมายจับได้ทันที

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 27 ระบุไว้ว่า ในการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ให้อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหามาศาลในวันฟ้องคดี ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลและอัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหลักฐานแสดงต่อศาลว่าเคยมีการออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาแล้วแต่ยังไม่ได้ตัวมา หรือเหตุที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลเกิดจากการประวิงคดี หรือไม่มาศาลตามนัดโดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันควร ให้ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาได้ แม้จะไม่ปรากฏผู้ถูกกล่าวหาต่อหน้าศาล

มาตรา 28 ในกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้ตามมาตรา 27 และศาลได้ส่งหมายเรียกและสําเนาฟ้องให้จําเลยทราบโดยชอบแล้วแต่จําเลยไม่มาศาล ให้ศาลออกหมายจับจําเลยและให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการติดตามหรือจับกุมจําเลยรายงานผลการติดตามจับกุมเป็นระยะตามที่ศาลกําหนด

กรณีที่ได้ออกหมายจับจําเลยและมีการดําเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่ไม่สามารถจับจําเลยได้ภายในสามเดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอํานาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทําต่อหน้าจําเลยแต่ไม่ตัดสิทธิจําเลยที่จะตั้งทนายความมาดําเนินการแทนตนได้

ซึ่งหมายความว่าในทางคดีนั้น แม้นายทักษิณจะหลบหนีอยู่ในต่างประเทศ และไม่มาฟังการพิจารณาคดี ศาลก็สามารถพิจารณาคดีลับหลัง และออกหมายจับเนื่องจากหลบหนีคดีได้
นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช.
อย่างไรก็ดี นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า เนื่องจากคดีของนายทักษิณเป็นคดีทุจริตที่สร้างความเสียหายให้แก่รัฐ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถฟ้องยึดทรัพย์นายทักษิณได้ แม้ทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในต่างประเทศ เช่นเดียวกับที่เคยยึดทรัพย์ในคดีของ “นายราเกซ ศักดิ์เสนา” ผู้ต้องหาในคดียักยอกทรัพย์ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือบีบีซี

ในเรื่องการติดตามตัวนายทักษิณซึ่งหลบหนีคดีอยู่ในต่างประเทศกลับมาดำเนินคดีในไทยนั้น นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ชี้แจงว่า สามารถทำได้ 2 ทางคือ 1.อัยการและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ประสานไปยังตำรวจสากล(interpol) ซึ่งมีเครือข่ายการทำงานกว่า 100 ประเทศ เพื่อออกหมายจับนายทักษิณ ซึ่งกรณีนี้อัยการและ สตช.ไม่จำเป็นต้องทราบแหล่งพำนักพักพิงของนายทักษิณว่าอยู่ในประเทศใด 2.อัยการและ สตช.ประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้แจ้งไปยังสถานทูตของประเทศที่นายทักษิณพำนักพักพิง เพื่อขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน โดยต้องเป็นประเทศที่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย และต้องรู้แหล่งพำนักพักพิงที่แน่ชัดของนายทักษิณ อย่างไรก็ดี ประเทศดังกล่าวจะส่งตัวนายทักษิณกลับมาดำเนินคดีในไทยหรือไม่ก็ขึ้นอยู่ที่ดุลพินิจ

“ถึงจะมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ไทยไม่มีอำนาจไปบังคับเขา ถ้ารัฐบาลประเทศนั้นเห็นว่าเป็นคดีการเมืองก็อาจจะไม่ส่งตัวคุณทักษิณกลับมาก็ได้” นายวิรัตน์ระบุ

ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่านับแต่นี้การดำเนินคดีและติดตามตัวอดีตนายกฯ ทักษิณ มารับโทษจึงอยู่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการจริงจังหรือไม่?

กำลังโหลดความคิดเห็น