เจาะหลักสูตรสร้างคอนเนกชัน จาก 8 สถาบัน ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ หน่วยงานยุติธรรม และนักธุรกิจ แห่เรียน หวังสร้างเครือข่ายผลประโยชน์ พบคนเดียวลงสารพัดหลักสูตร ด้าน สปท. เสนอปรับหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้า ห้ามผู้พิพากษา-นักการเมือง-นักธุรกิจ เรียนร่วมกัน ป้องกันการใช้คอนเนกชันแสวงประโยชน์ ขณะที่ “เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น” ชี้ องค์กรศาลควรระมัดระวังในการจัดทำหลักสูตร หวั่นกระทบภาพลักษณ์และการทำหน้าที่
หลังจากที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอให้มีการปฏิรูปหรือยุบสถาบันพระปกเกล้า เนื่องจากไม่พอใจบทบาทของสถาบันพระปกเกล้า โดยเฉพาะการทำโพลเกี่ยวกับความเชื่อมั่นของนายกรัฐมนตรีแต่ละคน และการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนที่นำไปสู่การสร้างคอนเนกชัน ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจและทำให้สังคมเริ่มหันมาจับตามององค์กรต่างๆ ที่จัดหลักสูตรอันมีปัจจัยเกื้อหนุนที่ก่อให้เกิดคอนเนกชันในกลุ่มผู้เรียน ซึ่งอาจเป็นช่องทางในการประสานประโยชน์ระหว่างนักการเมือง พ่อค้า และข้าราชการ
ปัจจุบันมีหน่วยงานหรือสถาบันที่จัดทำหลักสูตรในลักษณะนี้อยู่ไม่ต่ำกว่า 8 สถาบัน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ หน่วยงานที่จัดทำหลักสูตรเกี่ยวกับการเมืองการปกครองและกระบวนการยุติธรรม หน่วยงานที่จัดทำหลักสูตรเกี่ยวกับการพัฒนาการค้าการลงทุน สำหรับผู้บริหารระดับสูง และหน่วยงานที่จัดทำหลักสูตรทางธุรกิจสำหรับผู้บริหารรุ่นใหม่
วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เป็นสถาบันการศึกษาและการวิจัยระดับสูง ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม ได้จัดทำหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ถือเป็นหลักสูตรที่ได้รับความนิยมจากทุกสาขาอาชีพต่างมุ่งหมายที่จะเข้าไปเรียน ทั้งทหาร ตำรวจ นักการเมืองและนักธุรกิจ ซึ่งถือว่าเข้ายากที่สุดในบรรดาหลักสูตรที่องค์กรต่าง ๆ จัดทำขึ้นมา ที่สำคัญผู้ที่จะเข้าเรียนได้ส่วนใหญ่ต้องมีเส้นสาย มีศิษย์เก่าที่ทำประโยชน์ให้สถาบันฝากเข้ามา
“วปอ.จะมีแต่ระดับบิ๊ก ๆ ของแต่ละองค์กรเข้ามาเรียน วัฒนธรรมของ วปอ.จะเน้นในเรื่องการทำกิจกรรมและลงพื้นที่ มีการนัดพบปะและทำกิจกรรมร่วมกันทุกสัปดาห์ ผู้เรียนจึงมีความสนิทสนมกัน และเกิดคอนเนกชันที่เหนียวแน่น ต่างจากสถาบันพระปกเกล้าที่เน้นด้านวิชาการมากกว่ากิจกรรม ความเหนียวแน่นของคอนเนกชันในกลุ่มผู้เรียนจึงน้อยกว่า และผู้ที่ไม่สามารถเข้าเรียนที่ วปอ.ได้ ก็มักจะหันไปเรียนที่พระปกเกล้าในหลักสูตร ปปร.แทน”
สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของสังคม โดยสถาบันนี้มีพันธกิจหลักในการให้ความรู้ด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พร้อมทั้งศึกษาวิจัยและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ในทางปฏิบัติแล้วกลับถูกมองว่าเป็นแลนด์มาร์กในการสร้างคอนเนกชันของบรรดาระดับบริหารจากหลากหลายสาขาอาชีพที่แห่กันมาหาพันธมิตรสร้างความสัมพันธ์เพื่อต่อยอดทางธุรกิจและการเมืองผ่านคลาสเรียนต่างๆ โดยเฉพาะหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) ซึ่งเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง ถือเป็นหลักสูตรยอดนิยมที่ข้าราชการ นักการเมือง และนักธุรกิจต้องการเข้าไปเรียนมากที่สุด
ส่วนหลักสูตรอื่น ๆ เช่นหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารเศรษฐกิจสาธารณะสำหรับนักบริหารระดับสูง, หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน, หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข และอีกหลากหลายหลักสูตร ก็ยังเป็นที่สนใจเช่นกัน
วิทยาลัยการยุติธรรม สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม หน่วยงานภายใต้สังกัดศาลยุติธรรม กับหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) หนึ่งในหลักสูตรที่ได้รับความนิยมจากข้าราชการ ทั้งจากฝ่ายตุลาการ ตำรวจ ทหาร และข้าราชการพลเรือน
สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ภายใต้สังกัดคณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดทำหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) ซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2552
สำหรับหลักสูตร ปปร. วปอ. บ.ย.ส. และ พตส. นั้นดำเนินการโดยภาครัฐ มีเป้าหมายของหลักสูตร วปอ.เน้นเรื่องความมั่นคงในแนวกว้าง รวมถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ขณะที่ บ.ย.ส. จะมุ่งไปที่การพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วน ปปร. และ พตส. จะเป็นเรื่องของการเสริมสร้างประชาธิปไตย ซึ่งระยะเวลาเรียนของหลักสูตรต่าง ๆ จะอยู่ที่ประมาณ 8-13 เดือน
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าการเลือกกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ามาเรียนก็มีส่วนทำให้สถาบันเหล่านี้กลายเป็นแหล่งสร้างคอนเนกชัน โดย วปอ. บ.ย.ส. และ พตส. จะให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ทหาร ผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม และฝ่ายการเมือง สวนทางกับ ปปร. ที่ฝ่ายการเมืองไม่ใช่เป้าหมายหลักอีกต่อไป เนื่องจากปัจจุบันผู้เรียนที่มาจากฝ่ายการเมืองมีสัดส่วนไม่ถึง 10% ส่วนผู้เรียนจากภาคธุรกิจนั้นทั้ง 4 หลักสูตรดังกล่าวโดยเฉลี่ยจะมีผู้เรียนในกลุ่มนี้อยู่ประมาณ 20-30%
อย่างไรก็ดียังมีหลักสูตรที่ถูกใช้เป็นช่องทางในการหาผู้ร่วมทุน โดยมีองค์กรที่จัดทำหลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) หน่วยงานภายใต้การสนับสนุนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดหลักสูตรการศึกษาตลาดทุน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของหลักสูตรนี้คือ ผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงิน องค์กร และหน่วยงานของรัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การเงินและตลาดทุน และผู้บริหารระดับสูงด้านกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ด้านสถาบันการศึกษา ด้านสื่อมวลชน และสมาชิกรัฐสภาที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การเงิน และตลาดทุน
สถาบันต่อไปคือ หอการค้าไทย สถาบันหลักด้านการค้าและการบริการที่มุ่งใช้ความรู้และเครือข่ายความร่วมมือเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 จัดทำหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (TEPCoT)
โดยหลักสูตร วตท. และ TEPCoT มีภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งหลักสูตร วตท. มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจภาคการเงิน โดยเฉพาะในตลาดทุน ส่วน TEPCoT มีเป้าหมายคล้ายคลึงกันแต่จะเน้นในภาคการค้าและพาณิชย์ เป้าหมายสำคัญของ 2 หลักสูตรนี้คือส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายผู้นำระหว่างภาคธุรกิจและฝ่ายนโยบาย อันประกอบด้วย ภาคราชการที่กำกับดูแลการค้า และภาคการเมือง รวมถึงฝ่ายกระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ และสื่อมวลชน
ขณะเดียวกันเป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ที่เข้าเรียน วตท.ส่วนใหญ่จะมีฐานะดี เนื่องจากมีกิจกรรมนอกหลักสูตรที่มีค่าใช้จ่ายสูงเป็นสังคมที่กินหรูอยู่ดีการแจกหุ้นให้แก่เพื่อนร่วมรุ่นถือเป็นเรื่องปกติเพราะผู้เรียนมีแต่ระดับบริหารและเจ้าของกิจการ
“เข้าไปเรียน วตท. ปุ๊บ แต่ละคนต้องจ่ายค่ากิจกรรมที่ทำร่วมกันอย่างน้อย 1 แสนบาทขึ้นไป ถ้าเป็นหัวหน้ากลุ่มก็ต้องจ่ายเป็นล้าน คือเป็นสังคมของนักธุรกิจและระดับบริหาร” แหล่งข่าวระบุ
กลุ่มสุดท้ายคือองค์กรที่จัดทำหลักสูตรทางธุรกิจสำหรับผู้บริหารรุ่นใหม่ ที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาธุรกิจและการลงทุน เกิดขึ้นเพื่อตอบรับกับความต้องการของผู้เรียน ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กับหลักสูตรในการพัฒนาธุรกิจ ที่เป็นการผสมผสานระหว่างองค์ความรู้ทางธุรกิจกับความคิดสร้างสรรค์ ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ (Academy of Business Creativity : ABC) หนึ่งในสังกัดมหาวิทยาลัยศรีปทุม ถือเป็นหลักสูตรที่ได้รับการตอบรับจากผู้เรียนอย่างล้นหลาม มีผู้เรียนมาสมัครเกิน 2-3 เท่าของจำนวนที่รับ และหลักสูตรพัฒนาการใช้สื่อดิจิตอลเชิงสร้างสรรค์ (Digital Edge Fusion : DEF) หลักสูตรหนึ่งของมหาวิทยาลัยศรีปทุมที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ และ Ultra Wealth Group กับหลักสูตรการบริหารการลงทุนเพื่อนักธุรกิจระดับท็อป ที่เหล่าเซเลบริตีพากันลงเรียนแน่นขนัดทุกรุ่น
หลักสูตรสำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่เหล่านี้ นอกจากวิชาการจะแน่น พร้อมสรรพทั้งความรู้เชิงทฤษฎี และภาคปฏิบัติ มีการเดินทางดูงานทั้งในและต่างประเทศ แล้วยังนำไปสู่คอนเนกชันใหม่ ๆ และต่อยอดไอเดีย หรือกระทั่งการจับมือกันทางธุรกิจ
ทั้งนี้ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดหลักสูตรของสถาบันต่าง ๆ ไว้ว่า หลักสูตรเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง และกระบวนการยุติธรรม และหลักสูตรเกี่ยวกับการพัฒนาการค้าการลงทุน สำหรับผู้บริหารระดับสูงนั้น เนื้อหาของหลักสูตรอาจไม่ใช่แรงจูงใจหลักที่ทำให้ผู้เรียนสนใจ แต่เป็นเรื่องของการได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายบุคคลสำคัญในวงราชการ ทหาร นักการเมือง และนักธุรกิจระดับชั้นนำทางสังคม
ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เปิดเผยว่า จากการที่ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ. สถาบันพระปกเกล้า นั้นที่ประชุมได้เสนอให้มีการปรับหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้าใน 3 ประเด็น คือ
1. แก้ปัญหาการจัดหลักสูตรในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำแก่ผู้เรียน ดังนี้ 1.1) ต้องให้ประชาชนทั่วไปมีโอกาสเรียนในหลักสูตรเดียวกับบุคคลในระดับบริหาร ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักธุรกิจ ข้าราชการระดับสูง 1.2) ต้องไม่กำหนดหลักสูตรในลักษณะที่เจาะจงกลุ่มผู้เรียนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะ เช่น กำหนดให้ผู้เรียนต้องเป็นนักการเมืองและผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น 1.3) หลักสูตรต่าง ๆ ต้องให้กลุ่มอาชีพที่สามารถใช้คอนเนกต์ในการประสานประโยชน์ส่วนตัวแยกกลุ่มกันเรียน ไม่ว่าจะเป็น ผู้พิพากษา นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง หรือนักธุรกิจ ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาความเหลื่อมล้ำและการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้เข้าเรียนในหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อสร้างคอนเนกชัน
2. หลักสูตรต่าง ๆ ต้องสอดคล้องกับพันธกิจของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งมุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาการเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และ 3. ในการจัดหลักสูตรต่าง ๆ นั้นห้ามไม่ให้มีการนำงบประมาณของรัฐไปใช้ในการจัดกิจกรรมในต่างประเทศ ซึ่งหลังจากนี้ สปท.จะนำข้อเสนอดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป
ด้าน ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวว่า การจัดหลักสูตรของสถาบันต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่การสร้างคอนเนกชันนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือทำให้บุคลากรในหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยราชการมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ร่วมมือกันมากขึ้น แต่ข้อเสียคือเจ้าหน้าที่จะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ส่วนตัวมากกว่าความร่วมมือในการทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ
ดังนั้นในการจัดทำหลักสูตรของหน่วยงานต่าง ๆ ควรคำนึงถึงประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ 1.หน่วยงานที่จะจัดหลักสูตรควรคำนึงถึงความเหมาะสม 2.รูปแบบหลักสูตรมีประโยชน์จริงหรือไม่ 3.บทบาทของหน่วยงานที่จัดหลักสูตรสอดคล้องกับพันธกิจขององค์กรมากน้อยเพียงใด 4.ผู้ที่เข้าเรียนมีความเหมาะสมหรือไม่ ต้องการมาเรียนเพื่อหาความรู้หรือมาหาคอนเนกชัน เนื่องจากที่ผ่านมามักพบบุคคลเดียวกันลงเรียนติดต่อกันหลายหลักสูตร
“หลักสูตรลักษณะนี้มักนำไปสู่การสร้างคอนเนกชัน จึงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของหน่วยงานที่จะจัดทำหลักสูตร อย่างเช่น ศาล เป็นหน่วยงานที่ต้องระมัดระวังเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัว โดยปกติผู้พิพากษาจะไม่ค่อยสุงสิงหรือมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลภายนอก แต่หลักสูตรเหล่านี้มีทั้งนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง และนักธุรกิจ มาร่วมเรียนกับอัยการและผู้พิพากษา ซึ่งอาจทำให้สังคมเคลือบแคลงใจ และไม่ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรม” ดร.มานะระบุ
อย่างไรก็ตาม คอนเนกชันที่เกิดขึ้นระหว่างการเข้าอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ดูจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก สิ่งสำคัญก็คือต้องป้องกันไม่ให้มีการนำคอนเนกชันดังกล่าวไปใช้ในการทุจริตคอร์รัปชัน ส่วนจะทำอย่างไรนั้นเป็นหน้าที่ของแต่ละองค์กรที่จะต้องกลับไปคิด !